หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรโหวตลงมติแล้วนั้น เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การขอจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศแยกออกมาจาก คณะกรรมาธิการสามัญ กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (ทำไมชื่อมันเบ็ดเตล็ดจับฉ่ายขนาดนี้ล่ะ) ไม่เป็นผลสำเร็จ[1]
ใช่…เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและผิดหวังที่ไม่สามารถแยกประเด็นความหลากหลายทางเพศออกมา เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาดำเนินการต่างๆ แทนสภา ส.ส. ที่ผลักดันเรื่องนี้จะร้องไห้ได้ บ่อน้ำตาแตกได้ ไม่เป็นไรหรอก ไม่แปลก ดีกว่าเกรี้ยวกราด ชี้หน้าตะโกนด่านักข่าว แถลงหยาบๆ คายๆ หรือปรี่เข้าไป “แค่ชกพุง” ตั้งเยอะ พูดไปก็เหมือนดูถูก ส.ส. ที่ไปเปรียบเทียบเขากับประยุทธ์หรือประวิตร ทำไมจะร้องไห้ไม่ได้ล่ะ?
แต่จะใช้เป็นดัชนีชี้วัดว่าประเทศไทยกีดกันต่อต้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ก็จะเตลิดไปหน่อยจนดูเหมือนเอาความหลากหลายทางเพศมาใช้เป็นตัวประกันในการเรียกร้องเคลื่อนไหวการเมืองภาครัฐ
เพราะการไม่ได้มาซึ่งคณะกรรมาธิการเฉพาะความหลากหลายทางเพศไม่สามารถบอกได้ว่า ประเทศเราล้มเหลวเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศ (ส่วนหนึ่งมันก็จริงที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญหรือหลีกเลี่ยงที่จะเอาตัวเองไปดองกับราษฎร LGBTQ แต่ก็คงไม่ต้องเอารายชื่อ ส.ส. ที่โหวตไม่เห็นชอบเอาไว้ลง death note หรือบัญชีหนังหมาหรอกนะ) แต่ตัวชี้วัดความล้มเหลว ความใจแคบ-กว้าง และความคิดต่อ LGBTQ ที่แท้จริงอยู่ที่เหตุการณ์ให้หลังนี่แหละ
เพราะผลขอแยก กมธ.ความหลากหลายทางเพศไม่สำเร็จเป็นประเด็นใหญ่โตถูกพูดถึงมากกว่าตอนประกาศจะผลักดันขอแยก กมธ. ออกมาซะอีก
ผลพวงที่ตามมาคือ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนราษฎร LGBTQ ถูกประณามว่า ได้คืบจะเอาศอก อยากมีอภิสิทธิ์ ก็ได้แต่อิหยังวะ…จนบางทีก็อยากมานั่งทำตาราง คลี่กันไปเลยให้เห็นว่า ชายหญิงมีสิทธิอะไรบ้าง แล้วมีอะไรบ้างที่ LGBTQ มี แล้วชายหญิงไม่มี…มีไหม?
บ้างก็ว่าไม่รู้จักเวล่ำเวลา ร้องแรกแหกกระเชอแต่เรื่องของตนเอง แทนที่จะสนใจปากท้องของประชาชน ราวกับว่าเรื่องสิทธิเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติการ ไม่เข้าถึงทรัพยากร กฎหมายไม่ยอมรับ ด้วยเหตุแห่งเพศไม่ใช่เรื่องปากท้อง
ยิ่งอ้างถึง ‘ประเด็นเร่งด่วน’ ยิ่งพูดเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของประชาชนว่าอะไรความมาก่อนมาหลัง ยิ่งดูราวกับว่า LGBTQ ไม่ใช่ประชาชน และกลายเป็นเรื่องสุดท้ายที่ควรหันมาใส่ใจ เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ยิ่งตอกย้ำสถานะชายขอบจนแทบจะตกขอบ ไม่มีที่ให้ยืน
เพราะทันทีที่อ้าง ‘ปัญหาเร่งด่วน’ ก็จะรีบแก้ไขแบบลูบหน้าปะจมูกให้มันพ้นๆ ไป เร่งด่วนเสียจนซุกคำถามและปัญหามากมายไว้ใต้พรมว่า แล้วอะไรคือ ‘เร่งด่วน’ แล้ว ‘เร่งด่วน’ ของใคร เร่งด่วนยังไง หากปัญหาปากท้องปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาใหญ่ที่ประชาชนกำลังเผชิญหน้าขณะนี้ ไม่คิดหน่อยหรือว่ามันเกิดจากใครจากอะไร ที่เป็นต้นเหตุ แล้วไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ใครหรือกลุ่มใดที่ทำให้ทรัพยากรไม่พอ? ภาษีประชาชนหล่นหายไปไหน ทำตกไปยังกระปุกออมสินใคร? หรือเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ผิดพลาดจนงบประมาณจำนวนมากต้องกลายเป็นค่าโง่เปล่าๆ ปลี้ๆ ไปกับอะไร?
ถ้า ส.ส. LGBTQ มาเรียกร้องเรื่องสิทธิคณะกรรมธิการ ในเวลาเกิดโรคห่าลง ภาวะสงคราม ทุกขภิกขภัย สึนามิ แผ่นดินไหว อุกกาบาตชนโลกสิค่อยเรียกว่าไม่มีกาลเทศะ
และการไม่เริ่มแก้ไขปัญหาที่ต้นตอในระดับโครงสร้างนี่แหละที่ทำให้ปัญหาเร่งด่วน หรือความเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันกลายเป็นปัญหาและความเจ็บไข้เรื้อรังที่เพิ่มขึ้นไม่ได้รับการรักษา ด้วยเหตุนี้เมื่อต้องการเพิ่มคณะกรรมธิการสามัญ ก็จะได้คำตอบประเภทลำพังคณะกรรมธิการสามัญ 35 คณะ ก็มากเกินไปจนต้องจำกัดจำเขี่ยบุคลากรและงบประมาณแล้ว
เหมือนปริศนาสถานการณ์สมมติประเภท เรือจ้างที่เก็บค่าโดยสารแสนแพง แต่ไม่มีความปลอดภัยและกำลังจะอับปาง ผู้โดยสารมีมากมายทว่ามีห่วงชูชีพมีเพียงอันเดียวแล้วต้องเลือกให้คนใดคนหนึ่งเท่านั้นได้ห่วงยางหรือจะถีบใครให้ตกน้ำไปก่อนไม่ให้ถ่วงเรือ
การที่รัฐขัดสนมากเสียกระทั่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การเลือกปฏิบัติอันเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไปพร้อมกับความอยู่ดีกินดี หรือมองไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันได้ ก็เท่ากับว่ารัฐกำลังบริหารทรัพยากรผิดพลาดอย่างรุนแรงและไร้ซึ่งความเข้าใจประชาชน หรือไม่ก็ร้ายไปกว่านั้น รัฐไม่ก็ไม่พยายามทำความเข้าใจว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ
การเรียกร้องสิทธิ LGBTQ หรือการสร้างมาตรการหรือองค์กรในการพิจารณากฎหมายเพื่อคุ้มครองป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพ จึงไม่ใช่ ‘สิทธิเสรีภาพของคนเฉพาะกลุ่ม’ หรือ ‘เรื่องส่วนบุคคล’ เหมือนที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องกะเทย ทอม เกย์ไม่กี่คน ที่สนใจแต่เรื่องของตนเอง ไม่มองว่าเป็นความรับผิดชอบอันเนื่องด้วยสิทธิเสรีภาพต่อสังคมส่วนรวม เพราะความเป็นส่วนตัว-ส่วนรวมวัดค่าไม่ได้เลยกับปริมาณประชากร ต่อให้ LGBTQ จะมีประชากร 10% ของประชากรทั้งหมด หรือต่อให้กลุ่มอัตลักษณ์ใดของประชาชนจะมีอัตราน้อยกว่าสักกี่เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงและพยายามจัดหาทรัพยากรให้ทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ช่วงวัยใด ชาติพันธุ์ใด หรือเงื่อนไขทางกายภาพอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่จะจับคนที่ถูกกีดกันทางทรัพยากรมามัดรวมกันแล้วโยนเข้ากลุ่ม ‘ผู้ด้อยโอกาส’ เหมือนกับที่มี คณะกรรมาธิการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ก่อนจะมีชื่อ “กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ”
และเอาเข้าจริง ทุกกลุ่มอัตลักษณ์ก็ควรจะแยกออกจากกัน เพราะต่างกลุ่มก็มีความหลากหลายของปัญหา ที่มาของปัญหา การถูกละเมิดกีดกันกดทับที่ต่างกัน ซับซ้อนและหลากหลายเกินกว่าจะใช้คณะกรรมธิการชุดเดียวกันที่มีไม่กี่หยิบมือได้ การที่ไม่ให้แยกและรวมกันอยู่เช่นนี้เท่ากับรัฐกำลังผลักประชาชนบางกลุ่มอัตลักษณ์ที่เป็น ‘คนชายขอบ’ ให้ไปกองรวมกันเป็นก้อนเดียว มองคนชายขอบคนด้อยโอกาสเหมือนกันหมด บ่นปัญหาเดียวกันหมด คนจนหน้าตาเหมือนกันหมด ชาวเขาหน้าเหมือนกันหมด เกย์กะเทยตุ๊ดทอมดี้ข้ามเพศก็เหมือนกันหมด ตามสไตล์คนชายขอบๆ ไม่ได้มองถึงแต่ละปัญหาของแต่ละกลุ่มอัตลักษณ์มีความแตกต่างกัน
มันไม่ใช่อภิสิทธิ์ใดๆ เลยที่กลุ่มอัตลักษณ์นึงจะแยกออกมา การจับมาโฮ๊ะรวมกันต่างหากที่ตอกย้ำการละเมิดสิทธิ และพยายามแช่แข็งสถานภาพคนชายขอบเอาไว้ไม่ให้ได้เคลื่อนที่ทางสังคม
หลายคนบอกว่าที่ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมาธิการสำหรับ LGBTQ ที่จะมาทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายนั้น ก็เพราะรัฐไทยให้ความเท่าเทียมกับทุกเพศแล้วจาก พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แต่เอาเข้าจริง พรบ. นี้แหละที่สร้างปัญหาในระยะยาวมากกว่าจะสร้างประโยชน์เฉพาะหน้า เพราะนอกจากไม่ได้แก้ไขปัญหาโครงสร้างแห่งความไม่เท่าเทียมทางเพศแล้ว ยังไม่ให้ความสำคัญกับ ‘เพศภาวะ’ และ ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ หากมุ่งแต่จะชำระภาพรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น ที่ต้องการเบี่ยงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการรัฐประหาร แล้วมี พรบ. นี้ขึ้นมา [2] ร้ายไปกว่านั้น ไม่เพียง พรบ. นี้จะไม่ครอบคลุมถึงเพศวิถีแล้ว หากแต่เป็นกฎหมายเพื่ออนุญาต คุ้มครองและสร้างความชอบธรรมให้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศอีกต่างหาก เพราะ พรบ. นี้ระบุว่า เลือกปฏิบัติทางเพศได้หากเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางศาสนา และความมั่นคงของชาติ (ซึ่งทั้งสองสิ่งก็เป็นต้นตอของการเลือกปฏิบัติทางเพศในตัวของมันเอง และก็มักจะถูกใช้อย่างครอบจักรวาลในการตีความเพื่อเลือกปฏิบัติให้ใช้ความรุนแรง) และจากปากคนทำงานด้านสิทธิทางเพศและกฎหมาย ตั้งแต่มี พรบ. นี้ ก็ใช่ว่าจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่[3]
