พื้นที่ของผู้หญิงมีอยู่ในแวดวงการเมืองมากแค่ไหน?
ในศตวรรษที่ 20 นี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแล้วที่เราจะเห็นผู้คนหลากหลายเพศเข้ามาทำงานการเมือง โดยเฉพาะในประเทศที่ความเท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นหลักที่สังคมให้ความสนใจ
สำหรับประเทศไทย ก็จะเห็นนักการเมืองหญิงกันอยู่บ้าง แต่หากดูจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะพบว่า เรามีผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงได้รับเลือกมาเป็น ส.ส. เพียงหนึ่งในหกของจำนวนรวมทั้งหมด 500 คน ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในโลก
นอกจากสัดส่วนที่มีอยู่ไม่มากนักแล้ว ประเด็นเรื่องอุปสรรคที่พบเจอในการทำงานของเหล่านักการเมืองหญิงเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องด้วยพื้นที่ในแวดวงที่ถูกครองโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจทำให้มีข้อขัดแย้งในการทำงานได้เช่นกัน
เพื่อเข้าใจการทำงานของนักการเมืองหญิงมากขึ้น ในซีรีส์ชุดนี้ The MATTER ขอชวนมาอ่านเรื่องราวของ อิ่ม – ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพฯ 2 สมัย ในปี 2554 และปี 2562 จากพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อสำรวจว่า เส้นทางการทำงานของเธอในฐานะนักการเมืองนี้ ได้พบเจอปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเรื่อง ‘เพศสภาพ’ หรือไม่
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานการเมือง คืออะไร?
เราจบมหาวิทยาลัยจากออสเตรเลีย แล้วก็กลับมาโดยตั้งใจที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา จากนั้นก็ได้ไปงานหนึ่งพร้อมคุณพ่อ (วิบูล สำเร็จวาณิชย์) แล้วก็ได้เจอเพื่อนของคุณพ่อ เขาอยู่ พท. แล้วเขาก็บอกกับคุณพ่อว่า ถ้าเราจบมามีความสนใจทางด้านการศึกษา ได้ไปเรียนต่างประเทศแล้วก็ได้เห็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วทำ อยากจะทำอะไรที่เมืองไทยไหม ที่เมืองไทยยังขาดอยู่
คุณพ่อก็เลยมาคุยกับเรา ถามว่า คิดยังไง เหมือนกับให้เราตัดสินใจเอง ตอนนั้นก็คิดว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ เพราะเราเห็นคุณพ่อทำงานการเมือง (เป็นสมาชิกสภากรุงเทพ หรือ ส.ก.) อยู่ในพื้นที่ลาดกระบัง ก็คุ้นเคยกับคนในพื้นที่อยู่แล้ว เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำ สุดท้ายผ่านการคัดเลือกจาก พท. เลยมาลงสมัคร ส.ส. กับพรรคนี้
พอได้เข้ามาเป็นนักการเมืองเอง เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ไหม
ตอนเป็นเด็ก ก็รู้สึกว่า อุ้ย ทำไมคุณพ่อทำงานหนักจังเลย ทำไมช่วยคนเยอะจังเลย แต่ตอนนั้นก็สนับสนุนเขานะ เพราะเวลาช่วยคนได้แล้วเขามีความสุข แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเข้ามาทำงานทางด้านนี้เอง จนวันนึงที่ได้ก้าวเข้ามาสู่งานการเมืองด้วยตัวเอง คุณพ่อก็สนับสนุนให้เราพัฒนา เพราะพื้นที่ลาดกระบังมีความเจริญแบบกระจุกตัว ยังมีภาคส่วนที่เป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการดูแล ยังมีพื้นที่ของพี่น้องต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยกันอย่างแออัด โดยที่ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี เลยคิดว่าต้องทำงานให้หนักขึ้น
ด้วยการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2554 เราได้รับคะแนนเสียงที่เยอะเกินคาด (กว่า 4.5 หมื่นคะแนน) ก็เลยยิ่งต้องใช้พลังเหล่านั้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนว่า ต้องทำให้ดีที่สุด อย่างที่ประชาชนตั้งความหวังและคาดหวังเอาไว้
นั่นแปลว่า แต่ไหนแต่ไรก็ไม่เคยมองคำว่า ‘นักการเมือง’ ในแง่ลบ
ใช่
แม้ว่าเราจะไม่พอใจนักการเมืองบางคนก็ตาม รู้สึกว่าการกระทำของเขาไม่เหมาะ หรือเราจะได้ยินข่าวคอร์รัปชั่น ข่าวโกงกิน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นนั้น ไม่ได้เหมารวมนักการเมืองทั้งหมด นักการเมืองที่ดีก็มี
แล้วกว่าจะมาเป็นนักการเมือง เจออุปสรรคอะไรไหม?
