การเดินหลงในเมืองใหญ่ก็เหมือนเดินละเมอในห้วงฝัน
เมืองคือพื้นที่แห่งความแปลกประหลาด เมืองคือดินแดนของโลกสมัยใหม่ เป็นพื้นที่ของธุรกิจ ของเทคโนโลยีที่ยุ่งเหยิง แต่เมืองก็กลับเต็มไปด้วยความฝัน กับภาพชีวิตที่ดูเหนือจริง เมืองคือที่ที่ผู้คนมหาศาลหลั่งไหลมาอยู่ร่วมกัน แต่เมืองก็กลับปกคลุมไปด้วยความเหงา ความเดียวดาย
วิรุนันท์ ชิตเดชะ เป็นช่างภาพชาวไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีประสบการณ์การทำงานในหลายแขนงตั้งแต่ภาพถ่ายแฟชั่น งานแนวโฆษณา ไปจนถึงภาพภูมิทัศน์ นอกจากงานเชิงพาณิชย์แล้ว วิรุนันท์สนใจการถ่ายภาพในฐานะงานศิลปะ ถนัดการถ่ายภาพบุคคลเพื่อสื่อสารประเด็นทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและผู้คน วิรุนันท์จบการศึกษา จาก Speos Photographic Institute จากกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำทางด้านภาพถ่าย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็น Leica Thailand Ambassador
Ourselves Solitude เป็นอีกหนึ่งนิทรรศภาพถ่ายของวิรุนันท์ที่พาเราไปกลับไปทบทวนและรู้สึกกับภาวะอันแปลกประหลาดของเรา – ของผู้คน ของชนชั้นกลางที่ต่างไหลความฝันในเมืองใหญ่และพร้อมกันนั้นก็โดดเดี่ยวด้วยกันในมหานครอันใหญ่โตนี้
นิทรรศการ Ourselves Solitude จัดโดย Leica Gallery Bangkok ตัวนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2018 ชั้นสอง เกสรวิลเลจ เข้าชมได้ตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงสองทุ่ม
The MATTER : ทำไมถึงใช้ชื่อว่า Ourselves Solitude
ผมรู้สึกว่า solitude มันเป็นการแยกตัวเราออกมา มันคือการ isolation มันไม่เหมือนคำว่า alone คือเรา isolate ตัวเองออกจากสังคม มันคือความสันโดษ สุดท้าย พอแปลเซนซ์ของคำว่า solitude ตัวคำสื่ออารมณ์ความเหงาและความโดดเดี่ยวของงานชุดนี้มากกว่าได้มากกว่าคำอื่น
ปกติเราจำเป็นต้องเหงาไหม ก็ไม่จำเป็นครับ จริงๆ ผมรู้สึกว่า ทุกคนก็ต้องเคยเหงา กลับบ้านแล้วก็จะเหงาๆ ถึงเราจะมีทุกอย่าง ต่อให้มีลูก มีแฟน มีเพื่อน มีอะไรเยอะๆ มันก็มีอารมณ์นี้ มันอยู่กับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว คำว่า solitude มันเป็นความว้าเหว่ที่เกี่ยวเอาความหมายอื่นๆ เข้าไปด้วย
The MATTER : งานภาพถ่ายชุดนี้ว่าความฝัน ความโดดเดี่ยว และเมือง?
งานผมแบ่งออกเป็นสามพาร์ต สามช่วง พาร์ตแรกจะเป็น stage photography ผมจะใช้คนจริง คือพอเราเห็นบริบทรอบตัว จากคนรอบตัว จากคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในสังคมเมือง เป็นเรื่องธรรมดาที่เมืองใหญ่จะเป็นปลายทางของผู้คน มาหาความเจริญ เวลาเราเข้ามาในเมือง เรามาพร้อมความฝัน เราไหลชีวิตไปตามความฝัน เรามีแฟนตาซีของเราเอง ดังนั้นภาพเลยดูเป็นแฟนตาซี เหมือนอยู่ในโลกแห่งแฟนตาซี
จากความฝันที่ดึงเรามาสู่เมืองนำไปสู่พาร์ตที่สองคือ reality เป็นความจริงที่เราประสบพบเจอ เป็นพาร์ตมนุษย์ชุดดำ ผมพยายามให้เห็นสภาพความเป็นเมืองจริงๆ กรุงเทพฯ มันไม่ได้น่าพิสมัยขนาดนั้น มันมีตึกที่สร้างไม่เสร็จ มันมีการคอร์รัปชั่น มีปัญหาวุ่นวาย นี่คือสิ่งที่จริง
ผมรู้สึกว่า ในความรู้สึกของคนเมือง ความรู้สึกของเรามี distance กับสถานที่ที่เราอยู่ตลอดเวลา มันเป็นที่ที่เราเห็นอยู่ข้างหน้า ใช้ชีวิตอยู่กับมัน แต่เรากลับมีช่องว่างกับมันเสมอ ในภาพก็เลยจะมี space อะไรสักอย่างที่คั่นอยู่ระหว่างคนกับเมือง ส่วนชุดดำหมายถึงงานศพ เป็นการไว้ทุกข์ให้กับแฟนตาซีข้างหลัง
พาร์ตสุดท้ายเป็นการ transformation คือสุดท้ายแล้วจากการที่เราอยู่ไป เราก็จะค่อยๆ transform ร่างกายของเราค่อยๆ ซึมซับธรรมชาติรอบข้าง ตัวเราก็กลืนไปกับบริบทบางอย่างที่อยู่รอบๆ ตัว
The MATTER : งานชุดนี้เกิดจากการไปอยู่ที่อื่นนานๆ แล้วกลับมามองด้วยสายตาของคนอื่น?
