“เราสู้นะ พวกเราสัญญา สัญญาว่าจะพยายามยืนให้อยู่ให้ได้ และถ้าจะล้ม เราจะขอล้มตามไปเป็นคนสุดท้าย” จากเฟซบุ๊กเพจโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ วันที่ 23 ก.ค. 2564
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติตัดสินใจเช่าตู้คอนเทนเนอร์สำหรับเก็บผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ตู้ ขณะที่ศูนย์ฉีดวัคซีนธรรมศาสตร์ รังสิตประกาศขอหยุดการให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน เพราะไม่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล
เมื่อวานก่อน (21 ก.ค. 2564) มีข่าวผู้เสียชีวิต 3 ราย ถูกพบอยู่ริมถนน ถึงแม้ยังยืนยันไม่ได้ว่าทั้งหมดเสียชีวิตจาก COVID-19 แต่ภาพดังกล่าวก็สะท้อนถึงความปั่นป่วนของสถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้ได้เป็นยังดี
สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า ‘สาธารณสุขไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?’
The MATTER ได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อพยายามสะท้อนสถานการณ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งแง่หนึ่งถือว่าเป็นทัพหลักของฝั่งปทุมธานีในเวลานี้ โดยหวังว่ามันจะช่วยขยายภาพให้เห็นว่าในภาพรวมตอนนี้ ระบบสาธารณสุขไทยถึงจุดไหน และการบริหารงานของรัฐบาลล้มเหลวตรงไหนบ้าง
เตียงไม่ว่าง-แพทย์กักตัวเพียบ-อัตราเสียชีวิตเพิ่มสองเท่า
ในเพจเพซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์จะมีการอัปเดตข้อมูลผู้ป่วย COVID-19 สถานการณ์โรงพยาบาลสนาม รวมถึงภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในทุกวัน
“เช้านี้ก็ยังไม่ค่อยมีแสงสว่างเหมือนกับหลายวันที่ผ่านมา นอกจากตัวเลขผู้ป่วยใหม่ทำลายสถิติของวันที่ผ่านๆ มาแล้วเช้านี้เราเห็นรายงานว่าบุคลากรในโรงพยาบาลติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 7 คน เป็นเเพทย์ fellow หนึ่ง และพยาบาลสามคน เจ้าหน้าที่อีกสาม บางวอร์ดเจ้าหน้าที่อาจต้องถูกกักตัวและอาจจะต้องกระทบไปถึงคนไข้ในวอร์ดที่บุคลากรเหล่านี้รับผิดชอบอยู่ เราถูกโจมตีภายในโรงพยาบาลและสูญเสียกำลังคนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สวนทางกับภาระงานที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยตลอด”
ข้อความข้างต้นโพสต์เมื่อวันที่ 23 ก.ค และมันอธิบายถึงสถานการณ์ภาพรวมของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ก.ค. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มีผู้ป่วย COVID-19 สะสม 1,536 ราย ผู้ป่วยใหม่ 37 ราย กำลังรักษา 89 ราย และในนั้นเป็นผู้ป่วยวิกฤตถึง 40 ราย
และในผู้ป่วยสะสมทั้งหมดนั้นแบ่งเป็นแพทย์, พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์รวมแล้วมากกว่า 85 ราย
สถานการณที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อกระบวนการดูแลรักษาและทำให้แพทย์ต้องโอเวอร์โหลดในการดูแลคนไข้ โดย นพ.พฤหัส ต่ออุมดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ เผยว่า ในขณะนี้แพทย์ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ต้องดูแลผู้ป่วยวิกฤตราว 3-4 ซึ่งถือว่าสูงมาก สำหรับโรงเรียนแพทย์ ขณะที่โรงพยาบาลอื่น หมอคนหนึ่งอาจต้องดูแลคนไข้วิกฤตถึง ⅛ ราย หรือสูงสุดที่ 1/12 ราย
