คำว่า ‘ล้างสมอง’ เป็นคำภาษาไทยตรงๆ ที่แปลมาจากคำว่า Brainwash ที่ถูกแปลตรงๆ มาจากคำว่า xǐnăo (洗脑) ซึ่งแปลว่า ‘ล้างสมอง – Wash Brain’ อีกที คำนี้เป็นคำที่ใหม่อย่างน่าเหลือเชื่อเลยนะครับ นั่นคือมันเพิ่งเกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายวิธีการที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงประชาชน ให้กลายมาเป็น ‘ประชาชนที่คิดอย่างถูกต้อง’ ภายใต้ระบบสังคมแบบใหม่ของจีน โดยคำว่า ‘การล้างสมอง หรือล้างใจ’ นี้มีความหมายไปล้อกับธรรมเนียมของเต๋า ที่เราจะต้องทำใจให้ผุดผ่อง ล้างร่างกายให้สะอาดถี่ถ้วนก่อนที่จะเดินเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
เมื่อพูดถึงการล้างสมอง – สถานที่แรกๆ ที่คุณคิดถึงอาจคือเกาหลีเหนือ – ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ถูกต้องทีเดียว เพราะแนวคิดของการล้างสมองนั้นเกิดขึ้นในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) โดยเป็นวิธีที่ทหารจีนปรับทัศนคตินักโทษสงครามชาวอเมริกัน และช่วงเวลานี้ยังทำให้คำ หรือคอนเซปท์ของ ‘การล้างสมอง’ แพร่หลายขึ้น แต่ก่อนหน้านั้น นักวิชาการก็อาจอ้างถึงช่วงปกครองของนาซีเยอรมัน (1933-1945) หรือกระทั่งการไต่สวนศรัทธาของสเปน (Spanish Inquisition) ว่าใช้วิธีการล้างสมองร่วมด้วย
ในหนังสือ North Korea: Undercover บท The Washing of Brains มีการอ้างถึงคำพูดถึง Mark Fitzpatrick ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันระเบิดและขีปนาวุธจากเปียงยาง ว่า “ผมคิดว่าชาวเกาหลีเหนือนั้นถูกล้างสมอง เมื่อคุณพูดคุยกับชาวเกาหลีเหนือ (ซึ่งผมขอเสริมเองว่า ผู้ไม่ชอบให้เรียกตนเองว่าชาวเกาหลีเหนือ แต่ชอบให้เรียกว่าชาวเกาหลีเฉยๆ หรือถ้าพูดถึงเกาหลีเหนือว่า DPRK ซึ่งย่อมาจาก Democratic People’s Republic of Korea หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี : สังเกตคำว่าประชาธิปไตย) – เมื่อคุณพูดคุยกับชาวเกาหลีเหนือ คุณอาจรู้สึกว่าเออ กำลังคุยกับคนปกติๆ มีบทสนทนาปกติๆ อยู่ เรากำลังคุยกับมนุษย์ปกติ แต่จู่ๆ ชาวเกาหลีเหนือ ก็จะอ้างถึงแนวคิดทางการเมืองของเกาหลีขึ้นมา ท่องขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนคุณอาจจะอยากเขย่าตัวพวกเขาและบอกว่า ‘โอ๊ย ไม่เอาน่า อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงหน่อย’”
ผู้เขียน North Korea: Undercover ยังเดินทางไปสัมภาษณ์ Mary Lou ชาวเกาหลีเหนือที่หนีออกมาได้ ว่าตอนที่เธออยู่ในเกาหลีเหนือ เคยมีความสงสัยหรือเอะใจ (ว่าตนจะอยู่ในประเทศที่สิทธิเสรีภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนทั่วไปต่ำแทบที่สุดในโลก) หรือไม่ เธอบอกว่า เธอไม่เคยคิดเลย เธอมาคิดได้ก็ตอนที่เธอจากเกาหลีเหนือมาแล้วเท่านั้น เป็นตอนหลังนี่แหละ ที่เธอรู้ความจริง แล้วก็ชักชวนให้พ่อแม่หนีออกมาด้วยกัน
Mary Lou ไม่ได้หนีจากเกาหลีเหนือเพราะว่าเธอเกิดเอะใจขึ้นมา ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นประเทศจะประสบความทุกข์ยากขนาดที่มีคนอดอาหารจนตายรอบๆ ตัวเธอหลายสิบหลายร้อยคน – หรือเธอจะเห็นเพื่อนชายวัยมัธยมที่เคยหล่อเหลา โตขึ้นกลายเป็นคนไร้บ้านหลังจากออกจากกองทัพก็ตาม – แต่เธอออกจากเกาหลีเหนือเพราะเธอถูกลักพาตัวด้วยพวกค้ามนุษย์ชาวจีนต่างหาก เมื่อเธอถูกขายให้กับสามีคนแรก เธอสังเกตว่านอกบ้านของเขามีมันฝรั่งเก่าๆ วางอยู่ ซึ่งในเกาหลีเหนือ เธอคิดว่าเป็นอาหารที่ดีมาก เธอจึงถามสามีว่าทำไมถึงทิ้งอาหารไว้ข้างนอกล่ะ คำตอบของสามีคือ มันฝรั่งพวกนี้มันเป็นอาหารหมู
เมื่อ Mary Lou ได้ยินดังนั้นความภาคภูมิใจของเธอก็ราวกับถูกทำร้าย แล้วก็ยิ่งถูกกระหน่ำซ้ำเติมขึ้นอีกเมื่อวันหนึ่งพ่อของสามีของเธอ พูดจาไม่ดีถึงคิม จอง อิล – เธอถึงกับร้องไห้และอยากกลับเกาหลีเหนือเสียเดี๋ยวนัน้
John Sweeney ผู้เขียน North Korea : Undercover บอกว่า ตรงนี้เองที่เป็นจุดสังเกตหลักที่ว่า Mary Lou นั้นถูกล้างสมองไปแล้ว เขาบอกว่า ความคิดของเธอช่างคับแคบราวกับถูกบังคับไว้ เธออยากกลับไปเกาหลีเหนือ ที่ที่ไม่มีอาหารกิน แทนที่จะอยู่ในจีนที่มีอาหาร เพียงเพราะมีคนพูดแย่ๆ ถึงคิม จอง อิล
แต่หลังจากนั้น ความคิดของ Mary Lou ก็ค่อยๆ ผ่อนคลายและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกภายนอกมากขึ้น ผ่านกาลเวลาเนิ่นนานเธอจึงเริ่มคิดขึ้นมาว่า – หรือว่าชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดของเธอ นั้นเป็นเพียงโกหกคำโต
หนังสือ Thought Reform and the Psychology of Totalism (การปรับทัศนคติและจิตวิทยาของระบอบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ – เขายังไม่ใช้คำว่า Totalitarianism) ของ Robert Jay Lifton พูดถึง “เงื่อนไขของการปรับทัศนคติ (หรือความคิด)” ว่ามีแปดประการดังนี้
- Milieu Control คือการควบคุมข้อมูล นอกจากควบคุมข้อมูลที่ผู้สังเกตมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกแล้ว ถ้าจะให้สำเร็จ ต้องควบคุม internal dialogue หรือบทสนทนาที่เขาคุยกับตัวเองด้วย
Lifton พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘This information control is the disruption of balance between self and outside world.’
(การควบคุมข้อมูลนี้จะไปทำลายสมดุลระหว่างตัวตนกับโลกภายนอก)
คำว่า Milieu (แปลว่า Person’s social Environment) Control นี้หมายถึงการควบคุมสภาพแวดล้อมและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน โดยใช้ทั้งแรงกดดันทางสังคม และใช้ ‘ภาษากลุ่ม’ เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มความเชื่อสามารถ ‘เห็น’ กันเองได้ และยังใช้เพื่อปรับทัศนคติของผู้คนทั่วไปให้โน้มเอียงมาทางกลุ่มด้วย
2. Mystical Manipulation พยายามทำให้ความเชื่อของกลุ่ม มีลักษณะ “เหนือเหตุผล” “เหนือการพิสูจน์”
3. Demand for Purity คนที่อยู่ในกลุ่มจะถือว่า “บริสุทธิ์” กว่าคนที่อยู่นอกกลุ่ม
4. The Cult of Confession การมอบตัว (ว่ามีความคิดขัดแย้ง หรือผิดบาปต่อกลุ่ม) นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม
5. The Sacred Science หลักคิดของกลุ่มนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ (holy)
6. Loading the Language การพลิก “คำ” ให้มีความหมายตามที่ผู้นำของกลุ่มนั้นๆ ต้องการ (เช่นคำว่า ความมั่นคง)
7. Doctrine over Person ปัจเจกบุคคลไม่มีความสำคัญ
และ 8. The Dispensing of Existence ผู้คนพร้อมที่จะตายเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม
นอกจากนั้นในหนังสือเล่มเดียวกัน Robert Jay Lifton ยังศึกษาขั้นตอนของการล้างสมองของคัลท์ความเชื่อด้วย เช่น ต้องเริ่มจากการทำลายตัวตนก่อน หลังจากนั้นก็ให้สำนึกความผิดบาปของตน ฯลฯ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการ ‘เกิดใหม่’
ตอนที่ผมมีโอกาสไปเกาหลีเหนือ (เดือนเมษายน ปีที่แล้ว) ถึงแม้ผมจะไม่ได้พูดคุยกับคนทั่วไป เพราะนักท่องเที่ยวอย่างเรา มีสิทธิพูดคุยกับไกด์ได้เท่านั้น คนทั่วๆ ไป จะมองพวกเราอย่างไม่เป็นมิตรนัก และยากแสนยากที่จะเดินมาคุยกับพวกเรา กระทั่งเด็กๆ ก็ตาม – แต่ผมก็สังเกตได้ว่า ยากเหลือเกินที่ข่าวอื่นๆ ที่แตกต่าง จะถูกเผยแพร่ในเกาหลีเหนือ
สื่อในเกาหลีเหนือถูกควบคุมโดยรัฐทั้งหมด หนังสือพิมพ์ Pyongyang Times (ที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติอ่าน) ก็เสนอแต่ข่าวด้านดีของท่านผู้นำ และข่าวด้านร้ายของอเมริกา ว่าถึงจุดตกต่ำทางศีลธรรมแค่ไหน เช่นเดียวกับโทรทัศน์ที่ก็มีแต่ข่าวทำนองเดียวกัน กระทั่งแค่ ‘ข่าวลือ’ ‘ข่าวซุบซิบ’ ด้านไม่ดีของท่านผู้นำก็ถูกเผยแพร่ได้ยากนัก – มีคำกล่าวที่ว่า หากคุณคุยกันสามคนในเกาหลีเหนือ คนคนหนึ่งในนั้นจะเป็นสปายของรัฐ – ดังนั้นจึงไม่มีใครกล้าพูดอะไรที่ไม่ดีต่อผู้ปกครอง ถึงแม้จะเป็นการพูดกันกลุ่มเล็กๆ ลับๆ ก็ตาม เพราะถ้าพูดและถูกจับได้ขึ้นมา ก็จะถูก ‘ส่งไปอยู่บนภูเขา’ (ซึ่งเป็นคำพูดอ้อมๆ ของการถูกจับเข้าคุกนรกแรงงาน – gulag)
การที่ข้อมูลถูกปิดและถูกควบคุมด้วยรัฐ ทำให้รัฐมีสิทธิขาดในการชี้ผิดชี้ถูก รัฐสามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่าความคิดแบบไหนเป็นความคิดที่ ‘ถูก’ ความคิดแบบใด ‘ผิด’ และความคิดแบบใดที่คนในสังคมควรจะร่วมกัน ‘กำจัด’ ให้หมดไปเสีย ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นเครื่องช่วยให้รัฐกระชับอำนาจในมือของตนได้แน่นขึ้นๆ เท่านั้น และยิ่งทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยากขึ้น – หรือเป็นไปไม่ได้เลย
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีโซเชียลมีเดีย – มีอินเทอร์เนต มีข้อมูลข่าวสารหลากหลายแล้ว เราก็ยังเห็นความพยายามเช่นนี้ในหลายรัฐที่จะควบคุมสื่อ (ซึ่งถ้านับกันตามจริงแล้ว – ทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียก็เป็นสื่อ – ทุกครั้งที่คุณแชร์ ทุกครั้งที่คุณโพสท์ หรือส่งไลน์ คุณก็กำลังสื่อสารกับใครสักคน หรือกับกลุ่มบางกลุ่มใช่ไหม?) นี่เป็นความพยายามที่น่าจับตา ทั้งในแง่ที่ว่าเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริงหรือไม่ อย่างไร และในแง่ว่า ถ้าทำได้จริงแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นในสังคม จะเกิดแรงต้านแบบใด และแรงต้านนั้นจะถูกมองว่า ‘ไม่บริสุทธิ์’ จนถูกขับไล่ให้ออกไปนอกกลุ่ม
จนต้อง ‘ขึ้นไปอยู่บนภูเขา’ หรือเปล่า
อ้างอิง
หนังสือ North Korea Undercover , John Sweeney
https://en.wikipedia.org/wiki/Milieu_control
https://www.uncpress.org/browse/book_detail?title_id=321