สำหรับเพื่อนๆ แล้ว อะไรคือคำตอบที่ก่อให้เกิดความสุขต่อการดำเนินชีวิตในเมืองๆ หนึ่ง?
คือการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับรถติดมหาศาล? คือการที่ทางเท้ามีชีวิตชีวา ผู้คนต่างพากันสัญจรไปมา และชวนให้รู้สึกปลอดภัย? หรือคือเมืองที่อย่างน้อยๆ คุณก็รู้สึกว่าคนแปลกหน้ารอบๆ ตัว แม้จะไม่เคยได้คุยกัน แต่ก็รู้สึกวางใจ หากว่าวันหนึ่งคุณทำกระเป๋าสตางค์หล่นหาย ก็ยังพอใจชื้นและเชื่อมั่นได้ว่าจะถูกส่งคืนมาหาคุณแน่นอน
ทั้งหมดที่ผมยกมานี้ คือตัวอย่างเพียงสั้นๆ ที่ปรากฏใน Happy City: Transforming Our Lives Through Urban Design หนังสือหน้าปกสดใส ที่ชักชวนผู้อ่านมาตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำยังไง เมืองถึงจะกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขของทุกๆ คน
Charles Montgomery ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้แสดงให้เราเห็นว่า เมืองของมนุษย์คือกระบวนการที่ประกอบสร้างขึ้นตามความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเราๆ ทั้งในระดับปัจเจกและสาธารณะ แต่ทั้งนี้ การจะพัฒนาเมืองไปสู่สิ่งที่สร้างความสุขได้จริงๆ นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากในกระบวนการวางผังเมือง หรือการก่อสร้างตึกอาคารต่างๆ ละเลยที่จะคำนึงถึงหนึ่งในหัวใจสำคัญที่สุดของเมือง นั่นคือ การกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนในเมือง ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่สำนึกของชุมชนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
Montgomery ชี้ให้เห็นว่า ประโยค “ความพึงพอใจอย่างที่สุดของมนุษย์คือการที่พวกเขาได้ทำงานและเล่นร่วมกันกับคนอื่น” หากว่ากันในแง่มุมของเมืองจะหมายถึงว่า “ผลกระทบทางด้านจิตใจที่สำคัญที่สุดของเมืองคือการที่มันสร้างความพอดีให้กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน” อย่างที่ Lewis Mumford นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวว่า “บางที ความหมายที่ดีที่สุดของเมืองคือการเป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อจะหยิบยื่นสารพัดเครื่องมือในการสร้างบทสนทนาที่สำคัญ ซึ่งการพูดคุยคือการแสดงออกของชีวิตที่สำคัญที่สุดของเมือง” อย่างที่ Mumford เองก็ได้ขยายเพิ่มเติมว่า หากเราเชื่อว่าบทสนทนาคือปัจจัยสำคัญที่สุดของเมือง หัวใจของการพัฒนาเมืองและการวางผังเมืองจึงเป็นการขยายความเป็นไปได้ของการพูดคุย และปฏิสัมพันธ์กันระหว่างประชากรในเมือง หรือชุมชน พูดอีกอย่างคือ ขยายวงกลมของการสนทนาให้กว้างและครอบคลุม ในระดับที่ผู้คนในเมืองได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนา ไม่ใช่คนนอก หรือเสียงที่ไม่มีค่าซึ่งถูกกันให้ออกไป
เมื่อมองกันในแง่มุมนี้ Montgomery ได้เสนอว่า เมืองที่ดี คือเมืองที่ช่วยสร้าง พัฒนา และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว และคนแปลกหน้า เกิดเป็นโครงข่ายความผูกพันธ์ที่จะช่วยนิยามความหมายของชีวิตในเมือง ความสุข และความเป็นไปได้ต่างๆ จากความเป็นไปได้ในการปฏิสัมพันธ์อย่างไม่มีที่สุดนี้
ในช่วงแรกๆ ของหนังสือ Montgomery แนะนำให้เราได้รู้จักกับ Enrique Penalosa อดีตนายกเทศมนตรีประจำเมือง Bogota ประเทศ Colombia ในระหว่างปี 1998 – 2001 ก่อนจะได้รับการเลือกซ้ำอีกครั้งในปี 2015 Penalosa คือตัวอย่างของนายกเทศมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างความสุขให้กับประชาชนในเมือง ครั้งหนึ่ง Bogota เคยเป็นเมืองที่ไร้ระเบียบวินัย รถติดเป็นประจำ และผู้คนเองก็ไม่ได้มีความสุขกับการดำเนินชีวิตนัก แต่ Penalosa ก็ให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนในเมือง และการวางผังเมือง ได้ผลักดันให้ Bogota กลายเป็นเมืองผู้คนสามารถเข้าถึง(แม้อาจไม่ 100%) และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะมากขึ้น อย่างที่เขาเองก็เชื่อว่า พื้นที่สาธารณะคือหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่ประชาชนจะสามารถมาพบปะ และสนทนากันได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องฐานะ หรือชนชั้น เมื่อเทียบกับสถานที่อื่นๆ และเหนือสิ่งอื่นใด คือการที่ประชาชนรู้สึกว่าพื้นที่สาธารณะเป็นของเขาจะช่วยสร้างสำนึกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้ เมืองๆ นี้เป็นของเขา และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมนั้นคือพันธกิจสำคัญของประชาชนที่จำเป็นต้องเข้าร่วม และแสดงความคิดเห็น
Penalosa ให้ความสำคัญกับคนเดินถนน มากกว่าที่จะเพิ่มอำนาจให้กับรถยนต์ นโยบายหนึ่งที่ใครๆ ต่างพูดถึงเมื่อเอ่ยชื่อ Penalosa คือการให้มีวัน ‘Car-Free Days’ คือกห้ามไม่ให้รถยนต์ร่วมเจ็ดล้านคันในเมือง Bogota ออกมาวิ่งบนท้องถนนหนึ่งวันเต็มๆ และเลือกจะหยิบยื่นท้องถนน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ ให้กับจักรยาน และคนเดินเท้าได้ใช้บริเวณนั้นๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจเป็นอันตราย หรือเข้าถึงได้ยากถ้ามีรถยนต์ ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าสมมติเมืองที่เคยแน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ วันๆ มีแต่มลพิษอบอวลในอากาศ และเสียงบีบแตรที่ดังต่อเนื่องอยู่อย่างนั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งคุณกลับตื่นมาพบว่า ทุกอย่างที่สร้างความเหน็ดเหนื่อย และรำคาญใจอย่างช่วยไม่ได้นี้อันตรธานหายไป ถูกแทนที่ด้วยท้องถนนที่ว่างเปล่า เห็นเด็กๆ ออกมาวิ่งเล่นกันเต็มทางเท้า ไม่มีมอเตอร์ไซต์คอยวิ่งลัดฉวัดเฉวียน ผู้คนเดินเปื่อยกันได้เต็มที่โดยไม่ต้องรีบเร่ง หรือหวาดระแวงว่าจะมีรถพุ่งเข้ามาชนพวกเขาหรือเปล่า นโยบายนี้ของ Penalosa ไม่เพียงต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของเมืองที่ลดความสำคัญของรถยนต์ลง และหันมาให้ความสำคัญกับการเดินทางในรูปแบบอื่นเท่านั้น แต่ยังต้องการจัดการกับค่านิยมผิดๆ ที่คน Bogota มักมองว่า จักรยานคือยานพาหนะของคนจน เพราะจริงๆ แล้ว จักรยานควรจะเป็นยานพาหนะของทุกคน เพียงแต่ Bogota ในตอนนั้นไม่ได้เอื้อให้การขับขี่จักรยานเป็นเรื่องที่ใครๆ ทำได้ เพราะถนนหนทางต่างเนืองแน่นไปด้วยรถยนต์ที่มากจนเกินไป