การเมืองภายในประเทศ ย่อมส่งผลต่อการเมืองนอกประเทศ และการเมืองโลก
ในขณะที่การเมืองไทย กำลังร้อนระอุ ด้วยสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และอำนาจเผด็จการที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่หลายคนมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาได้ เช่นเดียวกับการต่างประเทศ บทบาทในเวทีโลก หรือการยอมรับของเราเอง ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร และการเมืองภายในเช่นกัน
รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’ ได้เล่าให้เราฟังว่า ตอนนี้การต่างประเทศของเราถือว่าอยู่ในจุดตกต่ำ และไม่สามารถพัฒนาได้หากประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงยังเล่าถึงประสบการณ์การทำงานการทูต บทบาทและจุดยืนของไทยในต่างประเทศ และความเห็นต่อการชุมนุมที่เกิดขึ้น ผ่านสายตาของคนที่ทำงานการต่างประเทศมายาวนาน
ประสบการณ์ของรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้เรียกตัวเองว่า ‘ทูตนอกแถว’
ภายในบ้านของอดีตทูตรัศม์ ซึ่งเป็นสถานที่สนทนา มีกรอบรูปหลากหลายที่มีภาพครั้นสมัยยังทำงาน ทั้งในชุดสูทในงานรับรอง ไปถึงรูปครอบครัวระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ เราเริ่มการพูดคุยกับอดีตทูตท่านนี้ ถึงจุดเริ่มต้น และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งเขาได้เล่าว่า ครอบครัวของเขาเป็นนักการทูต โดยบิดาเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่เขาจะมาเดินเส้นทางนี้เช่นกัน
“ผมเริ่มรับราชการเมื่อปี 2527 รับราชการครั้งแรกที่กองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงในตอนที่ผมเข้ามามีนโยบายใหม่คือ เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามา จะต้องหมุนเวียนไปกรมอื่น เพราะท่าอาสา สารสิน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ต้องการให้เราเรียนรู้งานให้เยอะที่สุด ก่อนที่จะออกประจำการ เพราะปกติเราจะทำงานในกระทรวง 4 ปี และออกประจำการ 4 ปี สลับกันไปจนเกษียณ แต่บางครั้งก็สั้นกว่า 4 ปี บางทีก็นานกว่า แล้วแต่จังหวะ
ผมก็ย้ายไปที่กรมอาเซียน หลังจากนั้นก็ออกประจำการครั้งแรกที่ออตตาวา ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นช่วงที่ผมก็ได้เรียนรู้กับท่านทูตที่นั่นเยอะมาก ก่อนจะมาประจำกรมสารนิเทศ ซึ่งเป็นกรมที่ผมอยู่มากที่สุดถึง 3 รอบ”
อดีตทูตเล่าต่อว่า เขาได้ออกประจำการครั้งที่ 2 ที่กงสุล นครโฮจิมินทร์ ประเทศเวียดนาม ก่อนที่จะกลับมาประจำในประเทศไทยยาวเกือบ 10 ปี เวียนไปประจำในกรมต่างๆ ซึ่งในช่วงนั้น หนึ่งในงานใหญ่ของเขา คือการถูกแต่งตั้งเป็น ผอ.กองรับรอง กรมพิธีการทูต ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งกองที่ทำงานหนักมากในยุครัฐบาลทักษิณ เพราะมีแขกต่างประเทศมาเยือนเยอะมากเกือบทุกวัน
“งานนึงที่เราทำคือการจัดงาน 60 ปี ฉลองครองราชสมบัติของในหลวง ร.9 ซึ่งงานนี้สเกลใหญ่มหาศาล กระทรวงก็ดึงคนต่างๆ จากแต่ละกรมมาร่วมกัน ซึ่งผ่านมาถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยมีสเกลงานที่ใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว เราก็โชคดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานนี้ เป็นงานที่ยากที่สุดในชีวิต”
หลังจากนั้น เขาได้ออกประจำการอีกเป็นครั้งที่ 3 ในประเทศโปแลนด์ ก่อนจะไปเป็นกงสุลใหญ่ที่ประเทศลาว และกลับมารับหน้าที่รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงต่างประเทศ และได้เป็นทูตครั้งแรก กับความท้าทายของสถานทูตเปิดใหม่ ที่ประเทศโมซัมบิก ในทวีปแอฟริกา
“งานที่นั่นถือเป็นงานนึงที่สนุกที่สุดในชีวิต เราได้ขับรถโฟร์วิลเข้าไปในป่า เข้าไปในหมู่บ้าน ไปช่วยเขาสร้างโรงเรียน ทำงานพัฒนา เอาปลานิลไปให้เขาเลี้ยง เราทำในนามของรัฐบาลไทย แสดงถึงไมตรีจิต และความร่วมมือ งานเหล่านี้ถ้าอยู่ที่อื่นก็คงทำไม่ได้” เขาเล่า พร้อมเสริมว่าหลังจากนั้น ก็ได้ย้ายต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตที่ประเทศคาซัคสถาน ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ
เมื่อพูดถึงประเทศคาซัคสถาน ก็เป็นหนึ่งประเทศที่เราไม่ค่อยรู้จัก หรือได้ยินเรื่องราวมากนัก เราจึงถามอดีตทูตประจำประเทศนี้ ถึงความสัมพันธ์ของคาซัคสถานกับประเทศไทย
“เดิมเวลาที่เราเปิดสถานทูต เราก็พิจารณาว่าเรามีผลประโยชน์ มีลู่ทางการค้า สามารถพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจได้แค่ไหน ถึงจะไปเปิด ซึ่งคาซัคสถาน เราเปิดด้วยเหตุผลนึงคือ เขาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันมหาศาล มีแร่ธาตุ มีทองคำ ยูเรเนียม ซึ่งนันก็เป็นส่วนนึงที่เขามีศักยภาพมาก แต่ตอนนั้น ความเห็นส่วนตัวของผม คือไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าถึงเขาจะมีทรัพยากร แต่เราจะไปเอามายังไง แล้วอย่างลืมว่า key player ที่เข้าไปคือประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกา รัสเซีย จีน หรือ EU เราจะแข่งกับเขาไหม และเขามีภูมิศาสตร์ติดกัน เขาก็มีเวทีต่อท่อ ส่งเรืออะไรได้”
เขาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นก็พบปัญหาในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย และคาซัคสถาน ซึ่งก็คือเรื่องการขนส่ง ที่มีเส้นทางที่ยาก และราคาที่แพง ทำให้ความร่วมมือที่ใฝ่ฝันว่าจะเพิ่มร่วมกันน้อยมาก จนมีการเสนอเรื่องการปิดสถานทูตแห่งนี้ขึ้นมา
“แต่พอผมไปถึง จากที่เราไม่เห็นด้วยเรื่องเศรษฐกิจ เราพบว่าคาซัคสถานเป็นประเทศที่สำคัญมากในภูมิภาค เขาเป็น key player ของเอเชียกลาง และเป็นมิตรที่ดีกับทุกประเทศ ทั้งสหรัฐฯ หรือรัสเซีย เพราะเขาเคยขึ้นกับรัสเซียตั้งแต่พระเจ้าซาร์ส จนถึงสมัยโซเวียต และแม้จะหลุดออกมาแล้ว แต่เขาก็ยังถือว่าคาซัคฯ เป็นประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกันมา ขณะเดียวกันคาซัคฯ ก็มีพรมแดนติดกับจีน จีนก็เอาใจ และอยากจะเข้าไปมีอิทธิพลแทนรัสเซีย จึงมีความใกล้ชิดกัน ส่วนด้านสหรัฐฯ เขาก็อยากเข้ามาแทนรัสเซียเช่นกัน รวมถึง EU เองที่มองว่า ตรงนี้เป็นเหมือนหลังบ้านของเขา เป็น Silk Road ด้วย
สิ่งที่สำคัญ คือเขาเป็นประเทศมุสลิม แต่เป็นมุสลิมสายริเบอรัล เสรีมากๆ ถ้าเดินอยู่บนถนนไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นประเทศมุสลิม แทบไม่ได้ยินเสียงสวด หรือเห็นคนใส่ฮิญาบ และยังขายแอลกอฮอล์ได้นานกว่าไทยอีก ซึ่งมันสำคัญมาก เพราะเขาเป็นมุสลิมสายลิเบอรัล สิ่งที่ยุโรป หรืออเมริกากลัว ก็คือประเทศจะกลายเป็นอัฟกานิสถาน เขาเลยจะยันเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็มีผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองกับหลายประเทศ
สำหรับไทย ความที่คาซัคสถานเป็นประเทศใหญ่ในแถบนั้น และเป็นมิตรที่ดีกับทุกประเทศมหาอำนาจ และประเทศมุสลิม จากที่เราเห็นว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่เวิร์ก แต่เขามีผลประโยชน์กับเราในด้านการเมือง เมื่อเราผูกมิตรกับเขา เท่ากับว่าเราได้มิตรที่ดีในเวทีต่างๆ เพราะเขาคุยกับประเทศใดก็ได้ เขาวางตัวว่า ในการต่างประเทศคือเป็นมิตรกับทุกประเทศ และวางตัวเป็นตัวกลาง ในการไกล่เกลี่ย ดังนั้นการเป็นมิตรกับคาซัคสถานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จริงอยู่ว่าความสัมพันธ์ด้านการเมือง วัดผลประโชน์เป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าไม่สำคัญ นี่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีสถานทูตที่นั่น”
นอกจากนี้ เขาก็เป็นประเทศที่ไม่มีการกีดกันด้านศาสนา รับความหลากหลายค่อนข้างสูง และเรื่องการท่องเที่ยว เขาเองก็เป็นประเทศที่น่าสนใจในโลกนี้ รวมถึงเขาเองก็ชอบมาเที่ยวเมืองไทยมากด้วย ก็ทำให้พัฒนาความสัมพันธ์ได้มากขึ้น ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ เราก็ศึกษาว่าตอนนี้จีนมี One Belt One Road ซึ่งมีรถไฟจากจีน เข้าคาซัคสถาน และต่อไปยุโรปแล้ว ดังนั้นมันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำให้มีโอกาสในการค้าระหว่างประเทศในอนาคตด้วย”
หน้าที่ของนักการทูต
นอกจากการเป็นทูต หรือกงสุลประจำประเทศต่างๆ แล้ว อดีตทูตท่านนี้ก็มีประสบการณ์ประจำการณ์ในหลายประเทศ และหลายกรม เราจึงสนทนากับเขาต่อว่า ภาพของนักการทูตที่คนเราเข้าใจ และหน้าที่จริงๆ ที่เหล่านักการทูตต้องทำ เป็นอย่างไรบ้าง
“นักการทูตโดยหลักคือ การส่งเสริม สร้างความสัมพันธ์กับอีกประเทศนึง ซึ่งก็มีหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง หรือการพัฒนา ซึ่งด้านนี้ถือเป็น Soft power ทำให้เกิดมิตร และสร้างภาพพจน์ที่ดีให้เรา บางทีก็ลุยเข้าไปพัฒนาในป่า หรือก็มีด้านการคุ้มครองคนไทย”
อดีตทูตเกษียณอายุยังเล่าต่อว่า งานของทูตไม่ใช่อยู่แค่กับงานสวยๆ งามๆ เพราะเรื่องของคนตาย พวกเขาก็ต้องทำด้วย
“บางทีก็ต้องไประบุตัวตนศพคนไทยที่ตาย หรือส่งศพกลับบ้าน สมัยผมอยู่เวียดนาม มีลูกเรือที่ตาย เราก็เผา และส่งอัฐิกลับมา หรือมีเยอะมากที่พอคนไทยตายแล้ว เผาแล้ว หาญาติไม่ได้ ก็ต้องเก็บอัฐิไว้เป็นชั้นเลย หรือส่งมาเมืองไทย ก็ไปอยู่กองคุ้มครอง จะมีห้องเก็บอัฐิเป็นโถเลย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่เรา
ภาพของเราอาจจะไปอยู่ตามงานเลี้ยง ถือแก้วไวน์ แต่จริงๆ หน้าที่เราเยอะกว่านั้นมาก สมัยก่อนจะมีคู่มือนายทะเบียน เราเหมือนทำแทนมหาดไทย ทำสูจิบัตร ออกทะเบียนสมรส ใบมรณบัตร บัตรประชาชน ทำหมด อย่างมรณบัตร สมัยก่อนก็ต้องพิมพ์ลายมือ นักการทูตต้องจับมือคนตายปั๊ม ก็จะมีคู่มือบอกเลยว่า ‘ในกรณีที่ตายมาหลายวัน ขึ้นอึดแล้วให้เอาเข็มเจาะ รีดน้ำหนอง น้ำเหลืองออกให้หมด’ ให้ทำขนาดนั้นเลย แต่สมัยนี้ก็เปลี่ยนไป เอาแค่บันทึกจากโรงพยาบาล และตำรวจ”
“งานกุลีเราก็ต้องทำ ยกกระเป๋าเวลามีคณะเดินทางมา เราก็ต้องไปช่วย มันไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น แม้แต่งานเลี้ยงที่เราไปออกงานรับรอง มันก็คืองาน เพราะว่าเรามีหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศ เราต้องไปปรากฎตัวในงานเหล่านี้ จริงๆ ถ้าเราไม่ไป ก็ไม่มีใครรู้หรอก ไม่มีใครเช็กประเทศไทยหรอก แต่มันถือว่าเราบกพร่องต่อหน้าที่ของตนเอง และเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะไปสืบหาข้อมูลกับทูตประเทศอื่นๆ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และเราก็เอาข้อมูลมารายงานต่อไป ซึ่งทุกประเทศก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแบบนี้”
งานรับรองที่ดูดี มันก็ไม่ใช่ความสุข บางงานก็ติดๆ กัน ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกเสมอไป แม้เด็กๆ รุ่นน้องจะบอกว่าไม่ถนัดกับงานแบบนี้ แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของความถนัด หรือไม่ถนัด เพราะมันคือหน้าที่ที่คุณต้องทำ สมัยอยู่ที่ลาว ผมถูกเขาเชิญทั้งงานแต่ง งานต่างๆ และเราก็ต้องไปกับเขา ซึ่งเขาจะเชิญโต๊ะ VIP ต้องนั่งกับเจ้าแขวง เพราะที่นั่นมีแค่กงศุลใหญ่ของสองประเทศเท่านั้น คือไทย กับเวียดนาม ถ้าคนใดคนนึงไม่ไป จะรู้ทันทีเลย ซึ่งถ้าเราไม่ไป คนที่นั่นเขาก็เอาไปพูดกันนะว่าเราไม่ให้ความสำคัญ งานเลี้ยงเหล่านี้ก็ถือเป็นส่วนนึงของงาน”
นอกจากหน้าที่เหล่านี้แล้ว ในเพจทูตนอกแถวเอง ก็ยังเคยเล่าถึงอีกหนึ่งหน้าที่ของนักการทูต ในด้านการปกป้องอธิปไตยประเทศ ซึ่งอดีตทูตรัศม์ก็มองว่า ที่ผ่านมาประเทศเราใช้การทูต ไม่ใช่การทหารในการปกป้องประเทศ
“คุณต้องเข้าใจว่านักการทูต คือคนที่ใช้การทูต (Practicing diplomacy) แต่ไม่ได้แปลว่านักการทูตจะเป็นข้าราชการประจำ (Diplomat) แบบพวกเราเท่านั้น รวมทั้งหมดทุกระดับ ตั้งแต่นายกฯ ประมุขของประเทศ หรือพระมหากษัตริย์ เมื่อท่านใช้การทูต ก็ถือเป็นนักการทูต
“อย่างที่ชัดที่สุดคือสมัย ร.4 ร.5 และ ร.6 พวกท่านถือเป็นนักการทูตทั้งหมด และที่เรารอดมาจากการถูกประเทศมหาอำนาจยืดเป็นเมืองขึ้น เพราะการทูต ไม่ไช่การทหาร อันนี้คืออดีต ที่ผมชี้ให้ชัดๆ ว่า เราใช้การทูตเพื่อปกป้องอธิปไตยของเราในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การทหารอีกต่อไป การทหารเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
สิ่งที่ ร.6 ทำ คือการส่งทหารไทย ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งอันนี้เป็นการใช้การทูต การต่างประเทศ นำการทหาร อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอธิปไตย แต่ว่าเป็นเรื่องภาพพจน์ของประเทศ เพราะเรากลายเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม สเตตัสของเราก็ขึ้นมาทันที ขณะที่หลายประเทศยังเป็นเมืองขึ้นอยู่ ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล เพราะตอนนั้นคนไทยเราก็มีคำถามว่า เพราะเราถือว่าอังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นพวกที่เอาเปรียบเรา ทั้งเรื่องดินแดน หรือสิทธิต่างๆ ในขณะที่เยอรมัน ไม่เคยทำอะไรเดือดร้อนให้เราเลย เป็นมิตรที่ดีกับเราเสมอ ทำไมเราถึงไปรบกับเขา
แต่ท่านเห็นแล้วว่าเยอรมันคงแพ้ เพราะเราส่งทหารไปช่วงปลายสงครามแล้ว อันนี้ไม่เกี่ยวว่าเรารัก หรือเกลียดใคร แต่เป็นเรื่องทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ นี่คือการทูต การต่างประเทศที่ฉลาดอย่างมาก
มาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เราต้องเลือกระหว่างค่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือค่ายอักษะ ในที่สุดเราต้องเลือกอักษะ หรือญี่ปุ่น เพราะมันคือความอยู่รอดของเรา อังกฤษ ฝรั่งเศส ไม่สามารถช่วยเราได้ ถ้าเราเลือกเขา เขาก็ไม่ได้ส่งทหารมาช่วยเรา และญี่ปุ่นก็จ่อกองทัพมาอยู่หน้าบ้านเราแล้ว เราจะใช้กองทัพของเรารบกับญี่ปุ่นเพื่อรักษาอธิปไตยของเราไหม หรือเราจะใช้การต่างประเทศ ซึ่งในที่สุดเราก็ใช้การต่างประเทศ ผูกมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งมันไม่มีทางเลือก แม้ว่าจะมีการปะทะเพราะการสื่อสารที่ไปไม่ถึง แต่ว่าก็ทำให้เราไม่กลายเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น
หลังจากนั้นช่วงสงครามเย็น อย่างช่วงเวียดนามบุกกัมพูชา เอากองกำลังมาประชิดชายแดนไทย ตอนนั้นเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวง และจริงจังมาก ไม่ใช่ภัยหลอกๆ ที่เราคิด เพราะเขาบุกมาแล้ว เราจะยันไหวไหม เพราะว่าเวียดนาม กองทัพเขาก็ใหญ่ใน top 5 ของโลก และเขาก็เพิ่งรบชนะอเมริกามา เราก็ใช้การทูตดำเนินการผ่านอาเซียน และเวทีสหประชาชาติ การผูกมิตรกับสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งก็ช่วยให้เวียดนามไม่บุกมาประเทศเรา ก็ถือเป็นการรักษาเอกราช และอธิปไตยของเรา”
การต่างประเทศ เรื่องใกล้ตัวที่คนมองข้าม และวาทกรรม ‘ต่างชาติอยู่เบื้องหลัง’
หลายคนมองว่า การต่างประเทศ คือเรื่องที่เกิดขึ้นนอกประเทศ อาจมีน้อยมากๆ ที่กระทบต่อตัวเรา แต่จริงๆ แล้ว ทูตนอกแถวท่านนี้ก็ได้เล่าให้เราฟังว่า มันเกี่ยวข้องกับเรามากกว่าที่เราคิด และเรื่องภายในประเทศ อย่างการที่เราไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ก็ส่งผลกระทบต่อสถานะของเราในเวทีระหว่างประเทศด้วย
“การต่างประเทศมันใกล้ตัวมาก แต่ว่าคนไทยไม่รู้สึกตัว เพราะเวลาดำเนินนโยบายต่างประเทศ หลายประเทศเขาไม่ได้มาบอกเราหรอก การต่างประเทศไทยที่มีต่อประเทศอื่นก็เรื่องหนึ่ง การต่างประเทศที่ประเทศอื่นที่มีต่อเราก็อีกหนึ่ง แต่มันมีผลกระทบต่อเราทั้งสิ้น อย่างช่วงสงครามเย็น ที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในไทยมาก จนเมื่อก่อนจะมีคำกล่าวประจำว่า ‘ไทยชอบเดินตามก้นอเมริกา’ และเราก็ยอมให้เขามาตั้งฐานทัพในไทย เอาเครื่องบินไปถล่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรอก แต่ตอนนั้นเราก็มีตัวเลือกไม่มาก
ถ้าจะว่ากันตามหลัก ช่วงนั้นเราแทบจะเป็นเมืองขึ้นโดยพฤตินัยของสหรัฐฯ ไปแล้ว เขาจะชี้อะไรก็ได้ จะส่งทหารไปไหนก็ตามสหรัฐฯ ทั้งนั้น มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวไหม ต้องถามว่าเคยนั่งรถผ่านถนนมิตรภาพหรือเปล่า ถนนนี้อเมริกาก็สร้างให้เรา ซึ่งมาจากยุคสงครามเย็น และที่เขามาสร้างก็ไม่ใช่เพราะเขารักเรา แต่มันเป็นเส้นที่ส่งกำลังบำรุงของเขา ที่เขาวางยุทธศาสตร์เขาถึงสร้าง แม้จะบอกเราว่า สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งทุกวันนี้ หลายคนนั่งรถผ่านถนนเส้นนี้ก็ไม่รู้ว่า เป็นผลมาจากส่วนหนึ่งขอการต่างประเทศ”
แน่นอนว่าสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งประเทศที่เราเห็นความสัมพันธ์ของเราและเขามายาวนาน แต่ในช่วงที่การเมืองไทยกำลังร้อนระอุนี้ ก็มักมีคำถกเถียง และประเด็นที่คนพูดว่า ‘สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง’ ‘สหรัฐฯ แทรกแซงไทย’ ไปถึงมีแผนจะยึดไทยด้วย ซึ่งในสายตาคนที่ทำงานระหว่างประเทศมานาน รัศม์ก็มองว่า อเมริกาเขายึดเรามานาน จนตอนนี้เขาออกจากประเทศเราไปแล้ว
