เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผู้เขียนเริ่มได้ยินสิ่งที่เรียกว่า ‘ชง’ จากหนังสือที่วางอยู่บนหัวเตียงของมิตรสหายท่านหนึ่ง หนังสือหน้าปกสีเหลืองสดพร้อมกับคนที่มีท่าทางเป็นซินแสผมดำ ซึ่งมัดผมรวบไว้พร้อมกับโปรยรอยยิ้มน้อยๆ ชื่อว่าวิชาคู่สมพงศ์ (ชง-ฮะ) ฮวงจุ้ยภาคพิเศษ แต่งโดยวิศิษฏ์ เตชะเกษม
การห้อยคำว่าฮวงจุ้ยภาคพิเศษ ทำให้ผู้แรกเห็นน่าจะพอปะติดปะต่อได้ว่าชง-ฮะอะไรนั่น อย่างน้อยก็พอจะเกี่ยวข้องฮวงจุ้ยละมั้ง โดยหนังสือเล่มดังกล่าวออกมาในปีเดียวกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ในส่วนแรกของหนังสือ ผู้เขียนระบุไว้ว่า “…ศาสตร์นี้ได้สร้างความสำเร็จให้กับบุคคลเหล่านี้มาโดยตลอด และในยามที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงอ่อนแอเป็นที่สุดศาสตร์นี้ก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นทวีคูณ” ซึ่งบุคคลที่กล่าวถึง คือพ่อค้านักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลทั่วไป
หากอธิบายแบบรวบรัดศาสตร์พยากรณ์อย่างฮวงจุ้ยนั้น เกี่ยวข้องกับ ‘พื้นที่’ ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของบ้านและนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ความรู้เช่นนี้เบ่งบานในเมืองไทยช่วงธุรกิจฟองสบู่ทศวรรษ 2530 ทั้งยังนิยมใช้และถูกอ้างอิงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ ชง-ฮะ มักจะเกี่ยวกับ ‘เวลา’ และความสัมพันธ์กับ ‘ตัวบุคคล’ ผ่านความสัมพันธ์ของ ‘ธาตุ’ ทั้ง 5 ในศาสตร์อี้จิง ได้แก่ ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟที่ข่มและควบคุมกัน ธาตุเหล่านั้นจะมาสัมพันธ์กับปีเกิดตามปีนักษัตรอย่างชวด ฉลู เถาะ ฯลฯ ที่เรารู้จักกัน และจะนำไปคำนวณทางโหราศาสตร์ โดยในหนังสือวิชาคู่สมพงศ์ฯ จะเน้นเรื่องคู่สมพงศ์แต่งงาน คู่สมพงศ์บิดามารดากับบุตร (ที่ใช้ดูเรื่องชงเป็นหลัก เผื่อถ้าชงกันก็ต้องหาทางแก้ไข เช่น ให้ลูกเรียกพ่อหรือแม่เป็นญาติ คือเรียกพ่อว่าลุงหรืออา เรียกแม่ว่าป้าหรือน้า หรือถ้ามีญาติที่มีดวงสมพงศ์ก็ให้เรียกว่า พ่อหรือแม่ให้มีลักษณะเป็นพ่อแม่บุญธรรม) คู่สมพงศ์หุ้นส่วน ผู้ร่วมธุรกิจ เพื่อนร่วมงาน หรือสมพงศ์อาชีพ และยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ปีจร’ เป็นปีปัจจุบันที่หมุนเวียนไป
ยกตัวอย่างเช่น ปี 2567 นี้คือปีมะโรงหรือปีมังกร ที่จะส่งผลกับผู้เกิดปีนักษัตรทั้งหลาย ถ้าเจอ ‘ชง’ หรือปะทะ พลังปีจรจะทำร้ายแล้วทำให้มีพลังอ่อนแอ แต่ถ้าเจอ ‘ฮะ’ ก็จะได้รับพลังส่งเสริมและโชคลาภ ซึ่งการแก้ไขชงหรือ ‘แก้ชง’ นั้นมีคำแนะนำว่า ให้เลือกใช้อุปกรณ์รูปนักษัตรอย่างจี้ สร้อยข้อมือ แหวน เข็มกลัด ตุ๊กตาตัวเล็กๆ แบบพกพา หรือการใช้ตัวหนังสือจีนแทนสัญลักษณ์
คำว่าปีชงยังค่อยๆ มีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นในรอบ 10-20 ปีมานี้ แต่คำว่าฮะได้หายไปแล้ว หากจะตีความ เราอาจจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงของผู้คนนั้นมีมากขึ้น นับแต่ฟองสบู่แตก ความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจถึงขนาดจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของไทย แทบไม่เหลืออยู่แล้ว แม้จะมีช่วงที่คนจำนวนหนึ่งลืมตาอ้าปากได้ เช่นตอนพรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจในระยะหนึ่งก็ตาม
