“สังคมไทยสมัยนี้ทำไมไม่มีน้ำใจต่อกันเลย” เรามักได้ยินเสียงบ่นแบบนี้บ่อยๆ จนเรารู้สึกว่า หรือโลกสมัยใหม่ทำให้เราใจคอแห้งกระด้างต่อกันไปขนาดนั้น หรือคนเราอาจจะไม่ได้ใจแล้งลง แต่เรา ‘แสดงน้ำใจ’ ต่อคนได้ลำบากมากขึ้น เพราะว่าโลกสมัยใหม่ไม่มีใครอยาก ‘อ่อนแอ’
เคยอยากลุกให้คนอื่นนั่งบนรถโดยสารมั้ย? เวลาเราเห็นคนที่ลำบากกว่าเรา เราอยากให้คนๆ นั้นได้นั่งแทนเรา แต่! เวลาที่เราอยากลุกให้คนอื่นนั่ง ในใจเราจะมีความลังเลและลุ้นอยู่พอสมควรว่า เออ เสนอที่นั่งให้แล้วจะรับมั้ยนะ จะไปหาว่าเขาแก่ เขาลำบาก หรืออาจจะไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเราก็ได้ หลายครั้งที่เราตัดใจลุก แต่อีกฝ่ายไม่รับ ก้นเราก็จะค้างอย่างเก้อๆ ก่อนจะนั่งลงไปใหม่ แต่ถ้าอีกฝ่ายรับความช่วยเหลือจากเราล่ะก็ ความรู้สึกเราจะเหมือนทำภารกิจสำเร็จ ดีใจสุดๆ ไปเลย
เวลาที่เราช่วยใครแล้วอีกฝ่ายรับ เราสุขใจเนอะ ดังนั้นเลยมีข้อสังเกตว่า ‘ความปราณี (kindness)’ จริงๆ แล้วคือความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ความปราณีก็มีความซับซ้อนในตัวเอง คือการที่เราจะปราณีใครนั้น ฝ่ายที่รับความช่วยเหลือก็จะนำไปเชื่อมโยงกับ ‘ความอ่อนแอ (weakness)’ พร้อมๆ กันด้วย
กลับไปที่ฉากรถโดยสาร ถ้าเราเห็นคนสูงวัยขึ้นรถมา เราอาจจะรู้สึกแค่ว่าโอเคเราอยากให้คุณลุงหรือคุณป้าท่านนั้นได้นั่งสบาย แต่ในทางกลับกันมันเป็นการแสดงออกว่าอีกฝ่ายเป็นคนที่อ่อนแอกว่า ซึ่งเราอยู่ในโลกที่ไม่ค่อยอนุญาตให้คนอ่อนแอเท่าไหร่ คุณลุงคุณป้าอาจจะคิดว่าฉันยังไม่แก่ ฉันยังดูแลตัวเองได้ ยัง ‘แข็งแรง’ อยู่นะ
โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่เชื่อในการเอารัดเอาเปรียบและการดูแลตัวเอง ดังนั้นเลยไม่แปลกที่คนที่ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจะปฏิเสธความช่วยเหลือเพราะไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอออกมา
แถมหลายครั้งที่การเป็นคนใจดีท่ามกลางโลกที่เอารัดเอาเปรียบนี้แทนที่จะเป็นคุณสมบัติที่ดี แต่กลับกลายเป็น ‘จุดอ่อน’ ที่ให้คนอื่นเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ไปจากคนๆ นั้นได้ บางครั้งการที่เราเห็นใครรู้สึก ‘อิน’ กับความทุกข์ของคนอื่นมากๆ เลยมักจะมีการค่อนแคะว่า ‘แหม ใจดีจังเลยนะ’ ตามมาด้วย
ในโลกของความเสี่ยง การที่เราเป็นคนเห็นอกใจคนอื่นอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเรา Adam Phillips นักจิตวิเคราะห์และ Barbara Taylor นักประวัติศาสตร์พูดถึงความเมตตาไว้ในหนังสือ On Kindness ว่าจริงๆ แล้ว สังคมเราก่อตัวขึ้นบนความเมตตา และการที่เรารับรู้ความเมตาตาของคนอื่นก็เป็นความสุขที่โลกสมัยใหม่ทำให้เราต้องระงับไว้ การเมตตาต่อคนอื่นกลายมาเป็นเรื่องของความเสี่ยง ต้องป้องกันและพึ่งพาตัวเอง ไปจนถึงการเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วความเมตตาเป็นสิ่งจำเป็นของเรา ทั้งเพื่อความสุขของตัวเองและเพื่อเจือจานความทุกข์ของผู้อื่นด้วย
ผู้นำระดับโหดหินหลายคนจึงมักพูดถึงความเมตตาในฐานะคุณสมบัติของ ‘คนจริง’ Al Capone เจ้าพ่อคนดังของอเมริกาพูดไว้ประมาณว่า อย่าเห็นความใจดีของเขาคือจุดอ่อนหรือความอ่อนแอ ในแง่หนึ่งคือการที่เราเอาใจออกมาให้อีกฝ่าย ในแง่หนึ่งมันก็เป็นความเสี่ยงที่อีกฝ่ายจะหาประโยชน์หรือเล่นกับการให้ใจนั้นๆ ดังนั้นการที่ใจดีกับคนอื่น ย่อมต้องเป็นการกระทำอาศัยความกล้าถึงจะสามารถยอมลดเกราะที่เราอาจจะถูกโจมตีได้จากความใจดีนั้นๆ ดังนั้นคำพูดของ Al Capone จึงยิ่งตอกย้ำว่าความใจดี ความเข้าอกเข้าใจคนอื่นไม่ใช่เรื่องของคนอ่อนแอ แต่ถ้าเขาถูกทรยศการให้ใจไปละก็ คนๆ นั้นคงต้องเตรียมใจไว้ไห้ดีๆ
การที่เราจะแสดงความอารีต่อใคร ด้วยสภาวะโลกสมัยใหม่อาจจะไม่ค่อยอนุญาตให้เราทำเท่าไหร่ แต่อย่างที่บอก ถ้ามันเป็นความสุข เป็น win-win situation การที่เรากล้าที่จะลุก กล้าที่จะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธและกล้าที่จะกลายเป็นเป้าสายตาของใคร ตรงนี้เองน่าจะนับว่าเป็นการแสดงความกล้าหาญที่ดี และควรปฏิบัติอยู่เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก