ช่วงนี้บรรดาเพื่อนเก้งกวาง (ที่ยังคบฉันอยู่) หลายนางขมีขมันเข้ายิมปั๊มร่างอย่างขะมักเขม้นเพราะเทศกาลสำคัญใกล้เข้ามาถึงแล้ว นั่นก็คือ เทศกาลกินปูดูเก้ง บนถนนสีลมกำลังใกล้เข้ามา เพื่อนๆ เก้งกวางของฉันจึงต้องเตรียมความพร้อม เทศกาลนี้มีชื่อตามปฎิทินไทยว่า ‘วันสงกรานต์’ ที่บรรดาเก้งกวางหมีปูมากมายจากทุกป่าเขา ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเอง ตะวันออกไกลบรรดาญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ยันยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย หอบร่างบินมาเล่นน้ำประแป้งกลางเมืองใหญ่
ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอย่องให้เป็นซ่องของโลก กรุงเทพฯก็ถูกสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงเกย์อีกแห่ง เพียงการวัดจากไม่มีกฎหมายรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม ความหนาแน่นของประชากรเกย์ สถานบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมบริโภคของเกย์
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงกรานต์นี่เอง ที่ได้แปรเปลี่ยนย่านธุรกิจอย่างสีลมให้ประหนึ่งเมืองที่มีแต่ผู้ชายรักชาย เบียดเสียดแน่นขนัดด้วยมัดกล้ามและซิกซ์แพค อันเนื่องมาจากสีลมเป็นย่านเกย์เก่าแก่ ตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเกย์ไทย ถือว่ามีเกย์บาร์เป็นแห่งที่ 2 ของประเทศในพ.ศ. 2509 (แห่งแรกถือกำเนิดบนถนนเจริญกรุง) หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีเกย์บาร์ผุดพรายไปทั่วย่านสีลม พัฒน์พงศ์ สุรวงศ์ อันเป็นย่านธุรกิจสำคัญตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และกลายเป็นย่านท่องเที่ยวบันเทิงแห่งใหญ่อเมริกันสไตล์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนจะถึงยุคทองของวัฒนธรรมบันเทิงเกย์ในปลายทศวรรษที่ 2520 ที่สถานเริงรมย์ของเกย์เกิดขึ้นหลายแห่งในย่านสีลม สุรวงศ์ และกระจายไปยังย่านอื่นๆ สุขุมวิท สะพานควาย ประดิพัทธ์ รามคำแหง[1]
ภายในคอมโบ้สงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ โดยทางราชการรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อตอบรับวัฒนธรรมหลังการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทมากระจุกในเมือง ซึ่งเป็น ‘ครอบครัว’ ในนัยยะความหมายครอบครัวเดี่ยวแบบสังคมเมือง ที่ต้องเดินทางกลับไปหาครอบครัวขยายในชนบท จำกัดความหมายแบบรักต่างเพศนิยม พ่อแม่ลูกปู่ยาตายาย แล้วผลักคู่เกย์เลสเบี้ยน ออกจากความหมายของสถาบันครอบครัวอย่างเป็นทางการ เพราะไม่สามารถจดทะเบียนสมรสคนรักเพศเดียวกัน
ไม่ว่าการสร้างครอบครัวจะมีความจำเป็นมั้ยหรือไม่ก็ตาม แต่การผลักความสัมพันธ์ของเพศสภาพเพศวิถีอื่นๆ ออกไปจากความหมายของ ‘ครอบครัว’ แล้วผูกขาดไว้กับความรักความสัมพันธ์ของคนรักต่างเพศก็เป็นการเลือกปฏิบัติที่ยังดำรงอยู่ด้วยรูปแบบของกฎหมาย
ดังนั้นขณะที่เป็นวันสำหรับใครหลายคนออกจากเมืองใหญ่กลับบ้านไปหาครอบครัว วันสงกรานต์คือวันที่ชายรักเพศเดียวกันจะมารวมตัวกันกลางเมือง สาดน้ำสีผู้ข้ามวันข้ามคืน กลายเป็นอีกความหมายหนึ่งของวันที่สัมพันธ์กับเพศสภาพเพศวิถีเฉพาะกลุ่ม ภายใต้สังคมรักต่างเพศนิยม
ฉะนั้นบรรดาหนุ่มๆ สาวๆ ไม่ต้องตกอกตกใจราวกับพ่อแม่ไม่เคยปล่อยออกจากบ้านหรือนี่คือสงกรานต์แรกของชีวิต หากจะเห็นในมวลมหาชายฉกรรจ์นุ่งน้อยห่มน้อย ต่างชาติพันธุ์ภาษา ทั้งเอวบางร่างน้อย ก้ามปูหุ่นหมีจะกอดจูบแสดงความรักใคร่เต้นรำกลางวันแสกๆ บนถนนสีลม เป็นจักรวาลคู่ขนานไปกับถนนข้าวสารที่การปฏิสังสรรค์ไม่ต่างกันเพียงแต่ gay friendly น้อยกว่า เป็นการแสดงออกของรักต่างเพศมากกว่า
เพราะสงกรานต์คืองานขึ้นปีใหม่ดั้งเดิมตามท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กลายเป็นวันปลดปล่อยเรื่องเพศออกมาพร้อมๆกับการละเล่น ในระดับชาวบ้านชุมชนจัดงานรื่นเริงเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากกฎระเบียบ การรักษาจารีตประเพณีและการทำมาหากิน ในการละเล่นสนุกสนานของสงกรานต์จึงมีความขบถ มีการละเมิดข้อห้ามโดยไม่ถือว่าเป็นความผิดบาปในขอบเขตที่ไม่ทำร้ายผู้อื่น จากเอกสารโบราณ ภิกษุในหมู่บ้านไม่เพียงได้รับอนุญาตแข่งเรือ จุดบั้งไฟ แข่งเกวียน ผู้หญิงจากที่ปรกติห้ามถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ จะสามารถเล่นไล่สาดน้ำปะแป้งพระได้ บางหมู่บ้านผู้หญิงร่วมกันอุ้มพระสงฆ์นิมนต์โยนลงห้วยหนองคลองบึง แต่ก็ไม่ถึงขั้นละเมิดทางเพศกัน[2]
ในความดั้งเดิมที่ไม่ได้มานั่งแสวงหา ‘ความไทยแท้’ เหมือนสงกรานต์ฉบับราชการ สงกรานต์จึงกลายเป็นวัฒนธรรมสามัญชนที่ยืดหยุ่น เพื่อการปลดปล่อย ที่ไม่ใช่ทุกวันเราจะสามารถเริงร่าเต้นแร้งเต้นกาตามสี่แยกท้องถนน วิ่งเร่ไปประแป้ง ยิงปืนฉีดน้ำใส่คนแปลกหน้า นุ่งน้อยห่มน้อยตัวเปียกปอนบนที่สาธารณะได้อย่างไม่ถูกโดนรุมประชาทัณฑ์หรือมองเป็นตัวประหลาด การที่ชายหนุ่มมากหน้าหลายรูปพรรณสัณฐานในกางเกงว่ายน้ำจะกอดรัดฟัดเหวี่ยง หรือกรีดกรายใต้แสงสีและดนตรีใจกลางเมืองคนพลุกพล่าน จึงเป็นเรื่องที่สังคมอนุญาตให้เกิดขึ้นได้ปีละไม่กี่วัน
เช่นเดียวกับที่มันก็มีไม่กี่วันหรอกในย่านธุรกิจท้องถนนอันรถติดจะถูกเปลี่ยนให้เปรียบเสมือนสระว่ายน้ำหรือชายหาด หรือคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ ต่างอาชีพ ภาษา ชาติพันธุ์ ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจจะมาสนุกสนานร่วมกันภายใต้ความบันเทิงเดียวกัน
เช่นเดียวกับ ‘เทศกาลกินปู ดูเก้ง’ อีกงาน ที่จะจัดขึ้นทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์เวียนมาบรรจบกับวันศุกร์หรือจันทร์ กลายเป็นวันหยุด ‘ยาว’ (แล้ว) ของชาวออฟฟิศ ณ เกาะเสม็ด ที่บรรดาเก้งกวาง (พร้อมเพื่อนชะนีแรง) จะมาประชุมพร้อมกันโดยนัดหมาย ต้องจองห้องหับรีสอร์ทล่วงหน้ากันจริงจังข้ามเดือน เพราะอุปสงค์สูงเกินอุปทาน ไล่ยาวไปตั้งแต่หาดทรายแก้ว อ่าวไผ่ อ่าวพุทธา อ่าวทับทิม ไล่ลงมา ตั้งแต่เที่ยงก็คราคร่ำไปด้วยฝูงเก้งกวางหมีปูออกมานั่งเล่นไพ่เมาท์มอยกินดื่ม เล่นวอลเลย์บอลยามบ่ายแก่ หัวค่ำอาจจะบางตาลงเพราะต้องกลับไปวิดพื้นแต่งหน้า ตกดึกถึงจะปรากฏกายอีกครั้ง
จนเสม็ดกลายเป็นรูปที่มีทุก facebook ของเก้งกวาง ทุกนางที่ฉันรู้จักมักไปปาร์ตี้ที่นั่น ซึ่งก็เป็นที่ฉงนสนเท่ห์ของทั้งเกย์เองและไม่เกย์ว่า
ทำไมเสม็ดถึงกลายเป็นเกาะสวาทหาดสวรรค์แลนด์มาร์คสำหรับชายรักเพศเดียวกัน
แม้จะปฎิเสธไม่ได้ว่าเกย์ในกรุงเทพฯชุกชุมกว่าจังหวัดอื่น แต่หากจะบอกว่าเสม็ดไม่ไกลไปจากกรุงเทพฯจนทำให้บรรดาเกย์เดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจที่นี่ จนเป็นที่กล่าวกันว่า วันหยุดยาว หากถนนโล่งในกรุงเทพฯก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเกย์กรุงเทพฯหายไปปาร์ตี้ที่เสม็ดกันหมดแล้ว ก็เป็นเหตุผลทางภูมิศาสตร์ แบบกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางไปหน่อย
ด้วยตัวของมัน หาดทรายแก้วเป็นหาดที่สวยที่สุดในเกาะ เพราะทรายขาวสะอาดละเอียด ลาดเอียงต่ำเหมาะแก่การเล่นน้ำไม่มีโขดหินอันตรายอยู่แล้ว[3] ทำให้มีบังกะโล รีสอร์ท ร้านรวง บาร์มากมาย และจากเสียงคำร่ำลือของผู้ประกอบการบางราย มันเริ่มขึ้นจากเกย์ฝรั่งไฮโซพร้อมผองเพื่อนชอบมาพักที่นี่กันเป็นเวลานานๆ ทำให้เกาะเริ่มมีสีสันกลิ่นอาย ขณะที่ Attitude Thailand นิตยสารสำหรับเกย์ชนชั้นกลางบันทึกเสียงปากต่อปากว่า มันเกิดจากกลุ่มสจ๊วตสจีนัดกันมาเที่ยวอ่าวทับทิมเป็นประจำทุกปี แล้วก็ได้ชักชวนเพื่อนพ้องติดสอยห้อยตามกันมา[4]
แต่ที่ปฎิเสธไม่ได้เลยก็เพราะเกย์แลนด์มาร์คอย่าง ซิลเวอร์แซนด์บาร์ที่อารมณ์ลูกๆ (สาว) ฟูลมูนปาร์ตี้ที่ราวกับชะลอสีลมซอย 2 มาตระหง่านกลางหาดทราย ดีเจก็เห่ขับด้วยดนตรีเอาใจเก้งกวาง บรรยากาศร้านรวงผับบาร์รีสอร์ทห้องพักในละแวกนั้นก็ gay friendly มากเสียจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางเลือกของกลุ่มสังคมที่มีเพศสภาพร่วมกัน
เพราะเชื่อว่าเกาะเสม็ดมีทรายขาวละเอียดเหมือนแก้ว จึงมีอีกชื่อเรียกว่า ‘เกาะแก้วพิสดาร’ เพื่อเชื่อมโยงกับนิทานพระอภัยมณี นอกจากจะมีพระอภัย นางเงือก นางยักษ์ ฤษี ถูกสร้างเป็นสัญลักษณ์ ตามสถานที่ต่างๆ บนเกาะแล้ว หาดต่างๆ ก็ยังถูกตั้งชื่อให้อิงกับฉากในนิทาน อ่าวทับทิมคือบริเวณที่พระอภัยมณีเกิดมีความรักความเมตตานางเงือก ผีเสื้อสมุทรตายที่อ่าวป่าช้า นางเงือกคลอดสุดสาครที่อ่าวลูกโยน[5] เกาะกุฎีใกล้ๆ เสม็ดก็มีหาดสินสมุทร ถ้ำฤๅษี ผานิลมังกร หน่วยงานราชการเองก็พยายามผลักดันให้เป็นตุเป็นตะมากขึ้น
ในปี 2518 สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้อนุรักษ์เกาะเสม็ด เพราะเชื่อว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเอกของสุนทรภู่ และต่อมา 2522 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็สั่งให้ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติสำเร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2524
เช่นเดียวกับที่เชื่อกันไปเองว่า พ่อสุนทรภู่เป็นคนระยอง เกิดตำบลกร่ำ อำเภอแกลง ด้วยความเป็นสังคมนับสายตระกูลผ่านผู้ชาย จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่นั่นตั้งแต่พ.ศ. 2498 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ก็ถูกทิ้งให้ค้างเติ่งเสียเป็นเวลานาน กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดมาสานต่อในปี 2511 จนแล้วเสร็จเรียบร้อยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2513
แม้ว่าจะมีหลักฐานที่เชื่อถือได้แล้วว่า สุนทรภู่เป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้ารู้จักค้นคว้าหาความรู้ระดับสากล ไม่ใช่กวีขี้เมากะหล่งป๊ง เขาเกิดในวังหลัง เพราะแม่รับราชการเป็นแม่นมที่นั่น และสืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์เมื่อเพชรบุรีต่างหาก
และจากการศึกษาของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) โดยอาศัยบทกลอน ตัวละคร ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมสากล ผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับเส้นทางคมนาคมต่างๆ ระหว่างเกาะและแผ่นดินใหญ่ จนสามารถอธิบายได้ตั้งแต่พ.ศ. 2490 ว่านิทานคำกลอนพระอภัยมณี ใช้ทั้งฉากและตัวละครนานาชาติ มีโลเคชั่นเป็นทะเลอันดามัน อ่าวเลงกอล และมหาสมุทรอินเดีย ไม่ใช่อ่าวไทย และแน่นอนเกาะแก้วพิสดารจึงไม่ได้มีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในอ่าวไทยจังหวัดระยอง หากแต่เป็นเกาะสักเกาะในจินตนการของสุนทรภู่ในเขตตอนใต้ของทะเลอันดามัน ค่อนลงไปยังเกาะสุมตรากับชวาของอินโดนีเซีย[6]
เสม็ดจึงไม่ใช่ ‘เกาะแก้วพิสดาร’ แต่เป็น ‘เกาะเกย์พิสดาร’
โดยไม่ใช่องค์กรท่องเที่ยวเพศประเทศไทยที่ไหน แต่มันเป็นการสถาปนากันเองภายในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่เกิดขึ้นเองในชุมชนสังคมนึงที่มีชีวิตมีไลฟ์สไตล์เหมือนกัน ฟังเพลงแนวเดียวกัน ชอบบรรยากาศเดียวกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเพศสภาพเพศวิถีเดียวกัน
กลายเป็นการช่วงชิงความหมายของพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ช่วงชิงความหมายของ ‘ครอบครัว’ ในวันครอบครัวแบบรักต่างเพศให้เป็นวันหาคู่ของคนรักเพศเดียวกัน ที่กำลังท้าทายอำนาจสังคมกระแสหลักที่ผูกขาดโดยระบบราชการ รักต่างเพศนิยม และอนุรักษ์นิยม วัฒนธรรมเกย์จึงเป็นทั้งภาพสะท้อนและการโต้กลับของระบบอำนาจสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่
และแน่นอน มันก็ต้องเผชิญกับคำด่าทอวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เมื่อเห็นถุงยางอนามัยใช้แล้วถูกทิ้งเรี่ยราดติดกรังตามซอกหินสุมทุมพุ่มไม้ป่าชายเลนของเช้าตรู่วันถัดมาว่า พวกรักเพศเดียวกันมันมามั่วกัน ทำอนาจารไม่อายผีสางเทวดา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปนั่งดมพิสูจน์ซากถุงยางกันรึไงว่า มันเพิ่งผ่านตูดหรือแตดมา
ซากถุงยางเกลื่อนกลาดหาดทรายไม่ใช่ปัญหาที่พฤติกรรมทางเพศตามหาดโขดหินใต้ต้นหูกวางหรือเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ แต่เป็นปัญหาความมักง่ายไร้สามัญสำนึก ทิ้งขยะเรี่ยราดตามที่สาธารณะทำลายธรรมชาติต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] นฤพน์ ด้วงวิเศษ, ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์ สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การบริหารสังคม)คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553, น. 96-98.;อรวรรณ ศรีอุดม, นภพร เรืองสกุล, ปรางค์มาศ นิติธรรม, โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. วันวาน—กับวันนี้ของถนนสีลม. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยทนุ, 2535, น. 11,12,37.
[2]ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน : ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, น.69.
[3] นิตยา หัตถสินโยธิน. เที่ยวระยอง. กรุงเทพฯ : ธัญญา พับลิเคชั่น, 2535.
[4]SURVIVAL SAMED ทำไม “เสม็ด” จึงกลายเป็นเกาะที่ชาวเกย์หลงรัก attitudethai.com
[5] สายลมตะวันออก (นามปากกา). คู่มือท่องเที่ยวเกาะเสม็ด. กรุงเทพฯ : น้ำฝน, 2546.
[6] กาญจนาคพันธุ์ (นามแฝง). ภูมิศาสตร์สุนทรภู่, อ้างถึงใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). สุนทรภู่ ครูเสภา และ ทะเลอันดามัน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2538.