ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสการเข้าถึงที่ไม่เท่าเทียม คุณภาพการศึกษาที่แบ่งแยกเด็กออกจากกัน—เวลาเราพูดถึงปัญหาการศึกษากันเมื่อไหร่ ปัญหาในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ชอนไชลงไปในเนื้อของระบบก็มักเป็นประเด็นที่ถกเถียงมาอย่างยาวนาน
ท่ามกลางปัญหาอันมากมาย หลายคนมักเสนอถึงโมเดลการศึกษาในกลุ่มรัฐสวัสดิการ (welfare state) ที่เชื่อกันว่า สามารถจัดการศึกษาให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง The MATTER จึงคุยกับ อ.เดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เคยมีประสบการณ์ให้ลูกสาวได้ศึกษาในเดนมาร์กเมื่อชั้นอนุบาล
ด้วยความสงสัยว่า รัฐสวัสดิการแบบเดนมาร์กเขาสนับสนุนการศึกษาอย่างไร และเป็นไปได้แค่ไหนที่ประเทศไทยจะเดินรอยตาม
สวัสดิการแรกที่ได้รับจากรัฐเดนมาร์กคืออะไร
มันอาจไม่ใช่เรื่องสวัสดิการเรื่องการศึกษาโดยตรง เราได้เช็คที่รัฐเขาให้สำหรับกระติ๊บ (ลูกสาว) ซึ่งเราก็ตกใจเหมือนกันนะ เพราะเรายังไม่ได้ทำเรื่องอะไรเลย เราแค่ทำเรื่องขอ resident permit เท่านั้น แล้วก็ไปลงทะเบียนที่ทางเทศบาล พอสิ้นเดือน เขาก็ส่งเช็คสำหรับสวัสดิการเพื่อเลี้ยงดูเด็กมาให้ ซึ่งก็ได้ประมาณ 2,000 โครน ถ้าเทียบเป็นเงินไทยตอนนั้นก็น่าจะราวๆ 12,000 บาท
เขาบอกไหมว่าเช็คนี้ส่งมาเพื่ออะไร
เช็คนี้เขาให้มาเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ การเติบโตของลูก ที่น่าสนใจคือเขาเขียนลงในเช็คเป็นชื่อแม่ของกระติ๊บ แต่ด้วยความที่เราเคยเปิดบัญชีสำหรับเรื่องเรียนเอาไว้ให้ลูก ก็เลยไปขอเปลี่ยนเพื่อความสะดวกในการจัดการเงิน แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้นะ เพราะมันมีวิจัยที่พบว่า ถ้าให้เงินกับแม่จะส่งผลดีกว่าให้กับพ่อ ด้วยความที่มันเป็นเงินประเภทที่ให้โดยไม่มีเงื่อนไข เขาเลยวิเคราะห์แล้วว่าให้กับแม่น่าจะดีกว่า
แม้ว่าเราเป็นชาวต่างชาติ ก็ครอบคลุมด้วย
ใช่ สวัสดิการนี้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในเดนมาร์ก
อยากให้อาจารย์เล่าถึงประสบการณ์ตอนแรกๆ ที่พาลูกเข้าโรงเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนแรกเราก็ขี่จักรยานไปเวียนดูว่ามีโรงเรียนไหนบ้าง เพื่อหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับลูก พอเลือกได้แล้วก็ไปติดต่อเขา แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ามาแจ้งกับโรงเรียนโดยตรงไม่ได้นะ คุณต้องไปติดต่อกับเทศบาล เพราะเป็นหน่วยงานที่จะดูให้ว่า เราอาศัยที่ไหนแล้วเขาก็จะจัดการหาโรงเรียนที่มีที่ว่างมาให้ ซึ่งเขาย้ำกับเราเลยว่า คุณไม่ต้องห่วงเลยนะ เพราะทุกโรงเรียนมีคุณภาพเหมือนกันหมด
ทางเทศบาลก็จะดูด้วยว่า พวกเรามีรายได้เท่าไหร่ ถ้ารายได้เราต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ซึ่งถ้าพูดในมุมกลับ มันก็คือระบบร่วมจ่าย คือถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์เราก็จ่าย แต่ระบบนี้มันจะดำเนินการอยู่ที่เทศบาลไม่ใช่โรงเรียน
แล้วคิดอย่างไรกับการแยกหน้าที่กันแบบนี้
ผมคิดว่าการแยกหน้าที่ระหว่างเทศบาลกับโรงเรียนแบบนี้มีความน่าสนใจ เพราะโรงเรียนจะไม่รู้ว่าใครจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน เพราะมันสำคัญมากเลย ถ้าโรงเรียนรู้ว่าใครต้องร่วมจ่าย หรือใครไม่ต้องจ่ายให้โรงเรียน มันก็จะมีความโน้มเอียงที่จะเน้นให้บริการไปทางที่จ่ายเงินมากกว่า แต่ในบ้านเราใช้วิธีกลับกัน เราทำกันเป็นระบบ มีตั้งแต่ห้องเรียนแบบพิเศษต่างๆ หรือแบ่งเป็นห้องเรียนปกติที่มีแอร์กับไม่มีแอร์ ตามการจ่ายเงินของผู้ปกครอง
การจัดห้องเรียนที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
เขาคละอายุกันตั้งแต่ในชั้นอนุบาล โดยมีอายุตั้งแต่ 3 ปีกว่าไปจนถึง 6 ปีอยู่ด้วยกัน มีแยกเฉพาะส่วนที่กำลังจะเข้าประถม 1 เพื่อให้เด็กๆ ช่วยเหลือกัน และเป็นการเรียนรู้จากคนอื่นไปในตัวด้วย ซึ่งผมว่าดีนะ ลูกเราจะมีพี่มาคอยดูแล ซึ่งก็ให้คำแนะนำ ที่เดนมาร์กเขาไม่ได้เรียกคำว่าพี่หรือน้อง คือนัยยะมันก็เป็นการเปิดกว้างว่า ถ้าลูกเราคุ้นชินกับบรรยากาศในเดนมาร์กแล้ว เขาก็จะเป็นเพื่อนกันต่อไป
เข้าใจว่าตอนที่กระติ๊บไปเริ่มเรียนที่นั่นก็ยังเด็กมากๆ และยังสื่อสารภาษาต่างประเทศไม่ได้มาก เรื่องนี้โรงเรียนเข้ามาช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน
หลังจากที่ลูกเข้าเรียนได้ประมาณ 2 สัปดาห์ โรงเรียนก็ขอพบผู้ปกครอง ครูบอกว่าไม่สามารถสื่อสารกับลูกเราได้ เพราะลูกไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ ภาษาเดนมาร์กก็ไม่ได้ โรงเรียนเลยจะหาล่ามที่จะมาช่วยสื่อสารกับลูกเรา เราก็ตกใจเพราะคิดว่าต้องแพงแน่เลย เลยถามว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แต่ครูเขาก็ตกใจกลับมาอีกว่าทำไมเราถึงถามแบบนั้น เพราะจริงๆ มันเป็นความรับผิดชอบของโรงเรียนที่ต้องสื่อสารกับนักเรียนทุกคนให้ได้ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราต้องจ่ายเงิน
เราก็งงเหมือนกัน คือถ้าโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แล้วเขาจะมาขออนุญาตเราทำไม เขาตอบว่า เพราะล่ามคนนี้จะมีความสำคัญกับลูกเรามากที่สุดเพราะจะช่วยในการสื่อสารระหว่างลูกกับครูและเพื่อนๆ ดังนั้น ผู้ปกครองต้องไว้ใจในล่ามคนนี้มากพอ
ถึงอย่างนั้นโรงเรียนก็ตรวจสอบประวัติของล่ามมาให้เรียบร้อยแล้วว่าไม่มีอะไรที่น่ากังวล เราก็เลยค่อนข้างมั่นใจจากทั้งประวัติของล่าม และแนวทางที่โรงเรียนปฏิบัติกับเราเป็นอย่างดี
ซึ่งการจัดทรัพยากรและบุคคลแบบนี้แปลว่า ครูที่นั่นโฟกัสเด็กเป็นรายคนจริงๆ ถึงเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับนักเรียนได้
ใช่ คือเขาสังเกตพัฒนาการของเด็กเป็นรายคนจริงๆ แต่ที่นั่นอาจจะไม่เหมือนกับการศึกษาของเราเสียเท่าไหร่ ในความหมายที่ว่า ผู้ปกครองเราชอบตั้งคำถามว่า เรื่องของลูกเราเป็นยังไง ลูกเราสู้คนอื่นได้ไหม ส่วนที่เดนมาร์กเขาจะสนใจว่าเด็กๆ ชอบอะไรมากกว่า
บรรยากาศการแข่งขันเรื่องการเรียนที่นั่นเหมือนบ้านเราไหม
ไม่มีเลย ไม่เคยได้ยินประโยคทำนองว่าลูกเราจะสู้คนอื่นได้ไหม มันก็คิดแต่ว่าลูกเราชอบอะไร เขาอยากทำอะไร
คิดว่าเพราะอะไร ทำไมการแข่งขันมันไมได้เข้มข้นเหมือนการศึกษาในบ้านเรา
ส่วนหนึ่งมันมาจากปรัชญาในการสร้างประเทศของเขา เขาเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเติบโตไปด้วยกัน แต่บ้านเรายังมองว่าสังคมจะสร้างได้ต้องแยกชั้นคนให้ออกว่าใครเป็นคนเก่ง ใครไม่เก่ง ต้องหาคนที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะมาดูแลประคับประคองคนอื่น แต่ในเดนมาร์กมองว่า ถ้าเราจะสร้างสังคมให้เข้มแข็งได้นั้น ต้องช่วยหาที่ทางให้กับผู้คน ไม่ว่าเลือกไปยืนตรงไหนก็เก่งไปพร้อมกันได้
เดนมาร์กเขาเชื่อว่า หากคนไปอยู่ในที่ที่ตัวเองเก่ง เขาก็จะเก่งได้เอง ทุกคนเก่งได้ในที่ของตัวเอง คำว่าเก่งนี้หมายความว่า ได้เก่งในสิ่งที่ตัวเองถนัด
ผมคิดว่าสังคมและระบบการศึกษาตะวันตกมันเติบโตคู่มากับอาชีพอิสระ ซึ่งมันก็ตั้งอยู่บนขา 2 ข้าง ข้างนึงมันอยู่เส้นทางการเป็นทุนนิยม อีกข้างคือการเปิดกว้างด้านการศึกษา สุดท้ายมันจะไปแข่งขันกันจริงๆ คือตอนทำอาชีพ แต่คุณจะเรียนอะไร เรียนแค่ไหน ไม่เป็นไร ระบบมันไม่ได้บอกว่าคุณไม่เก่งที่คุณเป็นช่าง หรือเป็นนักดนตรี มันไม่ใช่ความไม่เก่ง แต่มันเป็นการเลือกใช้ชีวิต
ระบบการศึกษาของเรามันถูกสร้างมาพร้อมกับการสร้างรัฐชาติ ที่ตำแหน่งการศึกษามันจะเป็นประตูสู่ตำแหน่งพิเศษอะไรบางอย่าง ซึ่งคนที่ไม่เก่งแล้วไม่สามารถเข้าไปสู่ที่แบบนั้น เขาก็ไม่สามารถแข่งกับคุณได้ การศึกษาของเรามันแบ่งตำแหน่งแห่งที่ของคนเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
คิดว่าการแข่งขันแบบทุนนิยมมันส่งผลขนาดไหนต่อการศึกษา
มันอยู่ที่ว่าเราเชื่อทุนนิยมในมุมไหนมากกว่า ถ้าเราพูดว่าเดนมาร์กเป็นรัฐสวัสดิการก็ใช่ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราพูดในมุมทุนนิยมก็น่าสนใจ เขามีดัชนีที่เรียกว่า Intergenerational income elasticity แปลว่า ดัชนีความยืดหยุ่นของรายได้ระหว่างรุ่น พูดง่ายๆ ก็คือ รายได้ระหว่างคนรุ่นลูก ถูกกำหนดจากคนรุ่นพ่อแม่แค่ไหน
เดนมาร์กต้องการทำให้รายได้ของคนรุ่นลูกถูกกำหนดจากคนรุ่นพ่อแม่น้อยที่สุด ถามว่านี่คือทุนนิยมไหม มันคือทุนนิยมนะ คือลูกแข่งกันไปเลย อย่าไปเอาอภิสิทธิ์คนรุ่นพ่อรุ่นแม่มา เราก็จะได้สังคมที่เก่งในความหมายที่ถ้าเขาเก่งก็พัฒนาดี ถ้าไม่เก่งก็มีรายได้น้อยหน่อย จะเห็นได้ว่าสังคมเดนมาร์กก็มีมิติของทุนนิยมแบบนี้ นอกเหนือไปจากความเป็นรัฐสวัสดิการอยู่ด้วยเหมือนกัน
ทุนนิยมในรูปแบบนี้มันคือมิติที่แฟร์ๆ ส่วนของเรา ถ้าพ่อแม่เรามีเงินก็จะหาห้องเรียนพิเศษให้กับลูก รายได้ของเรา มันไปสร้างรายได้ของลูกในอนาคต เราเรียนสิ่งนี้ว่าทุนนิยมรึเปล่า จริงๆ ทุนนิยมมันไม่ได้มองอย่างนี้ เพราะทุนนิยมมันเชื่อในการแข่งขันที่เสรี ไม่ได้เอาความได้เปรียบของเราไปช่วยลูก
พูดอีกแบบหนึ่งคือ ไม่เอาสิ่งที่พ่อแม่ทำมาครอบลูกอีกที
หรือจะใช้คำว่ามันกีดกันคนอื่นในสังคมก็ได้ ลองนึกถึงภาพในห้องเรียนแบบพิเศษในบ้านเราที่ต้องมีเงินสำหรับค่าเทอมเป็นหมื่นๆ ถามว่าคนที่ไม่มีเงินจะเข้าเรียนได้ไหม ถ้าเราตั้งโจทย์ด้วยเรื่องเงินแบบนี้ จำนวนคนสอบเข้าก็น้อยลงไปโดยปริยาย แบบนี้เราเรียกมันว่าทุนนิยมไหม
บ้านเรามันเป็นทุนนิยมที่ไม่ได้เชื่อเรื่องการแข่งขันแบบเสรีจริงๆ เรากลับไปเชื่อในอะไรไม่รู้ เราใช้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่เราเชื่อ อาจจะมีคนบอกว่าที่อื่นก็ทำแบบนี้ โรงพยาบาลก็ทำแบบนี้ สมมติอยากได้รับการบริการที่รวดเร็วก็ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีเงินก็ใช้บริการแบบปกติต่อไป
ฟังแบบนี้แล้วเหมือนกับรัฐสวัสดิการในไทยมันเกิดขึ้นยากมาก
ปัญหาใหญ่คือ การศึกษาในไทยมันลึกลงไปถึงมุมมองว่า ถ้าทุกโรงเรียนมีคุณภาพดีเท่ากันมันจะเป็นการทำลายรางวัลของคนบางคนในชีวิต สมมติเราบอกว่า ถ้าจะทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพดีเท่ากันหมด ไม่มีการแย่งเข้าโรงเรียนดังๆ ผมว่าดีไม่ได้ คนไทยจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าแล้วอะไรคือรางวัลของชีวิต
ซึ่งมันต่างจากเดนมาร์ก
รางวัลชีวิตของเดนมาร์กมันมาจากชิ้นงานที่คุณทำ คือไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ตรงไหนคุณค่าจะมาจากชิ้นงานของคุณ แต่บ้านเราก่อนที่จะมีชิ้นงาน เรามองที่ตำแหน่งแห่งที่ก่อน ทำไมการสอบเข้าโรงเรียนดังได้ ก็ทำให้คุณก็มีตำแหน่งที่พิเศษในสังคมแล้วแบบอัตโนมัติ เมื่อปรัชญาในเรื่องการศึกษาต่างกัน การทำให้มีตำแหน่งพิเศษมันเลยดำรงอยู่ในความคิดเรามาตลอด แล้วเราก็ไม่เคยตั้งคำถามมันหรอก ว่ามันขัดกับการเป็นทุนนิยมแท้ๆ ที่ไม่กีดกันคนหรือไม่
เราไม่มองว่ามีคนที่จนที่สุด กลุ่มจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ลูกของพวกเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แล้วที่เหลือล่ะ คุณรู้ได้ไงว่าเขาไม่เก่ง
บรรยากาศในการเรียนมันช่วยให้เด็กรู้สึกอิสระไหม
