“เราต้องทำให้กระจ่าง ไม่มีใคร แม้แต่ประธานาธิบดี ที่อยู่เหนือกฎหมาย” – เจอร์โรลด์ แนดเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมสภาคองเกรส
ในสหรัฐฯ แม้แต่ประธานาธิบดี หรือผู้นำประเทศ ก็ต้องถูกตรวจสอบ และถ้าพบว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องถูกถอดถอน และต้องออกจากตำแหน่งด้วย โดยนี่คือสิ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ กำลังเผชิญ ซึ่งทรัมป์ต้องผ่านขั้นตอน และเผชิญกับกระบวนการตรวจสอบเหล่านี้ให้ได้ ก่อนจะไปถึงการเลือกตั้ง ปธน.ในปีหน้า
กระบวนการยื่นถอดถอน (Impeachment) คืออะไร
กระบวนการยื่นถอดถอน หรือที่เรียกว่า Impeachment คือ การที่สภาผู้แทนราษฎรฟ้องร้อง หรือกล่าวหา ปธน.ว่ามีความผิด ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ปธน.ต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่งหากกระทำผิดในข้อหาก่อกบฏ ติดสินบน หรือก่ออาชญากรรมรุนแรง หรือการกระทำความผิดลหุโทษ ซึ่ง ปธน.อาจจะถูกพิสูจน์ว่าผิดจริงและหลุดจากตำแหน่ง หรืออาจจะพ้นผิด และดำรงตำแหน่งต่อก็ได้
ซึ่งต่อจากนั้น กระบวนการคือ
- การพิสูจน์หลักฐาน และข้อหาของ ปธน. ว่าเพียงพอหรือไม่
- สภาผู้แทนฯ จะลงคะแนนโหวตต่อการยื่นถอดถอน ที่ต้องได้เสียงส่วนใหญ่
- ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่ลงมติถอดถอน วุฒิสภาจะลงมติว่าผิดจริงหรือไม่ โดยต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ คือ 2 ใน 3 ของสภา
โดยที่ผ่านมา การยื่นถอดถอน ปธน.เป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากในการเมืองสหรัฐฯ เพราะมี ปธน.เพียง 3 คนเท่านั้นที่เคยเผชิญกับกระบวนการนี้ คือ แอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 1868 จากการสั่งปลดรัฐมนตรีกระทรวงการทำสงคราม และแทนที่ด้วยคนใหม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐสภา, ริชาร์ด นิกสัน ในปี 1973-1974 จากการปกปิดหลักฐานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวในเหตุโจรกรรมวอเตอร์เกต และบิล คลินตัน ในปี 1998-1999 จากการกล่าวเท็จต่อหน้าคณะลูกขุนใหญ่ ในการสอบสวนเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ
ซึ่งยังไม่มีใครเคยถูกถอดถอน เพราะในกรณีของจอห์นสัน และคลินติน เสียงของวุฒิสภา ลงมติว่ามีความผิดจริงไม่ถึง 2 ใน 3 และนิกสันเอง ก็ลาออกก่อนที่จะถูกยื่นถอดถอนอย่างเป็นทางการด้วย
อะไรทำให้ทรัมป์ถูกยื่นถอดถอน
มาถึง ปธน.คนปัจจุบัน ทรัมป์ กำลังถูกสอบสวนและเข้าสู่กระบวนการนี้ แต่จุดเริ่มต้นของเรื่อง เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2019 ที่ Whistleblower (บุคคลที่ทำงานในองค์กรและนำข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดมาเปิดเผย) ซึ่งเป็นสมาชิกของ CIA ได้ออกมาเปิดเผยต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดยอ้างว่า มีการโทรศัพท์ในเดือนกรกฎาคม ระหว่าง ทรัมป์ และ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ปธน.ของยูเครน ในการใช้อำนาจแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2020
โดยทรัมป์ได้ขอความช่วยเหลือจากยูเครนในการสอบสวน และหาข้อมูลที่สร้างความเสียหายของ โจ ไบเดน หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่ง ปธน. และฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของเขา ซึ่งฮันเตอร์ เคยทำงานที่บริษัทพลังงานยูเครน ในช่วงที่ โจ ดำรงตำแหน่งรอง ปธน. แลกกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครน
ซึ่งหลังจากการเปิดเผย ทรัมป์เองก็เคยออกมาตอบโต้ว่า Whistleblower ได้รับข้อมูลผิดๆ และปฏิเสธการให้ความความช่วยเหลือแก่ยูเครน ทั้งยังบอกว่านั่นเป็นแค่การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างกัน
โดยล่าสุด แกนนำพรรคเดโมแครต นำโดยเจอร์โรลด์ แนดเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมสภาคองเกรส และแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐ ได้ออกมาประกาศ 2 ญัตติ ที่จะใช้ในการถอดถอนทรัมป์ คือ
ญัตติที่ 1 เกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางมิชอบ ที่อาจมีผลต่อกระบวนการเลือกตั้ง และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติจากการติดต่อกับ ปธน.ยูเครน โดยแกนนำเดโมแครตประกาศว่า ทรัมป์ได้ใช้อำนาจของ ปธน.ในฝ่ายบริหารที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และทำลายประชาธิปไตยในประเทศ เพื่อให้ได้ซึ่งผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ
ญัตติที่ 2 คือการขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรสทาง โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการที่ทรัมป์ ตอบสนองต่อการฟ้องร้องของเดโมแครตต่อข่าวอื้อฉาวนี้ โดยเดโมแครตอ้างว่า ทรัมป์ได้ขัดขวางการสอบสวน โดยไม่ให้ความร่วมมือในการเรียกพยาน และไม่ปฏิบัติตามหมายศาล
ขั้นตอนต่อไป และใครจะมาแทนทรัมป์
ขั้นตอนต่อไป คือคณะกรรมการตุลาการจะลงคะแนนว่าจะอนุมัติแต่ละญัตติหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุมัติทั้ง 2 ญัตติอย่างชัดเจน โดยญัตติเกี่ยวกับการฟ้องร้องนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต่อจากนี้ การที่ ส.ส.จะพิจารณาลงมติโหวต จะเป็นการโหวตในแต่ละญัตติ ซึ่งหากญัตติเดียวผ่านการโหวต วุฒิสภาก็จะดำเนินการขั้นต่อไปในการลงมติว่าผิดจริงหรือไม่เลยด้วย
และถ้าทรัมป์ ถูกถอดถอนจากตำแหน่งจริง ลำดับของบุคคลที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ปธน.ต่อจากทรัมป์ ในเบอร์ 1 คือ รอง ปธน.ไมค์ เพนซ์ ตามมาด้วย แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐ, ประธานวุฒิสภาชั่วคราว ชัค กราสสลีย์, รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สตีเวน มนูชินในลำดับต่อไป
อ้างอิงจาก