“เขายึดเรามานานแล้ว ยึดมาตั้งแต่สมัยนู้น จนเขาไปจากประเทศเราแล้ว เรายังโวยว่าเขาจะยึด เขาไม่มายึดเราแล้ว หรือพูดว่าจะยึดเราแข่งกับจีน ตอนนี้เขาไปเวียดนามดีกว่า แน่นอนว่าเราเป็นพันธมิตรกับเขา แต่เราไม่เข้าใจว่าเขามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ผลประโยชน์ทางด้านการเมือง’ ซึ่งก็คืออุดมการณ์ทางด้านการเมือง อุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่จัดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่เขาต้องพิทักษ์ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องประชาธิปไตยทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเขาก็มีผลประโยชน์ด้านอื่นด้วย ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการลงทุน เขาก็จะบาลานซ์ว่าจะให้ความสำคัญกับอะไร
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ผลประโยชน์ด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ประชาธิปไตยมันก็ยังอยู่ นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทูตสหรัฐฯ เคยไปพูดกับเพนกวิน (นักกิจกรรมทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย) เขาไม่ได้แทรกแซง แต่มันเป็นการมองของเขาในแง่การพิทักษ์อุดมการณ์ประชาธิปไตยของเขา เขาก็เปิดเผย ไม่ได้แอบไปพบ และท่าทีของเขาก็ไม่เคยเปลี่ยน แต่ว่าเราไปคิดว่าเขาเปลี่ยน เพราะเราเปลี่ยนเองต่างหาก เพราะถ้าหากการเมืองดี เขาคงไม่ไปพบเพนกวิน หรืออาจจะไปพบในแง่ที่เขาส่งเสริมเยาวชน ซึ่งผมก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ
ตอนที่เขาแทรกแซงจริงๆ คนไทยหลายคนก็ไม่ได้ว่าอะไร รอบแรกก็มีเฉพาะนักศึกษาที่ออกมาขับไล่อเมริกา ไม่ต้องการฐานทัพ ซึ่งเขาก็ทำตั้งแต่ตอนนู้น ที่เกิดวาทกรรมต่างๆ เพราะความไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ และการที่เราไม่มีอุดมการณ์แบบนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่มีไปด้วย ปัญหาของเราส่วนนึงคือเรา self-center มากไป คิดว่าเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล เราต้องเรียนรู้จากประเทศอื่น เราไม่ใช่ประเทศใหญ่ขนาดนั้น”
จุดยืนของไทยในเวทีโลก
อำนาจของแต่ละประเทศ และการต่อรองในเวทีโลก เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในสภาวะที่การเมืองระหว่างประเทศของมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐฯ แข่งขันกันอย่างดุเดือด และไทยเองที่ก็มีการเมืองภายในที่คุกกรุ่น เราถามอดีตทูตท่านนี้ว่า มองว่าประเทศไทยสำคัญ และอยู่จุดไหนในการเมืองโลก ซึ่งเขาก็ย้ำว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังเป็นเผด็จการ ก็ไม่มีทางที่เราจะพัฒนาภายในประเทศ รวมไปถึงการต่างประเทศด้วย
“บริบท เงื่อนไขของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่ของไทย ผมมองว่า มันไม่ทางที่เราจะพัฒนาประเทศได้ ตราบใดที่เราไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้าคุณยังเป็นเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตยแบบหลอกๆ แบบมี ส.ว. 250 คนเลือกนายกฯ ได้ ทุกคน และทุกประเทศก็รู้ และในแง่ประเทศเราเอง จะขับเคลื่อนประเทศอย่างไร ถ้าคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้สนับสนุน การที่มีคนออกมาประท้วง มันก็ทำให้คุณคิดอะไรไม่ได้ นอกจากจะรักษาอำนาจของตัวเอง จะเอาเวลาไหนมาพัฒนาประเทศ”
สำหรับเวทีต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 มา เราไม่เคยมีข้อริเริ่มอะไรในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญ และมีอิทธิพลเลย จะบอกว่าเป็นเวทีจัดประชุมอาเซียน มันก็เป็นเวทีที่หมุนเวียน ผลัดกันไปมา ก็มีความร่วมมือกัน แต่ไม่ได้ยกสถานะประเทศเราให้ได้รับการยอมรับอะไร มันต่างจากยุคเมื่อก่อนมาก