ระบบในเดนมาร์กมันสอนผู้ปกครองอย่างผมให้เชื่อว่า เด็กเรียนรู้ได้เอง เด็กสามารถเลือกได้เองว่าเขาอยากเติบโตไปเป็นอย่างไร เราเป็นเพียงแค่ผู้ช่วย และไม่ต้องกังวลว่าลูกของเราจะสู้คนอื่นได้ไหม แต่มันคือคำถามว่าลูกของเราจะร่วมมือกับคนอื่นได้อย่างไร
อาจารย์เคยพูดถึงบรรยากาศห้องเรียนที่นั่นว่า เป็นห้องเรียนที่ไม่ได้เรียน อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติมว่าคืออะไร
มันคือห้องเรียนที่สร้างประสบการณ์หลายอย่างให้เด็ก เพื่อช่วยให้เขาได้ต่อยอดตัวเอง การใช้ประสบการณ์มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผ่านตา ผ่านมือ ผ่านร่างกาย และสุดท้ายก็ผ่านจิตใจว่าเด็กชอบไม่ชอบ และรู้สึกอะไรกับสิ่งนั้น
เขาไม่ได้สอนการเขียนและอ่านเลย แต่เมื่อลูกโตขึ้นอนุบาลสาม เด็กเขาก็เริ่มเขียนชื่อตัวเองได้ เราก็สงสัยว่า ทำไมลูกเราเขียนได้ทั้งที่ครูไม่สอน คำตอบคือเขาเขียนได้จากการสังเกตผ่านสิ่งรอบตัว ซึ่งมันเป็นการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เพราะได้เรียนรู้ผ่านสิ่งที่สัมพันธ์กับตัวเอง แต่ในเมืองไทยมันไม่ใช่ไง เด็กถูกสอนไปโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเอาสิ่งที่ได้มาไปใช้ต่อยังไง สังคมเราก็เฟลแบบนี้ซ้ำกันมาเรื่อยๆ
ความคิดที่ว่าเด็กสนใจไม่เท่ากันเพราะเด็กไม่ตั้งใจเรียน ถ้าเราคิดแบบนี้มันก็เจอปัญหาแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีความสนใจไม่เหมือนกัน แต่ครูไทยก็ชอบกังวลทำไมเด็กคนนั้นคนนี้ไม่อยากเรียน
มองเห็นแนวโน้มที่การศึกษาไทยจะไปถึงจุดนั้นได้ไหม
การเปลี่ยนพื้นฐานความคิดของเรามันก็ไม่ง่าย แต่ถึงอย่างนั้น ความปั่นป่วนที่มันเกิดขึ้นในทั่วโลก มันทำให้เราไม่สามารถสร้างคนในแพทเทิร์นแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว ผมว่าคนที่เริ่มคุ้นเคยกับสิ่งนี้เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างตัวผมเองก็ไม่กล้าพูดกับลูกว่าอีก 20 ปีข้างหน้าโลกของเราจะเป็นอย่างไร แต่ในอดีตคนรุ่นพ่อรุ่นแม่พอเขาสามารถพูดในเรื่องนี้ได้ มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ในโลกยุคนี้ เรากำลังถูกบีบให้เปลี่ยนแปลง เราอยู่ในโลกที่คนมีอำนาจเชื่อว่าเราวางแผนสำหรับอนาคตได้ทุกอย่าง แต่ต่อไปคนแบบนี้ก็จะค่อยๆ หมดไป โลกจะเข้าสู่การวางแผนอีกแบบหนึ่ง
เมื่อก่อนเรามักวางแผนอนาคตแบบ Programming คือกำหนดว่าใครจะเข้ามาทำสิ่งต่างๆ ในเวลาไหน แต่โลกปัจจุบันต้องเป็นการวางแผนแบบ Emerging ซึ่งเน้นการปรับตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า
เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูลูก ที่ต้องเตรียมความพร้อมให้เขาปรับตัวรึเปล่า
ในเมื่อเราต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดฝันมาก่อน เราก็จำเป็นจะต้องลดความหมายของตัวเราลง แล้วปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสไปเผชิญกับทุกเรื่องด้วยตัวเขาเองมากขึ้น ส่วนตัวเราทำหน้าที่แค่ค่อยๆ ติดตาม ผมใช้คำว่า เราต้องเดินตามหลังลูก เพราะถ้าเราเดินหน้า เราก็จะไปบดบังวิสัยทัศน์ของเขา อีกอย่าง ถ้าเราอยู่ด้านหลังแล้ววันไหนเขาหกล้มเราก็จะช่วยเขาได้ทัน
เราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขา มันถึงเป็นการท้าทายและเราเองจะสนุกไปด้วย แต่ถ้าเรากลัวมากๆ เราก็จะไปควบคุมชีวิตเขาไว้ก่อน จริงๆ บางเรื่องก็ต้องคุมเหมือนกัน แต่เราก็ต้องพยายามทำให้มันเกิดสมดุลให้ได้ ระหว่างสิ่งที่เขาอยากจะเจอ กับสิ่งที่เรากังวลใจว่าเขาจะไปเจอในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ
สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องเข้าไปก่อน เช่น เราอยากรู้ว่าทำไมเขาชอบดนตรี EDM เราก็ต้องเข้าไปศึกษาว่ามันคืออะไร ถ้าเราเข้าไปแบบนี้ กำแพงที่กั้นระหว่างเรากับเขามันลดลงไปแล้วในชั้นแรก หลังจากนั้นเราก็คุยกันต่อได้ว่า สิ่งเหล่านั้นมันสัมพันธ์กับชีวิตเขายังไง
คือได้เรียนรู้จากลูกมากขึ้น
เราก็ปรับเปลี่ยนตัวเราเองตลอด มันทำให้เรามองเห็นอะไรหลายอย่าง ยกตัวอย่าง เขาบอกกับเราว่า ในช่วงนี้จะขอไม่นับถือศาสนาก่อนนะ ซึ่งก็ทำให้เราได้คิดว่า แล้วเราจะคุยเรื่องมิติทางจริยธรรมกับศีลธรรมกับเขายังไงดี ซึ่งเราก็มีวิธีการในการคุยหลายรูปแบบ แต่ถ้าเราเริ่มต้นว่า ถ้าเราเป็นพุทธ เราก็ต้องคุยกันแบบพุทธ มันก็อาจจะเสียโอกาสในการเรียนรู้ศาสนาอื่นๆ ไป
อาจารย์ได้คุยเรื่องซีเรียสกับเรื่องสังคมการเมืองกับลูกมากน้อยแค่ไหน
ก็แล้วแต่ว่าเขาจะมีคำถาม มันก็ไม่ถึงกับชีวิตหนักๆ อะไรแบบนั้น ระหว่างนี้อาจจะคุยกันเรื่อง BNK48 คุยกันเรื่องเพลงใหม่ของ ชาร์ลี พุท ผมคิดว่าเวลาเราเจอคำถามแบบนี้ มันก็เป็นคำถามปกติ
คุยกันมาถึงตรงนี้ คิดว่าระบบรัฐสวัสดิการที่มาจัดการศึกษาในเดนมาร์ก มันช่วยหล่อหลอมให้เด็กเติบโตไปเป็นคนในแบบไหน
มันสร้างความเชื่อว่า ทุกคนต้องมีโอกาสเท่ากัน ทุกโรงเรียนต้องมีคุณภาพเหมือนกัน เด็กช่วยเหลือกัน ไม่ได้มีการเร่งกดดันเด็ก ทุกอย่างที่ว่ามานี้ประเทศเขาเริ่มสร้างกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล
อย่างเรื่องการจัดวันเกิด โรงเรียนเขาจะมีแพทเทิร์นการจัดวันเกิดให้กับนักเรียนที่เหมือนกันเป๊ะเลย คือไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามีใครเหนือกว่าใคร คือเราเห็นว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เราก็ไม่รู้ว่าผลลัพธ์มันจะส่งผลให้เด็กในระยะยาวแค่ไหนนะ
ผมถามคุณครูที่นั่นว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับโรงเรียนอนุบาลในเดนมาร์ก เขาตอบว่าข้อแรกคือเด็กต้องอยู่ร่วมกันได้ เข้าใจกติกา และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ถ้าโรงเรียนอนุบาลไทยตอบแบบนี้กับผู้ปกครองสิ ผมว่าดีไม่ดี ไม่มีคนเรียนเลยนะ แม้กระทั่งว่าเป็นโรงเรียนของรัฐ
อีกอย่างที่ได้คือเรื่องของความแตกต่าง มันคือความรู้สึกว่าเด็กไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องชอบทำกิจกรรมเรื่องเดียวกัน บางคนไม่สนใจทำกิจกรรมนี้ได้ก็ไม่เป็นไร ทำอะไรก็ได้ ตราบที่ไม่ไปรบกวนเพื่อน
ถ้าพูดถึงในแง่ประชาชนทั่วไป มันคือความรู้สึกเรื่องความเท่าเทียมกันนี่แหละที่เกิดขึ้นในสังคม ผมมีเพื่อนที่เป็นพนักงานทำความสะอาด วันนึงเขาบอกว่าต้องไปอบรมกับเทศบาล คนไทยอย่างผมก็คิดว่าต้องอบรมอะไรอย่างนี้ด้วยเหรอ แต่เขากลับมองว่า งานทำความสะอาดมันก็มีเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเหมือนกันนะ แล้วเราจะไม่เรียนรู้ได้ยังไง เรื่องแบบนี้มันสะท้อนว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็จะต้องได้รับการดูแลจากรัฐเหมือนกัน
เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ ไอเดียนึงคือรัฐต้องทำหน้าที่เก็บภาษีได้เยอะๆ หลายก็มองว่านี่แหละคือปัญหาใหญ่ของบ้านเรา
ผมคิดว่าปัญหาของไทยไม่ได้อยู่ที่การต้องเพิ่มภาษีอย่างเดียว มันยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งสรรภาษีที่ไม่เป็นธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้คือ โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ๆ มีชื่อเสียงก็มักได้รับงบลงทุนมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็กๆ
นอกจากนั้น ในเรื่องบำนาญเราใช้เงินมากกว่าคนสูงอายุทั้งประเทศใช้ ข้าราชการบำนาญมีมีอยู่ราวเจ็ดแสนคน ใช้เงินบำนาญไปมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ขณะที่คนสูงอายุทั้งประเทศมีประมาณแปดล้านคน ได้เงินเบี้ยยังชีพแค่หกหมื่นกว่าล้านบาทเอง คนจำนวนเจ็ดแสนได้รับเงินเยอะกว่าคนจำนวนแปดล้านกว่าสามเท่า แสดงว่าการจัดสรรทรัพยากรในประเทศของเรามันผิดฝาผิดตัวไปหมด
เราต้องเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมคนสี่ล้านคนได้สวัสดิการไปครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ส่วนคนอีกหกสิบกว่าล้านคนได้เป็นครึ่งหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้คนไทยต้องลุกขึ้นมาพูดด้วยตัวเอง
มีความหวังแค่ไหนว่า รัฐสวัสดิการแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ในบ้านเรา
ผมเชื่อว่ารัฐสวัสดิการมันสำคัญ ไทยเราสามารถทำได้ แต่ระบบคิดของสังคมไทยที่ต้องเปลี่ยนไป ถ้าทุกคนได้เติบโตไปพร้อมๆ กันมันย่อมดีที่สุด
ทุกคนเติบโตตามความฝันของเขาได้ ไม่ใช่ว่าถ้าเกิดในครอบครัวที่จนก็จะมีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์แบบที่เรากำลังเผชิญอยู่