ใกล้ถึงวัน d-day ที่ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า 47 แบรนด์จะเลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 กันแล้ว แต่ละคนพกถุงผ้าไว้ในกระเป๋าจนเป็นนิสัยกันแล้วหรือยัง?
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ต่อไปเราจะเรียก รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ) ยังเดินสายชักชวนให้คนลดใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ปิดร้านอาหาร Bitterman Restaurant ย่านสีลมชักชวนคนที่สนใจหรือทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยถึงปัญหาขยะพลาสติกในไทย รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทั้งเรื่องป่าไม้ ภาวะโลกร้อน และพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยมีผู้มาร่วมงานนับร้อยคนจนแน่นร้าน
วราวุธออกตัวในงานที่จัดคล้ายๆ talk show และมีเขาเป็นพระเอกว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาที่จัดงานเช่นนี้ขึ้น ซึ่งเท่าที่เราสังเกต นอกจากการหยอดมุกเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคล้าย รัฐมนตรีวัย 46 ปีจาก จ.สุพรรณบุรีรายนี้ ยังรับฟังคำถามอย่างตั้งใจ บางเรื่องตอบได้แบบฉะฉาน แต่หลายเรื่องก็ขอรับเป็นการบ้านต่อไป
แม้ในงานจะมีการพูดคุยถามตอบกันหลายสิบคำถาม แต่ The MATTER จะขอคัดแค่ 10 คำถาม-คำตอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นจริงและเกิดอยู่ตอนนี้รอบๆ ตัวเรา
คำถามที่ 1: การแก้ไขปัญหาโลกร้อน
นับแต่เข้ารับตำแหน่งก็ตั้งเป้าหมายว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ 10 ล้านต้น แต่ถึงปัจจุบันปลูกไปแล้วกว่า 12.9 ล้านต้นถือว่าเกินเป้าแล้ว จึงได้ตั้งเป้าหมายใหม่เป็น 100 ล้านต้นซึ่งเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการตามข้อตกลงลดการใช้ก๊าซเรือนกระจกแล้ว 17% จากเป้าหมายว่าจะลดให้ได้ 25% อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่มีอำนาจแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองทั้งหมด หน้าที่ของเราคือให้ข้อมูล สร้างจิตสำนึก หรือออกมารณรงค์ให้เกิดกระแสขึ้น
คำถามที่ 2: ป่าเศรษฐกิจ ชาวบ้านจะได้อะไร
ขณะนี้มีการปลดล็อกกฎหมายให้เอกชนสามารถตัดพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้พะยูง ซึ่งขึ้นในพื้นที่ของตัวเองขายได้แล้ว จากที่สมัยก่อนตัดไม่ได้จะมีความผิด เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนหันมาปลูกต้นไม้เช่นนี้ซึ่งเป็นไม้โตเร็วไว้สำหรับสร้างรายได้เพิ่มเติม
คำถามที่ 3: พื้นที่สีเขียวในเมือง
เรื่อง green space จะช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ในเมืองทั้งความร้อน ฝุ่น และมลภาวะทางเสียง ขอยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่ปลูกต้นไม้มา 30-40 ปี จนต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก garden in the city เป็น city in the garden ต้องไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ ว่าความเขียวเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจไม่ใช่ภาระ หลายประเทศใช้พื้นที่ว่างในเมือง เช่น ตอม่อสะพาน ทำเป็น green corridor หัวใจสำคัญไม่ใช่แค่เริ่มซึ่งทำได้ง่าย แต่จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน เรื่องนี้ต้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในเชิง CSR รัฐคงไม่ออกเงินให้ เพราะเราเองก็มีเงินไม่พอ
คำถามที่ 4: เราควรจะมีรุกขกร (ผู้ดูแลต้นไม้) มืออาชีพหรือไม่
เห็นด้วย เพราะการมีรุกขกรเก่งๆ จะช่วยดูแลต้นไม้ให้แข็งแรง แต่ก็เข้าใจหน่วยงานราชการปัจจุบันที่ตัดต้นไม้ให้สั้นเลย เพราะเป็นงานใช้เวลา กว่าจะตัดต้นไม้ได้หมด ต้นที่ตัดแรกๆ ก็ขึ้นใหม่แล้ว จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มจำนวนรุกขกรมืออาชีพว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะ Green Bangkok 2030 ก็อยู่ในแผนการทำงานของเราด้วย ส่วนข้อเสนอให้ย้ายหน่วยงานราชการออกไปจาก กทม.อาจจะทำยาก แต่เรื่องที่จะขอความร่วมมือให้เอกชนนำพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์มาทำเป็นพื้นที่สีเขียวน่าจะพอเป็นไปได้
คำถามที่ 5: จำนวนคนย้ายมาอาศัยอยู่ใน กทม.มากขึ้น ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากขึ้น
จำเป็นจะต้องกระจายความเจริญอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่ทำให้ กทม.ขยายตัวเช่นปัจจุบัน อยากให้เป็นแบบญี่ปุ่น ที่คนอยู่ในโยโกฮาม่าเวลาทำงานก็นั่งรถไฟเข้าในโตเกียว
คำถามที่ 6: ขยะพลาสติก
ขยะในทะเล 80% มาจากบนบก และขยะบนบกกว่า 80-90% ก็คือขยะพลาสติก แต่มีข่าวดีว่าไทยตกอันดับผู้ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลกจากอันดับนที่หกเป็นอันดับที่สิบแล้ว ที่มาของขยะพลาสติกเกิดจากคำว่า convenience หรือสะดวก ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาต้องไปรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะ เพราะต้องใช้วินัยสูงมาก เอาแค่รณรงค์เรื่องทิ้งขยะให้ลงถังก่อน ถ้าทำได้จริงคนไทยทั้ง 67 ล้านคนทิ้งขยะลงถัง จะถังสีไหนก็ได้ ไทยจะสะอาดเหมือนญี่ปุ่น เร็วๆ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะไปทำ MOU กับกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการปลูกผังแนวคิดเรื่องความสะอาด ให้เด็กๆ ทิ้งขยะลงถัง ทำไมต้องเริ่มจากเด็กๆ เพราะง่ายกว่าเริ่มกับผู้ใหญ่ เราสอนนักเรียนก่อนแล้วให้เขาไปสอนพ่อแม่ต่อ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2564 จะมีการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด
คำถามที่ 7: แนวทางสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร
สมัยก่อนเราจะมีแนวคิด 3R คือ Reduce Reuse Recycle แต่ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่อง Upcycling หรือเอาของเหลือใช้มาทำให้ใช้งานได้ใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เอกชนหลายเจ้าก็เริ่มทำแล้ว เรื่องขยะก็มีเทคโนโลยีที่จะทำให้นำถุงพลาสติกไปสกัดเอาน้ำมันออกมาแต่ถึงขณะนี้ก็ยังถือว่ามีต้นทุนที่สูงอยู่
คำถามที่ 8: ข้อเสนอเก็บภาษีเม็ดพลาสติกใหม่
เป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องดูด้วยว่าถ้าไม่ใช้เม็ดพลาสติกใหม่แล้วเอกชนมีทางเลือกอื่นๆ มาทดแทนได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค แล้วสุดท้ายคนที่โดนด่าก็คือรัฐบาล
คำถามที่ 9: จะจัดการกับขยะที่ถูกนำเข้ามาทิ้งในไทยอย่างไร
เรื่อง waste trade ส่วนตัวรับไม่ได้ ในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็เป็นประธานคณะกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องอยู่ จะเข้าไปดูขยะพลาสติกใดบ้างที่สามารถส่งคืนต้นทางได้ หากทำได้จะขอสวมวิญญาณแบบผู้นำฟิลิปปินส์ส่งกลับไปให้หมด ไม่ใช่ว่าบ้านคุณสะอาดเพราะเอาขยะมาทิ้งบ้านเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องไปดูสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกที
คำถามที่ 10: อยากให้เปลี่ยนวิธีรณรงค์จากให้ทุกๆ คนเริ่มกันเอง ไปเป็นว่าใครสร้างขยะคนๆ นั้นต้องรับผิดชอบ
เพิ่งรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ มีศัพท์ที่เรียกว่า Extended Producer Responsibility (EPR) เคยพูดไว้ตั้งแต่หาเสียงว่าใครผลิตอะไรก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ผลิตออกมา ตอนที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็เคยคุยกับเอกชนว่า รวบรวมขวดแชมพูเปล่า 20 ขวดแลกแชมพูใหม่ 1 ขวดได้ไหม หรือเอาขวดโค้กเวลาเอาไปคืนได้รับเงิน
การจะช่วยสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ง่าย แต่มันเป็นราคาที่เราทุกคนต้องจ่าย ถึงเวลาอาจจะลำบากสักหน่อย แต่ไม่นานก็จะเริ่มปรับตัวกันได้ เพื่อไม่ปล่อยให้ปัญหาต่างๆ เป็นภาระให้คนรุ่นหลังตั้งตามไปแก้ต่อไป