ในช่วงเวลาที่ความโศกาอาดูรรายล้อมพระบรมมหาราชวัง ก็ยังมีภาพแห่งความอารีแก่กันที่ปรากฏมาแล้วทำให้เราเหล่าพสกนิกรพอจะได้ชุ่มชื่นหัวใจกันได้ และในบริเวณรายรอบพระบรมมหาราชวังนั้นเอง ก็ปรากฏภาพชะนีสาวสามัญหน้าตาจิ้มลิ้มชนนางหนึ่ง หาญกล้าชูป้าย ‘ให้กอดฟรี’
และไม่เกินคาด ดราม่าเอยก็ปรากฏกับ free hugs campaign และชะนีน้อยนางนี้ กลายเป็นเป้าก่นด่า โดนแหกซะยับเยินพร้อมๆ กับการเริ่มตั้งคำถามต่อรองระหว่างแนวคิดหัวโบราณหัวทันสมัย, โลกาภิวัตน์หรือชาตินิยม, ประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธุ์หรืออารยธรรมใด, อะไรคือกาลเทศะ, อะไรทำได้ไม่ได้ อะไรผิดหรือถูก, ดีงามหรือดีออก และที่สำคัญใครเป็นผู้กำหนดหรือคุมกฎนั้น, รวมไปถึงกระบวนการการจัดการกับความเศร้าว่าควรจะออกมารูปแบบใดจะไม่เจ็บตัว ไม่เปลืองตัวให้คนที่ไหนมาด่าทอ
แต่ดราม่าที่น่าจะซ้อนดราม่าอีกทีแต่ถูกลืมก็คือ อันที่จริงมันเป็นกิจกรรมที่หนุ่มๆ หุ่นหมี หน้าบ้านๆ ริเริ่ม ถือป้ายให้กอดฟรีเพื่อปลอบประโลมจิตใจผู้คนในย่านพลุกพล่านอย่างสยามสแควร์มาหลายวันแต่ไม่ได้รับความสนใจเท่า ทันทีที่น้องนีมาชูป้าย (อ้างว่า) เพียง 3 นาทีเวลาค่ำมืด ก็ถูกมนุษย์กล้อง มนุษย์โพสต์ มนุษย์แชร์ มนุษย์ด่า จุดประเด็นสังคมขึ้นมา
ทำไมเพียงแค่เปลี่ยนเพศตัวแสดงแล้วปฏิกิริยาผู้ชมจึงต่างกัน ?
ไม่ใช่เพราะกลัวพี่หมีสูงล่ำชูป้ายจะต่อยเอา แต่เพียงเพราะคนที่ชูป้ายให้กอดดันเป็นผู้หญิง เธอมีร่างกายที่สังคมชายเป็นใหญ่คอยจับตาสอดส่อง ยุ่มย่ามละลาบละล้วงไปจนถึงควบคุมกำกับได้มากกว่าร่างกายผู้ชาย เหมือนกับที่เราสนใจเสื้อผ้าหน้าผมนักการเมืองเฉพาะเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เหมือนกับที่การประกวดนางงามประจำท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลกมีมาก่อนและได้รับความนิยมกว่าการประกวดหนุ่มหล่อ และเหมือนกับที่ร่างกายผู้หญิงแบกรับชุดประจำชาติ วัฒนธรรมประจำชาติมากกว่าผู้ชาย
ก็เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) จัดวางผู้หญิง และ ‘ความเป็นหญิง’ ให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นของสาธารณะไว้เชิดหน้าชูตา (ทั้งๆ ที่บทบาทสาธารณะถูกผูกโยงไว้กับ ‘ความเป็นชาย’ เช่น การทหาร การเมืองการปกครอง และศาสนา) ในนามของเพศสวยๆ งามๆ และเพศแม่ และการเป็นเพศแม่ในระบบการนับสายเลือดผ่านผู้ชายใช้นามสกุลพ่อของชายเป็นใหญ่นั้น ผู้หญิงต้องรักษาพรหมจรรย์ รักนวลสงวนตัว ไร้ซึ่งเดียงสาประสบการณ์ ไม่สนองความต้องการทางเพศตามอำเภอใจ เพื่อประกันความมั่นใจให้แก่พวกผู้ชายว่า ลูกที่คลอดออกมาจากผู้หญิงเป็นผลของอสุจิของเขาเองฉีดเข้าไป สมบัติมรดกของเขาถ้ามีก็ตกทอดไปเป็นของลูกของเขาเท่านั้น ไม่ใช่ลูกคนอื่น ลูกของเขาจริงๆ เท่านั้นที่จะได้สังกัดตระกูลเขา
ผู้ชายถือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ผู้ครอบครองเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง ผู้หญิงเองก็ถูกกำหนดให้เคร่งครัดจริตกิริยา ไม่ให้ถูกกอดรัด สัมผัสหรือได้กับชายใด เพราะจะเท่ากับว่า ‘เสียตัว’ หรือตกเป็น ‘ของ’ ชายผู้นั้น เหมือนที่คำสุภาพอย่าง ‘สามี’ ก็แปลตามตัวอักษรได้ว่า ผู้เป็นใหญ่หรือเจ้าของ
เนื้อตัวร่างกายที่ตัวของพวกเธอเองก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจัดการ ไม่เพียงเป็นสิ่งเปราะบาง แตกหักง่ายทางกายภาพ แต่ยังง่ายที่จะเลอะเทอะมีมลทินแต่ล้างออกยากทางจิตวิญญาณกว่าผู้ชาย ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ศีลธรรมทางเพศจึงเข้มงวดกับจิ๋มและเปิดอิสรภาพทางเพศให้กับจู๋มากกว่า
ยิ่งเป็นสาวเป็นแส้ ถูกชายสัมผัสมากหน้าหลายตา ยิ่ง ‘เปลืองตัว’ ราวกับว่าจิ๋มของเธอคือทรัพยากรธรรมชาติใช้แล้วหมดสิ้นไปนำกลับมาใช้อีกไม่ได้เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน อโลหะส่วนใหญ่
2 มาตรฐานนี้คงไม่เกิด ถ้านับสายเลือดผ่านผู้หญิงใช้นามสกุลแม่แล้ว ยังไงเด็กที่คลอดออกมาย่อมเป็นที่มั่นใจอยู่แล้วว่าเป็นลูกของใคร ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับใครมาก็ตาม เพราะนับสายตระกูลของคนที่เบ่งออกมาเอง
และด้วยสังคมเช่นนี้ ถ้าเปลี่ยนเป็นคุณป้าแก่ๆ ใจดีดูรักลูกหลานชูป้าย free hugs ใครเห็นก็คงชื่นชมว่าน่ารักน่าเอ็นดู เพราะคิดไปว่าไม่จำเป็นต้องรักนวลสงวนตัวหรือกลัวเสียตัวแล้ว
อันที่จริงคนหนุ่มสาวปี 2559 นี้ จะออกมาทำกิจกรรมแจกกอดก็ไม่น่าผิดแปลกอะไร เพราะน่าจะมีอายุไลเลี่ยกับวัฒนธรรม ‘แจกกอด’ หรือโตมาพร้อมกับขบวนการการทางสังคมที่เรียกว่า ‘Free Hug Movement’ อันเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะโอบกอดคนแปลกหน้าบนที่สาธารณะ ในความหมายของการมอบความเอื้ออารี แสดงความคำนึงถึงผู้อื่นและทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีขึ้น แบบสุ่ม ไม่เลือกปฏิบัติ เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นใคร ตั้งแต่ ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542)
Bernard กับ Delia Carey จากมหานครนิวยอร์ค ได้ดำริไอเดีย ทำสาธารณกุศลเมื่อ ค.ศ. 1999 ด้วยการตั้งป้ายประกาศบนถนน East 10th Street ว่าจะบริจาคและบริการ ตั้งแต่โอบกอดให้กำลังใจ ผ้าพันแผลและเงิน แม้แต่จะล้างเท้าให้คนแปลกหน้าเหมือนในไบเบิ้ลโดยไม่หวังอะไรตอบแทนหรืออามิสสินจ้างใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกอดซึ่งคำว่า ‘FREE HUGS’ เป็นคำที่ใหญ่โตที่สุดในป้ายประกาศ สร้างความงุนงงสนอกสนใจให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมา
ทั้งคู่กลายเป็นเป้าสนใจของผู้คนมากมาย และแน่นอนหลายคนมองว่าเป็นเพียง ‘การแสดง’ เท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่การแสดงฉาบฉวยๆ เอาหล่อเอาสวย พวกเขาเพียงต้องการกลับไปหาแนวคิดทฤษฎี ‘สุนทรียศาสตร์เชิงความสัมพันธ์’ (relational aesthetics) ของเครือข่ายนานาชาติเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวทดลองและสุดโต่งที่สุดในยุค 60’s นาม ‘Fluxus’ และกิจกรรมการแสดงของ Yoko Ono ศิลปิน, นักกิจกรรมสันติวิธี,นักร้อง, นักแต่งเพลงและแฟนสาว John Lennon
จนทั้งคู่ถูกถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอจนกลายเป็นข่าวระดับประเทศ พวกเขาถูกเชิญให้ไปแสดงและในงาน Whitney Biennial Art Show ซึ่งเป็นนิทรรศการใหญ่ที่เริ่มเมื่อปี 2002 เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 9/11 และกอดของพวกเขาก็ถูกแจกเพื่อปลอบประโลมชาวอเมริกันที่ความเศร้าสลดหดหู่ และเจ็บปวดกับเหตุการณ์นั้นยังปกคลุมหัวใจ สำหรับ Bernard กับ Delia การกอดเสมือนที่พักใจของสาธารณชน และบริการที่ไม่ว่าใครก็เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้สมถวิล และจากนิทรรศการนี้ พวกเขาก็ได้ให้สัมภาษณ์และแจกกอดรายการทีวีข่าวยักษ์ใหญ่ Good Morning America (อารมณ์เหมือนกับ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ บ้านเรา แต่เป็นยุคสรยุทธ สุทัศนะจินดา) ยิ่งกระพือกระแส free hugs movement
ต่อมาในพฤษภาคม 2004 Jonathan Littman ก็เริ่มชูป้ายลักษณะนี้เช่นกันที่นิวยอร์ค แต่เป็นที่ Washington Square Park ทุกวันอาทิตย์ และต่อมาก็เดินทางไปแจกกอดที่เยอรมนี เพื่อแสดงความโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ จากนั้นหนึ่งเดือนให้หลัง Juan Mann ที่ซิดนีย์ก็เริ่มแจกกอดบ้าง แต่คุณฮวนอัพเลเวลด้วยการอัดวิดีโอแล้วตระเวนแจกกอดยังที่ต่างๆ แกให้เหตุผลเพียงว่าที่แจกกอดเพราะอยากถูกกอดแค่นั้น เมื่อวีดิโอ free hugs campaign ต่างๆ ของแกถูกตัดต่อทำเป็น MV มีผู้ชมจำนวนมากเป็นล้านๆใน YouTube ตั้งแต่ 2006 บริการกอดคนที่เราไม่รู้จักฟรีในที่สาธารณะ ก็กลายเป็นวัฒนธรรมสากลที่กระจายไปยังทั่วทุกมุมโลก
แม้จะอำลาวงการแจกกอดตั้งแต่ 2009 ไปแล้ว แต่ Juan Mann ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาชูป้าย Free Hugs เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามเศร้าสลดหดหู่ โดยไม่เลือกเพศ วัย ชาติพันธุ์ ชนชั้น
…เพราะการโอบกอดมีความหมายมากกว่าเรื่องใต้สะดือ