นพ.พฤหัส เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องต่อท่อช่วยหายใจ หรือเข้ารับเครื่องออกซิเจนอัตราการไหลสูง (ผู้ป่วยกลุ่มเหลืองเข้ม-แดง) อยู่ที่ประมาณ 100 เตียง แต่จำนวนผู้ป่วยวิกฤตที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เตียง ICU ของโรงพยาบาลต้องมีคนนอนอยู่ตลอด
“ตอนนี้มี ICU กี่เตียง ก็มีผู้ป่วยนอนเต็มหมดเลย เช่น เรามีอยู่ 40 เตียงก็เป็นผู้ป่วยสีแดงหมด ตรงนี้ก็มีปัญหาในการดูแลรักษาเพราะต้องใช้พยาบาลเกือบ 2 คนในการดูแลรักษา”
นพ.พฤหัส กล่าวต่อว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อรอบนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย โดยอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากราว 0.5% ในการระบาดระลอกที่แล้ว มาที่ 1% หรือในทุกๆ วันที่มีผู้ป่วย COVID-19 เข้ามา 100 ราย จะต้องมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย
“ระหว่างการระบาดในระลอกแล้วๆ เราทำได้ดี สถิติการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 0.5% แต่รอบนี้ขึ้นมาสองเท่า (1%) ถ้าดูตามสถิติก็ถือว่าแรง และก็อาจไม่จบเท่านี้ ถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นระดับ 20,000-30,000 ราย/ วัน ตามแบบจำลองทางสถิติ”
ห้องเย็นไม่พอแล้ว
อย่างที่กล่าวถึงว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในการระบาดรอบนี้สูงขึ้นถึงเท่าตัว ทำให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตัดสินใจขอเช่าตู้คอนเทนเนอร์สำหรับเก็บศพผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ตู้ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 10 ตู้
นพ.พฤหัส เปิดเผยว่าตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้จะบรรจุศพผู้เสียชีวิตได้ประมาณ 15 ราย และรวมจากที่มีอยู่จึงน่าจะทำให้การเก็บรักษาร่างของผู้เสียชีวิตจากที่เคยเต็มในเวลา 1-2 วัน จะสามารถรองรับได้ 7-8 วัน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รับผิดชอบจัดการศพผู้เสียชีวิตใน 3 ด้านคือ
- ผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ผู้เสียชีวิตกรณีโรคทั่วไป โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นจุดหนึ่งที่รับส่งต่อผู้ป่วยที่อาการหนักและมีโอกาสเสียชีวิตสูงเป็นประจำอยู่แล้ว
- กลุ่มเสียชีวิตนอกโรงพยาบาลที่ต้องชันสูตร
นพ.พฤหัสกล่าวว่า “ในอดีต 10 ตู้ที่เรามีสามารถดำเนินจัดการส่วนนี้ได้ แต่สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลมากกว่าแค่จำนวนผู้เสียชีวิต เพราะมีทั้งญาติที่ต้องกักตัวหรือติดเชื้อ การประสานสถานที่รับฌาปนกิจเช่น วัด รวมถึงการขนส่งเคลื่อนย้ายศพ ทำให้เราตัดสินใจสั่งคอนเทนเนอร์เพิ่ม 2 ตู้เพื่อดูแลรักษาสภาพของผู้เสียชีวิตแต่ละท่านไว้ในสภาพเหมาะสม”
ครั้งแรกที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ต้องปฏิเสธผู้ป่วย
ก่อนหน้านี้ หลายคนคงจำได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจุดแรกๆ ที่มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม โดยใช้หอพักนักศึกษาแห่งหนึ่งเป็นที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) โดยระบบภายในจะให้ผู้ป่วยอาศัยอยู่ในห้องพัก และมีบุคลากรของโรงพยาบาลดูแล ห้คำปรึกษา และติดตามอาการผู้ป่วยผ่านระบบ Line และหน้าจอมอนิเตอร์
แต่สถานการณ์ในวันนี้ต่างออกไปมาก..
“น่าจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่เปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ที่ต้องปฏิเสธคนไข้รายใหม่จากภายนอก (ยังรับคนไข้จากภายใน) ก่อนหน้านี้ มีนโยบายเหมือนกันไม่ให้รับ แต่เราก็พยายามแอบรับ สองวันมานี้ เป็นครั้งแรกที่เราปฏิเสธทุกรายโดยไม่ถามเลยว่าเขามีอาการหนักขนาดไหน”
“เป็นสองวันที่สถานการณ์ถือว่าที่สุดของทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามในธรรมศาสตร์แล้ว” ทั้งสองข้อความข้างต้นออกจากปากของ นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์
โดยปกติ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์มีห้องรองรับผู้ป่วยทั้งหมด 308 ห้อง แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในการระบาดระยะหลังทำให้ผู้บริหารตัดสินใจดันศักยภาพให้สามารถรับผู้ป่วยได้เพิ่มเป็น 470 ราย ซึ่งก็ไม่พบว่ามีปัญหา เพราะก่อนหน้านี้คนไข้ส่วนใหญ่มีอาการระดับสีเขียว กล่าวคือ มีอาการน้อยและไม่รุนแรง
แต่ในการระบาดระลอกล่าสุด ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้น และทำให้โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ต้องดูแลผู้ป่วยที่มีอาการระดับสีเหลือง โดยในภาพรวมของโรงพยาบาสนามธรรมศาสตร์ นพ.ฉัตรชัยเผยว่า มีจำนวนผู้ป่วยสีเขียวลดลงจาก 70-80% เหลือเพียงแค่ 20% ขณะที่จำนวนผู้ป่วยสีเหลืองสูงขึ้นแทนที่ 70% และในนั้นยังมีสีเหลืองเข้มอีก 5%
นพ.ฉัตรชัยอธิบายสถานการณ์ภาพรวมตอนนี้ว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เหมือนบอลลูนที่ขยายตัวจนเต็มที่ จนแทบเกินศักยภาพที่ทำได้แล้ว “ตอนนี้หายป่วยเฉลี่ย 20 ราย/ วัน แต่เคสเขียวที่รอเข้าจริงๆ เป็น 100 ราย/ วัน เฉพาะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เองเจอผลบวก (ติดเชื้อ) เฉลี่ย 40-50 ราย/ วัน ฉะนั้นเคสที่รอเข้าก็ถือว่าเยอะ”
“เป้าหมายของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ตอนนี้คือระบายผู้ป่วยจาก รพ.หลัก เพราะถ้าเราย้ายเขาออกมาได้เตียงมันจะว่าง และเคสหนักจะเข้าได้”
“แต่ทางนู้นก็มีเคสออกมาน้อย เฉลี่ย 5 ราย/ วัน เท่านั้น เมื่อก่อนยังประมาณ 10 ราย/ วัน เพราะตรงนั้นส่วนใหญ่ก็หนักขึ้น หนักขึ้นก็ต้องอยู่นานขึ้น คล้ายๆ กับที่นี่ และบางราย รพ.สนาม ก็ต้องส่งกลับ รพ.หลัก เพราะอาการทรุด ซึ่งเฉลี่ยเราส่งกลับ 3-5 ราย/ วัน เตียงมันเลยเต็มอยู่ตลอด”
นพ.ฉัตรชัยยอมรับว่า สถานการณ์ตอนนี้ส่งผลกับสภาพจิตใจของบุคลากรการแพทย์อย่างมาก เพราะพวกเขาต้องกัดฟันปฏิเสธผู้ป่วย ซ้ำร้ายการรักษายังเต็มไปด้วยข้อจำกัด
“ตอนนี้ทุกคนเหนื่อยใจ เราไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ที่ต้องปฏิเสธการรับคนไข้ และเรากำลังให้การรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานพอสมควรในบางกรณี เช่น เรามีคนไข้หนักที่ควรใส่ท่อช่วยหายใจ แต่เราไม่มีเตียง หรือคนไข้บางรายที่อยู่ห้อง ICU และควรได้รับการรักษาก็อยู่ไม่ได้ คนไข้จากภายนอกสีเหลือง เราก็ต้องปฏิเสธ“
“มันเหมือนกับว่าเราต้องปฏิเสธการรักษา มันเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ชอบใจเลย และมันทำให้จิตใจเราแย่ ตอนนี้กายและใจมันเลยเหนื่อยไปทั้งคู่”
พร้อมฉีด แต่วัคซีนไม่พอ
“มีอย่างเดียวที่เราขอ คือขอให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนมาให้ในจำนวนที่มากพอตามความต้องการของผู้ที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น” ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้กล่าวข้อความข้างต้นไว้ในงานเปิดศูนย์รับวัคซีนโควิด-19 ธรรมศาสตร์รังสิต เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน
แต่มาถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าความกังวลของ ดร.สุรพล จะเห็นเค้าลางเลวร้ายไม่มากก็น้อย
เมื่อประมาณวันที่ 20 ก.ค. เพจโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์สเตตัสทดท้อถึงศูนย์ฉีดวัคซีนว่า ศูนย์อาจต้องปิดตัวลงระหว่างวันที่ 24 – 28 ก.ค. เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล, ศบค., กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงจังหวัดปทุมธานี ขณะที่ยังมีผู้รอรับวัคซีน AstraZeneca กับทางโรงพยาบาลอยู่อีกกว่า 50,000 ราย
