ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้อยู่บ่อยๆ ผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ไม่กี่ชั่วโมงหลัง ‘มารียา’ ถูกถามเรื่องนี้บนเวทีนางงาม กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็ถูกจับกุม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สังคมกำลังให้ความสนใจกับคำๆ นี้กันพอสมควร
เอาเข้าจริงคำว่า social movement เนี่ย เหมือนจะเข้าใจได้ง่ายก็ไม่ใช่ เพราะในมุมวิชาการก็ยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันมากมาย หรือจะบอกว่าอยู่ไกลตัวเราก็ไม่เชิง เนื่องจากมีข่าวให้เห็นกันแทบทุกวัน แถมหลายเรื่องก็เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราโดยตรง
สรุปแล้ว เราควรจะมองสิ่งนี้กันอย่างไรดีนะ การมี social movement เยอะๆ ในสังคมนี้มันแปลว่าดีจริงไหม แล้วจำเป็นแค่ไหนที่ทุกการเคลื่อนไหวจะถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยได้เสมอไป?
The MATTER ชวน ‘ภาณุภัทร จิตเที่ยง’ นักศึกษาปริญญาเอก และผู้ช่วยสอนรายวิชาขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธ์ุในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน มาเป็นผู้นำทางเรา สำรวจและทำความเข้าใจกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกันให้มากขึ้น
(หมายเหตุ บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการถาม-ตอบผ่านทางอีเมล)
เริ่มต้นที่นิยามก่อน social movement แปลว่าอะไร
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ social movement ในภาษาอังกฤษ เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่มิได้มีคำนิยามที่ชัดเจน โดยนักวิชาการแต่ละคนให้คำนิยามปรากฎการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันตามแนวทางการศึกษาวิจัยของตนเอง ตัวอย่างเช่น
ศาสตราจารย์ จอห์น แมคคาธีย์ (John McCarthy) และ ศาสตราจารย์เมเยอร์ ซาลด์ (Mayer Zald) อธิบายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมว่าเป็น “ชุดความเห็นหรือความเชื่อของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหนึ่งๆในสังคม” [1] ขณะที่ ศาสตราจารย์ซิดนีย์ แทร์โรว (Sidney Tarrow) อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “การกระทำแบบรวมหมู่ของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายสอดคล้องเป็นอันหนึ่งกันเดียวกันเพื่อท้าทายอำนาจหรือฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น
แม้นักวิชาการจะมีความเห็นไม่ตรงกันในประเด็นว่าด้วยคำนิยามของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ศาสตราจารย์ดัก แมกอดัม (Doug McAdam) และ ศาสตราจารย์เดวิด สโนว์ (David Snow) สรุปว่า คำนิยามโดยทั่วไปของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีองค์ประกอบที่สำคัญร่วมกัน 4 ประการ คือ 1) มีการจัดการระดมคน (organizing) ในระดับหนึ่ง 2) มีความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (temporal continuity) 3) มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง (change-oriented goals) และ 4) อาศัยการปฏิบัติการนอกแนวทางสถาบัน (extrainstitutional forms of action) (เช่น การประท้วงบนท้องถนน) เพื่อสนับสนุนการนำเสนอข้อเรียกร้องผ่านโครงสร้างสถาบัน (เช่น การส่งจดหมายร้องเรียน การลงคะแนนเสียง เป็นต้น)
ซึ่งข้อสรุปข้างต้นนี้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อสรุปของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ทิลลี (Charles Tilly) นักวิชาการทางสังคมศาสตร์คนสำคัญที่อธิบายว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดขึ้นผ่านการหลอมรวมขององค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การรณรงค์ (campaign) หมายถึง ความพยายามของกลุ่มคนที่รวมตัวกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อเสนอข้อเรียกร้องร่วมกันต่อกลุ่มเป้าหมาย 2) ชุดของการปฏิบัติการเคลื่อนไหว (repertoire of contention) หมายถึง การดำเนินการเคลื่อนไหวโดยใช้การปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน อาทิ การสร้างแนวร่วมหรือองค์กรเครือข่าย การจัดประชุมสาธารณะ การเดินขบวน การประท้วง การออกแถลงการณ์ในสื่อสาธารณะ การยื่นคำร้อง และ การแจกใบปลิว และ 3) การนำเสนอคุณค่าและความสำคัญ (Worthiness) ความสามัคคี (Unity) จำนวน (Numbers) และเจตนารมณ์ร่วม (Commitment) ของกลุ่มผู้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว
วิวัฒนาการของ social movement จากเดิมมาถึงวันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
สิ่งสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ละขบวนการล้วนแล้วแต่มีบริบทเฉพาะของตนเอง ดังนั้น เมื่อพิจารณาวิวัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงควรพิจารณาเป็นรายกรณี และไม่ควรเหมารวมว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ดูโดยผิวเผินว่าน่าจะมีความคล้ายคลึงกันจะมีวิวัฒนาการเหมือนกัน เพราะในแง่ของรายละเอียด องค์ประกอบ อัตลักษณ์ และการจัดโครงสร้างการเคลื่อนไหว ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแทบทุกขบวนการล้วนแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี หากลองพิจารณาขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆในภาพรวมโดยอนุโลม วิวัฒนาการที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวมักเป็นไปในเชิงพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ (strategy) กลยุทธ์ (tactic) และกรอบ (frame) การดำเนินการเคลื่อนไหว (คำศัพท์ทั้งสามคำเป็นคำศัพท์เฉพาะทางของการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ยุทธศาสตร์ หมายถึง แนวทางการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล กลยุทธ์ หมายถึง เทคนิคหรือปฏิบัติการที่ขบวนการเคลื่อนไหวเลือกใช้ในการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ และท้ายสุด กรอบ หมายถึง ชุดของความเชื่อหรือการให้ความหมายที่จะสร้างพลังและความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวหรือการรณรงค์)
โดยในแต่ละช่วงเวลาของการดำเนินการเคลื่อนไหว ขบวนการเคลื่อนไหวหนึ่งๆอาจจะนำยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และกรอบการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้กับขบวนการของตน ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และกรอบการดำเนินการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคปัจจุบันจึงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอันเป็นผลจากการเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวในอดีต
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์มาร์ลีส์ กลาเซียส (Marlies Glasius) และ ศาสตราจารย์จอฟฟรีย์ เพลเยอร์ส (Geoffrey Pleyers) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกมีวิวัฒนาการที่สำคัญนอกเหนือมิติทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น และยังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น
กล่าวคือ 1) ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดำเนินการเคลื่อนไหวโดยใช้พื้นที่และเครือข่ายที่เอื้อต่อการขยายตัวของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะและท้องถนน 2) ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวมักมีภูมิหลังใกล้เคียงกัน โดยมักเป็นกลุ่มบุคคลที่ทิศทางการทำงานคลุมเครือและเป็นบุคคลที่รับข่าวสารผ่านเครือข่ายข้อมูลที่กว้างขวางระดับโลก และ 3) ขบวนการเคลื่อนไหวมีข้อเรียกร้องที่ใกล้เคียงกัน คือ มุ่งเน้นประเด็นว่าด้วยประชาธิปไตย ความยุติธรรมทางสังคม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญ เพราะเป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นการท้าทายอำนาจรัฐหรือช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป แต่อาจเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายทั้งสองประการในเวลาเดียวกันก็ได้
นอกจากนี้ อีกวิวัฒนาการหนึ่งที่น่าสนใจของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ รูปแบบการจัดองค์กรของขบวนการเคลื่อนไหว แต่เดิมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมักมีการจัดองค์กรที่เป็นรูปธรรมและมีลักษณะรวมศูนย์ ดังจะเห็นได้จากการมีเป้าหมายและกลุ่มผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน แต่ในยุคหลัง รูปแบบการจัดองค์กรของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นนามธรรมและมีการกระจายอำนาจมากขึ้น