จริงๆ จะบอกว่าผมเป็นคนอื่น 100% ขนาดนั้นก็ไม่ได้หรอก เพราะผมเองก็เกิดที่นี่ โตที่นี่ ใช้ชีวิตที่นี่มาระยะหนึ่ง แต่พอเราไปอยู่ต่างประเทศ ไปใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกสักระยะหนึ่ง พอกลับมามันทำให้เราสังเกตมากขึ้น การจากถิ่นที่อยู่อาศัยที่เราเคยชิน สภาพแวดล้อมเดิมๆ ไปสักพักหนึ่ง ซึ่งเวลาที่เราอยู่เราอาจจะมองไม่เห็นอะไรเท่าไหร่ แต่พอเราออกไป ไปอยู่ที่ไหนสักที่ ไม่ต้องต่างประเทศ อาจจะไปอยู่ต่างจังหวัด ไปอยู่นานๆ ผมก็เป็นภาวะนั้นเหมือนทุกๆ คน พอเรากลับมา มันทำให้เราเห็น รู้สึกกับสิ่งที่เล่าไปในงาน ผมเห็นภาพที่มันชัดเจนมากขึ้น
The MATTER : จากการใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศทำให้มองเห็นความฝันของเมืองที่แตกต่างกันไหม
ถ้าสภาพความเป็นเมืองใหญ่ มนุษย์เราน่าจะมีอะไรที่คล้ายๆ กันอยู่ แต่ด้วยบริบทและสภาพสังคมก็ทำให้คนในเมืองแตกต่างกัน มหานครแทบทุกมหานครก็มีคาแรคเตอร์ แต่ละที่มีเนเจอร์ของตัวเอง ตรงนี้ทำให้เราเป็นเรา
แต่ในความต่างของแต่ละเมืองใหญ่ก็มีความฝันร่วมบางอย่าง ยิ่งในลอนดอน หรือปารีส ไม่ใช่แค่จากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพอย่างบ้านเรา แต่เป็นจากต่างประเทศเลย ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เข้าไปตามหาความฝัน มีความดิ้นรนที่เป็นสากล ในปารีสมีเรื่องยิปซี ผมเคยทำโปรเจกต์คลุกคลีกับโฮมเลส กับยิปซีอยู่บ้าง มันก็มีเรื่องใกล้ๆ กัน พวกเขาก็เดินทางมาด้วยความหวัง แต่แค่ความหวังของคนเรามันต่างกัน ผมเองก็ไม่ต่างกัน ผมหวังอยากจะไปเรียนรู้ ไปพัฒนาสกิลเรื่องการถ่ายภาพ พวกเขาเองหนีมาจากประเทศเขาเพราะหวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะตามหวังหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน
The MATTER : ทำไมถึงเลือกทำงานภาพถ่ายที่ใช้วิธีเซ็ตขึ้นมา
มันเป็นตัวผมด้วยในระดับหนึ่ง ปกติผมทำงานถ่ายคอมเมอร์เชียล แฟชั่น ผมชอบถ่ายอะไรที่มันถูกเซ็ตขึ้น พอมาทำงานของตัวเองก็ทำงานแนวที่ผมชอบ ผมชอบศิลปะภาพถ่าย เรียกว่าศิลปะภาพถ่ายร่วมสมัยแล้วกัน เพราะโตมาจากการบันทึกเหตุการณ์ ทีนี้แม้ว่าจะเป็น stage เป็นการเซ็ตขึ้นมา ผมว่ามันก็ยังเป็นการบันทึกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เป็นการบันทึกความคิด บันทึกความทรงจำและประสบการณ์ของตัวเราเอง
The MATTER : งานชุดนี้มีความเป็นแฟนตาซี ภาวะแฟนตาซีเกิดจากการติดกับของคนเมือง?
พอคนเรามาอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่นึง ผมว่าเราก็การติดกับอะไรสักอย่างอยู่แล้ว น่าจะเป็นแบบที่เราเรียกว่า ‘การสวมหัวโขน’ สวมหน้ากาก คือเราจะมีแบบบริบทของตัวเอง เช่น ผมกลับมาไทย ตอนนี้เป็นอาจารย์มหาลัย ผมก็สวมหัวโขนแล้ว ผมไม่สามารถทำตัวสั่วๆ ได้ คนก็จะหมดความนับถือ ตรงนี้มันคือชนัก คือกับดัก
ในการใช้ชีวิต คนเราทุกคนก็จะต้องมี ต้องเข้าไปอยู่ในจุดอะไรบางอย่าง บริบททั้งสภาพความเป็นเมือง ทั้งสภาพทางสังคม หน้าที่การงาน บริบททางสิ่งแวดล้อม ครอบครัวหรืออะไรก็ตามที่ดันเรามาอยู่ในจุดที่เราเป็น
อย่างเช่น ภาพผู้หญิงเอามือส่องดูตู้เย็น ในภาพเป็นป้าผมเอง คือป้าเป็นคนวัยเกษียณ ผมสังเกตว่าเขาไม่อยากออกไปไหน คงเพราะไม่มีลูกแล้วก็ไม่ได้มีสังคมอะไรมากมาย ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ไม่ค่อยอยากออกไปข้างนอก คือผมรู้สึกว่า เหมือนคุณป้าเขาตามหาอะไรบางอย่างอยู่ในบริเวณบ้าน เหมือนเขาติดอยู่กับอะไรสักอย่าง จากการที่ดูเหมือนเป็นคนวัยเกษียณที่น่าสงสาร เขาก็พยายามทำให้การอยู่บ้านของเขาดูมีความสุข จากสายตาของคนอื่นมองเข้าไป อาจรู้สึกว่าไม่ได้มีความสุขอะไร แต่เขาดูพยายามค้นหาบางอย่างในสิ่งที่เชื่อ สิ่งที่มั่นใจว่า เออ ทำให้ชีวิตที่เลือกตรงนั้นมันดีที่สุด
The MATTER : แปลว่าเรากำลังทำกับดักของเราให้สวยงาม
เราว่าเราไปตัดสินการเลือกชีวิตเขาไม่ได้เนอะ คือสุดท้ายแล้วเราก็ไม่รู้หรอก วิธีนั้นอาจจะเวิร์กก็ได้ คือเราไม่สามารถไปตัดสินคนอื่นได้เลยว่าวิถีชีวิตที่เลือกมันถูกหรือผิด สำหรับเรามันอาจจะผิด สำหรับเขามันอาจจะดีมากก็ได้
The MATTER : เราจะรู้ตัวไหมว่าเราติดกับดักอยู่
จะว่าไปก็คือสิ่งที่พยายามทำอยู่ สำหรับผม การถ่ายรูปคืองาน คือสิ่งเดียวที่ผมอยากทำ ผมก็รู้สึกว่าตรงนี้ก็เป็นกับดักของผมด้วย เพราะมันเป็นคำที่ครอบไว้ในสมองว่า ผมจะต้องเป็นช่างภาพ ต่อไปนี้ 80 ปี ผมอายุ 80 ผมจะต้องเห็นตัวเองถือกล้องให้ได้ ผมจึงต้องพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุดในอาชีพเท่าที่ความสามารถจะพาไปได้ ผมต้องเก่งขึ้นทุกวัน จะว่าไปมันก็เป็นกับดักที่ผมพยายาม ผมอยากอยู่กับมัน แล้วผมก็อยากเอาชนะให้ได้
การอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพกับการส่องตู้เย็น ก็เป็นเรื่องเดียวกันเลย
The MATTER : ตัวงานพูดถึงชนชั้นกลางเป็นหลัก พอทำงานนี้เราเริ่มเห็นฝัน เห็นกับดักของคนกลุ่มอื่นๆ บ้างไหม
จริงๆ มีอีกเซ็ตนึงด้วย เป็นชนชั้นแรงงานเลย อันนั้นเซอร์หนักเลย คือผมสนใจประเด็นเรื่องคนกับสังคมอยู่แล้ว ในแง่ชนชั้น แต่ละชนชั้นมันมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันในแต่ละอัน ซึ่งมันดีอะ มันเป็นความแตกต่างที่สวยงาม เช่นชนชั้นแรงงานมันจะดูเศร้าแต่ไม่เหงาเท่านี้ ภาพจะมีสีสันมากๆ เล่นกับสีสัน ดูแล้วสนุก เป็นความเศร้าที่ดูสนุก ไม่ได้มานั่งเหงาๆ ความตั้งใจของผม ผมว่าน่าจะเหงาน้อยกว่า แต่สุดท้ายก็ถูกดึงมาในเมืองเหมือนกัน