ปฏิรูป = ล้มล้าง, คดีบ้านพักหลวง, สมรส (ไม่) เท่าเทียม จนถึงอีกนับสิบคดีที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีหลังมานี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมไทยเสมอว่า ความยุติธรรมคืออะไร? แล้วกฎหมายคือความยุติธรรมเสมอไปไหม? แล้วทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมยังเป็นเบาะให้ประชาชนทุกคนพิงได้อย่างเท่าเทียมกันหรือเปล่า?
ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลงรากลึก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ร่วมกับ The 101 world จัดงานสัมมนา “จินตนาการใหม่ถึงระบบยุติธรรมไทย” ชวนนักคิดจากสาขาอื่นนอกจากนิติศาสตร์ทั้ง ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน, นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน และสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัดมาแชร์มุมมองต่อความยุติธรรมในความคิดของพวกเขา สถานการณ์ปัจจุบัน และวิธีการที่จะสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นของทุกคนจริงๆ
ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ตราชั่งที่หนักขวา คอยรับใช้สถาบันหรืออำนาจใดอำนาจหนึ่ง
ความยุติธรรมคืออะไร?
คำถามแรกที่ผู้ดำเนินรายการโยนเข้าสู่วงสนทนาคือ “คุณค่าความหมายของความยุติธรรม ในสายตาแต่ละคนคืออะไร ?”
ธงชัยเป็นผู้เริ่มตอบคำถามนี้ ด้วยประโยคว่า “ความยุติธรรมคือความแฟร์” หรือหมายถึงความเสมอภาคเบื้องหน้ากระบวนการยุติธรรม
ธงชัยชวนย้อนกลับไปถึงปาฐกถา ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ rule by law แบบไทย’ ที่เขาพูดเมื่อปีที่แล้วในงานป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 ซึ่งในครั้งนั้นเขาวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมไทยไว้ว่า ไม่ได้ดำเนินไปด้วย Rule of Law หรือหลักนิติธรรม แต่ถูกบิดให้ผิดเพี้ยนด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์ และภาวะกึ่งอาณานิคมจนทำให้เกิดภาวะนิติศาสตร์แบบไทยๆ ที่ดำเนินไปแบบ Rule by Law หรือปกครองด้วยกฎหมาย ซึ่งให้อภิสิทธิ์และรับใช้ผู้มีอำนาจในสังคมไทย
เขาชี้ว่าสองคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีปฏิรูป = ล้มล้าง และสมรสเท่าเทียมเป็นตัวชี้วัดได้ดีว่า ระบบยุติธรรมไทยคงเส้นคงวาเสมอที่จะละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และรับใช้ระเบียบแบบเก่าของสังคมไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจ
ธงชัยชี้ต่อว่า ที่ผ่านมาระบบยุติธรรมไทยพยายามทำตัวให้เป็นกลางบนความขัดแย้ง หวั่นเกรงว่าตัวเองจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเขาชี้ว่าความเป็นกลางเพียงอย่างเดียวไม่ใช่จุดยืนที่ถูกต้องนัก ระบบยุติธรรมควรคงมั่นบนหลักการที่เป็นกลางและสังคมเห็นพ้องต้องกัน เช่น ประชาธิปไตย หรือการไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม
ด้าน นพ.โกมาตร เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ถ้าปล่อยให้เรื่องใดเป็นของวิชาชีพใด หรือกลุ่มคนใดโดยเฉพาะ มันจะพังพินาศ” หมายถึงถ้าปล่อยให้เรื่องสาธารณสุขเป็นของแพทย์โดยเฉพาะ จะทำให้ระบบไม่ได้รับใช้ทุกคนจริงๆ เช่นเดียวกับกรณีของกระบวนการยุติธรรม
ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ชี้ว่าปัญหาของระบบยุติธรรมในไทยมี 2 ประการ หนึ่งคือเน้นแต่เรื่องเชิงเทคนิค จนลืมทบทวนความเข้าใจในหลักนิติปรัชญา ยกตัวอย่าง ศาลที่ท่องจำกฎหมายได้ทุกบททุกมาตรา แต่ลืมทบทวนไปว่ากฎหมายมาจากไหน ความยุติธรรมคืออะไร และดำรงอยู่เพื่ออะไร สองคือ คนในกระบวนการยุติธรรมไทยลืมทำหน้าที่สำคัญอีกประการคือ “สลัดอคติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์มีทุกคน และต้องหมั่นตรวจสอบตัวเอง
ด้านนักจิตวิทยา หรือ นพ.ประเสริฐ เปิดประเด็นนี้ด้วยยกประโยคจากหนังสือของบรมครูนักจิตวิเคราะห์ ซิกมัน ฟรอยด์ ว่า “ความยุติธรรมภายในจิตใต้สำนึกคือ ถ้าเราทำไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำไม่ได้ด้วย” และตามมาด้วยประโยคที่ว่า “ความยุติธรรมคือความสมมาตร สิ่งที่เกิดขึ้นกับมือซ้ายต้องเกิดขึ้นกับมือขวาด้วย” ดังนั้น ความอยุติธรรมเกิดจากความไม่สมมาตร และหน้าที่ของความยุติธรรมคือเปลี่ยนความอสมมาตรให้เป็นความสมมาตร
นพ.ประเสริฐขยายความโดยจับประเด็นความยุติธรรมของฟรอยพ์มาจับกับแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของป๋วย อึ้งภากรณ์ โดยความอยุติธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เกิด เมื่อไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีนิทานอ่าน ไม่ใช่เด็กทุกคนจะได้ใกล้ชิดแม่ เพราะแม่ต้องทำงาน และไม่ใช่เด็กทุกคนจะได้เรียนโรงเรียนอนุบาลที่ดีเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง นี่คือความอยุติธรรมตามที่ฟรอยด์บอก
คุณหมอกล่าวต่อว่า คนในกระบวนยุติธรรมต้องเข้าใจว่าวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่มีหน้าที่สร้างอัตลักษณ์ หรือปฏิเสธความเชื่อเพื่อสร้างตัวตน ดังนั้น การรับมือกับคนรุ่นใหม่ควรเริ่มจากการรับฟัง แล้ววันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนจากอุดมคติที่ใฝ่หาสู่ความเป็นจริงที่เป็นไปได้ของสังคมเอง
สฤณี เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ความยุติธรรมในอุดมคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” เพราะแต่ละสังคมมีค่านิยมที่หลากหลายและให้คุณค่าแตกต่างกัน ดังนั้น ถ้าเริ่มคำถามว่า “ความอยุติธรรมคืออะไร?” จะง่ายกว่าและเห็นได้ตรงกันมากกว่า
สฤณีชวนมองว่า หากจะประเมินสถานการณ์สังคมไทยวันนี้ว่าเป็นอย่างไร ให้นำหลักการพื้นฐานมาตั้งและเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เข่น หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย สฤณียกตัวอย่างการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศเพื่อควบคุมโรค แต่มาถึงวันนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยน ก็ยังคงถูกใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงถูกใช้เพื่ออ้างปราบปรามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล หรือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นบริสุทธิ์ ก็เห็นได้ชัดเจนจากผู้ต้องหาคดี ม.112 ในทุกวันนี้
สฤณีสรุปว่า สถานการณ์ของสังคมไทยวันนี้ตกต่ำแม้กระทั่งเรื่องพื้นฐานที่ใช้ตรรกะได้ไม่ยาก ก็ดูผิดเพี้ยนไปหมด
สฤณีทิ้งท้ายในช่วงนี้ว่า ปัญหาใหญ่ของระบบยุติธรรมไทยตอนนี้คือ สภาวะลอยนวลพ้นผิด ซี่งเธอชี้ว่าหากมองในมุมเศรษฐศาสตร์วิธีรับมือกับปัญหานี้คือ สร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับคนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประการหนึ่งที่เธอเสนอคือ สร้างความยึดโยงบุคลากรกระบวนการยุติธรรมกับประชาชน ไม่ได้แปลว่าศาลจะต้องไม่อิสระ แต่ต้องมีความยึดโยงบางประการ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นกระบวนการถอดถอนคนในกระบวนการยุติธรรมจากภาคประชาชน
ระบบยุติธรรมในฝัน
ธงชัยกล่าวว่าพื้นฐานของระบบยุติธรรมในฝันสำหรับเขาคือ “ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์” ซึ่งในสังคมไทยมีทั้งอภิสิทธิ์จากเงิน เส้นสาย อำนาจ แต่ที่เลวร้ายที่สุดในสังคมไทยคือ อภิสิทธิ์ที่จะพ้นผิด ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้จากอภิสิทธิ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น
ธงชัยชี้ว่าระบบยุติธรรมของไทยที่สะท้อนความเป็นจารีตมากที่สุดคือ ระบบราชทัณฑ์ ซึ่งถึงทุกวันนี้ก็ยังใช้ความน่ากลัวเป็นเข็มทิศนำทาง เพื่อเตือนให้คนกลัวการกระทำความผิดและต้องเข้าเรือนจำ ดังนั้น ดัชนี้ชี้วัดความก้าวหน้าของระบบยุติธรรมที่ดีที่สุด คือความเปลี่ยนแปลงของเรือนจำไทย
ด้าน นพ.โกมาตร ชวนมองว่าความยุติธรรมมีความซับซ้อนมากกว่าแค่ความยุติธรรมในระบบที่มีศาล, ตำรวจ, ราชทัณฑ์ แต่ความยุติธรรมกินความตั้งแต่ขับรถบนถนน, ต่อแถวซื้ออาหาร หรือไม่ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในระบบควรควบคู่ไปกับการสร้างความยุติธรรมในสังคมและชีวิตประจำวัน
สำหรับ นพ.ประเสริฐ เขาเชื่อว่าคนในระบบยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำควรมีความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy ต่อคนอื่น ซึ่งวิธีหนึ่งที่คนที่กำลังจะเข้ามาหรืออยู่ในระบบยุติธรรมอยู่แล้วควรทำคือ การขับรถออกจากถนนใหญ่ แล้วเลี้ยวเข้าสักซอยหนึ่ง เพื่อไปดูความวุ่นวาย ความเลอะเทอะ ความซับซ้อนของชีวิตคน และขอให้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านแลกเปลี่ยนกับเขาสักหน่อย ตรงนี้ก็จะช่วยได้
สฤณีทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้คนในสังคมก้าวหน้ามากแล้ว อย่างที่เห็นจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการเข้าชื่อร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบยุติธรรมจึงต้องเพิ่มมากขึ้น และระบบยุติธรรมควรกลับมาทบทวนเรื่อง “ความเป็นอิสระ” อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร และควรอยู่ตรงไหน
สฤณียกตัวอย่างนโยบายของ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา ที่เปิดรับความคิดเห็นของประชาชนเพื่อวางนโนบายของศาลฎีกา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือสุดท้ายประชาชนไม่รู้ว่าทางศาลคิดอย่างไร และมีการนำความคิดไหนไปปรับใช้หรือเปล่า
เคลื่อนสู่จินตนาการใหม่ถึงระบบยุติธรรมไทย
คำถามสำคัญที่ตามมาเมื่อเราฝันถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีคุณภาพแล้วคือ จะทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึงตรงนั้น
ธงชัยชี้ว่าประการที่แรกที่เขาหวังคือ ให้กระบวนการยุติธรรมไทยลดความเป็นกลางลงหน่อย และยึดหลักการให้มั่นคงมากขึ้น ซึ่งหลักการตรงนั้นก็ตามที่เขียนไปข้างต้น อาทิ ประชาธิปไตย และความไม่รุนแรงต่อกัน ประการที่สองคือ ความเป็นมืออาชีพ หรือทหารไม่ใช่นายกฯ ตำรวจไม่ใช่มือปืน และศาลมีหน้าที่ปกปักษ์รักษาความยุติธรรม ประการที่สามคือ แก้ปัญหาจากเรื่องเล็กแล้วไปให้ถึงรากของปัญหา หมายถึงไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการถอนรากถอนโคนทั้งระบบ เพราะมันอาจนำไปสู่ความโกลาหลและไร้ทิศทาง แต่ให้ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีกรณี แต่ต้องลากไปให้ถึงระบบโครงสร้างทั้งหมด ตรงนี้ธงชัยเน้นว่าสังคมไทยต้องเลิกมองปัญหาจากตัวบุคคล อาทิ คนไม่ดีกฎหมายเลยถูกใช้ผิดพลาด และหันมามองปัญหาที่โครงสร้างให้มากขึ้น
นพ.โกมาตร ชี้ว่าในพื้นที่แตกต่างกันมีสิ่งที่เราหวังว่าจะทำแล้วได้ผลไม่เหมือนกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าล้วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน อยู่ที่บริบทและสถานการณ์นั้นๆ ดังนั้น ใครคิดว่าทำอะไรแล้วเข้าไม้เข้ามือ ขอให้ทำต่อไปอย่างไม่ลดละ
นพ.ประเสริฐ มองว่าการศึกษาคือทางออกของระบบยุติธรรมในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างวิชาถกเถียง วิชาประนีประนอม และวิชาร่วมมือกัน และสร้างความเห็นใจต่อผู้คนที่ไม่เหมือนเราให้กับเด็กได้ดีที่สุด เพราะในระดับมัธยมศึกษาเด็กจะเริ่มมองอนาคตและสนใจตัวเองมากกว่าแล้ว
“ยังไงเวลาก็เป็นผู้ชนะ คุณก็ต้องไป ผมก็ต้องไป ถ้าเราทำวันนี้ให้ดี อีกสัก 15-20 ปี เราจะได้คนที่ใจกว้าง เห็นอกเห็นใจ และผมเชื่อว่าวันนั้นระบบยุติธรรมจะดีขึ้นกว่าเดิม” คุณหมอเสริม
ด้านสฤณีย้ำในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ควรเพิ่มมากขึ้น ควรเปิดให้มีการถ่ายทอดการพิจารณาคดี และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมควรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Open Data ซึ่งศาลควรนำคำตัดสินทั้งหมดจากทุกศาลมารวมไว้ที่เดียว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาได้ ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเข้าถึงยากอยู่
ทั้งหมดนี้คือความยุติธรรมจากมุมมองของนักคิด นักเขียน นักวิชาการจากหลากหลายสาขา ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างในบางประเด็น แต่ดูเหมือนจุดร่วมที่ทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันคือ ระบบยุติธรรมไทยในเวลานี้ไม่ได้เป็นเบาะให้ทุกคนเอนหลังพิงได้อย่างเท่าเทียมกันเลย
ฟังงานเสวนา “จินตนาการใหม่ เพื่อสร้างสังคมไทยแห่งอนาคตที่หลักนิติธรรมทำงานเสมอหน้ากัน” ได้ที่: https://www.facebook.com/tijthailand.org/videos/1205118916683862