TRIGGER WARNING: เนื้อหาของบทความพูดถึงการข่มขืนและการฆ่าตัวตาย
เดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่สองของปี เดือนแห่งความรัก
เป็นช่วงเวลาที่ปกคลุมไปด้วยบรรยากาศสีชมพู หัวใจสีแดง รวมถึงการใช้ ‘สีรุ้ง’ อันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เห็นหลักฐานของการเปิดกว้างทางเพศของสังคมไทยที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ส่วนอีกมุมก็ต้องมองตามความเป็นจริงว่าการยอมรับเหล่านั้นหลายครั้งเป็นเพียง ‘เปลือกนอก’ หรือมีไว้เพื่อ ‘การโฆษณา’ เท่านั้น เช่น การที่สภาผู้แทนราษฎรผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม -ที่รับรองความรักของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้มีสิทธิที่เท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงในทางกฎหมาย- อย่างเชื่องช้าจนอาจจะไม่ทันอายุของสภาฯ ชุดปัจจุบัน
ความรักไม่ได้ชนะทุกอย่าง
ระหว่างที่การต่อสู้กันเพื่อสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียมกันของมนุษย์หยุดนิ่งชั่วคราว ชีวิตรักของคนธรรมดาในสังคมก็ยังคงเดินต่อไปไม่มีการหยุดพัก เราเริ่มต้นตามหาและทำความรู้จักกับ ‘ความรัก’ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่บางคนอาจมองว่ามันเป็นไปได้ยาก หรืออาจถึงขั้นที่มีคำถามว่ามันเป็นไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำ
เราคุยกับคู่รัก ‘ชายข้ามเพศ’ กับ ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ ว่าด้วยมุมมองความรักของทั้ง 2 คน
1.
หนึ่งผู้ชายข้ามเพศ
ผู้หญิง (ไม่) จำเป็นต้องชอบผู้ชาย
ริช-ธนเดช จันทร์ดี เป็นหนึ่งในผู้ชายข้ามเพศที่เริ่มต้นเข้ารับการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนเพศสภาพจากผู้หญิงเป็นผู้ชายตั้งแต่ช่วงปี 2561 ในอดีตเขาเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทก่อนที่จะลาออกมาเป็นพนักงานรับส่งอาหารในช่วงกลางปี 2565 เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดขั้นตอนสุดท้ายอย่างการสร้างอวัยวะเพศในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566
คำว่าผู้ชายข้ามเพศหรือ ‘ทรานส์แมน (Transman)’ เป็นอัตลักษณ์ทางเพศรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้นิยามบุคคลที่เกิดมาพร้อมกับเพศสภาพผู้หญิง แต่มีความต้องการเป็นผู้ชายและเลือกที่จะปรับเปลี่ยนรูปลักษณะภายนอกของตนเองให้อยู่ในลักษณะเพศสภาพชาย ผ่านการรับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนและ/หรือการผ่าตัดทางการแพทย์
สำหรับบริบทในประเทศไทยหลายคนอาจยังเข้าใจสับสนกับกลุ่มคนที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศอย่าง ‘ทอม’ โดยหนึ่งในวิธีการทั่วไปในจำแนกผู้ชายข้ามเพศและทอมคือความต้องการในการเปลี่ยนแปลงทางเพศสรีระ ผู้ชายข้ามเพศจะมีการผ่าตัดส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สามารถบ่งบอกถึงเพศสภาพชายได้ ในขณะที่ทอมจะยังคงเพศสภาพหญิงของตนไว้เช่นเดิม
ริชเริ่มต้นไล่เรียงประวัติของตัวเองว่า เขารู้ตัวมานานแล้วว่าตนเองมีเพศวิถีที่ชอบเพศเดียวกันหรือผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก ผ่านการสังเกตว่าตนเองมักมีความรู้สึกดีกับคนรอบตัวที่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้กล้าเปิดเผยตัวเองมากนั้นเพราะยังคงติดอยู่ในความเชื่อว่าผู้หญิงต้องชอบผู้ชายเท่านั้น