เห็นได้จากกรณีศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ที่ขบวนการเคลื่อนไหวอันนำมาซึ่งการล้มอำนาจรัฐบาลในหลายประเทศอาหรับเกิดขึ้นผ่านการรวมตัวของประชาชนที่มีเหตุผลต่างกันในการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวและการที่ขบวนการเหล่านั้นมิได้มีผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
ทั้งนี้ นักวิชาการจำนวนหนึ่งระบุว่าวิวัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของสื่อออนไลน์ (social media) ในฐานะสื่อกลางและเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดข้อมูล ระดมทรัพยากร และระดมคนให้เข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
ในช่วงเวลาที่กระแสอนุรักษ์นิยมกำลังปกคลุมในหลายประเทศ มองว่า มันส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของ social movement มากน้อยแค่ไหน ทั้งในรูปแบบของจำนวนการเคลื่อนไหว และเนื้อหาของการเคลื่อนไหว
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่พึงเข้าใจเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมคือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง (ในความหมายว่าด้วยอำนาจรัฐและการปกครองประเทศ) โดยขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมากเกี่ยวข้องกับประเด็นทั่วไปอื่นๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการกลั่นแกล้งผู้อื่น (Anti-Bullying Movement) ขบวนการเพื่อความยุติธรรมของคนเก็บขยะ
(Justice for Janitors Movement) หรือ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Movement) ด้วยเหตุนี้ กระแสอนุรักษ์นิยมจะส่งผลต่อขบวนการเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ 1) ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นให้ความสำคัญกับประเด็นอะไรและมีรูปแบบการจัดองค์กรอย่างไร (ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ หรือ ระดับโลก) และ 2) บริบทของประเทศและพื้นที่ (space) ที่ขบวนการเคลื่อนไหวนั้นก่อตัว และดำเนินการเคลื่อนไหวได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนจากอิทธิพลของกระแสอนุรักษ์นิยม
หากพิจารณาโดยทั่วไปในภาพรวม กระแสอนุรักษ์นิยมไม่น่าจะกระทบเนื้อหาของขบวนการเคลื่อนไหว ด้วยเหตุที่ว่าขบวนการเคลื่อนไหวมักจะมีจุดยืดที่ชัดเจนของตนเอง แต่กระแสดังกล่าวอาจกระทบยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และกรอบในการดำเนินการเคลื่อนไหว และอาจจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองหรือท้าท้ายประเด็นอนุรักษ์นิยม เช่น ขบวนการสนับสนุนสิทธิการทำแท้ง หรือขบวนการประชาธิปไตย เผชิญความท้าทายในรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศหรือพื้นที่ที่กระแสอนุรักษ์นิยมนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงในการยั้งยับหรือยุติการดำเนินการการเคลื่อนไหว ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอาจจะต้องดำเนินการเคลื่อนไหวในลักษณะของขบวนการใต้ดิน แต่สำหรับหลายขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง (ในความหมายว่าด้วยอำนาจรัฐและการปกครองประเทศ) กระแสอนุรักษ์นิยมก็มิน่าจะส่งผลกระทบมากนักหรืออาจจะไม่ส่งผลกระทบใดๆเลย
กระแสอนุรักษ์นิยมที่กำลังปกคลุมหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นและได้รับอิทธิพลจากขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์นิยม
ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขบวนการเคลื่อนไหวอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ ขบวนการทีปาร์ตี้ (Tea Party Movement) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการขึ้นภาษี การแทรกแซงของภาครัฐในกิจกรรมของเอกชน และเป็นขบวนการที่สนับสนุนตลาดเสรีและการควบคุมการย้ายถิ่นอย่างเข้มข้น
อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของกระแสอนุรักษ์นิยมยังส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวอนุรักษ์นิยมขวาจัดในสหรัฐอเมริกา อาทิ ขบวนการเคเคเค (Ku Klux Klan: KKK) ซึ่งสนับสนุนแนวคิดความยิ่งใหญ่ของคนผิวขาว ชาตินิยมคนผิวขาว และต่อต้านการย้ายถิ่น รวมไปถึงขบวนการนาซีใหม่ (Neo Nazi Movement) ที่สนับสนุนแนวทางชาตินิยม การเหยียดผิว การเหยียดเพศ และการต่อต้านชาวยิว กลับมาดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม 2017 ได้เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบหลายปีของกลุ่มขบวนการอนุรักษ์นิยมขวาจัดเหล่านี้ ณ เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ มลรัฐเวอร์จิเนีย เพื่อคัดค้านการย้ายอนุสาวรีย์ นายพล โรเบิร์ต อี. ลี (Robert E. Lee) ผู้นำกองทัพฝ่ายใต้ในช่วงสงครามกลางเมือง (American Civil War) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งขบวนการเหล่านี้ยึดถือว่าเป็นวีรชนคนสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวของตน
อย่างไรก็ดี ในกรณีของสหรัฐอเมริกา กระแสอนุรักษ์นิยมก็นำมาซึ่งการผุดตัวมากขึ้นและความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวเสรีนิยม เช่น ขบวนการแบล็คไลฟ์แมทเทอร์ (Black Lives Matters) ที่มีเป้าหมาย คือ การเรียกร้องความเทียมกันทางเชื้อชาติ และการยุติความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากบุคคลสำคัญ ประชาชนผิวขาวหัวก้าวหน้า และขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆที่ให้ความสำคัญกับประเด็นใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะผู้นำกลุ่มอนุรักษ์นิยมขึ้นสู่อำนาจในฐานะประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
การผุดตัวขึ้นมาอย่างมากมายของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของทั้งสองฝ่ายก็ส่งผลให้เกิดการต่อสู้และการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนอเมริกันมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันการต่อสู้และการถกเถียงดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกระหว่างคนอเมริกันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของตนเองและเชื่อว่าฝ่ายตนเองมีผู้สนับสนุนมากพอที่จะทำให้ตนไม่ต้องรับฟังหรือปฏิเสธความเห็นหรือมุมมองของฝ่ายตรงข้าม ด้วยเหตุนี้ การประนีประนอมจึงเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากยิ่งขึ้น
จำเป็นไหมที่ social movement มันผูกติดกับแนวคิดประชาธิปไตย มีรูปแบบที่ไม่เอาประชาธิปไตยไหม
ไม่จำเป็น และถ้าจะกล่าวให้ถูกยิ่งขึ้น คือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมผูกติดกับแนวคิดใดก็ได้ ที่ผ่านมา นักวิชาการหรือสื่อมักกล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะที่ผูกติดกับแนวคิดประชาธิปไตย (ทั้งประชาธิปไตยในความหมายแคบที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งเท่านั้น หรือประชาธิปไตยในความหมายกว้างที่ครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ และอื่นๆ)
เพราะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่โดดเด่นมักเกี่ยวข้องกับการโค่นล้มระบอบเผด็จการและนำประเทศเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น ขบวนเคลื่อนไหวของประชาชนในฟิลิปปินส์ที่นำมาซึ่งการโค่นอำนาจของประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มากอส (Ferdinand Marcos) เมื่อปี ค.ศ. 1986 หรือ ขบวนการเคลื่อนไหวในแชนตี้ทาวน์ (Shantytown) ในประเทศชิลี ซึ่งนำมาซึ่งการลงสู่อำนาจของนายพลออกัสโต้ ปิโนเช่ (Augusto Pinochet) เมื่อปี ค.ศ. 1990 นอกจากนี้ยังมี ขบวนการอื่นๆที่ให้ความสำคัญและนำมาซึ่งสิทธิที่สำคัญของพลเมือง เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ของคนผิวสี และขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของสตรี (Women’s Suffrage Movement) ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในบางกรณี เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อยุติการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ (Anti-Apartheid Movement) ซึ่งนำโดยอดีตประธานาธิบดีเนลสัน เมนเดลลา และ ขบวนการซาปาติสต้า (Zapatista) ในเม็กซิโกที่ต่อต้านระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและเรียกร้องให้ชนพื้นเมือง (Indigeneous People) มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ถูกฝ่ายตรงข้ามซึ่งในทั้งสองกรณีคือรัฐแอฟริกาใต้และรัฐเม็กซิโกตามลำดับขึ้นบัญชีว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายด้วยเหตุที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งสองจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ ดังนั้นในบางกรณีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและกลุ่มก่อการร้ายอาจจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันขึ้นอยู่กับว่าจะมองว่ามุมมองไหน
นอกเหนือจากขบวนการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดประชาธิปไตย ขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งก็เป็นขบวนการที่เชื่อโยงกับแนวคิดอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ขบวนการนาซีใหม่ที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ซึ่งสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง การเหยียดผิว และการต่อต้านชาวยิว หรือ ขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดคอมมิวนิสต์และนำมาซึ่งการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศโดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างภายในของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นขบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดประชาธิปไตยหรือไม่ จะพบว่า ขบวนการเหล่านี้มักมีรูปแบบการวางแผนแบบปิด และมีกระบวนการตัดสินใจแบบรวมศูนย์โดยกลุ่มผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่คน ซึ่งรูปแบบการจัดการดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้เพราะแนวทางการเคลื่อนไหวถือเป็นประเด็นความลับและมีความสำคัญยิ่งต่อการเอาชนะคู่ต่อสู้หรือการนำเสนอข้อเรียกร้อง
แต่รูปแบบการวางแผนและการตัดสินใจในลักษณะปิดและรวมศูนย์ก็สะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะในแง่ที่ผู้เข้าร่วมขบวนการไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการเคลื่อนไหว
ความเข้มข้นของกลุ่ม social movement ในสังคมหนึ่งๆ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง (ถ้ามีเยอะๆในสังคม แปลได้ว่าดีหรือไม่ดี?)
ผมมองว่า ความเข้มข้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสะท้อนถึงความกระตือรือร้นของประชาชนในการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะในส่วนที่ประชาชนคิดว่าจะมีผลกระทบต่อตนเองหรือครอบครัว ซึ่งผมมองว่าการมีส่วนร่วมดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญเพราะอาจจะนำมาซึ่งการตรวจสอบหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นไปในทิศทางที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต้องการ แต่การมีส่วนร่วมดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศหรือพื้นที่นั้นๆจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเสมอหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพราะการเปลี่ยนแปลงต่างๆไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเท่านั้นแต่ขึ้นอยู่กับขั้วตรงข้ามของขบวนการเคลื่อนไหวด้วย
ในหลายกรณีกลุ่มผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอาจจะเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ได้ ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ
ในอีกด้านหนึ่ง การเพิ่มมากขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรัฐ องค์กร บรรษัท หรือ หน่วยงานต่างๆกล่าวคือ การที่ประชาชนเลือกใช้ช่องทางนอกสถาบันในการดำเนินการเคลื่อนไหวบ่งบอกอย่างชัดเจนว่ากลไกเชิงสถาบันมีปัญหา ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะเป็นไปในแง่ของความไม่น่าเชื่อถือ การทุจริตคอรัปชั่น หรือ การกดขี่ ซึ่งส่งผลให้ทางเลือกที่ดีที่สุดของกลุ่มคนที่ต้องการนำเสนอข้อเรียกร้องของตน คือ การดำเนินการเคลื่อนไหวในลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
หากถามว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีเยอะๆ ดีไหม คำตอบของผมคือ ต้องไปพิจารณาเป็นรายประเทศหรือรายพื้นที่ว่าขบวนการทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นใดและมีรูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างไร
ถ้าขบวนการเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วมของประชาชนเน้นการใช้อาวุธในการนำเสนอข้อเรียกร้อง ความเข้มข้นของขบวนการเคลื่อนไหวก็ไม่น่าจะดี เพราะความเข้มข้นดังกล่าวมีแนวโน้มจะนำมาซึ่งสงครามและความขัดแย้งที่ไม่รู้จบและทำให้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิตได้
สถานการณ์ของ social movement ในไทยในวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง คิดว่าเหมือนหรือแตกต่างไปจากเทรนด์ของโลกไหม
