Gabriele Galimberti ช่างภาพผู้ใช้เวลาสามปีเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพเด็กๆ กับของเล่นชิ้นโปรด ชุดภาพของ Galimberti จำนวน 54 ภาพได้รับการตีพิมพ์รวมเป็นหนังสือชื่อ Toy Stories ภาพชุดดังกล่าวนอกจากจะทำให้เรานึกถึงวัยเด็กแล้ว สิ่งของที่เด็กๆ เล่นดูจะเต็มไปด้วยความหมาย เจ้าสิ่งของธรรมดาเหล่านี้ดูจะเป็นทั้งภาพสะท้อนของครอบครัว ของวัฒนธรรม ทั้งยังส่งผลหล่อหลอมความคิด ตัวตน และความเชื่อของเราเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเล่น เราชอบความสนุกท้าทาย ดังนั้นของเล่นจึงเป็นสี่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมเรามาตั้งแต่บรรพกาล ของเล่นเช่นลูกบอล ว่าว และลูกดิ่ง ถือว่าเป็นของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่การเล่นของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อน ด้วยพลังของจินตนาการ แค่ไม้กิ่งเดียว กองทราย ไปจนถึงก้อนดินก็กลายเป็นของเล่นที่เราใช้เวลาเล่นกับมันได้เป็นวันๆ
ของเล่นไม่เคยเป็นเรื่องเล่นๆ โดยเฉพาะของเล่นสมัยใหม่ ของเล่นที่ทุกวันนี้มักจะทำจากโรงงาน ผลิตจากพลาสติก มีแนวคิดเรื่องความปลอดภัย มีเรื่องพัฒนาการประกอบ แน่นอนว่าของเล่น – สิ่งของที่เราผลิตขึ้นและให้เด็กน้อยใช้เวลาอยู่กับมัน – ย่อมมีผลในเชิงพัฒนาการ การเล่นขายของ เล่นดูแลบ้านตุ๊กตาส่งผลต่อพัฒนาการทางความคิด การเชื่อมโยงเหตุการณ์ของเด็ก ไปจนถึงของเล่นอื่นๆ เช่น ตัวต่อ รถจำลอง ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทั้งในทางกายภาพและในระดับตรรกะสติปัญญา แต่ยิ่งไปกว่านั้น นักคิดบอกว่าของเล่นสมัยใหม่เหล่านี้กลับมีผลลึกซึ้งต่อตัวตนของเด็กๆ เป็นเหมือนภาพจำลองของการเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต ระยะหลังมีการขบคิดกันว่า ด้วยของเล่นเด็กมีพลังกำหนดตัวตนของเด็กๆ ขนาดนี้ ของเล่นที่แบ่งเพศอย่างตายตัว เช่น ของเล่นเด็กชายต้องเป็นรถแข่งสีฟ้า ผู้หญิงเล่นตุ๊กตาสีชมพู ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาในโลกแห่งความหลากหลายใบนี้
ของเล่น กับโลกจำลองของการเป็นผู้ใหญ่
Roland Barthes เป็นนักคิดที่เฝ้าระวังโลกสมัยใหม่ บาร์ตส์บอกว่าโลกสมัยใหม่หล่อหลอมเราอย่างลึกลับซับซ้อน และ ‘ของเล่น’ ก็ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่บาร์ตส์มองว่าเป็นเครื่องหล่อหลอมเด็กๆ ให้เข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงวัยที่เราแสนจะยังเป็นธรรมชาติ
ในบทความชี่อ ‘Toys’ บาร์ตส์พูดถึงของเล่นสมัยใหม่ว่า เจ้าของเล่นยุคใหม่เช่น ตุ๊กตุ่น รถดับเพลิง เครื่องบินรบทั้งหมดนั้นต่างเป็นเสมือนการมอบโลกของผู้ใหญ่ในฉบับจิ๋วให้เด็กๆ ในการให้เด็กเล่นและเผชิญกับโลกของผู้ใหญ่นี้ก็เป็นเสมือนการบังคับให้เด็กยอมรับกับแนวคิดต่างๆ ทั้งความอัปลักษณ์ ความงาม สงคราม เด็กๆ จะเหมือนได้ลองเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงวัยแห่งความไร้เดียงสา เด็กผู้ชายจะต้องได้เล่นเป็นตำรวจ เด็กผู้หญิงเล่นตุ๊กตา เป็นแม่บ้านแม่เรือน ทั้งหมดนั้นเป็นเหมือนการค่อยๆ หล่อหลอมตัวตนของเด็กที่ไร้เดียงสา ให้ค่อยๆ รู้เดียงสาและกลายไปเป็นสมาชิกของสังคมต่อไป
บาร์ตส์ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเราผลิตของเล่นสมัยใหม่ ของเล่นของโลกสมัยใหม่ดูจะ ‘ผิดธรรมชาติ’ มากขึ้น การใส่ลักษณะของผู้ใหญ่เข้าไปในการเล่นของเด็กก็ถือว่าเป็นการใส่มิติทางวัฒนธรรม (culture) เข้าไปในช่วงวัยที่มนุษย์ใกล้ชิดกับภาวะธรรมชาติมากที่สุดแล้ว วัสดุในการผลิตเองก็กลายเป็นสิ่งสังเคราะห์มากขึ้น บาร์ตส์บอกว่าจากเดิมของเล่นเป็นตัวแทนของความอบอุ่นเช่นตุ๊กตาที่ผลิตจากไม้ เป็นสิ่งทีสมาชิกในครอบครัวทำให้กันและเป็นสัญลักษณ์ของความรักความอบอุ่น กลับกลายเป็นของเล่นพลาสติกหรือโลหะที่เย็นชืด แข็งกระด้าง ที่ผลิตจากโรงงานคราวละมากๆ ทั้งหมดนั้นก็สะท้อนถึงวิถีชีวิตและรูปแบบครอบครัวที่กำลังเปลี่ยนไปในห้วงศตวรรษ จากยุคสมัยเก่าสู่ยุคสมัยใหม่
ของเล่นเด็กผู้หญิง ของเล่นเด็กผู้ชาย ปัญหาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ไอเดียสำคัญของบาร์ตส์คือ ของเล่นและวัตถุสิ่งของเล็กๆ คือการหล่อหลอมตัวตนของผู้คนในสังคม เด็กควรจะโตมาเป็นอะไรถูกสังคมซุกซ่อนไว้ตั้งแต่การเล่นที่ดูไร้เดียงสา นอกจากอาชีพแล้ว ตัวตนเรื่องเพศเป็นสิ่งที่กลายเป็นปัญหาและถูกตั้งคำถามเรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจของเล่นเด็กถูกครอบงำด้วยความคิดการแบ่งชายหญิงที่แสนจะแข็งกระด้างและตายตัว
อีกครั้งที่นวัตกรรมและโลกอุตสาหกรรมส่งผลกับตัวตนของผู้คน ก่อนจนถึงช่วงต้นปี 1970 อุตสาหกรรมของเล่นเด็กยังไม่มีแนวคิดในการแบ่งเพศให้กับเด็กๆ โฆษณาของเล่นเด็กในยุคก่อนหน้าเน้นเรื่องสีสันที่สดใส มีการระบุว่านี่เป็นของเล่นของเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงเพียง 2% เท่านั้น แต่ในช่วงปี 1980 เราเริ่มมีเทคโนโลยีอัลตราซาวด์เข้ามา บริษัทของเล่นก็เริ่มทำการตลาดทำนองว่า รีบมาซื้อของขวัญสำหรับลูกชายหรือลูกสาวของคุณสิ ทีนี้ล่ะ ของเล่นสีฟ้าและสีชมพู ไปจนถึงการแบ่งประเภทของของเล่นเด็กจึงเริ่มเฟื่องฟูจนถึงทุกวันนี้ ในงานศึกษาของ Carol Auster และ Claire Mansbach พบว่าของเล่นทุกชิ้นบนเว็บไซต์ดิสนีย์มีระบุว่าอันนี้เป็นของเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง
ปัญหาสำคัญของการแยกเพศ – และสอดคล้องกับข้อคิดเห็นบาร์สต์ – คือการแยกเพศแบบนี้กลายเป็นเรื่องอคติทางเพศที่คับแคบ ในโลกของของเล่น สมัยหนึ่งของเล่นของเด็กผู้หญิงว่าด้วยการหัดเป็นแม่บ้าน เด็กๆ เล่นดูแลบ้าน เล่นทำอาหาร กวาดบ้าน ไปจนถึงเลี้ยงดูเด็กๆ ในขณะที่เด็กผู้ชายก็มีอุปกรณ์ช่างไม้ ของเล่นเป็นหมอ ไปจนถึงของเล่นในเชิงก่อสร้างต่างๆ
มีงานทดลองพบว่าในที่สุดเด็กๆ จะเรียนรู้และรับการแบ่งแยกทางเพศไปในตัว เด็กผู้ชายก็จะเล่น ‘แบบผู้ชาย’ และเด็กผู้หญิงก็จะเล่น ‘แบบผู้หญิง’ นอกจากจะเป็นการหล่อหลอมอคติทางเพศ – ผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ (และเด็กๆ บางคนก็ถูกบังคับให้เล่นไปตามเพศของตน) – ในแง่มุมของพัฒนาการ ของเล่นที่แบ่งแยกเพศอย่างกระด้างนี้ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กด้วย
แทนที่เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้งสองด้าน คือการเล่นของเล่น ‘แบบเด็กผู้ชาย’ ที่ช่วยพัฒนาการความคิดเชิงตรรกะ การรับรู้เชิงพื้นที่ ไปจนถึงการพัฒนาทางกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว และการเล่น ‘แบบเด็กผู้หญิง’ อันเป็นการพัฒนาทางอารมณ์ ความเข้าอกเข้าใจ ตลอดจนพัฒนาการทางภาษา ปัญหาของการแบ่งแยกด้วยเพศทำให้เด็กได้รับการพัฒนาแค่เพียงด้านเดียว ทั้งๆ ที่เด็กควรจะมีอิสระไม่ถูกบังคับกะเกณฑ์มากนัก
ประเด็นเรื่องตัวตนเป็นเรื่องใหญ่ ในระดับภาครัฐก็มีการเคลื่อนไหวตอบรับเรื่องของเล่นนี้ ในสหรัฐฯ ทำเนียบขาวรวมพลผู้ผลิตของเล่นและผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุยถกเถียงในประเด็นของภาพตายตัวทางเพศ (gender stereotypes) ในของเล่นและสื่อ ก่อนจะมีประกาศเป้าหมายในปี 2015 ว่าหลังจากนี้จะมีการลดจนถึงเลิกการผลิตและแปะป้ายของเล่นของเด็กๆ ว่าเป็นของเด็กผู้ชายหรือผู้หญิง ในอังกฤษเองก็มีโครงการ Let Toys Be Toys ส่งเสริมให้ผู้ค้าเลิกเน้นขายและแยกประเภทของเล่นว่าเป็นสำหรับเพศใดเพศหนึ่ง
ในยุคที่เราเลิกเชื่อว่าผู้ชายมาจากดาวอังคารและโลกนี้ไม่มีความซับซ้อนทางเพศ ภาคธุรกิจและผู้ค้าก็ดูจะเข้าใจและรับเอาความคิดดังกล่าวไป ร้านค้ายักษ์ใหญ่เช่น Target, Walmart และ Amazon ตลอดจน Hamley’s ห้างของเล่นเก่าแก่ที่สุดของโลกในอังกฤษ ต่างก็เลิกขายของเล่นโดยแปะป้ายเพศกันไปแล้ว ผู้ผลิตเองก็เริ่มมีของเล่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เรามีรถจำลองสีชมพู มีตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้ชาย
อ้างอิงข้อมูลจาก