“ก็รู้สึกตั้งแต่เด็กเลย ตั้งแต่เล็กๆ เวลาเราอยู่ใกล้อยู่ผู้หญิงเรารู้สึกมีความตื่นเต้นในใจ เราชอบอยู่กับผู้หญิง แต่ว่ากับผู้ชายเราเฉยๆ แต่ก็คิดว่าต้องชอบผู้ชายแหละ เพราะว่าเป็นผู้หญิง”
ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดริชจะตกผลึกกับตัวเองว่ามีความต้องการเป็นเพศชายและชอบผู้หญิง ในช่วงมหาวิทยาลัยเขาก็ยังคงฉาบรูปลักษณ์ภายนอกให้เป็นผู้หญิงเรียบร้อย ไว้ผมยาว ด้วยความคิดว่ายังไม่อยากเปิดเผยให้คนอื่นได้รู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตน
จนถึงช่วงหลังจากพิธีรับปริญญาบัตรชั้นปริญญาตรี เขาก็ตัดสินใจที่จะทำตามเสียงเรียกร้องในใจ เดินไปบอกผู้ปกครองว่าต้องการเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ชาย หลังจากนี้จะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอก อย่างเรื่องของการตัดผมสั้นและเรียกว่าตัวเองเป็นทอมไปก่อน เพราะในเวลานั้นยังไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ โดยทางบ้านเองก็เปิดกว้าง ไม่ได้คัดค้านหรือว่าต่อต้านแต่อย่างใด
ความรักที่ไม่สมหวัง สอนให้รู้จักรักตัวเอง
แม้ก้าวแรกในการเดินตามเส้นทางชีวิตที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องฟันฝ่ากับปัญหาเรื่องการยอมรับจากครอบครัวหรือว่าเพื่อนฝูง ก้าวต่อไปก็ไม่ง่ายดายเท่าไหร่นัก หลังจากที่เริ่มขยับอัตลักษณ์ทางเพศจากผู้หญิงเป็นทอม ริชมีความรักครั้งแรกกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เพียงแค่สอนให้ริชรู้จักความรักในรูปแบบคู่รัก แต่ยังรวมถึงให้บทเรียนชีวิตจำนวนมากอีกด้วย
เขาย้อนประวัติเพื่อประกอบความเข้าใจว่าในช่วงสมัยเรียนตนเองไม่ได้มีความรัก ไม่มีแฟน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคนเดียว เพราะได้รับรู้เรื่องระหองระแหง การทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้นกับความรักของเพื่อนฝูงอยู่เสมอ เขาจึงมองว่าการอยู่ตัวคนเดียวก็มีความสุขดีแล้ว
ดังนั้นเมื่อตัวเขาผู้ไม่ประสาเรื่องความรักได้ลองลงสนามเอง ริชจึงทุ่มเทให้กับผู้หญิงคนนั้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายหรือการลงมือทำทุกอย่างให้อีกฝ่าย หากสุดท้ายแล้วความรักกลับไม่ได้สวยงามอย่างที่เขาวาดฝันเอาไว้
ริชพบว่าหญิงสาวคนนั้นนอกใจเขา มีการพูดคุยในเชิงชู้สาวกับคนอื่นมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว เมื่อความรักครั้งแรกจบลงพร้อมกับการเลิกรา ริชจึงกลับมาทบทวนและฉุกคิดได้เรื่องหนึ่งว่าที่ผ่านมาเขาให้เงินทอง ให้การดูแล เขาทำทุกอย่างให้ผู้เคยเป็นที่รักเท่านั้น
หากเขาไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเองเลย
เขายกแผนการผ่าตัดนำเต้านมออกขึ้นเป็นตัวอย่าง เล่าว่าในเวลานั้นริชก็เลือกนำเงินเก็บสะสมจากการทำงานทั้งหมดไปใช้เลี้ยงดูความรักก่อน โครงการผ่าตัดที่อยู่ในใจจึงต้องพับไป
“พอเราคบกับคนนี้ เราได้บทเรียนครบทุกอย่างเลย โดนนอกใจ เราก็เลยรู้สึกเข็ดกับความรักครั้งแรก เพราะเรามีเงินมาก็ทุ่มให้เขาทั้งหมด เราไม่เคยทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อเขาทุกอย่าง แต่เขาไม่เคยเห็นค่าเรา ..อย่างตัวเองอยากตัดหน้าอก อยากเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ เราก็ไม่ทำ เพราะว่าเราให้เขาก่อน”
ริชเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทก่อนลาออกมาเป็นพนักงานรับส่งอาหารในช่วงกลางปี 2565 เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดขั้นตอนสุดท้ายอย่างการสร้างอวัยวะเพศ
เพราะระยะเวลาการผ่าตัดไม่เคยรอใคร
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเสียใจ เป้าหมายถัดไปในเวลานั้นคือการกลับมาทำอะไรที่มีความหมายกับชีวิต ริชจึงเดินเข้าไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลยันฮีเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศ แบบที่ไม่ได้หาข้อมูลอะไรมาก่อนล่วงหน้า ความเข้าใจเดียวในเวลานั้นคือโรงพยาบาลยันฮีมีชื่อเสียงทางด้านนี้
สำหรับขั้นตอนทั่วไปในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเพื่อแปลงเพศสภาพจากเพศหญิงเป็นชาย จะเริ่มจากการเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับคำอนุญาตจากจิตแพทย์จะเป็นการเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นีรเวชวิทยา เพื่อจ่ายฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนหรือฮอร์โมนเพศชาย ที่จะส่งผลให้เส้นเสียงเปลี่ยนไป เวลาเปล่งเสียงออกมาจะรู้สึกได้ถึงความทุ้ม รวมถึงเริ่มมีหนวดเคราตามกรอบหน้า
หลังจากผู้เข้ารับบริการรับฮอร์โมนแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อแปลงเพศจากหญิงเป็นชายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง แบ่งการผ่าตัดออกเป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้ารับบริการต้องการเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับไหน
- ขั้นตอนแรก คือคือการผ่าตัดนำเต้านมออก การตัดมดลูกและรังไข่ การผ่าตัดปิดช่องคลอด
- ขั้นที่สอง คือยืดท่อปัสสาวะและการสร้างท่อปัสสาวะ
- ขั้นตอนสุดท้าย คือการสร้างอวัยวะเพศและสร้างถุงอัณฑะ
“ครั้งแรกเราผ่าตัดหน้าอกก่อน ตื่นเต้นมาก ได้เข้าโรงพยาบาลบ่อยเพราะข้ามเพศนี่แหละ (หัวเราะ) เพราะปกติเราก็ไม่ได้ป่วย (หลังจากผ่าตัดเต้านม) รู้สึกดี เหมือนมีความสุขในระดับหนึ่งที่เราได้ทำเพื่อตัวเองเสียที มีร่างกายที่เราต้องการ ไม่มีหน้าอกที่เราอึดอัดมาตลอด”
ในส่วนของค่าใช้จ่าย ริชยอมรับว่าเขาไม่ได้วางแผนเก็บสะสมเงินเป็นก้อนใหญ่แล้วนำมาใช้สำหรับการผ่าตัด แต่จะเป็นลักษณะของการทำงานหาเงินมาใช้ผ่อนชำระในการผ่าตัดแต่ละครั้ง อย่างที่เขามองว่าตอนที่เริ่มผ่าตัดครั้งแรกก็อายุประมาณ 27-28 ปีแล้ว ถ้ารอเก็บเงินให้ได้อีกสัก 2-3 ปีค่อยมาปรึกษาแพทย์ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ มันอาจจะยากสำหรับการเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ หรือว่าอาจจะมีเงื่อนที่ทำให้เขาผ่าตัดไม่ได้แล้ว
“เรื่องเงินก็ไม่เชิงพร้อมหรอก แต่ผมก็คิดว่าถ้าจะรอให้เงินพร้อม อายุก็อาจจะเกินการเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดหรือว่าแก่ก่อน เราก็ทำไปควบคู่กับที่ไม่พร้อมแหละ หาเงินไป ทำไปเรื่อยๆ”
ปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2566) ริชเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชายครบถ้วนทุกขั้นตอน
2.
