การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก ที่นอกจากจะสะท้อนการทำงานของรัฐบาลแต่ละประเทศ ต้องพยายามจัดการ หานโยบายสกัดกั้นการแพร่เชื้อ และควบคุมประเทศในสถานการณ์นี้ ช่วงวิกฤตนี้ ยังทำให้เราได้เห็นการจัดการ และระบบบริการสุขภาพของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกันไปด้วย
ซึ่งหนึ่งในระบบบริการสุขภาพ ที่เป็นที่พูดถึง คือของสหรัฐฯ ที่มีประเด็นว่า การระบาดได้ทำให้เห็นถึงระบบประกันสุภาพที่อ่อนแอ มีช่องโหว่ ไปถึงมีการเรียกร้องให้รื้อ และแก้ไขระบบใหม่เลยด้วย
ระบบประกันสุขภาพ และสาธารณสุขของสหรัฐฯ เป็นอย่างไร ? ทำไมการระบาดครั้งนี้ ถึงทำให้เห็นระบบที่อ่อนแอ และเป็นไปได้ไหม ที่จะมีการเปลี่ยนระบบนี้ ?
ระบบประกันสุขภาพ ที่ไม่ได้มีให้กับทุกคนในประเทศ
ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ เรียกได้ว่าแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มชาติร่ำรวย ที่ยังคงขาดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน แต่มีการใช้หลายระบบกับแต่กลุ่มคน และยังเป็นการผสมผสานกันระหว่าง โครงการสวัสดิการของรัฐ และบางส่วนเป็นการดำเนินงานธุรกิจของธุรกิจเอกชน ทำให้ระบบมีความซับซ้อน และทับซ้อนในตัวเอง
แม้จะเป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์ก้าวหน้า และมีบุคลการที่มีความสามารถ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่มีแนวคิดด้านดูแลสุขภาพแก่ประชาชนทุกคน ก็มาจากแนวคิดปัจเจกนิยม และการมองว่าการรักษาพยาบาลไม่ใช่สิทธิแต่เป็นสินค้าบริการ ประชาชนเลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ รวมไปถึงการมองว่าการมีหลักสุขภาพให้ประชาชน เป็นแนวคิดของสังคมนิยมด้วย ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นเสรีนิยม
ด้วยเหตุนี้ ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งจึงมีประกันสุขภาพจากสวัสดิการในบริษัทที่ตนทำงาน ที่ซื้อประกันสุขภาพให้พนักงาน โดยวิธีนี้เริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เอาระบบประกันสุขภาพมาเป็นเครื่องมือจูงใจพนักงาน จนกลายเป็นหนึ่งในสวัสดิการของหลายๆ บริษัท และเป็นจุดที่ทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในระบบดูแลสุขภาพของอเมริกาด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ตัวพนักงานเองก็ยังต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันส่วนหนึ่งเองด้วย
แต่ก็ไม่ใช่ว่า รัฐไม่ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนเลย เพราะในสหรัฐฯ ก็มีระบบอย่างเช่น มาตรการคุ้มครองการรักษาพยาบาลสำหรับทหารผ่านศึกและครอบครัว , Madicare ที่เป็นโครงการของรัฐบาลกลาง ที่ผู้จะอยู่ในระบบนี้ต้องมีอายุเกิน 65 หรือทุพพลภาพ และป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งต้องเคยทำงาน 10 ปีขึ้นไป และเป็นผู้จ่ายภาษีให้รัฐอย่างสม่ำเสมอ, Medicaid เป็นการร่วมมือกับรัฐบาลกลางและมลรัฐในการช่วยเหลือผู้ยากจนมีรายได้ต่ำ ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองจนจริงๆ หรือโปรแกรมประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 19 ปี ที่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และไม่สามารถซื้อประกันจากเอกชนได้ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ระบบประกันสุขภาพในสหรัฐฯ จึงมีความหลากหลาย และแยกย่อยหลายระบบ ซึ่งไม่ใช่ว่า ความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบสาธารณสุขของอเมริกา ให้กลายเป็นระบบเดียวจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 ปธน.ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ก็เคยพยายามผลักดันให้ประเทศมีโปรแกรมสุขภาพระดับชาติ คือรัฐออกค่าใช้จ่าย และดูแลทั้งหมด แต่ก็พ่ายแพ้และถูกต่อต้านไป ซึ่ง ปธน.อีกหลายคนที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่ถูกตีตกจนมาถึงยุคของ ปธน.บารัก โอบามา
