หลายวันมานี้มีข่าวเกี่ยวกับ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ a.k.a. เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์นแห่งประเทศไทย ปรากฏขึ้นมาในหน้าฟีดอยู่หลายเรื่อง
ข่าวแรกคือเรื่องน่ายินดีที่ อ.ธเนศ ได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น ‘ศาสตราจารย์’ อย่างเต็มตัว ข่าวต่อมาคือการเปิดตัวหนังสือเล่มของอาจารย์ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘จักรญาณวิทยา’ แถมยังออกมาในช่วงเวลาที่ครบรอบ 60 ปีแห่งความปั่นป่วนของอาจารย์ไปพร้อมกันเลย
ความน่าสนใจคือ เราได้อ่านข่าวนี้ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘Thanes Wongyannava’ แทนที่จะเป็นสำนักข่าวต่างๆ ในโลกออนไลน์ ทำให้นึกขึ้นได้ว่าแม้ อ.ธเนศ จะมีเฟซบุ๊กที่ใช้แบบส่วนตัว แต่ดูเหมือนว่าการสนทนาและข่าวสารต่างๆ จำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับตัวเขา มักจะปรากฏผ่านกลุ่มนี้เสียเป็นส่วนใหญ่
เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 60 ปีของความปั่นป่วน เราเลยขอชวนทุกคนไปสำรวจ Community ในโลกออนไลน์แห่งนี้ เพื่อไปดูกันว่ามีบทสนทนาอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
ชีวิต ความตาย ความหมายของความสัมพันธ์
ประเด็นเรื่องความหมายของชีวิตและความสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในหัวข้อสุดฮิตที่บรรดาสมาชิกจะโพสต์ถาม อ.ธเนศ เสมอ แน่นอนว่าคำตอบที่เกิดขึ้นก็ได้ทั้งแง่มุมที่ชวนไปขบคิดต่อ รวมถึงบางครั้งก็ได้อารมณ์ขัน เป็นรอยยิ้มเล็กๆ ที่เกิดจากประโยคของ อ.ธเนศ ไปด้วย
ที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในชั้นเรียน วงเสวนา หรือแม้แต่บทความต่างๆ อ.ธเนศ มักย้ำถึงชีวิตของพวกเรา ที่ไม่สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น
นี่ตัวอย่างของบทสนทนาที่น่าสนใจ
Q: อาจารย์คิดว่า ทำไมมนุษย์ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะมีชีวิตอยู่และเผชิญสุขและทุกข์ (ในหลายกรณี ในบางพื้นดูเหมือนการประคองชีวิตไว้ดูจะเป็นเรื่องยากเสียอีก) อาจารย์คิดว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่ฆ่าตัวตายหรือครับ
A: การฆ่าตัวตายมันยากกว่าการดิ้นรนผ่านความทรมานของชีวิต…เคยมีหนังสือเกี่ยวกับวิธีการฆ่าตัวตายออกมาเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ผมจำชื่อมันไม่ได้หรอกนะ ผมคิดว่าเรื่องการฆ่าตัวตายทั้งการตัดสินใจและการปฏิบัติมันคือสิ่งที่ยาก
Q: อาจารย์คิดว่าตัวเองเกิดมาทำไมครับ
A: ผมไม่เคยคิดเรื่องที่คุณยกขึ้นมาถามเลยนะ ผมเป็นแค่ biological entity ที่ไม่ต้องการความหมายของชีวิตที่ดีงามอะไร
Q: อาจารย์คิดว่าเรื่อง Human Relations เป็นเรื่องสำคัญหรือเปล่าครับ?? คือมันจำเป็นสำหรับมนุษย์มากแค่ไหน ในเมื่อปัจจุบัน หลายคนก็เลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร
A: ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วนะ ชีวิตเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากคนอื่นๆ ลองนึกถึงว่ามันจะเป็นเป็นไปได้ไหม สำหรับคุณที่จะเป็นหรือพูดอะไรบางอย่างประมาณนี้โดยไม่มีคนอื่น คุณไม่สามารถอยู่รอดได้ตั้งแต่เกิดมาแล้วถ้าไม่มีคนอื่นๆ
Q: อาจารย์คิดว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงชอบอัพรูปแผลของตัวเองลงเฟสครับ? (555) คือ ทำไมโลกโซเชี่ยลถึงทำให้เราอยาก/เลือกที่จะ publicize ตัวเอง แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวมาก ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ความรักความสัมพันธ์ หรือ สถานะทางการเงิน เป็นต้น ครับ
A: การจะเห็นหน้าตาของตัวเอง เราก็ต้องใช้กระจก นับตั้งแต่การวาดรูปถึงการถ่ายรูป เราจำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นอิสระ การทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองได้เลยเป็นอุดมคติ เทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเข้ามาทำให้เรื่องนี้มันสมบูรณ์
…จริงอยู่ที่เซลฟี่มันนำไปสู่การหลงตัวเอง (narcissism) เพราะฉะนั้น หลายคนจึงเห็นวัฒนธรรมของการหลงตัวเองในหลายแง่มุมของชีวิต คนรุ่นเก่าพูดว่าคนรุ่นใหม่หลงตัวเองมากเกินไป โดยใช้คำว่า Generation Me อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมนี้มันก็มีขึ้นมาตั้งแต่ยุค 1970 แล้วล่ะ ถ้าเราอ้างอิงจาก Christopher Lash
Q: อาจารย์คิดว่าอะไรที่เอามาตัดสินว่าคนคนนี้ประสบความสำเร็จในชีวิตคะ
A: ผมอยากจะพูดว่า ผมไม่ใช่พระเจ้า เพราะฉะนั้น ผมไม่สามารถตัดสินใครได้เลย
หมวดหมู่คำถามว่าความรัก
นอกจาก อ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ค่ายเดียวกันที่มักได้รับคำถามเรื่องความรักจากแฟนคลับใน #ทวิตรัก ในทวิตภพ อยู่บ่อยๆ แล้ว อ.ธเนศ เองก็เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่ได้รับข้อสงสัยเกี่ยวกับความรัก (และความไม่สมหวังในความรัก) อยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
หลายครั้ง อ.ธเนศ พยายามชวนให้เรามองความรักในฐานะไอเดียบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เสมอ นับจากยุคที่ถูกมองว่าเป็นความเจ็บป่วย มาสู่การมอบแบบโรแมนติกที่มีเรื่องราวเอาชนะอุปสรรคต่างๆ
Q: เมอสิเออร์ธเนศครับ ความรักคืออะไร
A: บางที (ความรัก) มันคงเป็นความสุขจากการเจ็บป่วยทางจิตใจล่ะมั้ง
ที่ผมใช้คำว่าบางที เพราะในโลกยุคโบราณ ความรักถูกมองว่าเป็นความเจ็บป่วยนะ ด้วยการเติบโตขึ้นมาของคริสตศาสนา ความรักในรูปแบบอันศักดิ์สิทธิ์ (agape) เลยครอบครองความหมายไป และในยุคที่สังคมชนชั้นกลางเกิดขึ้นมา ความรักก็ได้แสดงออกถึงชัยชนะ โดยเฉพาะความรักแบบโรแมนติกที่ใช้พลังก้าวข้ามชนชั้น
ซินเดอเรลล่าก็เป็นโมเดลความรักในทำนองนี้ ถ้าความรักคือรูปแบบหนึ่งของความเจ็บป่วย แล้วเราจะรักษามันยังไง? ถ้าเราใช้โมเดลแบบซินเดอเรลล่า คำตอบคงเป็นการตามหารองเท้าอีกข้างที่หายไป หรือการรักษาตัวเองก็คงเป็นทางเลือกหนึ่ง
Q: อาจารย์ช่วยอธิบายคำกล่าวของอาจารย์ที่ว่า “ในสมัยก่อนความรักเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง” คือผมไม่ค่อยเข้าใจอะครับ
A: ลองดูคนที่กำลังมีความรักสิ ดูเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้เลยนะ 555
Q: อาจารย์คิดว่า มุมมองเรื่องอายุกับความรัก ของผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันยังไงครับ? ไม่เอาฐานะมาเกี่ยวก่อนนะครับ
A: ผมไม่คิดว่าจะสามารถตอบคำถามนี้ได้ ผมคิดว่าชนชั้นคือสิ่งมีความเกี่ยวข้องด้วย มันมีบทบาทสำคัญต่อความคิดเกี่ยวกับความรักอยู่เสมอๆ
Q: อาจารย์ครับทำไมความรักต้องเป็นสิ่งที่เรา(มนุษย์)ต้องปิดบังแล้วรอวันที่จะเปิดเผยมันล่ะครับ
A: ผมไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่คุณหมายถึงเท่าไหร่ ถ้าคุณหมายถึงความรักที่มาแล้วก็จากไปอยู่เรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องไปตามหามัน ถ้าเป็นแบบนั้น คนๆ หนึ่งจะสามารถทำตัวเป็นปกติได้ เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม เดี๋ยวความรักก็จะมาเอง พอเป็นแบบนี้มันก็เหมือนโชคชะตาเหมือนกัน
Q: อาจารย์ครับ ทำไมร้านเหล้าเมืองไทยต้องเปิดแต่เพลงอกหัก
A: คุณคาดหวังอะไรจากเพลงล่ะ? เพลง Pop มักพูดถึงเรื่องการตกหลุมรัก การเลิกรัก และความรักแบบ Sexual
Q: คนที่หึงกับคนที่ถูกหึง ใครมีอำนาจในความสัมพันธ์มากกว่ากันเหรอครับ
A: ความอิจฉานำไปสู่ อาชญากรรมของความปรารถนา ระหว่างคนสองคน ถ้าหนึ่งคนถูกฆ่า คิดว่าใครจะมีอำนาจมากกว่ากัน?
Q: อาจารย์ครับ นิยามความรักของอาจารย์คืออะไรครับ
A: ขอโทษด้วยนะ ผมไม่รู้เรื่องนี้เลย
แพลตฟอร์มออนไลน์ กับ บทสนทนาเรื่องปรัชญา
“ผมคิดว่ามันเป็นกรุ๊ปที่สนุกสนานมากกว่าที่จะซีเรียสนะ ซีเรียสมันก็โอเค แต่ผมว่ามันก็ขำๆ คือผมตอบได้ผมก็ตอบ ตอบไม่ได้ผมก็ไม่ตอบ ผมก็โนไอเดีย คนเรามันตอบไม่ได้มันก็ไม่ตอบ คนเรามันจะไป โอ๊ะ (เสียงสูง) ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาใช่มั้ยว่าตอบไม่ได้ จะให้ทำยังไง จะไปเอาสมองที่ไหนมาตอบ”
“…ส่วนใหญ่ผมตอบไม่ได้ก็คือผมตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้มันก็ตอบไม่ได้เลย แล้วก็คำถามนึงที่ชัดเจนที่สุดที่ผมจะไม่ตอบก็คือเรื่องการเมืองไทย”
ประโยคข้างบนนี้ คือสิ่งที่ อ.ธเนศ เคยเล่าให้กับ The MATTER ฟังเมื่อราวๆ 2 ปีที่แล้ว เมื่อถูกถามถึงการตั้งกลุ่มนี้ในโลกเฟซบุ๊ก นับจากวันนั้นที่มีคนมาชิกในกลุ่มราวๆ 7,000 กว่าคน มาถึงวันนี้ที่มีกว่า 10,700 คน คำถามอันหลากหลายก็ยังถูกยิงเข้ามาในกลุ่มอยู่เรื่อยๆ แทบจะทุกวัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ดูเหมือนว่า อ.ธเนศ ยังสนุกกับการมาให้คำตอบอยู่ (มั้งนะ)
แม้ว่าหลายมุมมองที่เกิดขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กนี้จะมีประเด็นที่เราอาจเคยได้รู้จักผ่านงานทางวิชาการ รวมถึง งานเขียนต่างๆ ของ อ.ธเนศ กันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ และสภาวะของความสมัยใหม่
แต่ข้อน่าสนใจคือ เมื่อบทสนทนาในประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มที่ไม่ได้เป็นทางการมากนักอย่าง Community ในเฟซบุ๊ก ก็ดูเหมือนว่าบทสนทนากลับเป็นไปอย่างสนุก มีน้ำเสียงทีเล่นทีจริง จนบางครั้งเราเองก็อดหัวเราะ และเพลินเพลินไปกับคำตอบและคำถามเหล่านั้นไม่ได้
นี่อาจจะเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้บทสนทนาสุดแสนซีเรียส กลายเป็นสิ่งที่ย่อยได้ง่าย และเข้าถึงผู้คนได้หลากหลายมากกว่าเดิม