ชื่อของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล โดดเด่นขึ้นมาในระยะหลังที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองและประวัติศาสตร์ เพราะหนังสือมากมายของเขาวนเวียนอยู่กับการวิพากษ์ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ก่อนชวนขบคิด ตั้งคำถามถึงคำอธิบายชุดปัจจุบัน และนำเสนอความเข้าใจในอีกมุมหนึ่งในแก่นักอ่าน
นับตั้งแต่ Siam Mapped, ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ไล่มาจนถึง ปฏกฐาเรื่อง นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ในงานรำลึกป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 ข้อเขียน และข้อคิดที่เขาเสนอเฉียบแหลม จนทำให้หลายคนเกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ หรือตั้งคำถามต่อสภาพรอบตัว และความเป็นอยู่ตัวเองมากขึ้น
หนึ่งในงานชิ้นสำคัญของเขาคือ ‘6 ตุลาจำไม่ได้ลืมไม่ลง’ เพราะเป็นงานวิจัยที่เขามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น หมายถึงเป็นทั้งผู้อยู่ในเหตุการณ์ฆ่าสังหาร 40 ศพ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกคุมขุงในเรือนจำ และผู้ลงไปศึกษา วิจัย เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจให้เหตุการณ์ดังกล่าว
ล่าสุด ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา พาไปสำรวจความทรงจำที่เปลี่ยนไปของสังคมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ในหนังสือ ‘Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok’ ตั้งแต่มันยังเป็นความรู้สึกอิ่มเอมด้วยความรักชาติ ไปจนถึงความเงียบที่ไม่มีใครอยากพูดถึง และเหตุการณ์ที่ถูกประนามว่าเหี้ยมโหดอย่างในปัจจุบัน
พวงทอง ภวัครพันธุ์ – ความเงียบของผู้สูญเสีย
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หนังสือเล่มนี้พาย้อนไปดูความทรงจำที่เปลี่ยนแปลงไปของทั้งเหยื่อ ผู้กระทำ และสังคมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากในช่วงแรกๆ ที่คนบางส่วนของสังคมยอมรับ และเชื่อว่าทำไปเพื่อต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ หรือตั้งคำถามว่า “ขุดคุ้ยแล้วได้อะไรขึ้นมา ทำไมไม่มองไปข้างหน้า” และรัฐเองก็เลือกไม่ใส่เหตุการณ์นี้ลงไปในหนังสือเรียน
ขณะที่คำว่า Silent บนปกหนังสือยังสะท้อนถึงความเงียบของผู้สูญเสียอย่าง พ่อ-แม่ของ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ หนึ่งในนักศึกษาที่หายตัวไปในการล้อมปราบวันนั้น พวกเขารอคอยอย่างเงียบเชียบให้ลูกชายกลับบ้าน ทั้งที่ความจริงพวกเขาก็อาจรู้อยู่แก่ใจ ตั้งแต่ไปดูร่างผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจหลังเหตุการณ์แล้ว
ความพยายามกดทับประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจ ยิ่งทำให้ 6 ตุลาตามความหลอกหลอนผู้มีอำนาจอยู่เรื่อยๆ และเมื่อโลกเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่สามารถอ่านทุกอย่างได้ในอินเทอร์เน็ต พวกเขาจึงเริ่มมองเห็น ความอยุติธรรม และความโหดเหี้ยมของรัฐไทยที่เคยเกิดขึ้น
ก่อนที่กลุ่มนักศึกษาจะสะท้อนความเข้าใจผ่านการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีการฉายวีดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เปิดเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองเป็นแบ็คกราวด์ และเมื่อคนรุ่นใหม่รู้ และเริ่มท้าทายผู้มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการผลิตวาทกรรมโยนไปว่า ‘ล้มเจ้า’
ก้อง ฤทธิ์ดี – ความจริงทางอารมณ์ และความทรงจำของสังคม
ก้อง ฤทธิ์ดี ผู้กำกับภาพยนต์ พูดคล้ายๆ กับ อ.พวงทอง ในประเด็นที่หนังสือพาย้อนดูความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เขาเสริมว่า หนังสือสะท้อนให้เห็นภาวะกระอักกระอ่วนของสังคม คล้ายกับอยู่ในภาวะลิมโบ้ (Limbo State) คือ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก อยากลืม แต่ก็อยากพูด
เขามองว่า หนังสือสลายเส้นแบ่งระหว่าง ประวัติศาสตร์ และความจำ ให้เลือนหายไป ทำให้เขารู้สึกถึงอารมณ์ของผู้เขียนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยจริงๆ ซึ่งเขามองว่า ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความทรงจำของสังคมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาเช่นกัน
ภาพยนต์หลายเรื่องสะท้อนว่าความทรงจำของสังคมต่อ 6 ตุลา เปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่น ‘Shakespeare must Die’ ของผู้กำกับ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หนังที่สร้างชื่อเสียงดังพลุแตกในต่างประเทศ แต่ถูกห้ามฉายในประเทศไทย เพราะว่าบางฉาก หรือหลายฉากชวนให้นึกถึงการสร้างความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งในเหตุการณ์ปี 2553 รวมถึงปี 2519
ก้องชี้ต่อถึงหนังอีกเรื่องหนึ่ง ที่นำเหตุการณ์หลัง 6 ตุลามาฉายในมุมโปกฮา คอมเมดี้ อย่าง ‘ฟ้าใสใจชื่นบาน’ ที่เล่าถึงชีวิตของนักศึกษาหนุ่มสาวที่หนีเข้าป่า ไปสมัครเป็นหนึ่งในกลุ่มคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เกษียร เตชะพีระ – เก้าอี้ว่าง โต๊ะร้าง ช่างเงียบงัน
ศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมถึงเป็นนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เอ่ยถึงบทเพลง ‘Empty Chair Empty Table’ ที่มีการเปิดในช่วงแรกของการสนทนา โดยเขาเล่าว่า คำนูญ สิทธิสมาน เป็นคนแรกที่แนะนำเพลงนี้แก่เขา และชวนให้แต่งกลอนจากเพลงนี้ ซึ่งเขาก็รับปาก
“โอ้เพื่อนรัก โปรดให้อภัยข้า ที่ยังมีชีวิตมาแต่เพื่อนหาย
ด้วยวิโยค โศกศัลย์เกินบรรยาย ด้วยสำนึกผิดร้าย มิรู้พอ
โอ้เพื่อนรัก โปรดเถิดหนาอย่าถามไถ่ เพื่อนพลีชีพ เพื่ออะไร คราที่มั่น
เก้าอี้ว่าง โต๊ะร้าง ช่างเงียบงัน ด้วยเสียงเพลง เพื่อนนั้นไม่มีแล้ว”
เกษียร มองว่าในบางช่วงเวลา 6 ตุลา ถูกมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จนทำให้คนในสังคมเกิดสัญญาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรกันว่าจะไม่พูด ไม่เอ่ย ถึงเรื่องนี้ และแม้บางคนอยากพูด ก็รู้แก่ใจว่าพูดไม่ได้ ซึ่งในแง่หนึ่งมันทำให้ผู้ใช้ความรุนแรงบางคนรู้สึกว่าตัวเองได้รับการแก้ตัวทางศีลธรรม และไม่รู้สึกผิด
ในประเด็น เส้นแบ่งที่เลือนรางในงานเขียนระหว่าง ประวัติศาสตร์ และ ความทรงจำ ทำให้งานนี้ถูกตั้งคำถามในเชิงขนบงานวิชาการ เกษียรรู้สึกว่า ในฐานะมนุษปุถุชน อคติเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรู้ทัน ตระหนักถึงมัน และพยายามเป็นกลางให้มากที่สุดในหลายเหตุการณ์ เป็นสิ่งที่งานเขียนเล่มนี้ทำได้ดี
อย่างไรก็ตาม เกษียรคาดว่าผู้เขียนต้องสู้กับความรู้สึก ‘เข้าใจ’ ที่เกิดขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อีกฝั่งหนึ่ง เพราะตระหนักดีว่า เมื่อไรที่ความเข้าใจเกิด ความชอบธรรมก็ย่อมเกิด ดังนั้น มันจึงเป็นความเข้าใจ ที่ผู้เขียนพยายามไม่เข้าใจเกินไป ซึ่งซ่อนอยู่ในทุกบรรทัดของหนังสือ
ธงชัย วินิจจะกูล – ทะลุเพดานแห่งความเงียบ
ธงชัย ได้รับมอบหมายให้แต่งบทเพิ่มเติมหนึ่งบทให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เขานำเสนอว่า ‘บทที่ 11 ทะลุเพดานแห่งความเงียบ ความทรงจำของ 6 ตุลา กับการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่’
เขามองว่า ความพยายามของผู้มีอำนาจที่ทำเหมือน 6 ตุลาไม่เคยเกิดขึ้น อาชญกรรมแห่งรัฐไม่มีจริง ตลอดจนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจ ยิ่งเป็นตัวเร่งให้นักศึกษาตัดสินใจทะลุเพดาน เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน สาเหตุสำคัญอีกข้อคือ นักศึกษายุคนี้โตมาอีกแบบหนึ่ง ในภาวะที่สถาบันอ่อนแอลง บวกกับบรรยากาศของรัฐบาลเผด็จการ
“นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งของการทะลุเพดาน” ธงชัย เชื่อว่าการรวบรวมข้อมูล 6 ตุลาของทุกฝ่าย เหมือนเป็นการคืนความเป็นมนุษย์ ให้ผู้ที่เสียชีวิต และหวังว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลที่พูดถึงความรุนแรงโดยรัฐเช่นนี้ขึ้นมาอีก ไม่ว่าในเหตุการณ์ สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง พฤษภา 53 หรือ กรณีตากใบ 2547
ในช่วงท้าย ธงชัย เสริมว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ยึดโยงกับแนวคิดของเขาอีกประการคือ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์’ รัฐไทยมักจะตีความกฎหมายแบบ Rule by Law ในคดีทั่วไปก็ยุติธรรม แต่ในคดีที่มีรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะมีความเอนเอียง เข้าข้างรัฐอย่างชัดเจน
โดยข้ออ้างสูงสุดของรัฐไทยคือ เพื่อความมั่นคง ให้อภิสิทธิ์กับรัฐในการเมินเฉยกฎหมาย และใช้ความรุนแรงต่อประชาชน จนกลายเป็นความคุ้นชิน หรือเรียกว่า ‘วัฒนธรรมการการลอยนวลพ้นผิด’
ธงชัยเสริมอีกประเด็นว่า กฎหมายยังถูกตีความภายใต้ความจำแบบ ‘ราชาชาตินิยม’ ไม่ใช่ ‘รัฐประชาชาติ’ ที่มีประชาชนเป็นหนึ่งเดียว และเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ดังนั้น การเรียกร้องให้เกิดความจริงในกรณี 6 ตุลา จึงเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างรัฐประชาชาติ และหลักนิติรัฐให้มีขึ้นในรัฐไทย ธงชัยตอบคำถามทิ้งท้ายถึงการสื่อสารกับคนเห็นต่างในเรื่องสถาบันว่า การพูดคุยโน้มน้าว ใช้เหตุผลสามารถทำได้ แต่เวลาก็สำคัญเช่นกัน เพราะมันทำให้สังคมได้ถกเถียงมากขึ้น และตกตะกอนมากขึ้นเช่นกัน
Fact Box:
- หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย แต่ถ้าใครสนใจสามารถสั่งได้ที่ thailand.kinokuniya หรือ amazon
- ฟังงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘Moment of Silence : The Unforgetting of october 6, 1976, Massacre in Bangkok’ ได้ที่ facebook.com/DJC.Center