ก่อนล่าสุด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กยืนยันจะกลับมาเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม เพราะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากภาครัฐเพิ่ม
แต่ความตะกุกตะกักที่เกิดขึ้นตลอดมา น่าจะอธิบายและตอกย้ำความผิดพลาดในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดี และคำหวานหูที่บอก ‘คนไทยจะมีวัคซีนเต็มอ้อมแขน’ หรือ ‘ไทยจะได้รับจัดสรรวัคซีน AstraZeneca เดือนละ 10 ล้านโดส’ นั้นไม่เป็นความจริง
ทางด้าน นพ.พฤหัส ยอมรับว่าปัจจุบันทางศูนย์ฉีดวัคซีนธรรมศาสตร์กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีน กล่าวคือ มีประชาชนรอรับวัคซีน แต่ไม่มีวัคซีนให้ประชาชน
โดยเขากล่าวว่า วัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนธรรมศาสตร์กำลังฉีดอยู่จนถึงวันที่ 24 ก.ค. เป็นวัคซีนที่ได้รับจัดสรรมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน และยังไม่มีความมั่นใจว่าในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ ทางศูนย์จะได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมหรือไม่
“ผมไม่แน่ใจว่าวันที่ 31 ก.ค. (วัคซีนทั้งหมด) อีก 5 ล้านโดสจะมาได้หรือไม่ ถ้ามาก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ก็กลายเป็นประเด็นปัญหาเรื่อง การจัดการวัคซีน เพราะประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ก็มีความคาดหวัง โดยเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป”
“อันนี้เป็นสิ่งที่ (ภาครัฐ) ต้องพยายามสื่อสารว่า การคาดการณ์ทั้งชนิดและปริมาณวัคซีนล่วงหน้าทำได้ไหม? เพราะตอนนี้หน้างานที่ต้องฉีดมีปัญหา”
“ในวันแต่ละวัน ศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายเป็นแสนเหมือนกัน ไม่ว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ดังนั้น ถ้าคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้เลย ตรงนี้อาจมีความสูญเสียในหลายด้าน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีวัคซีนมาแล้วเราฉีดได้เต็มศักยภาพ 3,000 คน/ วัน จะช่วยเร่งศักยภาพฉีดวัคซีนและป้องกันโรคในประชาชนได้ แต่ถ้ามาในระดับ 1,000 โดสเนี่ยเราจะเสียศักยภาพในระดับ 66% เลย”
รัฐบาลต้องเร่งคัดแยกผู้ป่วย
จากที่ผู้เขียนเคยพูดกับ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเคยอธิบายไว้ว่าการควบคุมโรคต้องอาศัยปัจจัยสามด้าน กล่าวคือ การแยกผู้ติดเชื้อ, วินัยประชาชน และวัคซีน
ซึ่งสองในสามนั้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐและการออกมาตรการเชิงนโยบายจากรัฐบาล
หนึ่งสิ่งที่ นพ.พฤหัส และ นพ.ฉัตรชัยเห็นตรงกับว่าในระยะหลังมานี้ การสืบสวนโรคแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม เพราะผู้ติดเชื้อได้แทรกตัวลงไปอยู่ในหมู่บ้านและชุมชนแล้ว แต่มาตรการหนึ่งที่ ทั้งสองให้ความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลทำได้และควรทำอย่างมากคือ การเพิ่มจำนวนการตรวจและจัดหาทั้ง PCR Test และ Antigen Test Kit เพื่อแยกผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกจากชุมชน และเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่ผลตรวจเป็นลบ
นพ.พฤหัสกล่าวว่า “สถานการณ์ตอนนี้มันหลุดจากเรื่องของการสอบสวนโรคไปแล้ว จะเห็นว่าตอนนี้มีแต่การประกาศว่าตรงนี้เป็นคลัสเตอร์ให้ระวัง แต่เราเลิกประกาศไปแล้วว่าติดในรถยนต์คันนี้ มีผู้ติดเชื้อหนึ่งท่านให้ทุกคนไป swap”
“อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีอุปกรณ์ไม่ว่า Antigen Test Kit หรือ PCR ที่มากพอ ก็ควรทำการ swap ให้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะได้รีบแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติด ตรงนี้จะทำให้ในภาคส่วนสาธารณสุข มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้พอ และสามารถยันสถานการณ์นี้จนกว่าวัคซีนจะเข้ามาและทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง จนลดความกดดันในภาคส่วนสาธารณสุขลงได้”
