ตราบใดที่ทรงผมหัวเกรียนหรือทรงติ่งของนักเรียน ยังสลักสำคัญในฐานะการเคารพกฎระเบียบและความมีวินัย มากกว่าการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น เรื่องทรงผมเส้นขนหญิงชาย ก็ยังสามารถถกเถียงกันได้อยู่ เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐในการแบ่งผู้หญิงกับผู้ชาย ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่รัฐเริ่มกำหนดทรงผมหญิงชายให้ต่างกัน ผู้ชายผมสั้น ผู้หญิงผมยาว
อย่างไรก็ตามผู้ชายก็ได้รับการอนุญาตให้มีเนื้อที่ไว้ขนได้เยอะกว่าผู้หญิง เช่น รักแร้ หน้าอก บลาๆ ตั้งแต่หน้ายันหน้าแข้ง เพราะขนถูกให้ความหมายว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็นชาย’ แมนๆ มีหนวด เราจึงไม่เคยเห็นผู้หญิงไว้หนวดเครา เป็นชะนี hipster
ด้วยเหตุนี้จึงมีกลุ่มเฟมินิสต์หลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ท้าทายวาทกรรม ‘ความงาม’ ที่ว่าด้วยเส้นขน ตั้งแต่ทรงผมสั้นยาว เลี้ยงหนวด ไว้ขนรักแร้ขนหน้าแข้งของพวกเธอ ซึ่งก็ได้ก่อความรำคาญใจให้กับพวกผู้ชายจำนวนมาก ที่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
และจากหนวดข้างบน มาสู่หนวดข้างล่าง…
กล่าวกันแบบสายวิทย์ว่า คุณูปการและหน้าที่ของขนเพชรประการแรกและสำคัญที่สุดคือเป็นสัญลักษณ์ของวัยเจริญพันธุ์ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษยชาติใช้มันแบ่งช่วงวัยระหว่างเด็กกับโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อขนเริ่มอุยมนุษย์จึงรู้ว่ากำลังเข้าสู่วัยหนุ่มสาว สามารถสืบเผ่าพันธุ์ได้แล้ว หากยังไม่มีขนก็ถือว่ายังไม่โตเต็มวัย ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรได้ และแน่นอน ตามหน้าที่ของมันตั้งแต่เริ่มงอก มันกักเก็บสารฟีโรโมนที่คัดหลั่งจากผิวบริเวณ ‘ตรงนั้น’ เพื่อดึงดูดความต้องการทางเพศในยุคสมัยที่ยังไม่รู้จักใช้เครื่องนุ่งห่มปิดบังอวัยวะเพศ และตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ถึงปัจจุบัน มันยังมีประโยชน์ใช้เป็นกันชน ลดกระแทกเสียดสีขณะโรมรันพันตูไม่ให้ถลอกปอกเปิกอีกด้วย[1]
เมื่อขนเพชร (pubes) บ่งบอกถึงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (puberty) มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไปพัวพันกับเพศวิถี (sexuality) ที่เป็นการนำเสนอเนื้อตัวร่างกายที่ผ่านการปรุงแต่งดัดแปลง เสื้อผ้าหน้าผม อากัปกิริยา จริตจะก้าน ภาษา ซึ่งเป็นเรื่องของการดึงดูด ความพึงพอใจและรสนิยมทางเพศ ไม่ว่าจะเพราะกติกาที่สังคมหยิบยื่นมา หรือความต้องการส่วนบุคคล มนุษย์จึงมีวัฒนธรรมตัดแต่งสุมทุมพุ่มไม้ของตัวเอง ทั้งการโกน เล็ม ถอน แวกซ์ร้อนและเย็น เลเซอร์ แม้จะต้องแลกกับความเจ็บแสบระหว่างกำจัด เจ็บๆ คันๆ เหมือนซุกกระบองเพชรไว้ในกางเกงในเพื่อจัดระเบียบไม่ให้รกชัฏ ดูอ่อนเยาว์เหมือนเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มสาว หรือเพื่อให้แลดูใหญ่ขึ้นสำหรับเพศสรีระชาย และสำหรับเพศสรีระหญิงก็เพื่อไม่ให้มันอุจาดเวลาสวมกางเกงเอวต่ำหรือกางเกงว่ายน้ำ
นำไปสู่ทรงขนสไตล์ต่างๆ ตั้งแต่ American wax ที่เป็นรูปเรขาคณิตสามเหลี่ยมคว่ำขนาดย่อมตามแนวบิกินี, เส้นตั้งตรงขนาดสั้นอย่าง French wax ไปจนถึงโล้นไปเลยแบบ Brazilian wax
นอกจากชาติพันธุ์วรรณา ขนเพชรยังคงเป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้น้อยที่สุดบนที่สาธารณะ กว่าขนอื่นๆ ของร่างกาย แม้แต่ตอนใส่บิกินีเดินชายหาดก็ยังมองไม่เห็นแม้แต่เส้นเดียว เพราะถูกควบคุมกำกับไม่ให้ถูกแสดงออกมา มันจึงเป็นการเมืองและทรงพลังมากกว่าการควบคุมทรงผมนักเรียนในโรงเรียนหรือแม้แต่นายทหารในค่ายเสียอีก เพราะว่าขนนั่นมันมีความเป็นส่วนตัวกว่าบริเวณอื่น
เนื่องจากร่างกายและเพศวิถีเป็นสิ่งประกอบสร้างและผลิตผลทางสังคม
อย่างน้อยที่สุดผู้หญิงเองก็ถูกคาดหวังไม่ให้ปล่อยขนส่วนนั้นของพวกเธอรุงรังได้ ‘ตามธรรมชาติ’ เหมือนของพวกผู้ชาย ผู้หญิงหลายคนต้องกำจัดแต่งทรง จนถึงการเมืองเรื่องหะมอยแบบจริงๆ จังๆ ที่กำหนด ‘ความเป็นพลเมือง’ ขณะที่ประเทศไทย (หากมีการเลือกตั้ง) วัยที่จะสามารถเลือกตั้งได้ก็คือ เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่เมื่อย้อนไกลไปถึงการเมืองยุคคลาสสิค ‘publicus’ มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่า ‘กิจการสาธารณะ’ (public) และมีความหมายทั่วๆ ไปว่า ‘ประชาชน’ (the people) ที่มีส่วนร่วมในการปกครอง จัดการทรัพยากรผลประโยชน์ร่วมกันในรัฐ
อย่างไรก็ตาม publicus เองก็มีความหมายสัมพันธ์กับ pubes หรือขนบริเวณหัวหน่าวในความหมายของผู้ชายที่โตเต็มที่แล้วเท่านั้น people ถูกนิยามจำเพาะเจาะจงประชากรชาย ผู้ชายมีสิทธิ์มีเสียงบนพื้นที่สาธารณะได้ ผู้หญิงไม่ได้ถูกนับเป็นพลเมืองของรัฐ (polis) พวกนางไม่ได้มีตัวตนบนพื้นที่สาธารณะ แต่มีที่ทางอยู่ใน ‘oikos’ ที่หมายถึงบ้านหรือสิ่งๆ ต่างๆ เกี่ยวกับส่วนบุคคล เกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางกายภาพในครัวเรือน การใช้แรงงาน การเจริญพันธุ์ การยังชีพ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับผู้หญิง เด็ก และทาส ต่างไม่ได้รับอิสรภาพและถูกแยกต่างหากจากปริมณฑลสาธารณะ[2]
เพราะการแบ่งพื้นที่ส่วนบุคคลไว้กับผู้หญิงมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ผู้หญิงจึงต้องเลี้ยงหมูดูหมาอยู่แต่ภายในบ้าน กับพื้นที่สาธารณะและการเมืองไว้ให้ผู้ชาย (ที่เติบโตเต็มวัยและมีขนเพชรแล้ว) ออกมาปฏิบัติภารกิจร่วมกันเพื่อชาติ ปกครองบริหารนครรัฐ แล้วกลับมาปกครองบ้านอีกที
คำว่า family จึงมีรากศัพท์จากคำละติน familia ที่เป็นคำพูดทั่วๆ ไปที่เรียกหน่วยหนึ่งหรือชุมชนหนึ่ง ที่ทาสจำนวนมากมายที่อยู่ใต้การดูแลบังคับบัญชาของคนเพียงคนเดียว
และ Family ไม่ได้มาจากพยัญชนะแรกของประโยค Father and Mother, I Love You. เหมือน UN NATO หรือ OTOP แต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Desmond Morris. (2005).he Naked Woman: A Study of the Female Body. London: Vintage, p. 194.
[2] J. Roy. ‘Polis’ and ‘Oikos’ in Classical Athens. Greece & Rome. Vol. 46, No. 1 (Apr., 1999), pp. 1-18