เราเรียนรู้มาตลอด แต่อุปสรรคที่หนักและแก้ไม่ได้คงเป็นเรื่องภายใน เรื่องของการจัดการในพรรค โชคดีที่ตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องนั้น สามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยการที่ พท. รวมคนที่มีกำลังของมวลชนอาจจะมีการพูดคุยที่ขัดแย้งกันบ้าง เห็นไม่ตรงกันบ้าง เพราะเมื่อรวมกันด้วยคนหลากที่ หลายถิ่น แล้วทุกคนก็ใหญ่กันหมด แต่ก็ด้วยความหวังดีที่อยากจะขับเคลื่อนพรรค ต่างคนมีความคิดเห็นที่หลากหลาย
ที่สำคัญก็คือพรรคต้องมีความเป็นกลาง มีกระบวนการ มีระบบการทำงานที่ทุกคนรับได้ และตรงตามหลักการที่เคยได้บอกไว้กับทุกคน ปัญหามันถึงจะถูกทำให้น้อยลงได้มากที่สุด แต่หากว่าวันใด ผู้ที่เป็นฝ่ายบริหารของพรรคทำงานอาจจะไม่ตรงตามเจตนารมย์แล้ว ก็จะเกิดปัญหาตามมามาก โชคดีว่าที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาอะไร
มีการเลือกตั้งครั้งนึงที่คุณต้องชิงกับผู้สมัครที่เคยครองคะแนนเสียงในพื้นที่ลาดกระบังมาโดยตลอด แม้ว่าผู้สมัครคนนั้นจะลงชิงในนามของอีกพรรคหนึ่ง (วิสูตร สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ก.เขตลาดกระบัง อาของธีรรัตน์ ลงสมัคร ส.ส.เขตลาดกระบัง ในปี 2562 ใต้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ) แต่ชื่อก็ติดหูคนในพื้นที่ ณ ตอนนั้นเจอความยากอะไรไหม?
เราไม่ได้กังวล เพราะว่าทุกๆ ช่วงมันต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเสมอ อยู่ที่จะปรับตัวกับมันยังไงเท่านั้นเอง ในฐานะที่เราเข้ามาทีหลัง ก็ต้องพิสูจน์ตัวตนของเราให้ประชาชนยอมรับ เราอย่าไปดูถูกประชาชนว่าเขาจะไม่เปลี่ยน หรือเขาจะต้องเลือกคนนี้เท่านั้น ถ้าเขารู้สึกว่ามันถึงช่วงเวลาแล้วที่จะต้องการคนทำงานมาดูแลพวกเขา มารับใช้พวกเขา มันก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะเลือกเองได้
พอเข้ามาเป็น ส.ส. แล้ว มีธงในใจไหมว่า อะไรคือสิ่งเราจะเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลง
บอกเลยว่ามีหลายเรื่อง เยอะมาก คุยกับประชาชนเยอะมากว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาของเขา แต่ว่าต้องแยกกันนะ เรายังมีระบบของสภาผู้แทนราษฎรใช่ไหม แล้วก็ระบบของผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนตัวเป็น ส.ส. ซึ่งก็คือเรื่องของกฎหมายที่จะต้องมาดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชน
แต่ในปัญหาใหญ่ๆ ของพื้นที่มันคือระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบของการเดินทางของพี่น้องประชาชนที่ยังไม่เจริญ อันนี้คือสิ่งที่รู้สึกว่า เฮ้ย ถ้าเราได้เข้าไป จะทำตรงนั้นตรงนี้ให้เจริญให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จ ให้ดีขึ้น ซึ่งการที่เราจะทำตรงนั้น ก็ต้องมีคนที่ตอบรับนโยบายที่อยู่ในท้องถิ่นให้ได้ เราจะทำให้เต็มที่ แม้ว่าท้องถิ่นจะไม่ใช่ของเราในอดีต แต่จะให้สภาผู้แทนราษฎรไปช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ
ตอนปี 2554 พท. ได้เป็นรัฐบาล ก็ยังได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบ้าง ถึงแม้ว่ามันจะน้อย แต่ก็ถือว่าเราได้ผลักดันเป็นส่วนหนึ่งสำคัญ แล้วก็ต้องมั่นใจว่า มันต้องทำให้ได้ วันนึงประชาชนจะรู้ว่า อะไรคือปัญหา ต้องเอาปัญหานั้นออกไป แล้วเพื่อที่จะให้คนที่ทำงานจริงๆ ได้เข้ามา แล้วมันถึงจะสำเร็จได้
ตอนนี้เราก็ยังคงทำอยู่ ไม่มีหยุด ปัญหามันเกิดขึ้นตลอด อยู่ที่ว่าคุณจะสางมันไปได้เท่าไหร่ จะแก้มันไปได้เท่าไหร่ เท่านั้นเอง ที่สำคัญก็คือ ทุกพรรคการเมืองก็ต้องการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจดี เงินเข้ารัฐเยอะ มันก็จะมีเงินมาดูแลกันเป็นทอดๆ มาดูแลชีวิตทุกข์สุขของประชาชนได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจไม่ดี มีนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นเยอะ เอาเงินของประชาชนไปนอกระบบ เงินเหล่านั้นมันก็ไม่ได้กลับมาสู่ประชาชน
แปลว่า มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจอยู่?
ใช่ มันสำคัญมาก การเป็นอยู่ของเขา ให้เขาได้กินดีอยู่ดี กินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องมีความทุกข์ใจว่าจะมีโจร มีขโมยในบ้านเมืองมากน้อยแค่ไหน มันทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัย อยู่ในที่ที่เขาพร้อมจะเดินหน้าไปกลับประเทศไทย เดินหน้าไปกับสังคมที่ดีได้
นั่นคือการเอาปากท้องของประชาชนให้ดี เพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนในเรื่องอื่นได้?
เราว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็เพราะว่า เขารู้สึกว่า เขาลำบาก แล้วทำไมมันถึงมีกลุ่มคนกลุ่มนึงที่มันได้อภิสิทธิ์พิเศษอยู่เสมอ ทำไมไม่เคยจนกับเขาเลย ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่พวกนี้กลับรวยขึ้นๆ อันนี้ต้องแก้ไข ถ้าเขารู้สึกว่า ‘เอ้ย วันนี้นโยบายของรัฐบาล สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นได้’ แล้วค่อยผลักดันเรื่องอื่นต่อไป จะไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาเรื่องที่ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังมานาน เรื่องความยากจน เรื่องอาชญากรรม หรือแม้แต่เรื่องยาเสพติด
ตลอดเวลาที่ทำงานมา มุมมองที่มีต่อ ‘อาชีพ’ นักการเมืองเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
เปลี่ยนนะ เพราะว่าตอนนั้น (หลังเลือกตั้งปี 2554) เรามีโอกาสอยู่ได้แค่ 2 ปี แต่ว่าตอนนั้นรู้สึกคนมีความหวัง คนรู้สึกว่าชีวิตจะดีขึ้น แม้แต่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ เขาก็ปลดหนี้ปลดสินได้ เขามีเงินซื้อเครื่องมือทำมาหากินได้ ภาคอุตสาหกรรมก็รู้สึกว่า มีงานทำมากขึ้น คนตกงานน้อยลง แล้วก็รู้สึกว่า เขาเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะทำให้อนาคตของเขาดี ลูกหลานเขาได้เรียนหนังสือกันจนระดับมหาวิทยาลัย จบไปแล้วได้มีงานทำ จากการที่ได้ลงไปพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของเขา
แต่ในปัจจุบันเรารู้สึกว่า ทุกคนอยู่แบบกลัว กลัวแบบไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าจะขยับไม่กล้าจะเอาเงินที่มีออกมาใช้จ่าย เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าบ้าง แล้วก็อันนี้คือภาคของประชาชน
ส่วนในมุมมองของคนที่เป็นผู้เล่นเอง ที่เป็นนักการเมือง ก็รู้สึกว่าสมัยนี้มันคุยกันด้วยเรื่องของตัวเงิน ให้เท่าไหร่ ซึ่งเราก็คิดนะว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ก็สามารถซื้ออุดมการณ์ของ ส.ส. ได้ ให้ย้ายพรรคเปลี่ยนขั้วโดยที่ไม่รู้สึกอะไรเลย ประชาชนเลือกคุณก็เพราะว่าคุณได้ยืนยันในเจตนารมย์ที่จะยืนเคียงข้างเขา แต่พอคุณไปอยู่ในฝั่งที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือน คุณเหมือนทรยศประชาชน แต่เราก็ไปตัดสินเขาไม่ได้นะ เพราะประสบการณ์ของใครก็เป็นสิ่งที่เขาได้เจอ ถึงอย่างนั้น ก็แปลกใจว่า มันทำกันได้ง่ายๆ เลยเหรอ
ในทางตรงกันข้าม เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบ้างไหม
ในเชิงบวกเหรอ เราไม่เห็น (หัวเราะ) อ๋อ เห็นในภาคประชาชน ภาคประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้น มันไม่ได้ดีขึ้นเพราะการปกครองหรือผู้มีอำนาจ แต่ดีขึ้นเพราะสื่อนำเสนอเรื่องราวได้ครบรอบด้านมากขึ้น มีสื่อออนไลน์ที่นำเสนออีกด้านหนึ่ง อีกมุมมองหนึ่งให้ประชาชนได้รู้ อันนี้เราว่าดีขึ้นเยอะเลย
มาถึงเรื่องของ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวคุณเองทำงานมา 10 กว่าปีในอาชีพนี้ เคยเจอเหตุการณ์ที่รู้สึกว่า นี่เป็นอคติทางเพศหรือเปล่า?
เราเคยไปเป็นตัวแทนของคนไทยในการไปพูดเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิสตรีในไทยช่วงปี 2556 ตอนนั้น มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง ก็รู้สึกว่ามันมีพื้นที่สำหรับเรา มันอยู่ที่ความสามารถของคุณเองว่าคุณจะสามารถพิสูจน์ให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ไหม แต่หลังจากนั้นมา มันกลับเกิดเหตุการณ์ที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย วันนั้นกับวันนี้มันไม่ใช่เลย
วันนี้กลายเป็นว่า เวลาคุณจะได้รับการพิจารณาให้ขึ้นตำแหน่ง เขาจะไปมองในส่วนของผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า แล้วก็ต้องเป็นเพศชาย อย่างนี้ก็มีในหลายๆ องค์กรที่เราได้รับเสียงสะท้อนมา ก็คิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่ที่ต้องลดความคิดตรงนี้ให้น้อยลง
สิ่งสำคัญก็คือผู้หญิงเองก็ต้องกล้าเดินออกมา ให้ความจริงถูกเปิดเผย ถ้าหากว่าเขามีความสามารถมากกว่าบุคคลที่ได้รับการยกย่อง ผู้หญิงที่เป็นแถวหน้าก็ควรที่จะได้รับการยอมรับ แล้วคนนั้นต้องเป็นคนที่ให้โอกาสองค์กรได้พัฒนา โดยการที่เขาเองก็ต้องถอยออกมามากกว่า ไม่ใช่ให้ผู้หญิงเป็นคนถอย แต่ว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้อาจจะต้องมีน้ำใจนักกีฬา ใจกว้างพอ เพราะวันนี้น่าจะเกิดจากการที่เขาหวงแหนอำนาจกัน
สังเกตว่านักการเมืองหญิงจะถูกนำเสนอในมุมของ ‘เรื่องส่วนตัว’ จะถูกนำไปผูกติดกับความเป็นผู้หญิงมากกว่าที่นักการเมืองชายจะโดน
เราเองก็ยังโดนนักการเมืองผู้หญิงด้วยกันเอาไปพูดเพื่อที่จะให้คนเข้าใจผิด ซึ่งตรงนี้ไม่ถูกต้องเลย
เคยได้ยินคำกล่าวหนึ่งที่เขาบอกว่า “เป็นนักการเมืองผู้หญิง ถ้าจะทำลายเขาก็ด้วยเรื่องชู้สาว” ดังนั้นก็เป็นวิธีการเมืองที่สกปรก ไม่สร้างสรรค์ ถูกกระทำขึ้นได้กับทุกคน
เรื่องที่โดนคือ ไปแย่งสามีจากคนที่มีครอบครัวแล้ว เป็นเรื่องชู้สาวเต็มๆ ก็ไม่ได้เอามาใส่ใจ เพราะว่าบุคคลที่กล่าวหาเราก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอะไรของสังคมอยู่แล้ว เป็นนักการเมืองนี่แหละ แต่ก็รู้ถึงพฤติกรรมของเขา เพราะฉะนั้น เรากลับสงสารเขาด้วยซ้ำ ก็แค่ไม่เข้าใจว่าทำไมเอาเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องมาพูด
แต่ก็ต้องพูดอย่างนี้นะ มันต้องแยกกันว่าเรื่องจริยธรรมของคนเป็นนักการเมืองสำคัญนะ ต้องไม่ผิดในเรื่องของชู้สาว มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง อย่างเหตุการณ์นี้ ถ้าเป็นก็จริงเท่ากับเราผิดในเรื่องของจริยธรรม แต่คราวนี้เขาเอาเรื่องไม่จริงมาพูด เราไปแจ้งความเอาไว้เหมือนกัน แต่ก็ปล่อยเรื่องทิ้งไป แค่ต้องการที่จะบันทึกไว้ว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ใช่เรื่องจริง แล้ววันใดที่เขายังคงไม่หยุดพูด ก็ถือว่าได้เตือนแล้ว ก็จะต้องมีการดำเนินคดี เพราะเขาก็ถือว่าเป็นบุคคลที่เรียกว่าก็มีชื่อเสียง ได้รับการเลือกตั้งมา ควรที่จะมีวุฒิภาวะ ควรที่จะต้องมีการยับยั้งชั่งใจในการที่จะทำอะไรให้คนอื่นเสื่อมเสีย
ในฐานะคนวงใน เคยเห็นการกล่าวหาแบบนี้กับนักการเมืองชายบ้างไหม
เพศชายก็โดนนะ แล้วมันเรื่องจริงด้วย ก็คุยกันในสภา อันนี้ก็เรื่องของจริยธรรมแหละที่ไม่ควร เรื่องจริงก็เอามาคุยกันในสภา รู้แหละว่ามันจะกระทบกระเทือน แต่คุณก็ต้องรู้ว่าคุณต้องทำอะไรให้ถูกต้อง เพราะคนก็จับตามองคุณอยู่ ไม่งั้นวัฒนธรรมหลายผัวหลายเมียก็จะมีกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราว่ามันยังไม่ถูกต้อง หรือถ้าคุณจะเปลี่ยนคู่ คุณก็ต้องไปทำเรื่องให้มันถูกต้องก่อนที่คุณจะมาทำร้ายจิตใจของคนที่เป็นคู่ชีวิตคุณ
เคสจริงก็มี เคสไม่จริงก็มี คราวนี้ก็ต้องดูว่าการที่จะใช้เรื่องพวกนี้ทำลายกันทางการเมือง มันเอาเรื่องจริงมาคุยกันหรือเปล่า หรือมันไปสร้างเรื่องแต่งเรื่องกันมา อันนี้ก็ต้องไปพิสูจน์กัน เราตอบไม่ได้ แต่เราจะยืนยันชัดเจนเลยว่าถ้าคุณเอาเรื่องไม่จริงมาพูด นั่นคือคุณกำลังทำผิด คุณกำลังบิดเบือน คุณกำลังทำให้ประชาชนเข้าใจในบุคคลนั้นผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ควรทำ
“ถ้าจะโจมตีนักการเมืองหญิงต้องเอาเรื่องเชิงชู้สาวมาโจมตี” คิดว่าทัศนคติแบบนี้มาจากไหน
ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ที่ผู้หญิงไม่ควรจะไปมีเรื่องชู้สาวอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็สำคัญ เขาก็อาศัยเอาจากสิ่งที่เป็นเรื่องอ่อนไหวของวัฒนธรรมเรามาทำร้ายคนอื่น ไม่ได้ซับซ้อน ไม่ได้อะไรเลย ผู้หญิงก็เหมือนถูกตั้งข้อกล่าวหาให้รู้สึกว่าคนนี้ไม่ดีอยู่แล้ว
หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าผู้หญิงไม่มีเรื่องอะไรเสื่อมเสีย ถ้าไม่ใช่เรื่องผู้ชาย เพราะเรื่องคอร์รัปชั่นอาจจะไม่ได้เห็นชัดในผู้หญิง เรื่องของพฤติกรรมก็คงจะไม่ได้ไปกินเหล้าเมายาอะไรที่มันไม่ดี เรื่องนี้คงเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกคนคงจะให้ความสนใจ และเป็นข่าวได้ง่าย ก็เลยใช้วิธีนี้ อย่างที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เคยโดนก็มี
เข้าใจว่า ยุคของคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เยอะเหมือนกัน
เขาเจอหลายเรื่อง ถือว่ากดดันมากสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานการเมือง แต่พอได้เข้ามาแล้วก็ต้องรู้ธรรมชาติของมันว่านี่คือวิธีที่เขาใช้กัน ฉะนั้นก็มุ่งหน้าทำงานอย่างเดียว ไม่ได้ไปใส่ใจอะไร แต่อย่างที่บอกว่ามันอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ เราก็ต้องมีการดำเนินการ ดำเนินคดี อย่างที่เขาเอาเรื่องโฟร์ซีซั่นว่าท่านนายกฯ ไป ว.5 (รหัสวิทยุหมายถึงไปราชการลับ แต่สมัยนั้นถูกหยิบมาโจมตีในเรื่องทางเพศ) แล้วสุดท้ายยังไง ก็ต้องให้ศาลสั่งว่าอันนั้นคือการหมิ่นประมาท ไม่มีข้อเท็จจริงเลย แต่เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้นเหรอ ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เอาวิธีสกปรกอย่างนี้มาใช้
พอหลังจากมีกลุ่ม กปปส. เข้ามา ขึ้นเวทีก็คือเอาเรื่องเพศมาพูดกันแบบ เรียกว่าต่ำตมเลย ซึ่งบางคนเป็นถึงนักวิชาการ ดารา นักแสดง ก็เอาเรื่องพวกนี้มาเล่นอย่างสะใจ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจริง นี่ก็คือสังคมของเราที่ต้องให้น้องๆ ได้เรียนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
มีคำไหนที่ได้ยินแล้วจำขึ้นใจบ้างไหม
เราไม่เอามาใส่ใจเลย อะไรที่เป็นยาพิษ toxic มาก ก็จะไม่เอามาเก็บเอาไว้ ก็อย่างที่บอกประสบการณ์ของคนมันแตกต่างกัน เขาอาจจะเรียนรู้มาแบบนั้น เขาก็เลยแสดงออกมาแบบนั้น ก็ต้องให้อภัยเขา แต่เราก็ต้องเรียนรู้กับมันด้วย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก
เราจะไม่เห็นการโจมตีแบบนี้กับนายกฯ ที่เป็นผู้ชาย?
ก็นี่ไงความแตกต่างระหว่างเพศหญิงกับเพศชายที่โดนโจมตี ใส่ร้าย โดนข้อกล่าวหา มันคือวัฒนธรรมแย่ๆ ของบ้านเรา
งั้นควรจะต้องทำยังไงบ้างเพื่อให้สิ่งนี้เปลี่ยนแปลง
ต้องให้มีการเรียนรู้ ซึมซับ เรื่องการศึกษาก็สำคัญ แล้วถ้าหากว่ามันเหมือนกับเปลี่ยนเรื่องใดเรื่องเดียวคงไม่สำเร็จ มันต้องไปด้วยกันหลายๆ อย่าง ทั้งพื้นฐานการศึกษา ครอบครัว เขาได้รับการดูแลดีไหม แต่ก็วัดอะไรไม่ได้นะ ถ้าจะย้อนกลับไปแล้ว บางคนมาจากครอบครัวที่ดีก็ยังมีพฤติกรรมแบบนี้เหมือนกัน ดังนั้นก็ต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี ให้เขาได้เห็นถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาว่าใครโดนอะไร ใครทำอะไรไว้กับใครบ้างจนทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้
เมื่อ 10 ปีที่แล้วเรามีนายกฯ หญิงคนแรก ถ้าเราได้นายกฯ หญิงคนที่สอง สิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นในอดีตมันจะยังเกิดขึ้นอยู่ไหม
ไม่มีอะไรการันตีเลยว่า อะไรจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น บ้านเมืองเราตอนนี้เรียกได้ว่า ‘วิปริต’ ระบบก็ไม่เป็นระบบ ฉะนั้น ถามว่าเหตุการณ์เดิมๆ จะกลับมาอีกไหม มันอยู่ที่การรวมพลังของเรา และการที่ประชาชนตื่นรู้ และสามารถรู้ได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี
ประชาชนไม่ได้โง่ เขาก็เรียนรู้อยู่ตลอด แต่ทำอย่างไรจะให้เขาได้รู้ในสิ่งที่มันควรจะเป็นหรือว่ามันถูกต้อง ก็เป็นหน้าที่ของเรา และในขณะที่เราทำงานอย่างเต็มความสามารถ ก็จะมีอีกกลุ่มนึงเหมือนกันที่อาศัยความขัดแย้งของประชาชนที่เห็นต่าง เข้ามาแทรกแซงอำนาจอยู่ตลอด เราก็ทำได้ดีที่สุดก็คือให้พี่น้องประชาชนเห็นถึงความเสื่อมของปัจจุบันว่ามันมาจากอะไร
หมายถึงว่า ในท้ายที่สุด เราก็ยังไม่มั่นใจว่าวัฒนธรรมที่โจมตีผู้หญิงด้วยคำพูดแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า?
เกิดขึ้นอยู่แล้ว เกิดขึ้นแน่นอน เพราะตอนนี้บ้านเราเหมือนเดินถอยหลังอยู่นะ
สมมติการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง มั่นใจได้เลยว่าต้องโดนกระหน่ำซ้ำซัมเมอร์เซลล์สุดๆ ต้องโดนกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามทำทุกวิถีทางให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่สิ่งที่จะยังคงอยู่ แล้วก็จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นก็คือพลังของประชาชนเอง ที่เขาจะออกมาบอกว่าสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้โดนกระทำมันไม่ถูกต้อง
ตอน 10 ปีก่อน เราอาจจะไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้น แต่วันนี้เรารู้แล้วว่ามันเกิดขึ้นได้ มันไว้ใจไม่ได้จริงๆ พวกที่อาศัยแต่อาวุธเข้ามา มันทำอะไรได้ทุกอย่าง แม้มันจะพูดอย่างแต่มันจะทำอีกอย่างนึงก็ได้ ฉะนั้น เราต้องระวัง อย่าปล่อยให้เขาได้ทำตามที่เขาต้องการ
เรื่องพื้นที่ของผู้หญิงในวงการการเมือง เคยมีข้อเสนอให้กำหนด ‘สัดส่วน’ จำนวนชายหญิง แต่ก็เป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า ถ้าดูที่ความสามารถกันจริงก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดเพศ
เราก็ไม่แน่ใจว่ายังไงนะ เดิมทีก็เคยคิดอย่างนั้นเหมือนกันว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดหรอกสัดส่วน ถ้าผู้หญิงเก่งจริงมันก็เข้ามาได้ แต่ด้วยความเก่งของเขาไม่ได้ถูกให้มาเป็นตัวเลือกของชาวบ้าน อันนั้นก็เลยเป็นปัญหา ถ้าเกิดว่าเราได้กำหนดเอาไว้ ก็เป็นความจำเป็นที่พรรคการเมืองจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนตรงนี้ เพราะฉะนั้นผู้หญิงจะถูกนำมาให้เป็นตัวเลือกมากยิ่งขึ้น
เราไม่ได้คิดว่าผู้ชายไม่เก่งหรืออะไร แต่บางทีการคัดเลือกของเขาเอง มันอาจจะทำให้พลังของผู้หญิงไม่ได้ถูกทำให้มองเห็น มันยังมีปัญหาเรื่องนั้นอยู่จริงๆ ซึ่งต้องยอมรับ ฉะนั้นการที่กำหนดสัดส่วนไว้ จะทำให้เขาได้เข้ามายืนแถวหน้ามากขึ้น เราสนับสนุนเรื่องนี้
การที่มีผู้หญิงเข้ามาทำงานในภาคการเมืองมากขึ้น จะทำให้อะไรแตกต่างจากเดิมบ้าง
แตกต่างแน่นอน เพราะคนที่เขียนกฎหมาย ก็มีแต่เขียนกฎหมายเข้าข้างตัวเอง ให้อำนาจก็ให้อำนาจแต่พวกพ้องตัวเอง ดังนั้นถ้าเราไม่ได้กำหนดในเรื่องของสัดส่วนให้สตรีได้เข้ามาทำงานการเมือง บางครั้งการที่จะให้สิทธิ์ก็อาจจะมีให้แต่เฉพาะเพศชาย เขาอาจจะลืมถึงรายละเอียดของเพศหญิงไปก็ได้
อย่างเรื่องของสิทธิการทำงานต่างๆ ผู้หญิงก็ควรที่จะได้มีบทบาท หรือได้รับค่าตอบแทนได้เท่าเทียมกับเพศชาย ตอนนี้ที่เรายังได้ยินข่าวก็คือผู้หญิงได้น้อยกว่า ซึ่งมันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รายจ่ายของผู้หญิงในเรื่องของสุขภาพ ความจำเป็น มันเยอะกว่าผู้ชายอยู่แล้ว
ก็จะมีคนมองว่า ทุกวันนี้ความเท่าเทียมมันเกิดขึ้นแล้ว ที่พูดมาอาจจะเป็นการยกผู้หญิงให้เหนือกว่าผู้ชายหรือเปล่า
ไม่เลย ตอนนี้ผู้หญิงยังได้รับการดูแลทางด้านสวัสดิการต่างๆ น้อยกว่าเพศชายด้วยซ้ำ ฉะนั้นคำถามที่ว่าตอนนี้เท่าเทียมกันแล้ว มันมีหลายเรื่องเลยนะที่เราต้องยกตัวอย่างแล้วจะเห็นภาพมากเลยว่า ความจริงแล้วมันยังขาดในด้านนี้อยู่ มันมีเรื่องที่เราได้รับการร้องเรียนมาว่าความจริงตรงนี้ต้องดูแลผู้หญิงด้วย
เช่นเรื่องลาคลอด?
ลาคลอดก็เป็นข้อเรียกร้องหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเพศชาย ตอนนี้กลายเป็นเพศชายก็จะมาขอให้มีวันที่ลาคลอดไปดูแลผู้หญิงแล้ว แต่ว่าวันลาคลอดที่กำหนดให้ x เดือน ก็อาจจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพที่เราอยากจะให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ อาจจะต้องมีเรื่องอย่างอื่นมาทดแทนให้มากขึ้น
มันคือเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจมันดีอะไรมันก็ทำได้ ตอนนี้เศรษฐกิจมันไม่ดี ทุกคนต้องปากกัดตีนถีบ ต้องช่วยกัน อย่างค่าตอบแทน 3,000 บาท เราก็มองว่าถ้าเศรษฐกิจดี มันทำได้ แต่ในวันที่บ้านเมืองย่ำแย่อยู่ งบประมาณถูกใช้ไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย รัฐบาลที่เข้ามาใหม่แล้วสัญญาทำอย่างนั้นมันยาก มันควรจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเพิ่มมาส่วนหนึ่ง เป็นขั้นตอนไปจนไปถึง 3,000 บาทได้ แต่ถ้าเข้ามาเลย 3,000 บาท ใช้งบประมาณเยอะมาก ซึ่งเราเองไม่อยากที่จะพูดอะไรแล้วทำไม่ได้ แต่อยากจะพูดในสิ่งที่เราทำได้จริงๆ ที่เชื่อมั่นว่าพอเข้ามาเป็นรัฐบาลปุ๊บ จะจัดการได้เลย
ตอนนี้ สิ่งที่ควรเร่งแก้ไขในภาคการเมืองภายในเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศควรเป็นเรื่องอะไร
สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข คือเรื่องของการยอมรับกัน เรื่องของกฎหมายที่ต้องให้สิทธิของทุกเพศเท่าเทียมกันจริงๆ เรื่องของกฎหมายที่ยังจำกัดสิทธิ์เฉพาะเพศชายเท่านั้น ก็ต้องมีการแก้ไข
สาเหตุของความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นนี้ มาจากไหน
มันไม่ได้มีใครผิดในเรื่องนี้
มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมเราที่สั่งสมกันมานาน ฉะนั้นก็ต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เราเคยเชื่อมั่นว่าผู้ชายเก่ง ผู้ชายดี ผู้ชายแข็งแรง ผู้หญิงก็ทำได้ในบทบาทของผู้ชายได้เหมือนกัน เป็นเรื่องของทัศนคติ ต้องเริ่มจากครอบครัวของพวกเขาที่อาจจะเคยคิดว่าต้องเป็นคุณพ่อเท่านั้น แต่ความจริงแม่ก็ได้
ดังนั้น ก็คงต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มันคงจะไม่ได้หน้ามือหลังมือ เพราะตรงนี้มันต้องเกิดจากการซึมซับ การซึมซับของคนแต่ละคน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะให้เปลี่ยนเลย คงไม่ใช่
แต่การที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปด้วยความราบรื่นที่สุด แล้วเกิดการต่อต้านน้อยที่สุดนั่นคือให้ทุกคนยอมรับเหมือนกัน อย่างน้อยต้องได้มากที่สุด ถึงจะไม่ได้ 100% แต่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศคือไปในทางนั้น
อย่างสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตที่กำลังจะเข้าสภา แน่นอนเราเห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม แต่ถ้ามันไม่ได้ผ่านจริงๆ อย่างน้อยเอา พ.ร.บ.คู่ชีวิตมาก่อน แล้วมันจะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ มันไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ชุดหน้า ถ้าได้เป็นรัฐบาล เราทำ อาจจะต้องอาศัยเวลาหน่อย แม้ว่ามันจะนาน แต่ก็ต้องอดทน ให้คนรู้ว่ามันมีทางเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ครั้งนี้แล้วจะไม่ได้อะไรเลย ก็ไม่ถึงขนาดนั้น
พรรคมีแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศยังไงบ้าง
ในเรื่องของกฎหมาย เราก็สนับสนุนเรื่องพวกนี้ ออกนโยบายในเรื่องของให้สิทธิความเท่าเทียมกัน การดูแลสตรีให้เขาได้รู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกกดทับอะไรจากในอดีตที่ผ่านมา ได้รับการปลดปล่อยให้ได้ทำอะไรได้อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น ก็มีเรื่องนโยบายต่างๆ ที่เราพยายามผลักดัน ก็จะพยายามรวบรวมความคิดจากทุกๆ คนมาทำต่อให้สำเร็จ
แล้วในตัววัฒนธรรมในพรรคเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนขนาดไหน?
ตัวเราเอง ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องเพศ เรื่องวัย เราก็ไม่สนใจเหมือนกัน อย่างที่บอก มันมีความผสมผสานกลมกลืนระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เราเป็นคนที่พูดตรงๆ เลย อะไรที่รู้สึกว่าไม่ใช่ คุณต้องฟังน้องๆ ด้วย เขาก็จะรับฟังและเข้าใจ
สิ่งที่อยากผลักดันที่สุดในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงการเมืองไทย คืออะไร
เรื่องของกฎหมาย การกำหนดสัดส่วนสตรีให้กำหนดในรัฐธรรมนูญเลย อย่างน้อยต้อง 30% เป็นเบื้องต้นที่คิดว่าถ้าหากว่าเราทำได้ เราจะทำทันทีเหมือนกัน ก็ต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามา ตอนนี้ผู้บริหารของทางพรรคเองก็ได้มีการกำหนดสัดส่วนเหมือนกัน ไม่ได้ตายตัวมาก แต่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
สมมติถ้ามีข้อโต้แย้งกลับมาอย่างที่บอก อยากจะอธิบายว่ายังไง
ต้องให้เขายอมรับความจริง สิ่งที่คุณพูดก็คือสิ่งที่อยู่ในอุดมคติของคุณเอง คุณดูสิตอนนี้บ้านเมืองเราเป็นยังไง อาจจะมีในภาคเอกชนที่ผู้หญิงได้เข้ามามีตำแหน่งในระดับผู้บริหาร แต่ในส่วนของข้าราชการหรือส่วนที่เป็นรัฐบาลเอง เราว่ามันยังน้อย เราคิดว่ามันต้องมีเยอะมากกว่านี้ จริงๆ เราอยากที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงได้มามีบทบาทนั่นแหละ ถามว่าถ้าเขาจะตีกลับว่ามันจะเป็นการยกผู้หญิงมามากกว่าผู้ชายหรือเปล่า มันก็ไม่ได้มากกว่าหรอก แต่มันน้อยกว่ามากในปัจจุบัน มันควรจะได้มากกว่านี้
ย้อนไปที่คำถาม ก็คือต้องให้เขายอมรับความจริง ถึงแม้คุณจะดูว่ามีผู้หญิงได้มาตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ใหญ่โต แต่ความจริงแล้วถ้าไปดูสัดส่วนมันยังไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นเลย อันนี้ผู้หญิงเขาก็ได้รับฟังเสียงของสตรีมาเหมือนกัน ในภาคส่วนต่างๆ เขาก็อยากที่จะมีตัวแทนของเขาได้เข้ามาทำงาน ก็ต้องพูดกันด้วยความเข้าใจ ในมุมของผู้ชายเองเขาก็อาจจะคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความจริงแล้วมันยังมีผู้ที่เรียกร้องในเรื่องนี้อยู่จริงๆ เราก็ควรที่จะฟังเสียงพวกเขาด้วย
ทำไมเรายังจะต้องพูดถึงเรื่อง ‘ผู้หญิงกับการทำงานการเมือง’ กันอยู่ ทั้งที่ประเด็นนี้ก็พูดกันมานานแล้ว
ถึงแม้จะต่อสู้มานาน แต่สิ่งที่พวกเราเองที่เป็นสตรีตั้งใจมันยังไม่สำเร็จจริงๆ หรือแม้แต่วันนี้มันมีกลุ่ม LGBTQ ขึ้นมา เขาเองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากเท่าที่ควรจริงๆ พูดง่ายๆ เลยเราก็ยังต้องสู้ต่อ มันยังไม่สำเร็จ ถ้าสำเร็จแล้ว เขาสามารถใช้สิทธิทางด้านกฎหมายต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันทุกเพศแล้วนี่สิ เราถึงจะหยุดพูด แล้วพอมีประเด็นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เราก็ค่อยนำมาพูดคุยกันอีก
แต่ที่วันนี้เรายังต้องพูดคุยกันต่อ ก็เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหานี้ยังคงอยู่ ยังไม่ได้รับการยอมรับกันจริงๆ แม้ว่าจะมีคนที่มีความสามารถจริงๆ