ว่ากันว่าคณะรัฐประหารที่นำโดยนายพลมิน อ่องลายได้พากำลังพลบุกยึดเมืองหลักของเมียนมาทั้งเนปิดอร์และย่างกุ้งตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แต่กว่าสื่อทั่วโลกจะทราบและนำเสนอข่าวว่าการรัฐประหารและมีการจับตัวประธานาธิบดีอองซาน ซูจีเวลาก็ล่วงเข้าไปถึง 7 โมงเช้าแล้ว
ในวันเดียวกัน ชาวเมียนที่อาศัยอยู่ในต่างแดนไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไทยต่างออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านคณะรัฐประหารที่หน้าสถานทูตเมียนมา และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ‘แม่’ หรืออองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาและผู้ก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD
และล่าสุด กลางดึกของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ชาวเมียนมาในย่างกุ้งได้ร่วมกันแสดงจุดยืนต้านประชาธิปไตยด้วยการอารยะขัดขืนจากในอาคารบ้านเรือน โดยการตีกระทะ บีบแตรรถ ตะโกนข้อความ รวมถึงออกมาชูสัญลักษณ์สามนิ้วเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
ในขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมายังคงไม่สู้ดีนัก คณะรัฐประหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี นักเคลื่อนไหว และสมาชิกรัฐสภาหลายคนถูกควบคุมตัว สัญญาณอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ถูกตัดขาด ภายใต้สถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่นเช่นนี้ The MATTER ได้พูดคุยกับชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยถึงความรู้สึก ผลกระทบ และความกังวลใจของพวกเขาต่อสถานการณ์ใบบ้านเกิดและผลกระทบต่อตัวเองในฐานะแรงงานข้ามชาติ
จายเปิง หรือสายทิพย์
“เราไม่คิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เราจะกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกรอบ” จายเปิง พูดถึงความรู้สึกหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารให้เราฟังด้วยภาษาไทยที่ชัดถ้อยชัดคำ
จายเปิง เป็นชาวไทใหญ่ สัญชาติเมียนมา บ้านเกิดแต่เดิมของเขาอยู่ที่รัฐฉาน หนึ่งในพื้นที่หลักของชาวไทใหญ่ในเมียนมา ตอนเด็กๆ เขาบวชเรียนอยู่ในวัดก่อนย้ายมาทำงานที่ประเทศไทย และเข้าทำงานเป็นอาสาสมัครมูลนิธิแรงงานไทใหญ่ ในจังหวัดเชียงใหม่ คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางด้านภาษา กฎหมาย และอื่นๆ แก่ชาวไทใหญ่ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
“ผมมองว่ากองทัพ ยอมตั้งแต่การปล่อยอองซาน และยอมให้มีรัฐธรรมนูญแล้ว พวกเราก็คิดว่าให้อภัยกองทัพแล้ว” จายเปิงกล่าวถึงมุมมองของเขาว่า กองทัพเมียนมากล้าทำรัฐประหารให้ครั้งนี้เพราะมีชาติมหาอำนาจหนุนหลัง ซึ่งเขาคาดเดาว่าเป็นจีน
เขาย้อนกลับไปเล่าถึงการลุกฮือของนักเคลื่อนไหวและประชาชนของเมียนมาในปี 2006 ซึ่งสุดท้ายก็ถูกกองทัพปราบปราม ซึ่งทำให้บรรยากาศของสังคมเมียนมาในตอนนั้นเหมือนมีแต่คลื่นใต้น้ำ ประชาชนต่อต้านแต่ไม่แสดงออก ซึ่งเขาเกรงว่าครั้งนี้คลื่นดังกล่าวจะพัดโหมสู่ข้างบน ชาวเมียนมาจะลุกฮือขึ้นอีกครั้ง และอาจถูกปราบปรามอีก
“หลังจากเกิดการรัฐประหารผมก็ติดต่อทางบ้านไม่ได้ เพราะสัญญาณถูกตัดขาด และเท่าที่ผมรู้ กองทัพไม่ได้แค่เอาทหารเข้าย่างกุ้งหรือเนปิดอร์อย่างเดียว แต่เข้ามาในบ้านผมเต็มไปหมด ผมเป็นห่วงที่บ้าน”
ก่อนหน้านี้ เมียนมากำลังดำเนินสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับกองทัพ รัฐบาล รวมถึงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในรัฐฉานเอง แต่การรัฐประหารในครั้งนี้กองทัพเมียนมาได้นำกำลังพลเข้ามายึดเมืองฉานเอาไว้ จนทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลกับข้อตกลงดังกล่าว
จายเปิงเล่าว่า เขาติดตามการแถลงการณ์จากทั้งฝั่งคณะรัฐประหาร และฝั่งกองทัพรัฐฉาน ซึ่งฝ่ายคณะรัฐประหารได้ออกมายืนยันว่าจะดำเนินข้อตกลงหยุดยิงต่อไป แต่ทางกองทัพรัฐฉานก็ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจดังกล่าว และแสดงความไม่เชื่อใจต่อท่าทีของคณะรัฐประหาร ดังนั้น จึงที่ทำให้จายเปิงเป็นกังวลกับชีวิตของคนที่บ้าน
เขากล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อวานว่า “ผมก็รู้สึกดีใจที่มีคนเห็นอกเห็นใจ และอยากเรียกร้องประชาธิปไตยให้เรา”
แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาก็ยอมรับว่า ในฐานะคนที่มาทำหากินนอกบ้านต่างเมือง ต้องกังวลถึงความปลอดภัยด้วย เพราะถ้าหากเหตุการณ์เมื่อวานบานปลาย ไม่มีใครู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนร่วมชาติของเขาบ้าง โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลไทยและคณะรัฐประหารพม่าพูดคุยอะไรกันบ้าง
“ตอนนี้ประเทศเราไม่มีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียม ไม่มีความยุติธรรม มันไปอยู่กับคนที่มีปืนหมด เพราะเขาอ้างว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง” จายเปิงมองว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมการเลือกตั้งอาจโปร่งใสหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดต้องทำรัฐประหาร
“ในความคิดและความหวัง การคว่ำบาตรไม่ส่งผลดีต่อชาวพม่าหรือรัฐอื่นๆ แน่นอน เพราะมันจะทำให้ประชาชนที่ยากลำบากแล้ว ยากลำบากขึ้นอีก อยู่ในประเทศถูกกดขี่และถูกทำลายสิทธิมนุษยชน มันก็ไม่แปลกที่เขาจะเร่ร่อนไปประเทศอื่น การคว่ำบาตรไม่ใช่การแก้ปัญหา” จ่ายเปิงทิ้งท้ายถึงท่าทีของหลายประเทศที่อาจกลับมาคว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้ง
สอหนอง หรือชายชาย
“ประเทศเรา มีรัฐประหารมา 5 ครั้งแล้ว มันแย่มาก เหมือนประชาชนเมียนมาและพรรค NLD ปลูกต้นไม้ได้แค่ 5 ปี เราไม่รอ แต่ตัดต้นไม้ทิ้งเลย” น้ำเสียงของสอหนองเจือทั้งความโกรธและผิดหวัง
สอหนอง หรือชายชาย ชายสัญชาติเมียนมาที่มาประกอบอาชีพล่ามให้กับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาหรือ HRD ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เขาพูดภาษาไทยชัดเจนและเป็นคอการเมืองที่ติดตามความเคลื่อนไหวในประเทศตัวเองตลอดมา
“แย่มาก เพราะรัฐประหารมา 5 ครั้งแล้ว และมันไม่เหมือนประเทศไทย กองทัพอยู่นานมากๆ ไม่เหมือนประเทศที่แปปเดียวก็เลิก” สอหนองพูดถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมาในปี 1958, 1962, 1988, 2010 และครั้งล่าสุดเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา
เขาย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนการรัฐประหารวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1962 ซึ่งเขาชี้ว่าในขณะนั้นเศรษฐกิจของเมียนมาเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ค่าเงินของเมียนมา 1 จัตเทียบเป็นเงินไทย 5 บาท ขณะที่ในขณะนี้เงินไทย 1 บาทมีค่ามากกว่า 44 จัต
“ตอนนี้ทุกคนและทุกประเทศก็รู้อยู่แล้วว่าประเทศของเรามันพัฒนาเท่าไร อย่างไร อย่างในวันนี้หลายบริษัทก็มีการถอนทุนออกไป ซูซูกิ ฮอนด้า หรืออะไรต่างๆ ก็ปิดไป ชายแดนที่ติดกับไทยก็ปิดหมดเลย ทำแบบนี้เหมือนให้ประชาชนทั้งในประเทศตัวเอง และเพื่อนบ้านลำบาก”
สองหนองมองว่า เหตุผลของการรัฐประหารครั้งนี้ น่าจะมาจากปัญหาคอร์รัปชั่นของคนในกองทัพเมียนมา ก่อนหน้านี้ ทั้งคนของกองทัพและพรรคพันธมิตร USDP ต่างไม่ยอมให้ตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งเขาชื่อว่าถ้าพรรค NLD ยังครองอำนาจอยู่และมีเสียงข้างมาก น่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเผื่อย้อนตรวจสอบทรัพย์สินของพันธมิตรกองทัพทั้งหมด
สอหนองเล่าต่อถึงผลกระทบจากการรัฐประหารถึงตัวเขาและเพื่อนว่า “ผมและเพื่อนคนอื่นเป็นคนต่างชาติ ก็ต้องมีวีซ่า ต้องถือเอกสารพาร์สปอร์ตตามข้อตกลง แต่ปีนี้วีซ่าผมกำลังจะครบ และถ้าขอเล่มใหม่ไม่ได้ ทั้งผมและเพื่อนๆ ก็จะอยู่แบบผิดกฎหมาย และอาจถูกส่งกลับเมียนมา”
“ที่นู้นเขาก็ออกไปไหนกันไม่ได้ ถ้าออกก็ต้องโชว์บัตรประชาชน และถูกตรวจสอบว่ามีการติดต่อกับประเทศไหนบ้างอีก การใช้อินเทอร์เน็ตก็ถูกตัดหมด เหลือแต่เครือข่ายของกองทัพ”
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย สอหนองมองว่ามีทั้งแง่ที่ดีและไม่ดี ในแง่ที่ดีคือ “เป็นการแสดงว่าพวกเราไม่ยินยอมให้กองทัพยึดอำนาจในประเทศพวกเราเหมือนกัน และทุกคนๆ อยากอยู่ใต้ประชาธิปไตยเหมือนกัน”
แต่ในอีกแง่หนึ่ง เขาคิดว่าเมื่อคนเมียนมาอยู่ในประเทศไทย ก็ต้องเคารพกฎหมายไทยด้วยเช่นกัน และการปราศรัยหน้าสถานทูตก็มีการใช้คำไม่ดีซึ่งเขามองว่า ถ้าไปแล้วพูดดี ใช้คำดี ว่าไม่เห็นด้วยกันการรัฐประหารอย่างไร มันจะดีกว่านี้ อีกประการหนึ่งคือ “ถ้าสมมุติว่าตำรวจหรือทหารไทยจับทุกคน คนไทยอาจรอด แต่แน่นอนว่าคนเมียนมาที่ไป คงไม่รอด และถ้าเกิดบาดเจ็บจะมีใครดูแลอีก”
ถึงแม้ไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ แต่ “ถ้าขอได้ ก็อยากขอโทษประเทศไทยและคนไทยด้วย ”
“อองซาน ซูจีได้โนเบลจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่เขาก็เลือกมาทำงานที่ชอบ ทิ้งสามี และลูกมาดูแลประชาชน ถ้าให้เขาบริหารประเทศจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เลย แต่หลังจากนี้ จะไม่มีใครที่สามารถดูแลหรือดำเนินการเท่าที่อองซานทำได้หรอก”
สถานการณ์ต่อไปของเมียนมาจะเป็นอย่างไรยังต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่ในขณะนี้ ผู้นำหลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี รวมถึงในโลกอินเตอร์เน็ตต่างพากันติด #savemyanmar ปฏิเสธความชอบธรรมของการรัฐประหาร
แต่นายกรัฐมนตรีของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังย้ำจุดยืน ‘ไม่ก้าวก่ายการเมืองภายใน’ ตามหลักประชาคมอาเซียน..