ในสายตาผม ตอนนี้การต่างประเทศของเรามันตกมาก ส่วนนึงเพราะว่า ประเทศเราก็หมกมุ่นกับปัญหาภายใน และส่วนนึง รัฐบาลของเรา ถ้าเป็นเผด็จการ มันก็ขาดความชอบธรรม สิ่งเหล่านี้ คุณจะบอกว่ามีความชอบธรรมอะไรก็พูดได้ แต่ว่าคนที่ตัดสินคือประเทศอื่น ว่าเขาจะเลือกมองคุณยังไง มันอยู่ที่เขา และสิ่งเหล่านี้เมื่อมันมีขึ้น มันก็ทำให้สถานะของประเทศเราตกลง ถ้าเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยมันเป็นมาตรฐานทั่วไปที่คนอยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะเรื่องการเคารพกัน เคารพกฎเกณฑ์ซึ่งกันและกัน การเปิดกว้างรับความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวพันกับการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน ใครจะอยากคุยกับคนที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์หรือคนอื่น หรือมีที่มาแปลกๆ อย่างไรก็ไม่รู้ ตราบใดที่เราไม่มีประชาธิปไตย ประเทศก็พัฒนาไม่ได้ การต่างประเทศเราก็ลง เพราะเราไม่มีอะไรในกระเป๋า ตัวเปล่า ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย และเราก็ไม่สามารถนำอะไรได้ จากที่เมื่อก่อนเรายังนำในภูมิภาคได้”
เขาเสริมว่า ไม่ใช่กับสถานะบนเวทีโลก แต่ในการทำงานของทูตประเทศต่างๆ เอง เรื่องประชาธิปไตยก็เป็นมาตรฐานสำคัญ “เวลาไปงานรับรอง งานวันชาติ ประเทศที่มีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง เขาก็จะมาคุยกัน ว่าประเทศเรามีการเลือกตั้งขึ้น การมีประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เป็นสิ่งที่เอามาโชว์ เป็นความดีงามของแต่ละประเทศนั้นๆ”
“ไม่มีประเทศไหนที่จะอวดอ้างว่าเราเป็นเผด็จการ เพราะมันขาดความชอบธรรม และไม่น่าภาคภูมิใจ ยิ่งมีประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ ยิ่งน่าโฆษณามากเท่านั้น และเป็นพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ในโลกใช้ติดต่อคบค้า เมื่อใดที่ประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ตัวเลือก หรือมาตรฐานก็หดทันที เพราะหลายประเทศก็ไม่คุยด้วย ไม่อยากคบ หรือความไม่คงที่ของกฎระเบียบ ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ มันพันกันหมด พอประเทศมีปัญหา การทูตการต่างประเทศก็มีปัญหา เพราะเราไม่มีความน่าเชื่อถือ”
จากที่เคยเป็นหนึ่งในเสือตัวที่ 5 ทุกวันนี้เราถูกหลายประเทศแซงหน้าไปมาก และช่วงที่ผ่านมา ชื่อประเทศอย่าง ‘เวียดนาม’ ก็ปรากฏให้เราเห็นหลายครั้งในฐานะ หนึ่งในประเทศอาเซียนที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และมีเศรษฐกิจที่เติบโต ซึ่งประเทศนี้ ก็เป็นประเทศที่รัศม์มองว่า กำลังมาแรง
“เวียดนาม ในแง่เศรษฐกิจเขาก็อาจจะหลังเรานะ เพราะไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ตอนนี้เขามาแรงมาก ในแง่การลงทุนต่างๆ สำหรับตัวผมเอง รู้สึกได้เลยว่าเวลาเรายืนในเวทีต่างประเทศ คนเขาอยากคุยกับเวียดนามมากกว่าเรา ทั้งๆ ที่เวียดนามก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็ไม่ได้เป็นเผด็จการขวาจัด เขาเป็นซ้ายจัด ซึ่งเขาก็มีมวลชนที่ซัพพอร์ตรัฐบาลจริง แม้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีฐานแน่นอน
เขาไม่ได้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีความมั่นคง มีเสถียรภาพสูง มันก็ดึงดูดการลงทุน ตลาดเขาก็ใหญ่ขึ้น และก็มีความเปิดกว้างหลายๆ อย่าง ไม่ได้เป็นเผด็จการจ๋า เขาจึงได้รับการยอมรับมาก ผมก็ชมเชยเวียดนามว่าเขาเก่ง พัฒนาประเทศมาด้วยความรวดเร็ว ในขณะที่เราก็ยังย่ำอยู่กับที่ ทั้งเขายังมีการปรับปรุงระเบียบการค้า การลงทุนตลอดเวลา มันก็ดึงดูดการลงทุนได้ดี การเมืองของเรามันไม่นิ่ง และเรายังเป็นเผด็จการขวาจัด ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกไม่มีเผด็จการขวาจัดที่ไหนที่ทำให้ประเทศเจริญได้ มีแต่ทำให้ประเทศจม”
นอกจากเป็นเผด็จการขวาจัดแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งรัฐประหารนี้ ก็กระทบต่ออำนาจต่อรอง ความน่าเชื่อถือของเราเช่นกัน
“แม้แต่ไทยเอง รัฐประหารก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เปิดรัฐธรรมนูญดูก็รู้ว่าผิด ดังนั้นมันจะเอามาแก้อะไรได้ ไม่มีหรอกในโลกนี้ที่จะเอาสิ่งผิดมาแก้ปัญหาให้ดีขึ้น”