ในทัศนะส่วนตัว ผมมองว่าคำถามนี้ท้าทาย ส่วนหนึ่งเพราะผมไม่มั่นใจว่าจะเริ่มอธิบายสถานการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวของโลกอย่างไร ด้วยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในโลกมีจำนวนมาก และขบวนการเคลื่อนไหวในแต่ละประเด็น แต่ละบริบท แต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไปดังที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญและโดดเด่นในบริบทหนึ่งอาจจะไม่สำคัญหรือโดดเด่นในบริบทอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามว่าด้วยสถานการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวในโลก
อย่างไรก็ดี ผมมองว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญในระดับโลกขณะนี้เชื่อมโยงกับ 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (environment and climate change) 2) การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) และ 3) การย้ายถิ่น (immigration) แต่นี่ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้นซึ่งสามารถโต้แย้งได้
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยผมมองว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยมีการดำเนินการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยมีทั้งขบวนการเคลื่อนไหวที่ปรากฎให้เห็นในสื่อซึ่งที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร และปากท้องของประชาชน เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวสวนยาง และขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นต้น และขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อเท่าที่ควร อาทิ ขบวนการสตรี หรือ ขบวนการแรงงาน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงมากนักในบทสัมภาษณ์นี้ที่ยังคงดำเนินการเคลื่อนไหวอยู่
อย่างไรก็ดี ด้วยบริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และกรอบ หรือชะลอการปฏิบัติการ เพื่อรอโอกาสในการดำเนินการเคลื่อนไหวในอนาคต ซึ่งรูปแบบดังกล่าวก็เป็นไปตามคำอธิบายในทฤษฎีว่าด้วย วัฎจักรการประท้วง (protest cycles) ของศาสตราจารย์ซิดนีย์ แทร์โรว์ ที่อธิบายการขึ้นลงของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
ส่วนที่ว่าสถานการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยว่าเหมือนหรือแตกต่างจากสถานการณ์ในโลก คำตอบของผมคือ แตกต่าง ทั้งนี้ แม้หลายขบวนการเคลื่อนไหวในไทยเกี่ยวข้องกับประเด็นระดับโลก เช่น สิ่งแวดล้อม แต่ขบวนการเหล่านี้ยังให้ความสนใจกับประเด็นที่เกิดขึ้นจากบริบทเฉพาะของสังคมไทยเป็นหลัก อาทิ การรุกล้ำพื้นที่ป่า การใช้ถ่านหิน ขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกมักให้ความสำคัญกับประเด็นที่กว้างมากขึ้นกว่านั้น อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวเป็นไปในแง่ของกรอบการดำเนินการเคลื่อนไหวเป็นหลัก นอกจากนี้ขบวนการเคลื่อนไหวในไทยและในระดับโลกก็ยังมีความแตกต่างให้แง่ของรูปแบบการเคลื่อนไหว ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์
อย่างไรก็ดี ขบวนการเคลื่อนไหวในไทยมีแนวโน้มที่จะนำแนวทางการดำเนินการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จที่อื่นมาปรับใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวในไทยสอดคล้องกับขบวนการเคลื่อนไหวในระดับโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์
แม้ผมจะเน้นย้ำมาตลอดว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ละขบวนการเป็นปรากฎการณ์ที่มีบริบทเฉพาะของตนเอง แต่การที่ขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมากหันมาใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) ในการระดมทรัพยากรและระดมคนให้เข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหว ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้มียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น โดยในปัจจุบันการเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นผ่านการปรากฎตัวในการเดินขบวนตามท้องถนนหรือการประท้วงเสมอไป แต่สามารถเกิดขึ้นผ่านการมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ อันหมายรวมถึง การกดถูกใจ (like) กดแชร์ (share) การแสดงความคิดเห็น (comment) ในเฟซบุ๊ก หรือการรีทวีต (retweet) ในทวิตเตอร์ ด้วย
ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่างสื่อออนไลน์และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในวงวิชาการ