หลังจากที่อาทิตย์ที่แล้ว The MATTER ได้เขียน Explain ชิ้นนึงเกี่ยวกับวัคซีนที่ทั่วโลกตั้งตาคอยอย่าง Novavax ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยปานกลาง-หนักสูงถึง 100% ไปแล้ว
อาทิตย์นี้ อยากชวนผู้อ่านติดตามข้อมูลผลการวิจัยในฟอร์มรูปภาพ ชนิดเซฟครบจบแผ่นเดียวด้านล่างนี้
วัคซีน Novavax
วัคซีน Novavax ถูกผลิตโดยบริษัทที่ใช้ชื่อเดียวกัน โดยเป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธี Protein-Based ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีและไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ เป็นวิธีผลิตวัคซีนรูปแบบดั้งเดิมเลยทีเดียว
สำหรับการทำงานของ Novavax ขอยกคำอธิบายของ นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก ที่อธิบายว่า Novavax เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซื้อแล้วทานได้เลย กล่าวคือวัคซีนตัวนี้บรรจุโปรตีนหนามที่ใช้สู้กับ COVD-19 ไว้ในวัคซีน และเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย โปรตีนหนามดังกล่าวจะเข้าไปเกาะกับเซลล์ในร่างกายเราพร้อมต่อสู้กับไวรัสทันที ซึ่งต่างจากวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีอื่นที่ต้องอาศัยกระบวนการของร่างกายเพื่อสังเคราะห์และเปลี่ยนวัคซีนให้กลายเป็นโปรตีนหนามอีกต่อหนึ่ง
การฉีดวัคซีน Novavax ต้องฉีดทั้งหมดสองเข็ม มีระยะเว้นห่างกัน 21 วัน
สำหรับวิธีการเก็บรักษาวัคซีน Novavax ควรเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส โดยสามารถเก็บได้เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน
ประสิทธิภาพของ Novavax
ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน Novavax ค่อนข้างน่าสนใจมาก โดยขณะนี้มีการทดลองแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง โดยจะยกมาอธิบายด้านล่าง
ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานวิจัยว่าวัคซีน Novavax มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างไรบ้าง และขณะนี้บริษัทกำลังทดสอบฉีดวัคซีนให้แก่อาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 14-17 ปี ดังนั้น ข้อมูลการฉีดวัคซีน Novavax ในเด็กยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
1.งานวิจัยเฟส 3 ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการเก็บข้อมูลในสหรัฐฯ และเม็กซิโก ช่วงวันที่ 25 มกราคม – 30 เมษายน โดยแบ่งอาสาสมัครจำนวน 29,960 ราย ออกเป็นสองกลุ่ม โดยสองในสามของอาสาสมัครจะได้รับวัคซีนครบสองเข็ม ขณะที่อีกหนึ่งในสามได้รับวัคซีนปลอม ผลการวิจัยพบว่า
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันอาการโดยรวม 90.4%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยปานกลาง 100%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนัก (เข้าโรงพยาบาล) 100%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพต่อกลุ่มเสี่ยง หรือผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่กำลังระบาด (ในงานวิจัยคือ อัลฟา, เบตา, แกมมา) 93%
- ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีน
- ประมาณร้อยละ 40 ของผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่สองมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดหัว, ปวดกล้ามเนื้อ, มีไข้
ผลการวิจัยข้างต้นเป็นผลวิจัยที่ถูกใส่อยู่ในข้อมูล Quickbite
2.งานวิจัยเฟส 3 ในสหราชอาณาจักรก็ให้ผลคล้ายกัน โดยจากอาสาสมัครกว่า 15,000 คนที่มีอายุระหว่าง 18-84 ปี และบางส่วนติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา พบว่า
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 89.3%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือ G 96%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา 86%
3.งานวิจัยในแอฟริกาใต้เฟส 2-3 ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม ถึง 25 พฤศจิกายน 2563 โดยทดลองฉีด Novavax สองเข็มระยะห่าง 21 วัน ในอาสาสมัครอายุ 18-84 ปี จำนวน 4,387 คน โดยร้อยละ 6 จากจำนวนอาสาสมัครทั้งหมดมีผลเลือดเป็น HIV พบว่า
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ทั้งสำหรับผู้มีผลเลือด HIV เป็นโพสิทีฟ และไม่มี 49.4%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ สำหรับผู้ไม่มีผลเลือด HIV เป็นโพสิทีฟ 60.1%
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้/ B.1.351) 51.0%
หลังจากงานวิจัยดังกล่าวในแอฟริกาใต้ บริษัท Novavax ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มว่า 1 ใน 3 ของอาสาสมัครที่เข้าสู่การทดลองวัคซีนในแอฟริกาใต้เคยได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมมาแล้ว แต่การติดเชื้อของอาสาสมัครกลุ่มนี้ ไม่ได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ใช้ต่อสู้กับสายพันธุ์เบตาที่กำลังระบาดในภูมิภาคแอฟริกาได้เลย
4.ผลการทดลองเฟส 1-2 ในออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 6 มิถุนายน 2563 ในอาสาสมัคร 106 คน พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้และมีความปลอดภัย
ความคืบหน้าวัคซีน Novavax
ถึงแม้ วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์จะตั้งตารอและจับตาดูวัคซีน Novavax อย่างใกล้ชิด แต่มาถึงตอนนี้ Novavax ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO รวมถึง CDC สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของบริษัท ให้สามารถใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน แต่มีการคาดการณ์ว่า WHO จะรับรองให้ใช้วัคซีน Novavax ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
อย่างไรก็ตาม วัคซีน Novavax ได้ทำสัญญาและได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ COVAX ที่ตั้งเป้ากระจายวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้น้อยและปานกลางเพื่อหยุดการระบาดของไวรัสให้ได้ทั่วโลก
สำหรับ Novavax ตั้งเป้าหมายกระจายวัคซีนให้โครงการ COVAX ที่ 1,100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2021 และเมื่อบริษัทมีข้อผูกพันธ์อยู่กับโครงการ COVAX จึงต้องจัดหาวัคซีนให้โครงการดังกล่าวก่อน โดยมีการวางแผนกันว่าบริษัท Novavax จะผลิตวัคซีนเอง 300 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของสถาบันเซรุ่มแห่งชาติอินเดีย
ล่าสุดสำนักข่าว Forbes ประเมินว่าวัคซีน Novavax จะมีราคาอยู่ที่โดสละ 16 ดอลลาร์ หรือประมาณ 556 บาท
ประเทศไทยกับ Novavax
ส่วนคำถามว่า ประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีน Novavax หรือไม่ คงต้องตอบว่า “คงไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ แต่เป็นไปได้”
ที่บอกว่าไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ เพราะบริษัท Novavax ยังมีข้อผูกพันธ์กับโครงการ COVAX อยู่และต้องจัดสรรวัคซีนให้ตามสัญญากับโครงการก่อน ซึ่งไทยปฏิเสธเข้าร่วมโครงการดังกล่าวไป โดยให้เหตุผลว่า มันเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงเกินไป เพราะประเทศที่ตกลงเข้าร่วมโครงการต้องมัดจำเงินบางส่วนไว้ก่อน โดยที่ไม่รู้ว่าวัคซีนที่อยู่ในสัญญาจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน เก็บและกระจายง่ายไหม และที่สุดคุ้มค่ากับเงินที่ลงไปหรือเปล่า
แต่วันเวลาที่ผ่านไป ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX เป็นการตัดสินใจท่ีผิด และยโสโอหังกับความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดในระลอกแรกเมื่อปี 2563 มากเกินไป ยังไม่ต้องพูดถึงสัญญาในการเป็นฐานผลิตวัคซีน AstraZeneca ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับวันยิ่งห่างไกลความเป็นจริงไปทุกที
แต่ที่ยังกล่าวว่าเป็นไปได้ เพราะล่าสุด นพ.บุญ ประธานกรรการบริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ออกรายการเจาะลึกทั่วไทย ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD ช่อง 30 และแอบแย้มออกมาว่า เขาได้มีการดีลกับบริษัท Novavax ไว้บ้างแล้ว แต่กว่าจะได้วัคซีนคงเป็นปีหน้า จึงอาจเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะนำวัคซีน Novavax เข้ามาเอง
นอกจากนี้ บริษัทจากเกาหลีใต้ติดต่อกับ Novavax เพื่อขออาสาเป็นหนึ่งในฐานการผลิตแล้ว และถ้าไทยเราใช้กำลังภายในที่มากพอ อาจเป็นไปได้ที่ในปี 2565 ส่วนหนึ่งของวัคซีน 50 ลัานโดสจะเป็นวัคซีนที่ชื่อ Novavax
ส่วนอีก 28 ล้านโดสจะยังเป็น Sinovac อยู่ไหม ? คงต้องติดตามกันต่อไป..
อ้างอิง:
cdn.filestackcontent (ผลวิจัยเฟส 3 ในสหรัฐฯ และเม็กซิโก)