ในปี 2010 โอบามาได้ทำการรื้อระบบประกันสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ โดยการลงนามกฎหมาย โอบามาแคร์ (Obamacare) หรือ รัฐบัญญัติดูแลสุขภาพที่คนส่วนใหญ่รับภาระได้ (Affordable Care Act) ซึ่งโอบามาแคร์ เหมือนมาอุดช่องโหว่ของระบบที่เคยมีอยู่ และทำให้ประชาชนอเมริกัน ที่ไม่เข้าข่ายระบบไหน และไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ สามารถซื้อประกันสุขภาพ และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในราคาไม่แพง
ถึงอย่างนั้น ในปี 2018 ก็ยังพบว่า มีประชากร 8.5 เปอร์เซ็นต์หรือ 27.5 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพในช่วงปีที่ผ่านมา โดยถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.9 หรือ 25.6 ล้านคน รวมทั้งหลังการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์เอง เขาได้พยายามเข้ามาล้มเลิก Obamacare และในช่วงการระบาดเองทรัมป์ก็ยังระบุว่า จะไม่เอา Obamacare มาใช้ในช่วงการระบาดของไวรัสด้วย
นอกจากระบบประกันสุขภาพที่ไม่ถ้วนหน้าแล้ว การเข้าถึงการแพทย์ของสหรัฐฯ ยังขึ้นชื่อว่า มีราคาแพงมาก แม้จะมีประกันแล้วก็ตามด้วย ส่วนหนึ่งมาจากระบบ Co-payment ซึ่งถึงแม้จะมีประกัน แต่ในการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีค่ายใช้จ่ายสมทบอื่นๆ ที่ผู้เอาประกันต้องชำระแก่แพทย์ หรือร้านขายยาอีก
โดยการสำรวจในปี 2016 พบว่า รายจ่ายสุขภาพของประชากรต่อคนอยู่ที่ 10,348 ดอลลาร์/คน (ประมาณ 340,000 บาท) ซึ่งสูงกว่าเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในกลุ่มประเทศร่ำรวย ทั้งยังมีรายงานว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลและค่ายาโดยเฉลี่ยในสหรัฐฯ สูงกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับในยุโรปด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงนี้ ถึงขั้นทำให้ประชาชนล้มละลาย เพราะค่ารักษาพยาบาลได้ รวมไปถึงยังมีประชาชนบางส่วนที่เสียชีวิต จากการไม่มีประกันสุขภาพด้วย
การระบาดของ COVID-19 ที่สะท้อนช่องโหว่ระบบบริการสุขภาพสหรัฐฯ
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น การรับมือ และระบบสาธารณสุขเริ่มสะท้อนมากขึ้นผ่านวิฤตการณ์นี้ ซึ่งระบบสุขภาพของสหรัฐฯ เองที่เคยถูกมองว่ามีช่องโหว่ และด้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ยิ่งถูกมองว่าบกพร่องทางการรับมือ และมีระบบที่อ่อนแอมาก ผ่านการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาครั้งนี้
สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีเคสผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดในโลกไปแล้ว ด้วยจำนวนเคสที่มากกว่า 180,000 ราย (อัพเดทวันที่ 1 เมษายน 2563) ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่มีการคาดการณ์ว่า ทำให้เชื้อแพร่ขยายไปในวงกว้าง มาจากความคิดของคนอเมริกัน ที่ไม่นิยมไปหาหมอ หรือไปโรงพยาบาล เนื่องจากหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่มีราคาสูง ทำให้เมื่อมีอาการติดเชื้อไวรัส หรือสงสัยว่ามีอาการ พวกเขาเลือกที่จะไม่พบแพทย์
ซึ่งตรงกับการสำรวจยังพบว่า ชาวอเมริกัน ยอมหลีกเลี่ยงการไปพบหมอ แม้ว่าตนจะป่วยในอาการร้ายแรง เพราะค่ารักษา รวมไปถึงประกันที่พวกเขามี อาจจะไม่ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด โดยงานสำรวจอีกชิ้นในปี 2019 ยังพบว่า ชาวอเมริกัน 33% หยุดการรักษาพยาบาล เพราะค่าใช้จ่าย และอีก 25% เลื่อนหรือชะลอการรักษาออกไปจากอาการที่ร้ายแรงด้วย
แม้ว่าภายหลัง รัฐสภาจะอนุมัติมาตรการเยียวยาขั้นพื้นฐานในการตรวจไวรัส COVID-19 ได้ฟรีสำหรับประชาชน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีมาตรการต่างๆ ที่พูดถึงขั้นตอนการรับเข้ารักษาตัว ว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากแค่ไหน หรือเท่าไหร่ด้วย จึงทำให้แม้ตรวจฟรี แต่ประชาชนก็กังวลถึงค่ารักษาอื่นๆ ที่ตามมา
ไม่เพียงแค่เรื่องของค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาแพง จนคนเลี่ยงการไปพบหมอ โครงสร้างของระบบประกันสุขภาพที่เอกชนเข้ามามีส่วนจำนวนมาก ทำให้เมื่อเกิดโรคระบาด ขั้นตอนหลายอย่างของผู้ป่วย ที่เป็นเงื่อนไขกับบริษัทประกัน ทำให้เกิดความล่าช้า และเป็นอุปสรรคต่อการรักษาด้วย
Augie Lindmark แพทย์ประจำถิ่น แห่งมหาวิทยาลัยเยล เล่าว่า ในโรงพยาบาล มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ติดเชื้อไวรัส มีอาการคงที่ แต่ยังคงรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ควรถูกย้ายไปสถานบำบัด หรือให้กลับบ้าน เพื่อจะนำเตียงคนไข้มาใช้รองรับผู้ป่วย COVID-19 แต่กระบวนการต่างๆ กลับล้าช้า เพราะคนไข้ต้องรอการจัดการของบริษัทประกัน ซึ่งเสียเวลาเป็นวันๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเงื่อนไขของประกันเอกชนหลายอย่าง ที่ทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายในการรักษา ที่ส่งผลต่อความล่าช้าในการตรวจรักษา ซึ่งดร.จัดด์ ฮอลแลนด์ (Judd Hollander) แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและรองคณบดีที่มหาวิทยาลัย Thomas Jefferson ในฟิลาเดลเฟีย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “พวกเขากำลังดูแลสุขภาพเพื่อหาเงิน ไม่ใช่เพื่อดูแลผู้คน”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเตียงในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งมีการมองว่า สหรัฐฯ ได้เตรียมตัวน้อยกับการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ รวมไปถึงปกติแล้ว สหรัฐฯ เองก็มีเตียงในโรงพยาบาลน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ โดยจากการสำรวจในปี 2016 พบว่า สหรัฐมีเตียงเพียงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบต่อประชากร 1,000 คน เช่นเดียวกับแพทย์เองที่มีอัตราร้อยละ 2.6 ต่อ ประชากร 1,000 คนด้วย
รวมไปถึง จำนวนความสามารถในการตรวจเชื้อไวรัสในสหรัฐฯ เอง ยังเป็นไปค่อนข้างช้า และมีอัตราการตรวจประชาชนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย VOX รายงานว่า ช่วงต้นมีนาคม สหรัฐฯ มีความสามารถตรวจประชากรเพียง 23 คน ต่อประชากร 1 ล้านคนเท่านั้น
ซินเธีย ค็อก (Cynthia Cox) ผู้อำนวยการระบบติดตามสุขภาพ Peterson-Kaiser ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง VOX ว่า “ความล้มเหลวในการทดสอบโรคกำลังเพิ่มความเครียดให้กับระบบสุขภาพที่ท้าทายของเรา” และ “ การรวมกันของปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดจะทำให้สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา แย่ลงกว่าประเทศที่คล้ายกัน”
การระบาดได้สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอ ช่องโหว่ และระบบประกันสุขภาพที่ไม่ได้มีให้แก่ประชาชนทุกคนในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากเรื่องในระบบบริการการแพทย์เอง ยังมีเรื่องของการปกครองในแต่ละรัฐ ที่มีวิธีการจัดการ และรับมือที่แตกต่างกัน โดยวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้บางส่วนมองว่าถือเป็นความล้มเหลวอย่างหนักของระบบบริการสุขภาพสหรัฐฯ เลยด้วย
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้มองว่า หลังจากการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ความต้องการของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะกลับมาเป็นที่พูดถึงในสหรัฐฯ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงของ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ที่พูดถึง การปฏิรูประบบดูแลสุขภาพของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือให้รัฐเป็น single-payer หรือผู้จ่ายค่าบริการทางสุขภาพให้ประชาชนด้วย
รวมถึงยังเป็นโจทย์ใหญ่ของ ปธน.ทรัมป์ว่า เขาจะรับมือ และใช้มาตรการอย่างไรต่อไป รวมถึงจะมีวิธีการจัดการกับระบบบริการสุขภาพที่ดูเหมือนว่าล้มเหลวอยู่นี้ ในสภาวะที่สหรัฐฯ ยังเผชิญกับวิกฤตอย่างไร
อ้างอิงจาก