ท่ามกลางสถานการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ต่างมีประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงไม่ซ้ำกันเสมอ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เป็นกระแสในระยะหนึ่ง และบางเรื่องก็ต้องติดตามกันต่อ
The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาทบทวนและสำรวจกันว่ามีประเด็นสำคัญไหนบ้างที่เป็นเทรนด์ใหญ่และอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต จะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน แล้วเทรนด์เหล่านั้นถูกพูดถึงอย่างไรในบริบทสังคมโลกและประเทศไทยยุคใหม่
เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
มีการคาดการณ์ว่าประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก และเอเชียเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเร็วที่สุดในโลก มีการคำนวณว่าประชากรในเอเชียอายุมากกว่า 65 ปี จะมีมากถึง 870 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยญี่ปุ่นคือประเทศแรกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสุดยอด (Hyper-Aged Society) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ส่วนไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบในปีนี้ ซึ่งถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เข้าสู่สภาพการณ์ดังกล่าว และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอดในปี ค.ศ. 2035 สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วนั้นล้วนหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว ในขณะที่ไทยยังก้าวไม่พ้นกับดักนี้
ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานไทย โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนแรงงานที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในช่วงเวลาไม่เกิน 20 ปี ที่ผ่านมานี้ อีกทั้งอาจส่งผลต่อการผลิตแรงงานไทยที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย กล่าวคือ แรงงานสูงวัยอาจปรับตัวได้น้อยกว่าแรงงานวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในยุคที่ต้องใช้ทักษะทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อันส่งผลต่อการทำงานภาพรวมของธุรกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส กล่าวคือ ปัจจุบันรูปแบบครอบครัวที่เล็กลง หลายคนยังขาดความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ บางคนต้องแบกภาระในการดูแลทั้งลูกและพ่อแม่ตัวเองไปพร้อมกัน หรือแม้แต่ตัวคนดูแลเองก็แก่ตัวลงตามไปด้วย ส่งผลให้หลายครอบครัวยอมจ่ายเงินเพื่อใช้บริการดูแลสุขภาพจากเอกชนมากขึ้น ถึงอย่างนั้น นี่ก็เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการคิดค้นนวัตกรรมและขยายธุรกิจรองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย อาหารการกิน หรือกิจกรรมต่างๆ
นอกจากความรู้ความเข้าใจทางพลวัตของตลาด สเปกตรัมของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ และทัศนคติที่ไม่มองผู้สูงวัยเป็นภาระของสังคมแล้วนั้น การขับเคลื่อนภาพรวมจากผู้นำก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายที่เอื้อสวัสดิการของผู้สูงวัย จัดอบรมบุคลากรด้านสุขภาพ รวมทั้งเสริมความรู้สนับสนุนประชากรผู้สูงวัย ที่สำคัญ รัฐบาลควรพิจารณาหนุนกิจการเชิงพาณิชย์ที่ช่วยเสริมนโยบายความยั่งยืน ควบคู่กับตั้งเป้าหมายระดับท้องถิ่นและประเทศที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและพัฒนาทางธุรกิจระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อผลักดันคุณภาพบริการด้านการดูแลสุขภาวะของผู้สูงวัย
เทคโนโลยีจะยิ่งล้ำ และ ‘DATA’ คือแหล่งขุมทรัพย์สำคัญ
เทคโนโลยีเป็นมากกว่าเครื่องมือสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่คือ ‘ภาษา’ หนึ่งที่ใช้สื่อสารเหมือนภาษาทั่วไป องค์กรหรือผู้ว่าจ้างจึงต้องทำความเข้าใจแนวคิดนี้ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการและบริการทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสม เพื่อใช้สื่อสาร เข้าหา และมีปฏิสัมพันธ์กับทุกคน
เทคโนโลยีใหม่ที่จะเห็นมากขึ้นประกอบด้วย AR, VR, บล็อกเชน, โดรน, IoT, โรบอต และ 3D printing เมื่อเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้เกิด DATA มากมาย ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญของยุคนี้ ยิ่งใครมีข้อมูลในมือมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ประโยชน์ นอกจากหาวิธีจัดการข้อมูลจำนวนมากให้เป็นระบบแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ จะถอดข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างเงินได้อย่างไร การคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยประมวลผลหรือถอดความหมาย/ความคิดข้อมูลอย่างพวก AI จึงถูกพัฒนามากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาตรงนี้
ทุกอย่างจะเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นในอนาคต เห็นได้จากการริเริ่มโครงการพัฒนาบ้านหรือรถยนต์ที่มีระบบเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ (ยังอยู่ในขั้นของการคิด) หรือหากมองใกล้ตัวกว่าเดิม นวัตกรรมดิจิทัลต่างประยุกต์ใช้เข้ากับสิ่งรอบตัวเราเกือบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการซื้อของออนไลน์ เทเลเมดิซีน การทำงานแบบรีโมต หรือแม้แต่กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการถูกคุกคามบนโลกไซเบอร์หรือถูกเจาะข้อมูลส่วนตัวเช่นกัน ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรม
คนตื่นตัวเรื่อง climate change และมองหาพลังงานสะอาดมากขึ้น
climate change ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงเสมอ ประกอบกับปัจจัยการใช้ชีวิตของมนุษย์เองก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากร สังคมที่เป็นเมืองมากขึ้น ตลอดจนความต้องการบริโภคทรัพยากรที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความต้องการอาหารที่มากขึ้น 35% ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งความต้องการทรัพยากรแต่ละอย่างนั้นเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น ทั้งน้ำมันพืช เนื้อสัตว์ เนย-นม และน้ำตาล อันส่งผลมาถึงพลังงานและทรัพยากรน้ำ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอย่างน้ำ พลังงาน และพื้นดิน ตั้งแต่ทำให้เพาะปลูกพืชผลได้น้อยลง ความต้องการทรัพยากรน้ำและพลังงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50% ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึงเมตรนึงภายในปี ค.ศ. 2100 และอาจเพิ่มสูงขึ้น 6-7 เมตรภายในปี ค.ศ. 2500 อันเกิดจากการภาวะโลกร้อน อาจทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีนจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนไทยเองจะได้รับผลกระทบอย่างยิ่งในภาคการเกษตร อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นด้วย
นี่เองที่ทำให้หลายประเทศต่างตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น จนนำมาสู่การปรับใช้แนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ากับโมเดลดำเนินงานต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการต่างหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมทั้งพัฒนาวิธีการช่วยลดคาร์บอนให้น้อยที่สุด
ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองคือแนวทาง Net Zero ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด รวมทั้งกำจัดก๊าซในปริมาณเทียบเท่ากับที่ปล่อย ทั้งนี้ การประชุม COP26 เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น หลายประเทศต่างตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน ส่วนไทยได้ประกาศไว้ว่าจะบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ครอบคลุมแนวทางหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่
- เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในไทย (เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40% แบ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 15%)
- ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง (ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคการผลิตพลังงาน)
- ผลักดันพลังงานสะอาด (ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030)
เกิดช่องว่าง ‘คนจน’ กับ ‘คนรวย’ มากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดนั้น คือความเปราะบางทางการเงินของคนไทย เห็นได้จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีมากและรุนแรงขึ้น ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ การเกิดหนี้เสีย ตลอดจนผลกระทบต่อกลุ่มผู้กู้อายุน้อยที่เป็นหนี้อยู่ก่อนแล้ว
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดจะผ่านพ้นไปแล้วนั้น แต่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจะยิ่งเพิ่มขึ้น และเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยผู้มีรายได้ต่ำมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีต่างๆ ได้น้อยกว่า ซึ่งจะส่งผลให้ความตึงเครียดทางการเมืองยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย กล่าวคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะกระตุ้นภาคส่งออกไทยและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ ในขณะเดียวกัน ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานจะยังสูงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น แก๊ส น้ำมัน และวัตถุดิบต่างๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก :