วนเวียนกลับมาอีกครั้งกับภาพของคนนอนรอการรักษาอยู่ริมถนน แม้ว่าการรักษาตัวจากโรค COVID-19 จะสามารถทำที่บ้านได้ อย่างที่หลายประเทศเน้นให้คนที่พร้อมรักษาตัวที่บ้าน ทำ Home Isolation เพื่อให้โรงพยาบาลเพียงพอต่อเคสที่จำเป็น
แต่ใช่ว่า ‘บ้าน’ ของทุกคนจะมีพื้นที่เพียงพอให้ใครคนหนึ่งกักตัวได้ อย่างข่าวของชายคนหนึ่งที่ต้องออกจากบ้านมานอนหน้าธนาคารเพราะที่ห้องเช่าไว้มีลูกและภรรยาอาศัยอยู่ด้วย และยังต้องใช้ห้องน้ำรวมร่วมกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ
เมื่อข้อจำกัดของผู้คนแตกต่างกันไป การหาพื้นที่รองรับสำหรับคนที่ไม่สามารถทำ Home Isolation (การแยกกักและรักษาตัวที่บ้าน) ได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และภาพคนที่นอนอยู่กลางถนนที่เราเห็นกันนี้ ก็เป็นเครื่องสะท้อนว่า หลายคนยังเข้าไม่ถึงศูนย์ให้บริการช่วยเหลือประชาชน
“วันนี้ที่เราเจอ รปภ.ท่านหนึ่งต้องมานอนบริเวณหน้าธนาคารเพราะที่ห้องเช่ามีเมียและลูกเพื่อนบ้านอีกหลายชีวิตต้องใช้ห้องน้ำรวม หลังจากพยายามติดต่อเข้ารับการรักษารพประกันสังคมและเบอร์ต่างๆ ไม่สำเร็จเนื่องจากติดวันหยุด จึงตัดสินใจเก็บข้าวของเสื้อผ้ามานอนรอการรักษา เบื้องต้นอาสาเส้นด้ายนำส่ง ศูนย์พักคอยเราต้องรอด คันนายาวเรียบร้อยแล้ว”
ข้อความจากเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเส้นด้าย กลุ่มอาสาสมัครที่ช่วยเหลือหาที่รักษาตัวให้กับเหล่าผู้ป่วยมาตั้งแต่ปีก่อน สะท้อนภาพวิกฤตที่วนเวียนมาอีกครั้ง และทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาเรื่องที่ทุกคนไม่สามารถ Home Isolation ยังไม่หายไปไหน
ปัญหาของเรื่องนี้มาจากความแออัดของจำนวนประชากรในบ้านหนึ่งหลัง ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่อัพเดทล่าสุดไว้ถึงแค่ปี 2563 ระบุว่า ทั่วประเทศมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ยประมาณ 3.16 คนต่อครัวเรือน จากประชากรทั้งหมดจำนวน 21,404,086 ครัวเรือน
ประเด็นก็คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำส่วนมาก มักอาศัยอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ จำนวนสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ 6-12 คน โดยสาเหตุของการที่ต้องอยู่ด้วยกันเยอะๆ เป็นเพราะต้องการแชร์ค่าใช่จ่ายต่างๆ ร่วมกัน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
ยิ่งบางครอบครัว จำนวนสมาชิกนี้จะมีช่วงวัยแตกต่างกันไป นั่นคือมีผู้สูงอายุ วัยทำงาน และวัยเรียน ซึ่งผู้สูงวัยก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ขณะที่กลุ่มทำงานและเรียนก็เป็นพาหะต่อโรค COVID-19 ชั้นดี
หรือต่อให้ไม่ต้องเป็นครอบครัวใหญ่ หากรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ก็ไม่มีใครอยากกลับไปที่บ้าน เพื่อให้คนอื่นในบ้านเสี่ยงไปด้วยเช่นกัน อย่างกรณีของผู้หญิงวัย 60 ปีคนหนึ่ง ที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน อาศัยอยู่กับลูกสาวกัน 2 คนในห้องเช่าแห่งหนึ่ง สภาพบ้านที่ไม่มีห้องแบ่งแยกกันได้ ทำให้เธอไม่ยอมกลับบ้าน และต้องระเหดระเหไปนอนอยู่แถวแยกผ่านฟ้าลีลาศอยู่หลายวัน
อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ก็ยังมีศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) ซึ่งในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีแล้ว จำนวน 41 แห่ง รวมเป็นจำนวน 5,158 เตียง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกเขตของกรุงเทพฯ อยู่ดี ซึ่งวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมานี้ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม.ระบุว่า จะเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มเพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นแล้ว
ประเด็นที่ต้องเข้าใจกันก็คือ การรักษาตัวที่บ้านเป็นเรื่องปกติ และสำหรับคนที่สามารถทำได้ ก็ควรทำเพื่อเว้นที่ว่างของเตียงไว้รองรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ ป้องกันภาพคนล้มตายเกลื่อนประเทศที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปีก่อน
แต่คำถามคือ เมื่อคนจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง และอาศัยอยู่ในกับครอบครัวในสภาพบ้านที่ไม่เหมาะแก่การทำ Home Isolation นี้ ควรมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง?