ในมิติทางการเมือง ความขัดแย้งช่วงปลายทศวรรษ 2540 นำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 และต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 การต่อสู้บนสมดุลอำนาจการเมืองเอียงข้างบนกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งทำให้อุณหภูมิทางการเมืองยังคงคุกรุ่นอยู่ในรูปแบบต่างๆ ฉันทามติร่วมกันของคนในสังคม จึงยากจะเกิดขึ้นแบบเดียวกับช่วงปลายทศวรรษ 2530 ที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งหลายคนเรียกช่วงนี้ว่า ทศวรรษที่สูญหายของไทย
ความเสี่ยงในชีวิตของคนไทย จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตของคนในประเทศนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย ครอบครัวจำนวนมากสูญเสียคนรักจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งในช่วงเทศกาลและนอกช่วงเทศกาล ด้วยสถิติสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เครื่องรางของขลังเพื่อความแคล้วคลาดและปลอดภัยจากอุบัติเหตุ จึงเป็นสินค้ายอดนิยม จะเห็นได้ว่าทุกๆ อุบัติเหตุที่มีการรอดชีวิตของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารอย่างปาฏิหาริย์ มักมาพร้อมกับการสอบถามเจ้าตัวว่าได้พก ‘ของดี’ หรือเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อวัดไหนหรือไม่ และเราอาจจะยังเห็นเคสคล้ายๆ กันในกรณีการปกป้องคุ้มครองอาคารบ้านเรือนและสถานที่ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
ความตายที่มาถึงอย่างไม่คาดฝัน เมื่อไม่สามารถให้เหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ เรื่องเล่าแบบเหนือธรรมชาติ และคำอธิบายทางจิตวิญญาณเลยมีโอกาสได้โลดแล่น โดยในปี 2538 มีดาราหนุ่มสาวที่เสียชีวิตด้วยอุบัติรถยนต์ถึง 2 คนแบบต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งทั้งคู่มีชื่อนำหน้าด้วย บ.ใบไม้ และไปสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ของคนที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว บ. ก่อนจะนำมาสู่พิธีแก้ไขและสะเดาะเคราะห์ต่างๆ เหตุการณ์นี้จึงน่าจะเป็นต้นทางแรกของความเชื่อที่เติบโตมา พร้อมกับการขยายตัวของสื่อมวลชนและโหราจารย์ทั้งหลาย
ความมั่นคงทางการเงินก็เห็นได้ชัดจากค่าแรงที่ถูกมาก การอยู่นอกกรุงเทพฯ ด้วยเงินเดือนที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิแทบเป็นไปไม่ได้ ชีวิตจึงถูกต้อนไปแออัดอยู่ในเมืองกรุงที่ต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตอันเลวร้าย ยิ่งบรรษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศเติบโตขึ้นสวนทางกับความมั่งคั่งของคนทั่วไป ภายใต้การมีอำนาจเหนือตลาดและการควบคุมที่เป็นไปได้ยาก อนาคตข้างหน้าของพวกเขาและสังคมไทยก็มีแต่จะซบเซาลงเรื่อยๆ
การตื่นขึ้นมาพบว่า ชีวิตในประเทศอื่นน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า มีค่าแรงที่ทำให้ชีวิตอยู่ได้ ทั้งคุณภาพชีวิตที่ได้รับการดูแลจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่ากลุ่มในเฟซบุ๊กโยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย อันจูงใจให้คนย้ายประเทศ ได้กลายเป็นช่องทางการแสวงหาทางออกในชีวิตของผู้คนกลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับการออกไปทำมาหากินในต่างประเทศของคนกลุ่มใหญ่ ที่ไปเสี่ยงโชคก่อนหน้านั้นแล้วในฐานะแรงงานในตะวันออกกลาง ประเทศยุโรป และเอเชียตะวันออก
ทว่าในปี 2562 ภัยจากโรคโควิด-19 ที่ทั้งคร่าชีวิตคน สุขภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก็เป็นช่วงเวลาย่ำแย่ของมนุษยชาติที่ซ้ำเติมชีวิตอันย่ำแย่อยู่แล้วของคนไทยให้พังพินาศลงไปอีก
ปรากฏการณ์ปีชงในหลายปีที่ผ่านมานี้ จึงเป็นทางออกหนึ่งกับการแก้ไขไม่ให้ชีวิตประสบเคราะห์กรรมอันเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกของพวกเขา เพราะการมีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงและไม่แน่ไม่นอนอยู่ตลอดเวลา การแก้ปีชงเฟื่องฟูไปพร้อมกับนวัตกรรมทางจิตวิญญาณ ที่เติบโตอย่างมากในสังคมไทยไปด้วย สิ่งที่เรียกกันเล่นๆ ว่า ‘มูเตลู’ ก็ได้กอปรเอาความหลากหลายทางความเชื่อให้อยู่ในจักรวาลที่เป็นไปได้ ว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตอันย่ำแย่ของผู้คนในรัฐที่ไร้น้ำยา โดยจะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนได้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ความเชื่อว่าความขยันส่วนบุคคลจะนำมาสู่การประสบความสำเร็จ ก็เป็นธงนำที่ทำให้ประชาชนดิ้นรนกันเองบนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และกติกาการแข่งขันที่ปราณีต่อพวกเขา จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อสุดท้ายแล้วเครื่องมือไม่กี่อย่างที่เขาจะพึ่งพิง ก็คือสินค้าทางจิตวิญญาณอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรมทั้งหลายที่คาดหวังว่าจะเป็นแก้วสารพัดนึก
ความสมเหตุสมผลทางการเมือง และความเชื่อทางศาสนา เคยเป็นหัวใจของชนชั้นกลางไทยในช่วงทศวรรษ 2530 ที่มีผู้นำสำคัญอย่างพุทธทาส ป.อ.ปยุตฺโต ฯลฯ เริ่มหมดอิทธิพลลงไป ความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคยถูกมองว่างมงาย พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน และเพื่อความมั่งคั่งถูกตีตรารังเกียจว่าเป็น ‘พุทธพาณิชย์’ (อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่า ลัทธิบูชาความมั่งคั่งเติบโตอย่างมากในทศวรรษ 2520 และในสายตาของปีเตอร์ เอ. แจ๊คสัน (Peter A. Jackson) ผู้เขียนเทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์ยุคใหม่กับทุน(ไทย)นิยม) ก็มองว่าสิ่งเหล่านั้นเริ่มมีที่ทางในสังคมไทยแบบไม่ถูกตั้งแง่รังเกียจเหมือนเดิม
บางคนยังเชื่อด้วยซ้ำว่า การเมืองดีได้อาจต้องใช้มูเตลูช่วยเสริม กระแสการบูมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องรางของขลัง จึงเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นกลางผู้สมาทานความเป็นพุทธแท้ ตั้งแต่จตุคามรามเทพในช่วงรัฐประหารปี 2540 การเติบโตของไอ้ไข่ในช่วงรัฐประหารปี 2557 การขอพรเพื่อความสมหวังในคู่ครองจากพระแม่อุมาเทวี การบูชาเทพเจ้าฮินดูต่างๆ อย่างคึกคัก ฯลฯ
วิวาทะล่าสุดกรณีปีชง ฝ่ายคัดค้านที่มีฐานอยู่ที่พุทธศาสนาแบบปัญญาชน วิพากษ์ความเชื่ออื่นด้วยถ้อยคำที่รุนแรงอย่างคำว่า “โง่” แต่เราอาจจะต้องตระหนักเสียก่อนว่า พื้นที่ส่วนบุคคลและความเชื่อส่วนบุคคล หากไม่ส่งผลเดือดร้อนต่อใครก็คงพอจะยอมรับความเชื่อและพิธีกรรมของแต่ละคน จนกว่ามันจะถูกนำมาใช้และแสดงในที่สาธารณะ หรือใช้ทรัพยากรสาธารณะจนเกิดผลกระทบมากพอ เช่น การใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน การจัดกิจกรรมหรือพิธีกรรมในที่สาธารณะแล้วกินพื้นที่การใช้ร่วมกันของผู้คนในสังคม
ทว่าเราจะปล่อยให้ผู้ประกอบการทางจิตวิญญาณเหล่านั้นดำเนินการได้อย่างอิสระเช่นนั้นหรือ? คำตอบคือไม่ กิจการทางความเชื่อเองหากคิดบนฐานเศรษฐกิจแล้ว การประกอบการหารายได้จากความเชื่อนั้นๆ ก็ควรจะเข้าระบบภาษีเช่นเดียวกับการค้าและธุรกิจประเภทต่างๆ ความพร่าเลือนดังกล่าวเกิดขึ้นในกรณีวัดและศาสนสถานต่างๆ โหราจารย์ และเซเลบทางความเชื่อทั้งหลาย ถ้านับกันอย่างตรงไปตรงมา พวกเขามีรายได้มหาศาลก็ควรถูกตรวจสอบ และจ่ายภาษีอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำรายได้นั้นกลับเข้ามาเป็นทรัพยากรของสาธารณะ
ดังที่เราเริ่มยอมรับกันแล้วว่าเศรษฐกิจที่เติบโตมาจากสินค้าทางจิตวิญญาณของเมืองไทยนั้น ไม่ใช่เงินเล็กน้อยเลย แต่เป็นก้อนเงินที่ใหญ่โตมหาศาล เช่นตลาดพระเครื่องที่ศูนย์วิจัยกสิกรเคยประเมินไว้ช่วงปี 2548 ว่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนั้นยังไม่นิ่ง เพราะเฉพาะพระเครื่องเองมีธุรกิจเกี่ยวข้องตั้งแต่การสร้างพระ แผงพระในประเทศ-ต่างประเทศ ธุรกิจโฆษณา และธุรกิจรับจำนำพระเครื่อง
นี่ยังไม่ต้องนับถึงข้อครหาว่า วงการสินค้าทางจิตวิญญาณเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ซึ่งสัมพันธ์กับฐานธุรกิจสีเทาที่เติบโตอย่างกว้างขวางในสังคมไทยหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรัฐประหารที่คนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น ดังที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวอยู่บ้าง
ในพลวัตของความเชื่อและพิธีกรรมในสังคมไทยที่งอกงามกับระบอบทุนนิยม แนวคิดเรื่องปีชงก็อาจเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ได้ยาวนานแบบฮวงจุ้ย หรืออาจปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบอื่นๆ บนความเป็นไปได้ของธุรกิจทางจิตวิญญาณ ที่มีโอกาสเสมอในสภาพสังคมที่เป็นเช่นนี้
อ้างอิงจาก
วิศิษฏ์ เตชะเกษม, วิชาคู่สมพงศ์ (ชง-ฮะ) ฮวงจุ้ยภาคพิเศษ (กรุงเทพฯ : บริษัทควอลิตี้ วอยซ์ จำกัด, 2540)
มติชนสุดสัปดาห์, 16 (31 ตุลาคม 2538) และ มติชนสุดสัปดาห์, 16 (5 ธันวาคม 2538)
ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน, Capitalism Magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์ยุคใหม่กับทุน(ไทย)นิยม, วิราวรรณ นฤปิติ, แปล (กรุงเทพฯ : มติชน, 2566)