ด้าน นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่า “ตอนนี้การติดมันกระจายไปในชุมชนและทุกซอกซอย สัมภาษณ์สอบสวนโรคไปก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ดังนั้น ตอนนี้ต้องใช้การตรวจให้มากที่สุด และแยกคนติดเชื้อออกมากักตัว ส่วนคนที่ไม่ติดเชื้อต้องรีบให้รับวัคซีน ถ้าทำแบบนี้จะได้ประโยชน์”
“ถ้านโยบายยังไม่มีประสิทธิภาพ และเราไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 50% ของประชากรทั้งหมด ผมว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้าผู้ติดเชื้ออาจถึง 30,000 ราย แต่เราอาจไม่จำเป็นต้องเห็นตัวเลขเท่านั้น ขอแค่เกิน 10,000 สักสองสามสัปดาห์ผมว่าเราก็จะไม่ไหวแล้ว เราจะเห็นคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าในโรงพยาบาล ที่บ้าน หรือถนน”
วัคซีนยังคงเป็นความหวัง
นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่าการเร่งฉีดวัคซีนยังเป็นหนทางที่ดีที่สุด และถึงแม้วัคซีนที่เรามีอาจไม่มีประสิทธิภาพนัก แต่อาจช่วยลดอัตรการเสียชีวิตและป่วยหนัก จนระบบสาธารณสุขล่มสลายได้ “หัวใจสำคัญคือวัคซีน สิ่งที่ต้องทำในช่วงสองสัปดาห์นี้ หนึ่ง ไปตรวจหาว่าใครติดเชื้อและแยกออกจากชุมชน ส่วนคนที่ไม่ติดเชื้อต้องฉีดวัคซีนให้เขา วัคซีนอะไรก็ได้ที่มีในมือตอนนี้ วัคซีนที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ วัคซีนที่ได้ฉีด การฉีดวัคซีนอาจไม่ช่วยเรื่องการติดเชื้อ แต่มันลดการเสียชีวิต ลดความรุนแรงของโรค มากน้อยก็ดีกว่าไม่ฉีดเลย”
“ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 50% เพราะถ้าเราดูตัวเลขจากสหรัฐฯ การฉีดเข็มแรกให้ครอบคลุม 50% ของประชากร สามารถควบคุมการระบาดได้ดีทีเดียว เพราะฉะนั้น ถึงแม้วัคซีนที่เรามีไม่ดีเท่าเขา แต่มันน่าจะคุมได้ และพอฉีดได้อีกสองสัปดาห์ที่ภูมิเขาขึ้น ตัวเลขมันจะดีขึ้น และเคสใหม่ค่อยๆ ลดลง”
ในเรื่องวัคซีน ล่าสุด (22 ก.ค.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน ออกมาแถลงขอโทษประชาชน และยืนยันว่ากำลังพยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วมกับโครงการ COVAX เพื่อรับวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งนี่ถือเป็นจังหวะก้าวที่น่าสนใจ และต้องติดตามต่อไป ในอีกด้านหนึ่ง วันเดียวกันก็มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขสั่งวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส ฝ่าเสียงคัดค้านของประชาชน บุคลากรสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ รวมถึงงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ยืนยันว่า วัคซีนดังกล่าวสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ โดยเฉพาะมื่อเผชิญกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดในเวลานี้
ทั้งสองข่าวล่าสุด มองในมุมหนึ่งคือความพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ โดยเฉพาะการจัดหา Sinovac เป็นการดิ้นรนตามหาวัคซีนมาฉีดเพื่อหยุดการระบาด เหมือนบ้านไฟไหม้และอะไรที่หาได้ง่ายข้างตัว ก็ต้องนำมาดับไฟเสียก่อน ค่อยรอรถดับเพลิงทีเดียว ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ ‘ต้องทำ’ ในเวลานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็ชวนให้คิดว่าเหตุใดเราถึงต้องมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันแบบนี้ ถ้าเสียแต่รัฐบาลของเราดีพอ รอบคอบพอ โปร่งใสพอ และทำเพื่อประชาชนพอ
มาถึงตรงนี้มันคงชัดเจนแล้วว่า ทุกคำสัญญาของรัฐบาลรัฐประหารที่ว่าวัคซีน AstraZeneca จะเข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดสและเราจะกลายเป็นฐานผลิตในภูมิภาคอาเซียน ที่ว่าวัคซีนจะเต็มอ้อมแขนคนไทย ที่ว่าจะฉีดวัคซีนให้ทุกคน 100 ล้านโดส ที่ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมานี้ ที่ว่าทั้งหมดไม่มีข้อไหนจริงสักข้อ โดยเฉพาะที่ว่าจะ คืนความสุขและทำตามสัญญา