ภาพสถานการณ์ที่แม้จะยังไม่รุนแรงมาก แต่ก็คล้ายคลึงกับเมื่อปีก่อน ทำให้นึกย้อนไปถึงคำกล่าวจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ The MATTER เมื่อช่วงกลางปีก่อนว่า กรุงเทพฯ ควรเพิ่มจำนวนศูนย์พักคอยให้มีครบทุกแขวง ใครป่วยก็มานอนรวมกันได้ 14 วัน ถ้าหายก็กลับบ้านได้ แต่ถ้าไม่หาย อาการแย่ลง ก็ต้องประสานให้โรงพยาบาลมาช่วยดูแล
นพ.สุภัทรเล่าถึง ประสบการณ์การระบาดใน อ.จะนะ จ.สงขลา ว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่ดีที่สุดในการปรับเปลี่ยนมาทำเป็นศูนย์พักคอยชั่วคราว เพราะมีห้องน้ำเพียงพอ มีห้องเรียนให้แยกพื้นที่ ทั้งยังมีระบบส่งน้ำ ส่งอาหาร ส่งยา มีพยาบาลเดินขึ้นไปเยี่ยมวันละหน
“แต่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยเปิดตัวเองมาสู่กระบวนการช่วยดูแลชาวบ้าน เพราะยังกังวล อันนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะไม่อย่างนั้นการแพร่ระบาดก็จะติดหมดทั้งชุมชน พอติดมากๆ มันก็จะเพิ่มอัตราความต้องการเตียงในโรงพยาบาล เพิ่มอัตราเสียชีวิตที่บ้าน เพิ่มไปหมด ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น”
ความแตกต่างกันก็คือ สถานการณ์เมื่อปีก่อน หลายโรงเรียนยังเปิดสอนออนไลน์ ทำให้โรงเรียนปิดใช้งาน แต่ในปีนี้ เหล่านักเรียนได้กลับไปเรียนแบบออนไซต์กันมากขึ้นแล้ว เพราะทั้งนักเรียนและครูต่างล้ากับการเรียนการสอนแบบออนไลน์เต็มทน แม้ว่าโรงเรียนหลายแห่งจะพากันกลับไปสอนแบบออนไลน์ เมื่อเจอเด็กหรือบุคคลากรในโรงเรียนติดเชื้อก็ตาม แต่ก็เป็นการปิด-เปิดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้นัก
ขณะที่ ศบค.ก็เพิ่งอนุมัติมาตรการเปิดเรียน on site อยู่ได้กับโควิด ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนไม่ว่างสำหรับการทำศูนย์พักคอยแล้ว
เราขอย้ำกันอีกครั้งว่า การ Home Isolation เป็นมาตรการที่ดีและใช้กันในหลายประเทศ กับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง และหากใครสามารถทำได้ ก็ควรทำเพื่อให้พื้นที่ของระบบสาธารณสุขไทยยังเหลือว่างสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ แต่ข้อจำกัดของผู้คนที่แตกต่างกันไป ทำให้บางคนไม่สามารถทำ Home Isolation ได้ และรัฐควรคำนึงถึงประเด็นนี้ พร้อมจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการให้ประชาชนได้มีพื้นที่สำหรับพักรักษาตัว โดยไม่ต้องกังวลว่า คนสำคัญที่ใกล้ชิดกับพวกเขาจะต้องติดเชื้อไปด้วย
เพื่อไม่ให้ภาพของผู้คนนอนรอความตายอยู่กลางถนน อย่างที่เคยปรากฎเมื่อปีก่อน ต้องกลับมาอีกครั้ง
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก