ประชาชนปีนรั้วเข้าไปในสภา ห้องประชุม ห้องทำงานนักการเมืองโดนบุกทำลาย แก๊สน้ำตาฟุ้งทั่วรัฐสภา เจ้าหน้าที่รีบเข้าคุมสถานการณ์ แม้ว่านี่จะเป็นภาพความวุ่นวาย ที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ แต่เหตุการณ์นี้กลับเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กับสหรัฐฯ
ด้วยเป็นการเข้าขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจประธานาธิบดี และหวังให้การรับรองผลเลือกตั้ง ที่ โจ ไบเดน จากเดโมแครต ถูกยุติลง โดยกลุ่มผู้สนับสนุนของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยังคงเชื่อว่า การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการโกง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใดๆ รับรอง และเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบประชาธิปไตยของอเมริกา
The MATTER คุยกับ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าอะไรทำให้อเมริกามาถึงจุดนี้ และพวกเขาจะใช้วิธีการแก้ปัญหา ด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งอาจารย์ก็มองว่า เหตุการณ์ปลุกระดม ที่เหมือนความพยายามทำรัฐประหารในสหรัฐฯ นี้ เป็นบทเรียนให้กับประเทศที่มีการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง อย่างไทยได้
จากเหตุการณ์จลาจลในวันรับรองผลเลือกตั้งประธานาธิบดี อาจารย์มองว่า อเมริกามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ผมคิดว่าโดยส่วนใหญ่ คงไม่มีใครคิดว่าจะเห็นวันนี้ แล้วก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว คำถามคือทำไมมันเกิด ถ้าเอาเหตุผลเฉพาะหน้า คำตอบก็คือว่า มันมาพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้สมัครที่แหวกโผของพรรครีพับลิกัน แกไม่ใช่สมาชิกพรรคแต่แรก แต่เป็นคนสนับสนุน เป็นนายทุนใหญ่ หนุนพรรคจนกระทั่ง 4 ปีที่แล้วที่เขาตัดสินใจลงสมัครประธานาธิบดีเอง
มันเป็นปัญหาเพราะในประเพณีของการเลือกตั้ง นอกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว มันมีจารีตชุดนึงที่รองรับว่า ประธานาธิบดีต้องมีประสบการณ์ ต้องเคารพกฎหมาย ซึ่งแม้ไม่ได้เขียนเป็นกฎ แต่อยู่ใน DNA ของผู้นำระดับสูงของอเมริกา สิ่งที่ทรัมป์ทำตั้งแต่ช่วงหาเสียง คือการโจมตีหลายๆ คน หาเสียงนอกกรอบ และทำหลายอย่างที่คนอื่นไม่ทำกัน ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์ทำ ทำให้เขาได้คะแนน
ทั้งตั้งแต่วันแรกที่เขารับตำแหน่ง เขายังทำลายธรรมเนียม ประเพณีของตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกา และยังทำต่อมาเรื่อยๆ แล้วผลที่ได้คือ คนยิ่งชอบ กองเชียร์ยิ่งชอบ ยิ่งมีผู้สนับสนุน และทรัมป์ก็กลายเป็นข่าวใหญ่สำคัญๆ ของโลกตลอด ไม่ว่าจะในการทำลายพิธีทางการทูต ระหว่างประเทศต่างๆ 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ละเมิดกฎหมายเกือบทุกข้อที่ประธานาธิบดีทำไม่ได้ แต่แกทำได้ และการพยายามถอดถอนแกเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน พร้อมใจกันไม่ถอดถอน และออกมาปกป้องแก พอมาคราวนี้ ทุกคนกลืนน้ำลายตัวเองหมดเลย ตอนนี้คนในวุฒิสภา ไม่เข้าข้างทรัมป์แล้ว และจะไม่หยุดรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว
ถ้าย้อนกลับไปว่า มันมาถึงเหตุการณ์ในวันนี้ได้อย่างไร ในผู้นำสหรัฐฯ ยุคแรก Founding Father กลุ่มที่เขียนรัฐธรรมนูญ เขาตั้งในให้มีบทถอดถอน หรือ electoral collage ที่มีคณะผู้เลือกตั้งมากำกับการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเขากลัวจะได้ประธานาธิบดีที่เป็นนักปลุกระดมมวลชน แต่ไม่มีหลักการ เขากลัวจะได้ผู้นำที่ปลุกปั่นให้เกิดการใช้กำลัง เข่นฆ่ากัน ซึ่งในสมัยก่อนมี ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่มีการควบคุม check and balance ถ่วงดุลอำนาจ จึงเป็นหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญอเมริกา และอยู่มาได้ถึงกว่า 200 ปี
ทรัมป์เป็นคนแรกในรอบกว่า 220 ปี ในการเมืองอเมริกัน ซึ่งที่ผ่านมา อเมริกาจะมองประเทศอื่นๆ และประณามประเทศต่างๆ แต่ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งจะเจอว่าการเมืองอเมริกัน ที่ทำให้ต้องยอมรับว่า ทุกประเทศ ทุกระบบไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน มีโอกาสจะเปลี่ยนสี แปรธาตุเหมือนกัน เพราะเขาเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่เป็นนักปลุกระดม เป็นนักหาเสียงล้วนๆ เลย แต่ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยจริงๆ
อเมริกาจะจัดการกับปัญหา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
อเมริกากำลังพิสูจน์ว่า ปัญหานี้แก้ได้ ด้วยการยืนหยัดในหลักการรัฐธรรมนูญ หลักการถ่วงดุลอำนาจ และเปิดเผย ทุกอย่างต้องทำตามหลักยุติธรรม สิ่งที่เราเห็นก่อนหน้านี้ ทรัมป์มองว่า คนในรัฐบาล หน่วยงาน หรือคนในประทรวง ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญที่เขาแต่งตั้ง ต้องตอบแทนเขา แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา เราเห็นรัฐมนตรี นายพลต่างๆ ลาออก และออกแถลงการณ์ว่า ทรัมป์ทำลายประชาธิปไตย และความมั่นคงของประเทศ ไปถึงเรื่องที่ทรัมป์เสนอ ว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ก็ถูกตีตกหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลแอริโซนา เพนซิลวาเนีย ศาลสูงสุด หรือที่อื่นๆ เพราะว่ากฎหมายก็คือกฎหมาย ความยุติธรรมก็คือความยุติธรรม จะเอาตามใจไม่ได้ หรืออย่างเหตุการณ์นี้ ทวิตเตอร์ก็ได้ปิดแอคเคาท์ของทรัมป์ 12 ชั่วโมง รวมถึงบอกว่า ถ้าไม่ยอมเลิก ปลุกระดม ปล่อย fake news ก็จะทำการปิดแอคเคาท์ตลอดกาล
ซึ่งนี่คือตัวอย่างที่ถ้าข้าราชการไทย หรือนายทุนไทย ยอมทำแบบอเมริกา ปัญหาหลายๆ อย่างในประเทศเราก็จะไม่เกิด หรือเกิดไม่ได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ภาคประชาชน หรือประชาสังคม จะยอมทำไหม จะยอมต่อสู้ หรือปิดปากเงียบ หรือของไทย
ของอเมริกา ชัดเจนเลยว่า ทรัมป์ไปไม่รอดในเหตุการณ์นี้ ไม่สามารถปลุกระดม หรือถ้าเทียบแล้ว มันคือความพยายามจะรัฐประหาร ใช้ม็อบ ใช้พวกก่อจลาจลมาและบังคับให้รัฐสภาว่าต้องทำตามทรัมป์ แต่ว่ามันไม่ไปตามแผนเพราะทุกภาคส่วนออกมาต่อต้านหมดเลย ขณะที่ไทย พวก ส.ว.หรือ ส.ส.บางส่วน กลับเป็นพวกที่รักษาระบบรัฐประหาร
จึงสรุปว่า เรื่องนี้ก็จะจบลง การจลาจลจะเกิดไม่ได้แล้ว และผมก็ไม่คิดว่าทรัมป์จะนำต่อไปได้ รวมถึงล่าสุด คณะรัฐมนตรีของทรัมป์ มีการพูดคุยกันแล้วว่า จะมีการใช้ Amendment หรือบทบัญญัติที่ 25 ซึ่งระบุว่า ถ้าประธานาธิบดีมีสภาพจิตไม่ปกติ เป็นโรค หรือเป็นอัมพาตกะทันหัน ครม.เสียงข้างมาก สามารถยุติการทำงานของประธานาธิบดีได้ และให้ รอง ปธน.ในตำแหน่งขึ้นมารับหน้าที่แทน อันนี้ผมว่า ตอนนี้เสียกำลังเชียร์ทางนี้กัน
ทั้งในเหตุการณ์นี้ ไมค์ เพนซ์ (รองประธานาธิบดี) ก็ทำให้ประชุมยุติลงได้ และมิตช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ของรีพับลิกัน ก็เสียงแข็งขึ้น ไม่ทำตามทรัมป์แล้ว ผมว่าก็มีทางที่จะเอาทรัมป์ออกได้ โดยบทบัญญัติที่ 25 มีใช้ในสมัยที่อดีต ปธน.โรนัลด์ เรแกนถูกยิง แต่ตอนนั้นไม่ต้องทำ เขาก็รู้ว่า ปธน.จะทำงานไม่ได้ แต่นี่จะถือเป็นครั้งแรก ที่เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองปลดประธานาธิบดี จากตำแหน่งกลางอากาศ
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามด้วยว่า ที่ประชาชนบุกเข้าไปในทำเนียบ ทุบประตู ทำลายของต่างๆ เขาก็บอกว่าเพราะ National guard ทหาร ตำรวจ มาช้า เนื่องจากว่าไม่มีคนออกคำสั่ง ก็มีการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ของ Black Lives Matter ที่เดินขบวน ซี่งพวกเขาถูกทุบตี ถูกลาก แต่การบุกเข้าสภา ทำไมถึงไม่มีทหาร ตำรวจออกมา ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการสอบสวนต่อไป แต่คำตอบก็คือว่าเพราะประธานาธิบดีไม่สั่ง และที่ออกมาช้า เพราะเพนซ์ โทรไปบอก รมต.กลาโหม ที่เป็นคนสั่ง National Guard ได้ และบอกหน่วยความมั่นคง ถึงมีการสั่งการ และสงบลงได้ เรียกได้ว่า เพนซ์ทำหน้าที่แทนประธานาธิบดี ในช่วงที่เกิดจลาจล ชุลมุน เพราะประธานาธิบดีไม่ทำงานแล้ว ผมจึงเห็นว่า ควรจะปลดทรัมป์ทันทีเลย
ถึงแม้ว่า ทรัมป์จะลงจากตำแหน่ง กระแสขวาจัดในอเมริกาก็ยังมีอยู่ และจะเป็นอย่างไรต่อไป
กระแสขวาจัด ก็จะยังมีต่อไป เพราะฝ่ายขวา KKK หรือ White supremacists มันมีมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในภาคใต้ ตั้งแต่แพ้สงครามกลางเมือง พวกนี้เกลียดชังคนผิวดำ คนต่างชาติมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีบทบาทขนาดนี้ เพราะว่าฝ่ายการเมืองเขาไม่หนุนหลัง ประธานาธิบดีไม่เคยเข้าไปแตะ และอยู่ห่างจากกลุ่มนี้เลย แต่คราวนี้ทรัมป์เป็นคนปลุกระดมเอง ทวิตเตอร์เอง มีปล่อยคลิปวิดีโอออกมาเอง แต่ถ้าไม่มีทรัมป์ พวกนี้ก็ยังอยู่ อาจจะมีการเดินขบวน ซึ่งก็เป็นปกติในประเทศ แต่ถ้าสื่อไม่รายงาน นักการเมืองไม่หนุนหลัง ผมว่ากระแสก็จะเงียบลง กลายเป็นเหมือนกลุ่มที่อกหักไป
ในการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่ไบเดน ยังเกิดเหตุจลาจล หลังจากนี้อาจารย์มองว่า ความท้าทายในการเข้ารับตำแหน่งของไบเดนเป็นอย่างไร
สถานการณ์นี้เปิดโอกาสให้ไบเดนเยอะมาก เหมือนหลังสงครามโลกที่อเมริกาชนะ มันมีประเด็นเยอะมากๆ ทั้งความมั่นคง COVID-19 หรือเศรษฐกิจที่เขาสามารถทำได้เลย เพราะที่ผ่านมาทรัมป์ไม่ทำ อะไรที่ถ้าไบเดนทำตอนนี้คนจะเชียร์หมดเลย และยิ่งเพิ่งชนะ ได้เก้าอี้ ส.ว.อีก 2 เสียงจากจอร์เจีย ทำให้เสียงเท่ากันกับรีพับลิกัน และมี ประธาน ส.ว.เป็นรองประธานาธิบดี คือคามาลา แฮร์ริส ที่เป็นคนตัดสิน แปลว่าตอนนี้ เดโมแครตสามารถชนะการโหวต ผ่านกฎหมาย รับรองอะไรต่างๆ ได้ คุมสภาล่าง และสภาสูง ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เดโมแครตได้รับโอกาสทองขนาดนี้
ทั้งเสียงของมวลชน ที่ออกมาเลือกเขาก็เยอะมากในครั้งนี้ คะแนนในเขตต่างๆ เกิน 50% ซึ่งถือว่าสูงมากๆ แล้วในอเมริกา ฉะนั้น คนถูกปลุกให้ออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองสูงมากในปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าจะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลต้องรีบทำงาน และแสดงผลงาน รวมถึงอะไรต่างๆ ที่ยุคสมัยของรัฐบาลโอบามา ที่เคยโดนขัดขวาง มันก็จะยังมีอยู่ในรัฐบาลหน้า แต่ก็จะหยุดไม่ได้ เพราะโอบามา ผลงานเด่นคือโอบามาแคร์ เหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค คนก็บอกว่า หวังว่าโอบามาจะสร้างผลงานมากกว่านี้ คือเขาทำ แต่หลายๆ อย่างก็ถูกบล็อกหมดเลย เช่น การเลือกศาลสูงสุด ซึ่งไบเดนจะไม่เจอการบล็อกตรงนี้
ดังนั้นในช่วง 2 ปีแรก ไบเดนต้องเก็บคะแนน ทำผลงานให้ดี จัดลำดับเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาก่อนหลัง แต่ผมคิดว่า ไม่ว่าเขาจะเลือกแก้เรื่องอะไร ทำแล้วเขาจะได้คะแนน เพราะอเมริกาตอนนี้ปัญหาเยอะมาก แก้ COVID-19 ก็มีเศรษฐกิจอีก และจีนที่ออกมาแสดงว่าเขาแก้ปัญหาได้ แม้จะเป็นคอมมิวนิสต์ ไบเดนก็จะต้องออกมาประกาศให้โลกรู้เช่นกันว่า อเมริกาที่เป็นทุนนิยมเสรี ก็แก้ปัญหาได้เช่นกัน
ที่สถานการณ์คลี่คลายลง และยุติ ส่วนหนึ่งเพราะระบบประชาธิปไตยที่วางไว้ของสหรัฐฯ ใช่หรือไม่
ใช่ เพราะระบบที่เหตุการณ์ครั้งนี้พิสูจน์ว่า คุณต้องเชื่อในหลักการของระบบว่ามันเดินได้ด้วยตัวเอง แต่เราต้องทำตามระบบ และคนต้องทำให้รัฐธรรมนูญทำงาน ทั้งประธานาธิบดี นักการเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน
ผมมองว่า สื่อมวลชนสหรัฐฯ ทำงานหนักมาก ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง เพราะทรัมป์เขาใช้สื่อของเขาคือทวิตเตอร์ และผ่านช่อง Fox News บิดเบือนตลอด ถ้าไม่มีสื่อ หรือโซเชียลมีเดียที่ออกมายืนยันข่าว ผมว่าอเมริกาจะทรุดกว่านี้ ในช่วง 4 ปีของทรัมป์
และตอนนี้ คนที่เชื่อทรัมป์ มันก็มีคนหลากหลายที่เชื่อหลักฐาน แต่ไม่มีใครไปตรวจสอบ แล้วก็สร้างข่าวเท็จต่างๆ ว่าบริษัทเอาคนมาลงคะแนน นี่คือสิ่งที่ถ้าสื่อมวลชนไม่มีหลักการ ไม่ยืนหยัดออกมา ผมว่าประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด นี่จึงเป็นเหตุที่ประชาธิปไตยแบบไทย มันล้มๆ ลุกๆ เพราะสถาบันแบบองค์กร ทั้งเอกชน ภาครัฐ ที่ต้องยืนหยัดในสถานการณ์แบบนี้ มันไม่มี จะมีก็ตอนที่สถานการณ์ทุกอย่างเรียบร้อย ในตอนที่มีเหตุยืดอำนาจ ทุกคนก็เงียบ
นี่คือบทเรียนว่าทำอย่างไร เราถึงจะมีหลักประกันว่าต้องไม่ให้รัฐประหารมันเกิด ซึ่งผมว่าถ้าเราทำได้ครั้งนึง เราก็จะทำได้ตลอดไป ของเรามันต้องมีการต่อต้านรัฐประหารจริงๆ พวกศาลพิพากษา หรือหน่วยงานต่างๆ ต้องออกมา เขียนสนับสนุนการต่อต้าน ซึ่งก็หวังว่าต่อไปจะเป็นบทเรียนว่า ถ้ามีการรัฐประหาร ทุกคนต้องเทคแอคชั่น ไม่รับรัฐประหาร