‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ ช่วงนี้ใครได้ยินคำนี้ก็คงรู้สึกคันหัวใจ มันฟังดูคมแต่จริงๆ แล้วแสนจะแบนราบและไร้เดียงสา เพราะคำพูดที่ดูเหมือนคมและมีเหตุผล แบบว่า เออก็โลกนี้มันคือการต่อสู้ไง แล้วคนที่จะชนะได้คือคนที่แข็งแกร่ง มึงมันคนอ่อนแอ ก็แพ้ไป
ความไร้เดียงสาที่ว่า คือความคิดแบบที่มองว่าโลกมีสองฝั่ง ฝั่งโลกของคนอ่อนแอที่ถ้าลงสู้ก็แพ้ และอีกด้านคือคนแข็งแรง คือผู้ชนะ มุมมองแบบนี้เหมือนมองเสมือนโลกมีสเกล มีเส้นวัดเดียว ฟากหนึ่งคือแข็งแรง อีกด้านคือความแข็งแรง ด้านที่รอดคือด้านแข็งแรง
แถมวิธีคิดแบบนี้เหมือนจะรอบรู้นะ คืออ้างอิงกับแนวคิดแบบดาร์วิน แต่ก็อ้างอิงแบบคุ้นๆ เบลอๆ ประมาณว่าผู้ที่แข็งแกร่งกว่าคือผู้อยู่รอด ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เอาเข้าจริง คงลืมไปว่า ดาร์วินไม่ได้พูดถึงความแข็งแกร่ง แต่พูดถึง คนที่เหมาะสมที่สุดหรือ ‘Survival of the Fittest’
ทลายความไร้เดียงสาด้วยโลกไร้เดียงสา
แต่แม้แต่ในโลกสำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่เดียงสาในการ์ตูนอย่างโดเรมอน เรามีพี่เบิ้มที่แข็งแรงสุดๆ อย่างไจแอนท์ และมีขี้แพ้อย่างโนบิตะ รวมถึงตัวละครรายล้อมอื่นๆ ที่แต่ละตัวก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกันออกไป เส้นของความเข้มแข็งและความอ่อนแอจึงไม่ได้มีเส้นเดียว แล้วก็ไม่ได้มีความตายตัว บางครั้งคนที่มีร่างกายแข็งแกร่งก็ไม่ได้ชนะเสมอไป บางจังหวะคนอ่อนแอก็ชนะได้ บางทีคนเจ้าเล่ห์ก็ได้เปรียบ หรือบางครั้งผู้หญิงอย่างชิสุกะก็สยบปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งหมดนี้แล้วแต่วาระและโอกาส ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดและใช้มันอย่างเหมาะสม
ในโลกสมัยใหม่ ความแข็งแกร่งมันไม่ค่อยแสดงออกในแง่ของกายภาพ มัดกล้าม แต่คือสติปัญญาและการแสดงออกที่เหมาะสม การรู้จักวางตัวและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกแห่งการล่าสัตว์ที่จะต้องแสดงออกผ่านพละกำลังหรือมัดกล้าม หลักๆ แล้ว เป็นเรื่องของสติปัญญา(รวมถึงวาทศิลป์ และการอ่านเกมให้ออก) มากกว่า
คงคล้ายๆ กับไจแอนท์ หัวโจกที่ชอบแสดงแต่ความเป็นชายและใช้พละกำลังจนลืมใช้สมอง สุดท้ายมักจบไม่เป็นท่าเท่าไหร่
ปัญหาของ ‘ซีโร่ซัมเกม’
คำว่าคนแพ้ คนชนะ มันยืนอยู่บนวิธีคิดแบบเกมที่เรียกว่า zero-sum game เป็นเกมที่มีฝ่ายชนะ มีฝ่ายพ่ายแพ้และเสียทุกอย่างไป แต่เอาจริงๆ โลกมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเนอะ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้อยู่กันอย่าป่าเถื่อนฆ่าฟันกันอีกแล้ว ถ้าดูตามคำของดาร์วิน มันคือเรื่องของการเอาตัวรอด ซึ่งการเอาตัวรอดก็มีหลายวิธี พูดง่ายๆ คือ เราอาจจะเป็นผู้รอดชีวิตทั้งหมดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีคนชนะหรือคนแพ้
เพราะในโลกสมัยใหม่การต่อสู้หรือเกม เป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะนิยามแค่คำว่าแพ้หรือชนะ เข้มแข็งหรืออ่อนแอ
จริงๆ ทั้งหมดนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ บทเรียนที่ซับซ้อนมีอยู่ให้เห็นรายทาง ในวัยเด็กเราก็มีการ์ตูน มีนิทานที่เป็นตัวอย่างสอนใจ เรามีหนูที่อ่อนแอแต่ก็ช่วยเหลือราชสีห์ได้ เรามีโนบิตะและผองเพื่อนที่ผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบ เรามีทอมแอนเจอร์รี่ มีหนูที่ตอบโต้แมวได้ด้วยสติปัญญา และมีบูลด็อคที่บอกกับคนที่อหังการว่าแกก็ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด
คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง?
มาสู่โลกแห่งความจริงและยุติการเปรียบเปรย สรุปว่า มันไม่ใช่เรื่องของการแพ้หรือชนะ คนอ่อนแอหรือคนเข้มแข็ง และตรรกะของโลกก็ไม่ได้อยู่ที่การสร้างสถานการณ์งี่เง่าแล้วบอกว่าคนที่ทนไม่ได้คือคนอ่อนแอและสมควรแล้ว โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่ร้ายแรงระดับความเป็นความตาย คนแพ้จึงไม่มีอยู่จริง มีแต่คนที่ถูกกระทำและคนที่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำของตนเอง
ในแง่นี้ คำว่าความแข็งแกร่ง ถ้าจะวัดจริงๆ อาจจะวัดได้จาก ‘ความกล้าหาญ’
ความกล้าหาญในที่นี้มีความเข้มข้นยิ่งกว่าความกล้าแบบวัดใจว่าจะทำสิ่งบ้าบิ่นได้หรือไม่
แต่มันคือความกล้าหาญที่จะรับผิดและรับผิดชอบอย่างสมศักดิ์ศรี