เอาเข้าจริง พรบ. นี้เป็นเพียงของเล่นปลอบใจ หรือตบหัวแล้วลูบหลังไม่ให้นักเคลื่อนไหว LGBTQ หัวอ่อนบางกลุ่มร้องไห้โยเย หลังจากโดนหลอกให้ดีใจเก้อว่ารัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จะโยนคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงไป ด้วยความเชื่อสนิทใจว่า เมื่อมีคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงไปเพียงเท่านั้นแล้ว จะนำไปสู่รับรองสิทธิและความเป็นธรรมแก่เพศสภาพต่างๆ ได้สิทธิเสมอภาค หากแต่ผลออกมารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. มีแต่คำว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” แทน
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ควรระลึกไว้เกี่ยวกับ พรบ. ฉบับนี้ ก็คือ มันมาจากร่างของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่เปิดช่องทางในการเลือกปฏิบัติโดยอ้างเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่ายุติการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่คณะรัฐมนตรีก็ดันเห็นชอบในปี พ.ศ. 2550 เครือข่ายภาคประชาชนจำนวนมากทั้งองค์กรและนักกฎหมายจึงรวมตัวกันร่างพรบ. ‘ฉบับประชาชน’ ขึ้นและรวบรวมรายชื่อประชาชน 14,994 รายชื่อเสนอต่อรัฐสภาในปี พ.ศ. 2555
ขณะที่รอนายกฯ ลงนามอยู่ดีๆ ทุกอย่างก็ล้มครืนเหตุเพราะยุบสภา จากนั้นรัฐบาลเผด็จการจะไปคว้าฉบับที่ไม่ใช่ ‘ฉบับประชาชน’ มาใช้แทน ทั้งที่มีข้ออ่อนด้อยกว่า เน้นการคุ้มครองลงโทษมากกว่าจะป้องกันหรือส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค[4]
กฎหมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือตรวจสอบ และผ่านกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม มันก็เป็นเสียเช่นนี้แหละ
มากไปกว่านั้น การเป็นจะเป็นผู้แทนราษฎร LGBTQ ที่ผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นพิเศษก็ไม่ใช่เรื่องผิดตรงไหน เป็น ส.ส.จริง แต่ไม่ใช่ ส.ส.จะต้องรู้เก่ง ถนัดเก่ง เก่งไปทุกเรื่อง เพียงแต่ก็ต้องเรียนรู้กันไปทุกเรื่องของประชาชน และเพราะเป็นนักเคลื่อนไหวการเมืองภาครัฐแล้ว ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ไม่จำเป็นต้องปลุกใจเร้าอารมณ์ก็ได้ หรือยกตัวอย่างส่วนบุคคลเหมือนเรื่องเล่าแบบ ‘คนค้นฅน’ ‘วงจรชีวิต’ เสียจนฟังแล้วหลงประเด็นว่าเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว แม้ว่าจะถ่ายทอดให้เห็น ‘ความเป็นมนุษย์’ ก็จริง แต่รัฐประเภทชายเป็นใหญ่รักต่างเพศนิยมแห่งนี้ ส.ส. รักต่างเพศหลายคนไม่เคยมีประสบการณ์ถูก ‘โกงความเป็นมนุษย์’ หรือถูก ‘ฆ่าตัดตอนความฝัน’ มันเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร อาจเป็นนามธรรมเกินกว่าที่จะเข้าอกเข้าใจได้
เพราะฉะนั้นกรีดน้ำตาทิ้งไปซะ เติมแป้ง ลุกขึ้นมาเชิดหน้าอีกครั้ง LGBTQ โดนมาเยอะ เจ็บมาเยอะ แล้วก็ลุกขึ้นสู้กันได้ใหม่ เพราะอย่างไรแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคประชาชน หรือเชิงอัตลักษณ์ คือโครงการที่ไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] เครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. พรบ.ความเท่าเทียมฉบับ “ลักทั้งตื่น”. (เอกสารสำเนา)