หนึ่งผู้หญิงลูกติด
ในส่วนของประสบการณ์ด้านความรัก น้ำ-เดือนเพ็ญ งามขำ เล่าว่าตนเองไม่ได้จริงจังกับความรักสมัยมหาวิทยาลัยเท่าไหร่นัก ส่วนมากจะเป็นการทดลองทำความรู้จักกันในเบื้องต้น ถ้าคิดว่านิสัยใจคอไม่ตรงกันก็เลิกคุย สำหรับเพศวิถีเธอชอบเพศหญิง แต่เพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศของอีกฝ่ายไม่ใช่เรื่องสำคัญ หากรู้สึกว่าตรงสเปค ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด
เมื่อเริ่มต้นทำงาน เธอให้ความสำคัญกับเรื่องของหน้าที่การงานเป็นอันดับแรก และยังคงระดับเรื่องของความรักเอาไว้เท่าเดิม ใช้เวลาไปกับการทำความรู้จักกลุ่มสังคมใหม่ในที่ทำงาน มีการสังสรรค์ดื่มเหล้าสังสรรค์กันตามประสาของกลุ่มช่างไฟ วงปาร์ตี้ที่เธอเข้าร่วมไม่เคยมีเรื่องเลยเถิดไม่คาดฝัน เป็นเพียงการร่วมสนุกครื้นเครงเท่านั้น
จนกระทั่งวันหนึ่งที่การลืมตาขึ้นมาในตอนเช้าของเธอกลับแตกต่างไปจากทุกครั้ง น้ำพบว่าตนเองถูกข่มขืนจากผู้ชายคนหนึ่งที่มาร่วมวงเหล้าด้วยกัน โดยไม่ทราบว่าโดนวางยาหรือไม่เพราะเธอจำภาพช่วงเวลาในคืนก่อนหน้าไม่ได้เลย
น้ำพบว่าตนเองตั้งครรภ์ในช่วง 2 เดือนถัดมา
เมื่อรับรู้ว่าในร่างกายตนเองกำลังมีอีกหนึ่งชีวิต เธอตัดสินใจแจ้งข่าวให้กับชายคนนั้นทราบ แต่เขาปฏิเสธที่จะรับผิดชอบในทุกกรณี
“เขาไม่รับผิดชอบ เขาไม่เอา เขาบอกไม่ใช่ลูกเขา”
เมื่อทุกอย่างประดังประเดแบบไม่คาดคิด อีกทั้งไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นดำเนินชีวิตต่อไปจากจุดไหน เธอจึงตัดสินใจหนีจากสังคมเดิม พาตัวเองและลูกในท้องไปอยู่เชียงใหม่ระยะหนึ่งเป็นการตั้งหลัก โดยน้ำยอมรับว่าการพบเรื่องราวไม่คาดฝันผสมกับความเจ็บช้ำ นำไปสู่ความคิดอยากฆ่าตัวตายหลายครั้ง
ชีวิตของเธอเริ่มเข้ารูปเข้ารอยเมื่อพี่ชายของน้ำตามหาจนพบ น้ำจึงเล่าทุกอย่างให้กับพี่ชายและครอบครัวฟังว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับเธอในช่วงที่ผ่านมา โดยน้ำเลือกที่จะเลี้ยงลูกในท้องต่อไปเพียงคนเดียว ไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากทางบ้านหรือคนรู้จักอื่น
“ก็เล่าให้พี่ชายฟัง เราเลยบอกว่ามีแล้ว จะให้ทำยังไง ก็เลี้ยงเอง ไม่เคยพาไปให้คนนั้นคนนี้เลี้ยงแทน เลี้ยงเองตลอดเลย”
น้ำใช้เวลาประมาณ 2 ปีรักษาตัวจากอาการที่คล้ายกับซึมเศร้าไปพร้อมกับดูแลลูกชายคนเดียวอย่าง ‘วิว’ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันเธอทำงานเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมและช่างไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลราชวิถี
แม่ลูกติด ภาพจำผิดๆ ในสังคมไทย
ต่อให้สังคมไทยจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่ามีการทำความเข้าใจและยอมรับสังคมที่มีความหลากหลาย มันก็ยังต้องยอมรับว่าในหลายครั้งแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย อย่างเช่นการตกอยู่ในสถานะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกคนเดียว ที่ตกอยู่ใต้คำครหาหรือการโดนตีตราในด้านลบ
ในกรณีของน้ำ เพื่อเป็นการลบความคิดของบางคนที่ดูแคลนผู้หญิงเลี้ยงเดี่ยวเหล่านี้ เธอเปิดเผยตัวตั้งแต่แรกว่าตนเองเป็นคุณแม่ที่คอยดูแลลูกชายด้วยลำแข้งตนเอง ไม่มีการขอความช่วยเหลือจากใครหรือฝากคนอื่นเลี้ยงทั้งสิ้น เพื่อลบภาพจำสังคมที่มองว่าคุณแม่เหล่านี้เป็น ‘ตัวปัญหา’ ไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้
“เพราะว่าเราก็ไม่อยากให้เป็นปัญหากับคนรอบข้าง เราก็เลี้ยงไปวันๆ พอหันมาเจอลูก เราท้อไม่ได้ ก็ต้องเลี้ยงเขาไปให้ถึงที่สุด พอเห็นเขาเราก็ต้องอยู่ให้ได้”
ส่วนเรื่องของการนินทา พูดถึงในทางไม่ดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง น้ำตอบกลับทันทีว่าเธอไม่เคยกลัวเรื่องเหล่านั้น มีการพาลูกชายมาเปิดตัวให้กับคนที่ทำงานร่วมกันรู้จักตั้งแต่แรก หลังจากหมดเวลารับเลี้ยงเด็กของเนอสเซอรี่ภายในโรงพยาบาล ตอนเย็นเธอก็ไปรับลูกมาอยู่กับกลุ่มงานช่างที่ตนทำงานอยู่
“ไม่เคยกลัวเรื่องนินทา เขาจะมองยังไงก็ไม่สนใจ เพราะว่าเราเลี้ยงลูกเองได้ ไม่ได้ขอเงินเขามาเลี้ยง …ถ้าวันไหนน้องวิวไปโรงเรียน ที่กลุ่มช่างก็ถามว่า ‘ตัวเล็กไปไหน วันนี้ไม่มาเหรอ’ เพราะเห็นมาตั้งแต่เล็กๆ พามาตั้งแต่ยังนั่งไม่ได้ เดินไม่ได้”
น้ำให้ความเห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่สำคัญลำดับต้นในการใช้ชีวิตคือการ ‘รักตัวเอง’ เมื่อไหร่ที่เราสามารถรักตัวเองได้แล้ว การกระทำหรือคำนินทาของคนนอกก็จะไม่มีบทบาทกับชีวิต ไม่สามารถมีอิทธิพลกับเธอได้เลย
3.