“เรามีรัฐประหารมากี่หนแล้ว และมันก็ไม่ได้พัฒนาประเทศเราไปไหน มีแต่ถอยหลังทั้งนั้น เมื่อคุณทำให้ประเทศถอยหลังมันก็กระทบไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่การต่างประเทศของเราด้วย กระทบเป็นลูกโซ่” อดีตทูตย้ำ
รวมไปถึงประเด็นจุดยืนต่อมหาอำนาจ และการมีพันธมิตรเอง รัศม์ก็ย้ำว่า เราควรจะมีพันธมิตรให้มากที่สุด แต่ด้วยการที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยก็กระทบเรื่องนี้อีกเช่นกัน
“การต่างประเทศที่ดี คือต้องมีตัวเลือกและพันธมิตรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เหมือนกับการทำธุรกิจทั่วไป ถ้าค้าขายได้แค่กับบางคน ก็จะมีทางเลือกน้อยลงตามลำดับ ถ้าเราบอกว่าเราไม่ต้องไปง้อประเทศที่เที่ยวมาสอนเราเรื่องประชาธิปไตย ค้าขายกับประเทศอื่นก็ได้ แต่ว่าคุณกำลังจำกัดทางเลือกของคุณเอง ถ้าคุณค้าขายกับอีกประเทศนึง เขาก็รู้ว่าเป็นเพราะเราไม่มีทางไป จะไปต่อรองอะไรกับเขาได้ ถ้าเอาข้าว เอาของไปขาย เขาก็ไม่มีทางให้ราคาดีกับเรา อันนี้ก็ทำให้ประเทศเราเสียเปรียบ เพราะเราไม่มีตัวเลือก”
ตราบใดถ้าเราไม่ทำให้ประเทศมีทางเลือกเยอะ มันก็ต้องเอนไปทางนี้โดยปริยาย และก็ถูกเขากดเอา ต่อให้เขาแทรกแซงจริงๆ ก็อยู่ที่ตัวเราด้วย เราอาจจะยอมให้เขาแทรกแซงเพราะว่าเราไม่มีที่ไป และที่เราไม่มีที่ไป เพราะเราไม่สามารถคบค้าคนอื่นตามมาตรฐานได้ และที่เราไม่สามารถคบค้าได้ ก็เพราะเราไม่ทำให้ประเทศมีประชาธิปไตย นี่คือผลที่ตามมา ซึ่งเป็นผลเสียของประเทศ”
เพจทูตนอกแถว และกระแสปลดแอกของวงการต่างๆ รวมถึงการชุมนุม
หลังสนทนาเรื่องการต่างประเทศกันไปแล้ว เราก็ได้คุยถึงการทำเพจทูตนอกแถว ซึ่งแม้จะเปิดไม่นาน แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก จนมีกระแสดราม่าที่ตามมาด้วยเช่นกัน
อดีตทูตเล่าว่าเพจนี้ เปิดขึ้นหลังเกษียณอายุราชการพอดี “ผมมีเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหลังเราก็เขียนไปเรื่อยๆ แต่เขียนรวมๆ เราไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองอย่างเดียว มีเรื่องชีวิตเราบ้าง ช่วงหลังก็มีคนมาติดตามอ่านเยอะ นอกจากเฟรนด์ลิสต์ มีคนนอกมาด้วย ประกอบกับเราเกษียณพอดี เราเลยคิดว่าไหนๆ ก็เปิดเพจเลยละกัน และเราก็มีเวลานั่งเขียน จะแยกเรื่องส่วนตัว และเอาประสบการณ์ที่เราได้รับมาแลกเปลี่ยน เผื่อจะเกิดประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจบ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้รับความสนใจมากขนาดนี้ ก็ต้องขอบคุณผู้ที่ให้ความสนใจ”
“พอเปิดเพจก็มีเพื่อนในกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงอื่นๆ มาแซวกัน แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้ใหญ่หลายๆ คน ทูตระดับสูงๆ ทุกคนก็เริ่มยอมรับแล้วว่าประเทศเรามีปัญหา และเขาพร้อมที่จะฟังความเห็นมากขึ้น เพียงแต่ว่าจะไปยังไงต่อ หลายๆ คนก็อาจจะจุดยืนไม่ตรงกัน แต่ก็รู้ว่าต้องหาทางแก้ไข ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดี”
โพสต์หนึ่งในเพจทูตนอกแถว อดีตทูตท่านนี้ได้เล่าถึงเรื่อง LGBT ในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในเนื้อหา ได้มีข้อความที่เกิดเป็นกระแสดราม่า เมื่อมีผู้อ่านบางคนรู้สึกไม่สบายใจ และตีความถึงบางประโยคว่า มีการเหยียดเพศ ซึ่งเราก็ได้ถามเขาถึงโพสต์นี้
“ตอนนั้นผมโพสต์เรื่อง LGBT ซึ่งในกระทรวงก็ค่อนข้างจะเปิดกว้างมากเรื่องนี้ ผมก็มีเพื่อนเยอะๆ ที่เป็น แต่โจ๊กที่เอามาโพสต์ หลายอันมันก็เริ่มด้วยรุ่นพี่ที่เป็น LGBT สุดท้ายเรื่องนี้ที่มีดราม่า ตอนแรกผมก็รู้สึกเสียใจที่เขาแปลเจตนาเราผิด เพราะผมคิดว่า ถ้ามองว่าผมเป็นคนเหยียดเพศ ทุกคนก็ต้องมีมุมเหยียดเพศโดยอาจจะไม่รู้ตัว อย่างการเรียกผู้หญิงว่าชะนี ก็เป็นการเหยียดหรือเปล่า เส้นมันอยู่ตรงไหน ตอนแรกก็เสียใจ เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้เหยียดนะ แต่ตอนนี้กลับรู้สึกดี ที่ว่ามัน silver lining มีเรื่องดีๆ ที่ปรากฏอยู่
คือแม้ผมจะถูกตำหนิที่อื่น แต่พื้นที่ตรงนั้นก็มีการถกเถียงกันไปมาในเพจผม และมันเป็นการถกเถียงด้วยความสุภาพ และด้วยเหตุผล ซึ่งผมว่ากลายเป็นสิ่งที่ดี เป็นเวที ที่ผมคิดว่าอาจจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในแต่ละฝ่ายมากขึ้น ตอนแรกก็ว่าจะเขียนอธิบาย แต่ผมว่าเป็นเรื่องที่ห่างออกไปจากการทูต แต่สุดท้ายสิ่งที่ดี คือการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์”
ด้วยตัวเพจที่มีเนื้อหาเล่าถึงมุมมองการทูต และการต่างประเทศในมุมใหม่ และมีการท้าทายรัฐหลายๆ อย่าง ประกอบกับกระแสของการปลดแอกในวงการต่างๆ เอง อดีตทูตก็ยอมรับว่า ในระบบราชการของกระทนวงต่างประเทศก็ควรต้องมีการปรับเปลี่ยน
“ยังไงเสียมันก็เป็นระบบราชการ แม้แต่ผมเอง ช่วงนึงในชีวิตราชการระดับกลางๆ ผมก็อยากลาออกนะ เพราะเราไม่แน่ใจว่าเราไปไหวหรือเปล่า จะไปต่อดีไหม เราก็มีความคิดว่าถ้าลาออกไปทำอย่างอื่นก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่า แต่เราก็อยู่มาจนเกษียณ
แต่ข้าราชการที่ลาออกก็มีเยอะนะ เด็กๆ ที่ทนระบบไม่ไหวก็มี แล้วมันก็แล้วแต่ดวง ซึ่งมันไม่ควรจะต้องแล้วแต่ดวง ระบบมันควรจะดีกว่านี้ มันกลายเป็นว่าแล้วแต่ดวงว่านายจะดีแค่ไหน จะสอนงาน หรือเป็นธรรมแค่ไหน แต่นั้นคือระบบราชการ หลายคนได้นาย หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี เขาก็ท้อ ซึ่งมันก็น่าเสียดาย เพราะกว่าที่เราจะได้บุคลากร ก็ต้องมาเสียไป เพราะระบบที่ไม่ดี”
“กระทรวงก็มีปัญหาของกระทรวง แต่ผมก็มองว่าของเราก็ยังค่อนข้างดี อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่าไม่มีการซื้อตำแหน่ง ซื้อจะไปเป็นทูตประเทศต่างๆ แต่อย่างอื่นโดยทั่วไป ก็มีปัญหา และที่แย่ที่สุด คือการไม่สอนให้ข้าราชการมีความคิด หรือมีส่วนในการเสนอความเห็นอะไร สมัยผม ผมยังได้มีโอกาสทำเรื่องที่มีการตัดสินใจ หรือใช้ไหวพริบ ความคิด วิเคราะห์ ผมก็มีโอกาสได้ทำหลายงาน ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำเลยในชีวิตราชการ
ตอนผมอยู่แคนาดา ตอนนั้นต้องทำเรื่องอองซาน ซูจีที่ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งตอนนั้นเธอถูกจับตัวอยู่ และทางรางวัลโนเบลเขาเลยจะจัดให้พวกที่เคยได้รับรางวัลโนเบลมาเมืองไทย เพื่อให้กำลังใจกับอองซาน ก็มีการพบทูต และไปเสนอ เราก็สนับสนุน เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศไทย ตอนนั้นเป็นรัฐบาลชวน สมัยแรก เราก็คิดว่าจะทำให้ประเทศเราได้โปรไฟล์” แม้ว่าตอนนั้นจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างฝั่งไทย และแคนาดา แต่สุดท้ายอดีตทูตก็เล่าว่า ก็ได้จัดงานนี้ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งงานที่เขาได้เรียนรู้มากๆ และสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเอง
“งานถ้าเราตอบได้ว่าเราทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ทำแล้วประชาชนได้อะไร เราทำได้ แต่งานที่ทำไปแล้วตอบไม่ได้ว่าทำเพื่ออะไร มันจะยิ่งบั่นทอน ยิ่งตอบไม่ได้ยิ่งแย่ เจอระบบห่วยๆ เด็กรุ่นใหม่ ก็ไม่ทนกัน เขาก็เลือกไปทำอย่างอื่นดีกว่า”
เช่นเดียวกับระบบการเมืองเอง ซึ่งเยาวชน คนรุ่นใหม่ ไปถึงประชาชนเอง เลือกจะไม่ทนกับระบบ และออกมาต่อสู้ เจ้าของเพจทูตนอกแถวนี้ ก็ได้มีโอกาสไปร่วมชุมนุมมาด้วย ซึ่งเขาเข้าใจว่าเพราเหตุใด คนรุ่นใหม่ถึงออกมาเรียกร้อง และเคลื่อนไหวในครั้งนี้
“เข้าใจได้ ว่าทำไมเขาถึงออกมากัน เพราะเขามองแล้วว่า ถ้าเป็นอย่างนี้เขาไม่มีความหวัง เขาจะอยู่ได้อย่างไร เขาก็ต้องเป็นห่วงอนาคต และประเทศ เพราะท้ายที่สุดพวกเขาคือเจ้าของประเทศ และคืออนาคตของประเทศ ถ้าเขาแสดงความคิดเห็น หรือต้องการการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ควรจะเปิดใจรับฟัง และใจกว้างกว่านี้
ถ้าคุณไปต่อต้าน หรือไปทำร้าย ก็เท่ากับทำร้ายอนาคตของประเทศ เพราะเขาเหล่านี้คือทรัพยากรอันมีค่า และสำคัญอย่างยิ่ง เราดูความสามารถในการบริหารจัดการ เขาเก่งมาก ผมก็ไม่เคยเห็นการประท้วง ที่มีการบริหารจัดการที่ไหนในโลก ที่สามารถบริหารจัดการได้ดีเท่านี้ นี่คือความหวังของเรา”
สุดท้ายเราถามในมุมมองเขาเขาว่า คิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร ซึ่งคล้ายคลึงกับหลายๆ คน อดีตทูตท่านนี้บอกเราว่า ตอบไม่ได้ และรู้แต่เพียงว่า
“ยิ่งการเปลี่ยนแปลงรอนานเท่าไหร่ ประเทศเราก็จะยิ่งทรุดเท่านั้น”