ขออะไรก็ให้ได้ ขอเบอร์โทร ขอนามบัตร ขอเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ก็พอจะให้ได้เป็นกรณีไป แต่ถ้าขอชื่อแอคเคาท์ทวิตเตอร์มาเมื่อไหร่ ยังไงก็ตัดสินใจให้ได้ยากมากๆ
เคยรู้สึกกันไหมว่า เราค่อยไม่อยากให้แอคเคาท์ทวิตเตอร์ของเราเองกับคนใกล้ตัวเลย โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว?
ยิ่งถ้าคนในครอบครัวอย่างพ่อแม่มาถามถึงเรื่องทวิตเตอร์กันเมื่อไหร่ ความเหงื่อตกก็จะตามมาทันที เวลาแม่ถามทีไรว่าทวิตเตอร์น่าเล่นไหม เราก็มักจะตอบทำนองว่า “ทวิตเตอร์มันไม่มีอะไรหรอกแม่ อย่าไปเล่นเลย” (ตอบด้วยน้ำเสียงสงบนิ่ง แต่ภายในคือเลิ่กลั่กไปแล้ว)
แต่สถานการณ์อาจยกระดับความโหดขึ้นไปอีกขั้น หากในวันหนึ่งมีชื่อแอคเคาท์ที่คุ้นๆ เหมือนคนใกล้ตัวมาฟอลโลว์ก็ห้ามอะไรก็ไม่ทันแล้ว เลยตัดสินใจไปเปิดแอคเคาท์ใหม่ที่คนไม่รู้จักกันในโลกภายนอกโซเชียลมีเดียเข้ามาไม่ถึงดีกว่า
พูดให้ชัดไปอีกขั้น เราก็ปฏิเสธได้ยากเหมือนกันว่า ทวิตเตอร์มันคือหลุมหลบภัย และพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะสบายใจที่จะระบาย หรือพูดอะไรต่างๆ ออกไปได้มากกว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ
ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นกันนะ? ทำไมทวิตเตอร์ถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ใครหลายๆ คนอยากไม่อยากให้คนใกล้ตัวเข้าถึง?
ทวิตเตอร์ = หลุมหลบภัยจากพ่อแม่
“เราสร้างแอคเคาท์นี้เอาไว้ติ่งล้วนๆ เลย” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าว พร้อมกับอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่ทวิตเตอร์มันสะดวกต่อการติดตามศิลปินที่เขาชื่นชอบ สามารถพูดคุยและตอบโต้กับคนที่ชอบในเรื่องราวคล้ายๆ กัน มันจึงเป็นเหมือนกับโลกอันแสนปลอดภัยที่จะได้ระบายความรู้สึกออกมาจริงๆ และมันคงจะไม่โอเคนัก
“ถ้าหากพ่อแม่จะมาฟอลโลว์ก็คงไม่ได้อะไรหรอกมั้ง เขาคงไม่เข้าใจ และอาจจะเสียเวลาเปล่าๆ แล้วเราก็อยากรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้เราได้เป็นตัวเราจริงๆ โดยที่คนในครอบครัวไม่เข้ามาเห็น คือขอมีพื้นที่เป็นตัวเองจริงๆ เหลือสักพื้นที่ตรงนี้ไว้ก็ยังดี” มิตรสหายคนเดิม ระบุ
ไม่ใช่แค่เรื่องความชอบในศิลปิน ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางคนก็เลือกแพลตฟอร์มนี้เป็นที่สำหรับระบายความรู้สึกในเรื่องการเมือง ยิ่งในกรณีของการที่มีจุดยืนทางการเมือง หรือเลือกพรรคการเมืองต่างจากคนในครอบครัว
“แม่เราเป็นแฟนคลับทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งก็มีความเห็นทางการเมืองคนละขั้วกับเรามากๆ เราเข้าใจได้แหละ เขาอาจจะมีทีวีช่องนั้นเป็นพื้นที่ปลอดภัย แบบดูแล้วสบายใจ ส่วนเราก็มีทวิตเตอร์ที่เอาไว้พูดเรื่องการเมืองในแบบของเราเหมือนกัน การนั่งโซฟาดูทีวีอาจเป็นพื้นที่ของเขา ส่วนการนอนเล่นแล้วทวีตก็เป็นพื้นที่ของเราเหมือนกัน มันเป็นพื้นที่ที่เราไม่อยากให้แม่เข้ามา” เฟิร์นพนักงานบริษัท วัย 28 ปี ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อทวิตเตอร์ (เพราะกลัวแม่มาตามเจอ) บอกกับเราไว้อย่างนั้น
ไม่ต่างจาก บอส โปรแกรมเมอร์วัย 29 ที่บอกว่า “เล่นไลน์ก็มีกรุ๊ปครอบครัว เล่นเฟซบุ๊กก็ต้องตั้ง custom ไม่ให้พ่อแม่เห็นโพสต์ที่เราบ่นเรื่องความฉิบหายในชีวิต ก็อยากให้เหลือทวิตเตอร์ให้เราได้บ่นโลกไว้หน่อยก็ยังดี เราเองก็อยากระบายอะไรหลายอย่างออกไป แต่ก็ไม่อยากให้ที่บ้านเห็นนะ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวเขาไม่สบายใจอีก ทั้งๆ ที่มันไม่ได้มีอะไรที่หนักหนาขนาดนั้น”
บทความชื่อ ‘Is Facebook Becoming Social Media’s Retirement Home?’ จาก Forbes ตั้งคำถามว่า เฟซบุ๊กกำลังกลายเป็นโลกที่ถูกยึดครองโดยคนสูงวัยรึเปล่านะ? เพราะมีข้อมูลซึ่งชี้ให้เราเห็นทิศทางที่คนวัย 55 ปีขึ้นไป ได้แชร์คอนเทนต์บนเฟซบุ๊กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับคนในวัยอื่นๆ ที่แชร์น้อยลง เมื่อสถิติเป็นแบบนี้ ดูเหมือนว่าโลกในเฟซบุ๊กกำลังถูกถมด้วยการแชร์คอนเทนต์จากผู้ใหญ่มากกว่าวัยอื่นๆ
แพลตฟอร์มทางเลือกนอกเหนือจากเฟซบุ๊ก
ผลสำรวจ Global Digital 2019 ที่ออกมาเมื่อช่วงต้นปี ได้ฉายภาพถึงเทรนด์การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยที่เฟซบุ๊กยังคงครองแชมป์การใช้งานเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือยูทูป ไลน์ เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์
ที่ผ่านมานั้น ความ ‘แมส’ ของเฟซบุ๊กที่เริ่มกลายเป็นโซเชียลมีเดียขั้นพื้นฐานของคนไทย ทำให้ผู้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้กันอย่างต่อเนื่อง และชุมชน-ครอบครัวในโลกภายนอก ก็ได้เริ่มลงหลักปักฐานในแพลตฟอร์มนี้ด้วยเหมือนกัน
จากเดิมที่เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นรู้สึกสบายใจที่จะได้ปลดปล่อย หรือระบายตัวตนออกไปได้ในหลายๆ เรื่องแต่เมื่อสมาชิกในครอบครัวเริ่มเข้ามาในแพลตฟอร์มแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็ดูเหมือนว่าอยากจะหาพื้นที่ใหม่ๆ ที่ห่างไกลพ่อแม่ได้ และอาจจะด้วยคอนเซ็ปต์ของเฟซบุ๊กเองที่ต้องการ ‘Connect’ ผู้คนให้เข้าหากันมากขึ้นในโซเชียลมีเดีย หากแต่ว่า มันก็ดึงเอาพื้นที่ความสัมพันธ์บางอย่างที่วัยรุ่นพยายามจะหลีกหนีออกมาจากโลกแห่งความจริงมาไว้ในโลกนี้ด้วยเหมือนกัน
“วัยรุ่นก็ยังมีโปรไฟล์เฟซบุ๊กอยู่เหมือนเดิม แต่พวกเขาใช้เวลากับเฟซบุ๊กน้อยลง และย้ายไปที่อื่น เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และทัมเบลอร์…ปัจจัยคือที่ตรงนั้นมีผู้ใหญ่และผู้ปกครองน้อยกว่า” Amanda Lenhart แห่ง Pew Research Centre กล่าวไว้ในวันที่เขาวิเคราะห์ถึงเทรนด์การใช้โซเชียลมีเดียในสหรัฐฯ
ประเด็นนี้คล้ายๆ กับในไทย แบบที่อาจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารในทวิตเตอร์ เคยอธิบายให้กับเราฟังไว้ เมื่อครั้งที่เคยคุยกันถึงเรื่องการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในโลกทวิตเตอร์ว่า
“เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ย้ายไปอยู่ในทวิตเตอร์ค่อนข้างเยอะ เพราะตอนนี้แต่ละแพลตฟอร์มเริ่มมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง เฟซบุ๊กได้เป็นกลายเป็นช่องทางกระแสหลัก ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาก็ไปอยู่ เด็กรุ่นใหม่เลยก็หนีไปแพลตฟอร์มทวิตเตอร์กันเรื่อยๆ”
ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้เราเห็นภาพได้ถึงความสำคัญของทวิตเตอร์ได้ ในฐานะพื้นที่ปลอดภัยซึ่งผู้คนจำนวนมากใช้เพื่อปลดปล่อย และระบายความรู้สึกส่วนตัวออกมา ต่างไปจากเฟซบุ๊กที่ถูกจับจ้องโดยพ่อแม่ได้ง่ายกว่า
หรือจะพูดอีกแบบก็คงจะได้ว่า ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่อยากปกป้องเอาไว้เพื่อระบายตัวตน และมันยังเป็นพื้นที่ซึ่งการสอดส่องและความคาดหวังของพ่อแม่ยังเข้ามาไม่ถึง
อ้างอิงจาก
https://www.businessinsider.com.au/poll-teens-migrating-to-twitter-2013-5
https://theconversation.com/the-social-implications-of-teens-leaving-facebook-99362
https://qz.com/613640/teens-have-a-smart-reason-for-abandoning-facebook-and-twitter/
https://www.marketingoops.com/reports/global-and-thailand-digital-trend-2019/