ถ้าได้เป็นนายกฯ คุณจะทำอะไรเป็นอย่างแรก ?
ถ้าได้เป็นผู้นำ ผู้มีอำนาจขึ้นมา หลายคนคงอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างเศรษฐกิจ และการเดินทาง ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ย่อยๆ อย่างฟุตบาท และจุดทิ้งขยะหน้าหมู่บ้านก็ได้
ในงาน ‘Thammasat Open House Freedom & Sustainability 2019’ ได้มีเวทีเสวนา ปราศัยถึงนโยบายเพื่อประชาชนและความยั่งยืน ที่มีตัวแทนนักศึกษา และนักการเมือง ที่เป็นถึงแคนดิเดตนายกฯ มาแล้ว มาเสนอว่าถ้าพวกเขาได้เป็นนายกฯ เขาจะนำเสนอนโยบายอะไรเป็นอย่างแรกกัน
วิสัยทัศน์จาก 3 นักการเมือง
งานนี้ มีนักเรียนมัธยมปลาย ที่สนใจในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเข้าร่วมจำนวนมาก และในการเปิดการเสวนาของเวทีนี้ แม้จะไม่ใช่เวทีเกี่ยวกับการศึกษา แต่เป็นประเด็นการเมือง ก็มีจำนวนเด็กๆ ที่สนใจจำนวนมาก ทั้งนั่งและยืนเต็มรอบเวที เมื่อนักการเมืองเปิดตัวมา เหล่านักเรียนก็ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป ด้วยอาการตื่นเต้นกันอย่างพร้อมเพรียง
เวทีนี้ ได้เชิญนักการเมืองทั้ง 3 คน ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ มาพูดคุยกัน ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ผู้เพิ่งประกาศตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. มาแสดงวิสัยทัศน์กัน โดยให้พวกเขาเริ่มพูดถึงสิ่งที่จะทำเป็นอย่างแรก หากได้เป็นรัฐบาล ในเวลาเพียง 3 นาที
พริษฐ์ เป็นคนแรกที่ขึ้นเวที พร้อมเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้สภาไทย เป็น ‘ระบบสภาเดี่ยว’ หรือยกเลิกการมีอยู่ของ ส.ว. โดยเขาบอกว่าประทศไทยยังไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ประชาชนมี 1 สิทธิ 1 เสียง
“อุปสรรคคือ วุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน ที่มาจากคณะกรรมการแค่ 10 คน ดังนั้นทางออกคือ อำนาจและที่มาของ ส.ว.ต้องสอดคล้องกัน ถ้าอำนาจ ส.ว.สูง ต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างของสหรัฐฯ แต่ถ้ามีอำนาจต่ำ อย่างอังกฤษ ก็มาจากการแต่งตั้งได้ แต่ความบิดเบือนของระบบการเมืองไทยก็คือ ส.ว. ในประเทศไทยมีอำนาจสูงมาก มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ที่มาของ ส.ว. กลับไม่มีความยึดโยงกับประชาชน”
เขาจึงเสนอว่า ให้เปลี่ยนระบบรัฐสภา มาเป็นสภาเดี่ยว ทำให้การออกกฎหมายมีความคล่องตัว เพราะสิ่งเดียวที่อันตรายกว่าการไม่มี ส.ว. คือการมี ส.ว.มาให้ท้ายฝ่ายรัฐบาล มากกว่ามาถ่วงดุล
นักการเมืองคนที่ 2 ที่ขึ้นมาบนเวทีคือชัชชาติ นักการเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่ง ซึ่งเขาก็ได้ขึ้นมาเสนอนโยบายรัฐบาลเปิด หรือการทำให้ประเทศไทยเป็น Open Government
ชัชชาติบอกว่า ความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพของระบบราชการ เป็นสิ่งจำเป็น การเป็นรัฐบาลเปิด หรือ Open Government ที่มี 3 ประการ คือ 1) เปิดเผยข้อมูลการทำงาน ทั้งการใช้ภาษีอาการ ข้อมูลความมั่นคง และอื่นๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยดิจิทัล 2) ให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการทำงานและโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลรับผิดชอบได้ และ 3) ประชาชนสามารถมีร่วมเสนอนโยบายได้ ปรับปรุงแพลตฟอร์มได้
“เริ่มนโยบายนี้ได้ไม่ยาก เริ่มได้ทันทีเลย รัฐบาลไม่สามารถมั่นคงได้ ถ้าโครงการต่างๆ ประชาชนไม่รู้รายละเอียดเลย” โดยชัชชาติยังได้เสนอว่าประชาชนควรได้ร่วมออกแบบ อย่างเด็กๆ นักเรียนเอง ก็ควรมีส่วนร่วมในการออกแบบ เสนอความคิดเห็นถึงระบบ TCAS หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ให้ทุกอย่างขึ้นออนไลน์ได้
“หัวใจของเสรีภาพและยั่งยืน คือการมีรัฐบาลที่ยั่งยืน คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูล และออกแบบชีวิตตัวเองได้” ชัชชาติสรุป
นักการเมืองคนสุดท้าย ที่ขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีนี้ คือ ธนาธร ที่ได้รับเสียงฮือฮาต้อนรับจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ธนาธรเริ่มด้วยการพูดถึงธีมงานของธรรมศาสตร์ ที่พูดถึง ‘เสรีภาพและความยั่งยืน’ ว่า เสรีภาพมาพร้อมกับสังคมสมัยใหม่ ที่มาพร้อมกับประชาธิปไตย และความเป็นพลเมือง เพราะในอดีต เป็นสังคมศักดินา ที่มีไพร่ และขุนนาง ที่มากั้นไม่ให้มนุษย์สัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ
ความเป็นสมัยใหม่ คือสิ่งที่เข้ามาคือการคลี่คลายของสถาบันการเมืองดั้งเดิม และความเชื่อต่างๆ “ประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่สร้างพลเมืองขึ้น พร้อมๆ กับลดความสูงต่ำทางชาติกำเนิด พลเมือง คือเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของประเทศ สามารถแสดงความคิดเห็น ได้รับการบริการจากรัฐอย่างเท่าเทียม แต่สิทธิและเสรีภาพมีต้นทุน ไม่เคยได้มาอย่างง่ายได้ ไม่เคยมีชนชั้นปกครองให้โดยปราศจากการเรียกร้อง หลายครั้งเมื่อได้มาแล้ว ถ้าไม่หวงแหนก็จะโดนทวงคืน”
เพื่อแลกมาซึ่งสิทธิเสรีภาพ พลเมืองจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย “นั่นคือหน้าที่ นั่นคือการทำให้เสรีภาพและประชาธิปไตยยั่งยืน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจหมายถึงการ อยู่ไม่เป็น ก็ตาม”
‘ถ้าได้เป็นนายกฯ นโยบายแรกของคุณคืออะไร ?’ การเสนอนโยบายจากนักศึกษา
หลังจากที่ ทั้ง 3 คน ขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์ และสิ่งที่พวกเขาอยากทำเมื่อได้เป็นนายกฯ ก็เป็นช่วงที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ทั้ง 5 คน ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้ออกมาเสนอนโยบายที่พวกเขาคิดบ้าง โดยมีนักการเมืองทั้ง 3 และ อ.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นผู้คอมเมนต์นโยบาย
นโยบายทั้ง 5 จากนักศึกษาที่พวกเขาตั้งใจทำเมื่อได้เป็นนายกฯ ก็มีทั้ง นโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงปัญหาสังคม และประชาชน ได้แก่
- Solar For All ที่เสนอให้ทุกหมู่บ้าน มีการใช้โซลาร์เซลล์ เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีไฟฟ้าใช้
- การส่งเสริมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่ถูกมองข้าม ผลักดันการจ้างงานให้พวกเขา ทั้งในทางตรง และทางอ้อม
- Community hall for people ที่จะเปิดศูนย์กลางชุมชนส่วนประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้บริการ
- การควบคุมขยะพลาสติก จัดการ และลดพลาสติกอย่างยั่งยืน
- จ้างงานผู้ที่เคยถูกจองจำ ให้โอกาสผู้เคยทำผิด ดึงเขาสู่กระบวนการทำงาน โดยการพัฒนาผู้กระทำผิดตั้งแต่ในเรือนจำ
หลังจากที่นักศึกษาออกมานำเสนอ และได้รับคำแนะนำจากนักการเมืองแล้ว ก็ได้มีการเปิดโหวตให้นักการเมืองทั้ง 3 คน และนักเรียนที่เข้าร่วมงาน ร่วมเลือกนโยบายที่พวกเขาคิดว่าถูกใจ ที่ทุกคนมีแค่ 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าๆ กัน โดยนโยบายที่ชนะเลิศการโหวตไป ได้แก่ ‘นโยบายการจ้างงานผู้ที่เคยถูกจองจำ’
นโยบายนี้ ได้รับคำแนะนำจากนักการเมือง อย่างชัชชาติว่า ต้องดูทั้งระบบ เพราะผู้ต้องขังส่วนหนึ่งมาจากโทษยาเสพติด อาจจะต้องการการบำบัด มากกว่าการจำขัง ในขณะที่ธนาธรเองก็แนะนำเช่นเดียวกัน ว่าอยากเห็นการพิจารณาระบบใหม่ เพราะหลายๆ ครั้ง อาจต้องดูว่า เหยื่อ และอาชญากรเกิดขึ้นจากอะไร