หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ขนลุกซู่ตอนเห็นดีไซน์กล้องไอโฟนที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน อาจมีคำตอบที่ช่วยให้คุณหายสงสัย เพราะความจริงคุณอาจเข้าข่าย ‘ทริโปโฟเบีย’ (Trypophobia) ก็เป็นได้
จากการปรากฏตัวของ ‘iPhone 11 Pro’ เมื่อไม่นานมานี้ ที่มีการนำเสนอดีไซน์กล้องแบบใหม่ ติดเลนส์กล้องมาให้ถึงสามตัวด้วยกัน ประกอบไปด้วยเลนส์ wide, ultra-wide และ telephoto ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานถ่ายรูปได้สวยงามและหลากหลายมากขึ้น
แต่ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีบางทีก็อาจไม่ได้ถูกใจทุกคนไปซะหมด โดยเฉพาะการดีไซน์ที่อาจไป ‘กระตุ้น’ ชาวทริโปโฟเบียจำนวนหลายร้อยคนเข้า จนออกมาเคลมว่ารูเลนส์พวกนั้นทำให้พวกเขารู้สึกขนลุกและขยะแขยงเหลือเกิน
แล้วทริโปโฟเบียนั้นคืออะไร? ทำไมแค่เห็นกล้องไอโฟนก็สามารถขนลุกได้?
ทริโปโฟเบีย (Trypophobia) หรือ ‘โรคกลัวรู’ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า ‘Trypo’ ที่หมายถึงการเจาะ การกด หรือหลุม ตะปุ่มตะป่ำ คำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2005 ในเว็บบอร์ดออนไลน์ Reddit ที่เอามาใช้อธิบายเมื่อคนเราเกิดความรู้สึกเกลียด กลัว หรือขยะแขยงเวลาเห็นสิ่งที่มี ‘รู’ หรือมีลักษณะเป็นหลุมบ่อ ที่ในปัจจุบันพบเห็นได้มากบนโลกออนไลน์ที่มีการแชร์รูปรูอยู่บ่อยๆ
สำหรับคนที่ไม่ได้กลัวรู ก็อาจสงสัยว่าอาการเหล่านี้มีจริงหรือคิดไปเอง แต่ผลการศึกษาในปี ค.ศ.2013 พบว่า มีผู้เข้าร่วมทดลองถึง 16% ที่รู้สึกขยะแขยงหรือไม่สบายตัวเวลาจ้องมองไปที่ ‘เม็ดบัว’ และนอกจากนี้ ก็ยังมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ที่ทำให้คนกลัวรูเกิดอาการกำเริบได้เช่นกัน อย่างรังผึ้ง สตรอว์เบอร์รี่ เม็ดบัว เมล็ดทับทิม ไอน้ำที่ควบแน่น ฟองสบู่ ตาแมลง ปะการัง รูในเนื้อเน่าเปื่อย พลาสติกกันกระแทก เมล็ดผลไม้ และฟองน้ำทะเล
แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับโรคกลัวรูที่ชัดเจน เพราะโรคนี้ขึ้นอยู่กับลิมิตความกลัวของแต่ละคนว่าจะกลัวอะไรและกลัวมากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีบางทฤษฎีที่ผู้ศึกษานำมาใช้อธิบายว่าทำไมคนเราถึงได้มีอาการตอบสนองต่อเจ้ารูที่ดูไม่มีพิษภัยอะไรพวกนี้
ทฤษฎีที่นิยมนำมาอธิบายโรคกลัวรูมากที่สุด คือ ‘การตอบสนองเชิงวิวัฒนาการ’ (evolutionary response) ต่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับเชื้อโรคหรืออันตราย เช่น โรคผิวหนัง ปรสิต และการติดเชื้ออื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นหลุมหรือตุ่ม ผลการศึกษาในปี ค.ศ.2017 มีการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของเชื้อโรคทางผิวหนังกับโรคกลัวรู โดยพบว่าคนที่กลัวรูจะมีการคิดต่อยอดและเชื่อมโยงรูปแบบของรูกับโรคทางผิวหนังต่างๆ คิดไปต่างๆ นานาว่ามันเป็นอะไรที่อันตรายน่าขนลุก โดยพวกเขาจะมีการแสดงความรู้สึกเจ็บๆ คันๆ ที่ผิวหนังออกมาเวลามองดูลายพวกนั้น แม้ความรู้สึกรังเกียจหรือหวาดกลัวต่อสิ่งคุกคามจะเกิดจากการที่คนเราอยากปลอดภัยจากอันตราย แต่ในกรณีของโรคกลัวรูนั้น นักวิจัยเชื่อว่ามันค่อนข้างที่จะมากเกินกว่าปกติ
อาการเกลียดกลัวรูยังสามารถอธิบายได้ด้วยอีกทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่า
อาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นนึกไปถึง ‘ลวดลาย’ ของสัตว์มีพิษบางชนิด
และนำไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่น่ากลัวแบบไม่มีเหตุผล มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนแนวคิดนี้ เป็นงานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 ที่ศึกษาการตอบสนองของคนเป็นโรคกลัวรูเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้เป็น แล้วก็พบว่า เมื่อนำรวงผึ้ง (ที่คนกลัวรูส่วนใหญ่มักจะเกลียดและกลัว) ออกมาให้ดู คนทั่วไปจะนึกถึงผึ้งหรือไม่ก็น้ำผึ้งทันที แต่นักวิจัยกล่าวว่า คนที่เป็นโรคกลัวรูจะมีการเชื่อมโยงรวงผึ้งเข้ากับสิ่งมีชีวิตที่อันตรายที่มีลักษณะคล้ายกัน อย่างเช่น ‘งูหางกระดิ่ง’ แม้อาจจะดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ก็ตาม แต่นั่นก็อาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกรังเกียจหรือกลัวได้เช่นกัน
แต่บางคนก็อาจจะแค่เคืองสายตาเวลาที่เห็นรูอะไรเยอะๆ เท่านั้น เพราะมีอีกผลการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่ใน Psychological Reports อธิบายว่า มีผู้คนจำนวนมากที่รู้สึกไม่สบายตาเวลาดูรูปสิ่งของที่เป็นตุ่มตะปุ่มตะป่ำ แต่ก็ไม่ได้มีการนำไปเชื่อมโยงกับสิ่งของหรือสัตว์ที่อันตรายอะไร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า สรุปแล้วโรคกลัวรูนั้นเป็นความกลัวจริงหรือไม่ หรือแค่เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติต่อสิ่งเร้าทางสายตาเฉยๆ
นอกจากนี้ โรคกลัวรูยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงอาการผิดปกติอื่นๆ ได้ โดยนักวิจัยยังมีการค้นพบว่า คนที่เป็นโรคกลัวรูมีแนวโน้มที่จะเป็นโรควิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่ความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวันได้ และมีแนวโน้มที่ตรงตามเกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ในโรคที่เฉพาะเจาะจง เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder : )
อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่น่าจะร้ายแรงอะไร แต่ความจริงโรคกลัวรูนั้นอันตรายมากกว่าที่คิด เพราะเมื่อคนที่กลัวรูมากๆ มาเห็นอะไรพวกนี้ พวกเขาสามารถเกิดอาการหวาดกลัว วิตกกังวล หายใจถี่ ขนลุก คลื่นไส้ อาเจียน คัน เหงื่อออก ตัวสั่น ไปจนถึงแพนิกรุนแรง ถึงขั้นที่หมดสติไปเลยก็ว่าได้
อ้างอิงข้อมูลจาก