หนึ่งความรัก
จากเส้นการเดินทางของชีวิตที่มีความแตกต่างกันรายละเอียดมากพอสมควร ความผูกพันของริชและน้ำเริ่มต้นเมื่อราว 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ริชมองว่าตนเองมีความอยู่ตัวด้านอาชีพและชีวิตพอสมควร ส่วนน้ำเองก็มีความก้าวหน้าทั้งหน้าที่การงานและลูกชายเองก็โตขึ้นจนดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว
ทั้งสองให้ข้อมูลว่าความสัมพันธ์เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊ก แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เมื่อไหร่หรือว่าใครเป็นฝ่ายเพิ่มเพื่อนก่อน เมื่อน้ำเห็นโพสต์ของริชผ่านตาบนไทม์ไลน์มากครั้งเข้า ก็รู้สึกสนใจและอยากทำความรู้จัก หลังจากทำการตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่าริชยังโสด ไม่ได้คบกับใครอย่างเป็นทางการ จึงส่งข้อความไปหา
ก่อนโดนปฏิเสธกลับมาทันที
“มันเป็นช่วงอยู่ตัว น้องวิวโตแล้ว เราก็อยากมีใครอยากมาอยู่ด้วย ก็ลองทักเขาไปเลย อยากทักก็ทัก แล้วเขาก็ปฏิเสธเลย แล้วสุดท้ายเราก็บอกว่าถ้าเขาไม่มีใคร เราลองมาคบกันไหม ด้วยความที่เราทิ้งท้ายไว้เล่นๆ ก็ไม่คิดว่าเขาจะทักกลับมา” น้ำย้อนความหลังให้ฟัง
ในเมื่อการคุยกันครั้งแรกจบลงด้วยการตัดรอน สายสัมพันธ์แห่งความรักมันทอต่อมาได้อย่างไร คนที่เป็นฝ่ายปฏิเสธในครั้งนั้นกึ่งเล่ากึ่งอธิบายว่าที่เขาปัดตกคำเสนอของน้ำเพราะว่าตนเองยังคง ‘เฮิร์ต’ กับคนคุยคนก่อนหน้า และอยู่ในช่วงกลับมาดูแลตัวเอง
ริชแทรกข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนของความรักของชายข้ามเพศเพิ่มเติมก่อนเล่าประวัติความรักต่อ อย่างในช่วงแรกที่เขาผ่านการผ่าตัดเต้านมออกเป็นที่เรียบร้อย มันก็มีคำถามว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่ดูเหมือนว่าจะยังครึ่งๆ กลางๆ จะส่งผลต่อการตามหาความรักครั้งใหม่หรือเปล่า แต่เมื่อเขาเข้าสู่วงสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ริชพบว่าปัจจุบันสังคมเองก็เปิดกว้างเหมือนกัน มีกลุ่มคนไม่น้อยที่ไม่นำเอาเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของเขามาตั้งแง่หรือทำให้เป็นประเด็น
“ตอนนั้นเราก็คุยกับคนนั้นคนนี้ พอมีคนมาคุยเราก็คุย ทีนี้มันมีคนก่อนหน้านี้่ที่เราคุยและคิดว่าคงคบกับเขา แต่สุดท้ายไม่ได้คบ เหมือนอกหักไปก่อน แล้วน้ำทักมาช่วงเราอกหัก เราก็ปฏิเสธไปเพราะว่าเรายังไม่พร้อมจะมีแฟน ผมเป็นคนไม่คุยซ้อน ถ้าหัวใจอยู่กับใครก็คุยกับคนนั้นคนเดียว”
เวลาล่วงผ่านจากการปฏิเสธครั้งนั้นไม่นานนัก เมื่อริชให้คำตอบกับตัวเองได้แล้วว่าหัวใจพร้อมสำหรับการทำความรู้จักคนใหม่ เขาจึงทักน้ำกลับไปพร้อมบอกว่าถ้าน้ำพร้อมทำความรู้จักกัน เขาก็ยินดีคุยด้วย
อย่างไรก็ตาม ริชยอมรับว่าการเริ่มคุยในเวลานั้นยังไม่ได้เป็นความรักเสียทีเดียว และเขาก็มีจุดที่ลังเลใจเหมือนกันว่ามันจะเป็นความสัมพันธ์ที่ผ่านไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ อย่างที่เขาเข้าใจไปก่อนหน้านั้นว่าน้ำเคยมีสามีที่เป็นผู้ชายมาก่อน มีลูกด้วยกัน แล้วหากมาคบกับผู้ชายข้ามเพศอย่างเขา มันจะเป็นเช่นไร
“เราก็มีความคิดว่า บางทีคบไปคบมาอาจจะไปชอบแบบเดิม (ผู้ชาย) ก็ได้ ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขามีลูกยังไง เราก็คิดว่า เขาเคยผ่านการแต่งงาน มีสามีมาก่อน อาจจะชอบผู้ชาย พอมาคบกับเรา เราไม่ใช่ผู้ชายแบบที่เขาเคยผ่านมา เขาจะคบกับเราได้จริงไหม”
เพราะชีวิตรัก คือการไม่ปกปิด
ทั้งริชและน้ำจึงแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองให้อีกฝ่ายทราบตั้งแต่ต้นว่าตนเองมีพันธะอะไรอยู่บ้าง อย่างที่น้ำก็บอกตั้งแต่การคุยกันครั้งแรกเลยว่าตนเองมีลูกติด และริชเองก็เป็นชายข้ามเพศ
“บอกตั้งแต่แรกว่ามีลูกแล้ว คือถ้ารับได้ก็ไปต่อ รับไม่ได้ก็ไม่ติด ก็เลือกลูกก่อน” น้ำตอบอย่างไม่ยี่หระเท่าไหร่นัก
ริชลงในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันทุกฝ่าย ในการตัดสินใจทักน้ำกลับไปในครั้งนั้นเขาคิดพิจารณามาเป็นอย่างดีแล้วว่าเขาจะไม่ได้มีเพียงแค่สถานะแฟนของน้ำ แต่พ่วงสถานะพ่อของเด็กชายวิวไปด้วย ดังนั้นเมื่อตนเองพร้อมรับเงื่อนไขนี้ จึงทักกลับไป
“สำหรับผมไม่ได้เรื่องเยอะอะไร แค่ว่าเขาทักมาตั้งแต่แรก เขาก็บอกแล้วว่าเขาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พอผมทักกลับไปคือผมคิดหมดแล้ว ว่าเขาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวนะ ถ้าเราคบกับเขา เราก็ต้องรักลูก ดูแลลูกเขาด้วย ผมมองว่าผมรับได้หมด ที่ผมตัดสินใจทักกลับไปเพราะผมคิดแล้ว ไม่เคยจะให้ความหวังใครเล่นๆ”
ริชยังสารภาพต่อไปว่า เขาไม่ได้รู้สึกพิเศษกับน้ำมาตั้งแต่แรก มองว่าเป็นการเปิดใจมาลองคุยทำความรู้จักกันมากกว่า จนกระทั่งช่วงที่เขาได้โทรศัพท์คุยกันเป็นครั้งแรก ที่เสียงอ่อนหวานของน้ำสร้างความประทับใจและเกิดเป็นความหวั่นไหวขึ้นในใจ
เขาและเธอใช้เวลาราวครึ่งปีนับตั้งแต่ทำความรู้จักกัน เสนอเรื่องการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตคู่ และเป็นการพิสูจน์ไปในตัวว่าความรักของเราจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ อย่างที่ริชเองก็ย้อนกลับหาเรื่องที่เขาติดค้างอยู่ในใจคือความกลัวว่าทุกอย่างเคยหวานชื่นในตอนแรกเริ่มจะจืดจางไปตามเวลา
ตอนนี้ครอบครัวของริช น้ำ และน้องวิวพักอยู่ในห้องไม้ขนาดเล็กละแวกใกล้เคียงกับโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงานของน้ำ
การสร้างครอบครัวใหม่กับสายตาสังคมรอบตัว
น้ำแบ่งปันประสบการณ์ที่เจอมากับตัวเองในส่วนของการยอมรับจากสังคมเมื่อเปิดตัวว่าคบกับริช ที่ตอกย้ำว่าต่อให้ตนเองสามารถก้าวผ่านคำนินทาจากสมัยที่เปิดตัวว่าเป็นคนแม่เลี้ยงเดี่ยวได้แล้ว พอการคบหาครั้งใหม่เป็นการคบกับชายข้ามเพศ กลุ่มช่างที่ทำงานด้วยกันก็มีบางคนที่เข้ามากระเซ้าแหย่ในเชิงลบอยู่ดี
“ก็มีที่พูดไม่ดีนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคบเพศเดียวกัน เสียของ แต่ไม่เคยสนใจ ใครจะมองยังไงก็ช่าง เราเป็นคนตรงๆ อยู่ที่ทำงานก็พูดจาไม่ค่อยเพราะอยู่แล้ว ห้าว เราก็บอกว่า ‘อย่าเสือก เรื่องของกู’ คือยุ่งอะไรด้วย มันคนละชีวิตกันหรือเปล่า”
เพื่อลดความน่าจะเป็นที่น้ำอาจโดนกลุ่มสังคมนินทาไปมากกว่านั้น ริชเองก็เลือกที่จะไม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองคือผู้ชายข้ามเพศ คือเขาจะไม่แนะนำตัวเองก่อนว่าตนเองเป็นใคร แต่ใช้วิธีให้คนอื่นตัดสินใจเอาเองจากรูปลักษณ์ภายนอก
อย่างเพื่อนของน้ำบางคนที่ทราบว่าน้ำไม่ชอบผู้ชาย ไม่คบกับผู้ชาย คนเหล่านั้นก็จะมองริชว่าไม่ใช่ผู้ชาย แต่สำหรับบางคนที่ไม่ทราบมาก่อน ก็จะมองว่าริชเป็นผู้ชาย เพราะเพศสภาพภายนอกเหมือนผู้ชาย สภาวะที่ยากจะหาจุดตรงกลางนำไปสู่ข้อสรุปของริชว่าปล่อยให้คนอื่นเลือกมองเขาเองเลยดีกว่า
ความรักคือความสม่ำเสมอและความห่วงใย
นับตั้งแต่วันแรกที่ได้คุยกันผ่านแชต จนตอนนี้ที่ต้นรักของเขาและเธอเติบโตมาได้มากกว่า 2 ปีแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมามีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ทำให้พวกเขาและเธอมองว่านี่คือจุดพิสูจน์ ‘ความรัก’ ของพวกเขา
ริชเป็นฝ่ายเริ่มยกตัวอย่างเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นการหุงหาอาหารที่มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน ปันส่วนว่าใครจะทำหน้าที่อะไร น้ำปรุงอาหาร ริชล้างจาน เป็นอย่างนี้มาเสมอไม่เคยเปลี่ยน จนทำลายความกังวลของริชว่าวันหนึ่งแล้วคนที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างจะต้องเป็นเขาอย่างที่เคยเป็นมาจากความรักครั้งก่อน
“จากตอนแรกที่ผมมีความคิดอยู่เรื่อยๆ ว่า เขาอาจจะเปลี่ยนไป คือไม่อยากอยู่ด้วยกันแล้ว เบื่อ อยู่ด้วยกันนาน จากที่เคยทำให้กันอาจไม่ทำแล้ว อย่างเขาทำกับข้าว เราก็ไปล้างจาน คือแบ่งกันทำช่วยกันทำ ไม่เหมือรักครั้งก่อนที่แรกๆ เขาทำให้เรา หลังๆ ทำให้เขาอย่างเดียว อันนี้เราช่วยกัน ต่างคนก็ต่างให้กัน ใช้ชีวิตด้วยกัน บางทีเราก็พาลูกไปโรงเรียน วันเด็กผมก็ไปแทน เป็นครอบครัวจริงๆ”
ฝั่งของน้ำ มองถึงความห่วงใยที่มีให้อีกฝ่ายมาตลอดและไม่เคยลดลงว่าเป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ความรู้สึกรัก
อย่างเรื่องใหญ่ที่เธอกำลังห่วงและกังวลในช่วงเวลาที่เข้าไปสัมภาษณ์คือการผ่าตัดแปลงเพศขั้นตอนสุดท้ายของริช เพราะการผ่าตัดอวัยวะเพศเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อใกล้ผ่าตัดแล้วเธอก็อยากเขาได้ได้พักผ่อนให้เต็มที่ เตรียมร่างกายให้พร้อม แต่ริชเองก็เลือกออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงอยู่เป็นระยะ
“เราก็เป็นห่วง แล้วเราเป็นคนขี้งอนอยู่แล้วด้วย เวลาที่เขาออกไปสังสรรค์ เขาก็ไปแบบไม่ฟังเรา ไม่สนใจเรา ดื้อ ด้วยความที่เป็นผ่าตัดใหญ่ เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างผ่า อยากให้เขาเตรียมตัวให้พร้อมให้มากที่สุด คือเราก็คิดไปเองก่อนแล้วว่าเขาผ่าตัด เขาตื่นมาเขาจะโทรมาหาเราไหม เราจะได้ยินเสียงเขาไหม ทุกนาทีคือเฝ้าโทรศัพท์ตลอด”
4.
หนึ่งครอบครัว
นอกจากบทบาทความสัมพันธ์ ความห่วงใจ และความใส่ใจในฐานะคนรักแล้ว อีกหนึ่งสมาชิกของครอบครัวอย่างน้องวิววัย 8 ขวบก็เป็นอีกส่วนประสานความอบอุ่นในครอบครัวเช่นกัน
น้ำอธิบายให้ฟังว่าปกติวิวจะเรียกตนเองว่า ‘แม่’ และเรียกริชว่า ‘ป๊า’
ความรับผิดชอบของป๊าและแม่ในวันธรรมดาคือเตรียมความพร้อมสำหรับการไปโรงเรียนให้วิว ไปรับหลังเลิกเรียน จัดการเรื่องอาหารช่วงเย็น เป็นต้น ส่วนในวันหยุดที่ริชไม่ต้องไปขับมอเตอร์ไซต์รับส่งอาหาร สมาชิกในครอบครัวทั้ง 3 คนมักเดินทางไปเที่ยวสวนสัตว์อันเป็นสถานที่ที่วิวโปรดปราน
ถึงจะมีการแบ่งหน้าที่ในการดูแลวิวเอาไว้แล้ว ริชก็เคยมีช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับลูกชายวัยซุกซนเพียงคนเดียวเท่านั้น คือตอนที่น้ำตรวจเจอเชื้อ COVID-19 แล้วต้องแยกตัวไปรักษาตัวภายในฮอสพิเทล ริชจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลวิว ไม่มีใครช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงไปโดยปริยาย
เขาต้องจัดการทุกอย่างให้วิวตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน ทั้งเรื่องของการอาบน้ำ ทำอาหาร เล่นกับวิว ดูแลระหว่างวัน จนเมื่อครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ริชจึงเข้าใจถึงสถานะและบทบาทของ ‘พ่อ’ เป็นอย่างดี
“ช่วงที่น้ำติด COVID-19 ต้องกักตัวอยู่โรงแรม 14 วัน แล้วเราก็กักตัวอยู่ที่ห้องกับลูก 2 คน ไม่ได้ไปทำงาน ก็ดูแลจนรู้สึกว่า ตอนนั้นเราได้ดูแลเด็กเต็มๆ 14 วัน ทำกับข้าว อาบน้ำ ทุกอย่าง เราก็รู้สึกว่า อ๋อเนี่ย การมีลูกมันคือแบบนี้นะ ตอนนี้เราเป็นเสาหลักให้เขา เขามีอะไรก็เรียกป๊า”
ปัจจุบันริชยังไม่ได้อธิบายให้วิวเข้าใจถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ด้วยความตั้งใจว่าจะให้ความรู้สำหรับการทำความเข้าใจเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีมากกว่านี้ ส่วนในอนาคตอย่างไรก็ต้องอธิบายให้วิวเข้าใจทั้งหมด
“..ตอนนี้คือเรียกป๊า แต่เขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่อีกหน่อยก็คงรู้เรื่องเพิ่มขึ้น”
ความรักไม่ได้ชนะทุกอย่าง
แต่อย่างน้อยความรักพร้อมผลักดันให้เรากล้า ‘ก้าวข้าม’ เพื่อความสุขของตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ การซื่อสัตย์กับความชอบและรสนิยมทางเพศของตน รวมไปถึงเดินตามเส้นทางความรักตามที่หัวใจบอก
ความรักจะเกิดขึ้นกับใคร จะเกิดขึ้นอย่างไรก็ย่อมได้
อย่าบังคับให้ ‘ต้องรัก’ ก็พอ