ใกล้รุ่งสางของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นารี ไชยเสนา พนักงานทำความสะอาดของเขตบางขุนเทียนถูกรถเก๋งชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอก กทม. ทำให้เกิดคำถามต่อมาถึงความเสี่ยง อุปกรณ์เซฟตี้ และสวัสดิการสำหรับผู้ดูแลท้องถนนของ กทม.
พนักงานของ กทม. ทุกคนเปรียบเสมือนมือไม้ที่คอยช่วยเหลือและปฏิบัติตามนโยบายที่ผู้ว่า กทม. มอบให้ พวกเขาจึงเป็นบุคคลากรคนสำคัญที่คอยทำให้ กทม. น่าอยู่และพัฒนาไปข้างหน้า และเมื่อพวกเขาเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่จึงไม่ต่างอะไรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตระหว่างจับกุมผู้ร้าย หรือคุณหมอที่ติดโรคร้ายในช่วงไวรัสระบาด
The MATTER ลงพื้นที่บริเวณบีทีเอสหมอชิต หน้าห้างเซนทรัลลาดพร้าว และถนนเส้นรัชดาจากหน้าศาลอาญา – เซนทรัลพระราม 9 เพื่อพูดคุยกับพนักงานดูแลความสะอาดถนนของ กทม. ถึงความเสี่ยงในการทำงานบนท้องถนนทั้งจากรถยนต์ และความเสี่ยงในระยะยาวอื่นๆ ตลอดจนความคาดหวังที่พวกเขาอยากเรียกร้องไปถึงผู้มีอำนาจทั้งในเรื่องสวัสดิการและเงินเดือนที่คุ้มค่าต่อความเสี่ยงในอาชีพการงาน
พนักงานทำความสะอาด-พนักงานดูแลสวนเกาะกลาง
สำหรับพนักงานทำความสะอาดแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็น 2 กะคือ ในช่วงเช้า 5.00 – 13.00 น. และช่วงบ่าย 13.00 – 21.00 น. โดยหน้าที่ของพนักงานทำความสะอาดคือดูแลความสะอาดและเรียบร้อยของบริเวณที่ตัวรับผิดชอบ
ด้านพนักงานสวนทำงานในเวลาสั้นกว่าคือ 8.00 – 14.00 น. แต่ในช่วงไวรัสระบาด ทาง กทม. ได้อนุญาตให้พนักงานในส่วนนี้กลับบ้านได้เลยหลังทำงานช่วงเช้า ไม่ต้องดูแลต้นไม้ในช่วงบ่าย สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานดูแลสวนก็คือตัด เล็ม ดูแลความสวยงามและปลอดภัยของต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน
ทั้งสองอาชีพแบ่งวิธีจ้างงานออกเป็น 2 กลุ่ม ลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ สำหรับลูกจ้างชั่วคราวได้รับเงินเดือนบวกเงินเพิ่มเติมประมาณ 12,000 บาท/ เดือน ถ้าได้รับการจ้างประจำจะได้รับเงินเดือนตามขั้นตั้งแต่ 15,000 – 21,000 บาท/ เดือน โดยผู้ที่อำนาจตัดสินใจปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานประจำคือเจ้าหน้าที่ของกองจัดการขยะมูลฝอยของ กทม.
ทางด้านสวัสดิการ กทม. ให้สิทธิคนกลุ่มนี้สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตร รวมถึงค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัวได้ทั้งหมด ซึ่งสวัสดิการนี่เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ องุ่น (นามสมมติ) และส้ม (นามสมมติ) พนักงานกวาดถนนเส้นถนนรัชดา ยอมมาทำงานที่ทั้งร้อน ใช้กายมาก และเสี่ยงชีวิตตลอดเวลาแบบนี้แบบนี้
“ถ้าเรานึกถึงอนาคตของครอบครัวเราและพ่อแม่เรา งานตรงนี้มันคืออนาคตเลยนะ มันเบิกค่ารักษาพยาบาลให้พ่อ แม่ ลูก สามีได้ ค่าเล่าเรียนลูกก็เบิกได้” ส้มอธิบายให้ฟังถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจมาจับไม้กวาดและสวมชุดพนักงานของ กทม.
เช่นเดียวกับ องุ่น ที่ยอมลาออกจากอาชีพเดิมเป็นครูในโรงเรียนเอกชน เพื่อมาทำงานเป็นพนักงานกวาดถนนของ กทม. เป็นเวลา 22 ปีแล้ว
“แต่ก่อนป้าเป็นครูโรงเรียนเอกชนนะ แต่ป้าอยากได้สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่ เบิกค่าเล่าเรียนให้ลูก จนตอนนี้ก็ทำมา 22 ปีแล้ว จนลูกจบปริญญาหมดทุกคนแล้ว และอีกประมาณ 4-5 ปี ป้าก็เกษียรแล้ว”
ความเสี่ยงบนท้องถนนไทย
เมื่อปีที่แล้ว องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียและอาเซียน โดยอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นคิดเป็น 32.7 คน/ ประชากร 1 แสนคน หรือคิดเป็นอันดับ 9 ในโลก และยิ่งคนที่ต้องอยู่บนท้องถนนตลอดเวลาด้วยแล้ว ความเสี่ยงตรงนี้น่าจะยิ่งเพิ่มขึ้น
“เวลาเรากวาดเราเดินหน้า รถเข้ามาประชิดเราไม่รู้ มาถึงมันพุ่งเลย มันเสี่ยงนะ เคยทีนึง มันชนบุ้งกี๋ลากไปถึงเซนทรัลพระราม 9 เลย”
องุ่นเล่าให้ฟังขณะที่นั่งพักหลบน้ำค้างจากฝนที่เพิ่งหยุดอยู่ใต้ชายคาของอาคาร เธอเล่าต่อว่า ในช่วงกะเช้าพนักงานทำความสะอาดก็เผชิญความเสี่ยงแบบหนึ่ง ขณะที่ในช่วงก็เผชิญอีกแบบหนึ่ง “ช่วงเช้าเนี่ยมันจะเสี่ยงตรงคนที่เมา เที่ยว หลับในมา ช่วงบ่ายมันจะดีกว่า แต่ก็มีคนที่รีบเหมือนกัน เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้างอะไรแบบนี้”
พนักงานทำความสะอาดถนน 3 คนเล่าให้ The MATTER ว่า ถึงแม้ปัญหามอเตอร์ไซค์ขึ้นฟุตปาธจะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีอยู่ และมันทำให้คนที่ต้องทำงานโดยหันหลังอยู่บนถนนตลอดเวลาเช่นอาชีพพวกเธอสุ่มเสี่ยงมากขึ้นจะโดนเชี่ยวชน
หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของพนักงานทำความสะอาดคือ คอยเคลียร์ขยะที่ปากท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขังบนนถนน ซึ่งก่อนที่จะให้สัมภาษณ์กับเรา ส้มเองก็เพิ่งลงไปก้มเคลียร์ขยะบริเวณปากท่อเช่นกัน แล้วกับตาของเรา เธอเกือบถูกมอเตอร์ไซค์ที่ขับอยู่บนเลนซ้ายสุด (ซึ่งก็ไม่ผิดกฎหมาย) เชี่ยวชน โดยที่เธอไม่รู้ตัวเลย
นอกจากนี้ ความไม่สม่ำเสมอของพื้นถนนที่ทำให้เกิดน้ำขัง ยังทำให้ส้มเปียกไปหมดทั้งตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเธอเล่าว่าได้แต่บ่นอุบกับตัวแล้วก้มหน้าทำงานต่อไปจนกว่าจะเลิกงาน
ขณะที่ทางด้าน มล (นามสมมติ) พนักงานดูแลสวนเกาะกลาง บริเวณใกล้กับทางกลับรถสวนจตุจักร เล่าถึงความระทึกที่เธอเพิ่งเจอสักครู่ก่อนให้สัมภาษณ์กับเราว่า
“เมื่อกี้มาดๆ เลย พี่เล็มต้นไม้อยู่ตรงแยกนี้แล้วหลังใช่ไหม รถเมล์เขาขับมาไม่ชะลอเลย เหมือนเขากลัวจะไม่ทันไฟแดง แล้วใจพี่ตกใจมากเลยเพราะเพิ่งเห็นข่าวเมื่อวานที่ชนพนักงานกวาดถนนเขตบางขุนเทียน”
“บางทีเราตั้งกรวยไว้กัน เขายังชนกรวยเราเลย ยิ่งช่วงสายๆ ที่คนรีบยิ่งอันตราย เขาน่าจะเห็นเราบ้างล่ะคนทำงาน ไม่ใช่คุณเอาแต่เร่งสปีดอย่างเดียว” มลพูดสรุปถึงปัญหาการทำงานบนถนนของพวกเธอว่า “อยู่บนท้องถนนนี้ต้องระวังตัวเองตลอดเวลา”
ขณะที่ทางด้าน ชนิดา (นามสมมติ) พนักงานดูแลสวนเกาะกลางบริเวณเซนทรัลลาดพร้าวยืนยันประสบการณ์กับตัวเช่นกันว่า “มันไม่ปลอดภัยนะ บางทีเอากรวยมาวางบนถนนยังถูกชนกระเด็นเลย มันต้องเซฟความปลอดภัยของตัวเองนะ แต่บางทีมันก็มัวแต่ตัด หันหลังทำงาน รถมันมารอบด้านมันก็ไม่ทันระวังเหมือนกัน อันตรายมาก”
ถ้ายึดตามตัวเลขสถิติจาก WHO และคำบอกเล่าของผู้ที่ทำงานอยู่บนท้องถนน ความเสี่ยงบนท้องถนนของไทยดูจะยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก
สุขภาพถูกกัดกิน
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยถกเถียงกันมากถึงปัญหามลภาวะโดยเฉพาะฝุ่นชนิด PM 2.5 ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากการใช้รถใช้ถนน ซึ่งข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กรุงเทพมีรถจดทะเบียนทั้งหมด 11.3 ล้านคัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดนี้ที่วิ่งอยู่ แต่นั่นก็พออนุมานได้ว่าปริมาณของมลพิษบนท้องถนนในกรุงเทพฯ นั้นมีมากแค่ไหน
ซึ่งจากการพูดคุยกับทีมพนักงานกวาดถนนและพนักงานดูแลสวนเกาะกลางทั้งหมด 6 คน ครึ่งต่อครึ่งมีอาการคล้ายหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และจะเป็นลมระหว่างทำงานหรือเมื่อถึงบ้าน โดย มล พูดถึงปัญหาดังกล่าวว่า
“เป็นกังวลมากเรื่องฝุ่น เพราะพวกพี่ต้องอยู่บนถนนตลอดเวลาก็เจอผลกระทบอยู่แล้ว เช้าขึ้นมาพี่มาทำงานก็ต้องเจอกับฝุ่นแล้ว”
เธอกล่าวต่อว่าเมื่อวานเธอเพิ่งมีอาการน้ำมูกไหลจนเจ็บจมูก ซึ่งทำให้เธอเป็นกังวลขึ้นสองเท่าเพราะไม่แน่ใจว่า อาการของเธอเกิดจากฝุ่นหรือโรคระบาดกันแน่
“ควันรถมันก็มี มันก็ต้องใส่แมสก์ป้องกันตัวเอง แต่ไม่เคยทำงานแล้วปวดหัวนะ มีแต่เป็นตอนกลับบ้านแล้ว แต่ถ้าจะให้ใส่ 2 ชั้นไม่ไหว หายใจไม่ออก อากาศร้อนๆ ด้วย” องุ่นพูดถึงอาการของตัวเองหลังทำงานบนถนนทุกวันมาเป็นระยะเวลา 22 ปี
ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งบอกว่าไม่มีอาการ และดูเหมือนปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาตระหนักและวิตกมากนัก เช่น ส้ม พนักงานกวาดถนนริมถนนรัชดาที่เล่าว่า เธอไม่รู้สึกกังวลอะไรนัก เพราะอาจเป็นเพราะว่า “ชินกับฝุ่นแล้ว” แต่เมื่อถามต่อเนื่องไปว่าเธอไปได้มีการไปตรวจร่างกายบ้างไหม เธอก็ยอมรับว่า “ไม่ค่อยได้ไปเลย”
ค่าเสี่ยงภัยหรือโบนัสก็ดี
พนักงานดูแลถนนของ กทม. ยืนยันตรงกันว่า พอใจมากกับสวัสดิการที่ได้รับจากหน่วยงานแม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ในฐานะอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต ต้องอยู่บนท้องถนนตลอดเวลาควรได้รับเงินเพิ่มเติมไหม ไม่ว่าจะเป็นค่าเสี่ยงภัยหรือโบนัสเล็กน้อยๆ จากหน่วยงานก็ตามที
สำหรับ มล พนักงานดูแลถนนเกาะกลางที่ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำและทำงานมาร่วม 20 ปีแล้วมองว่า อาชีพของเธอมีความเสี่ยงและอาจไม่คุ้มนักเมื่อเทียบกับเงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับในตอนนี้ เธอกล่าวว่า
“เราคิดว่า 21,000 บาท/ เดือน (เงินเดือนสูงสุดของพนักงานดูแลถนน กทม. – ผู้เขียน) มันน้อยนะถ้าเทียบกับความเสี่ยง และก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่า ผู้ใหญ่เขาบอกว่าเงินเดือนเท่านี้ถือว่าคุ้มแล้ว ค่าตอบแทนสูง แต่พี่ว่ากับความเสี่ยงเท่านี้ มันไม่คุ้มเลย”
“ปีที่แล้วพวกพี่ได้โบนัส 5,000 บาท แต่ปีก่อนหน้านี้มันได้เดือนนึงถึงเดือนครึ่ง มันก็เป็นกำลังใจเรานะ แต่นั่นแหละ เขาก็บอกว่ามันไม่มีเพราะเอาไปช่วยตรงนู้นตรงนี้หมดแล้ว ซึ่งเราก็ยอมรับนะ แต่ความรู้สึกของคนทำงานกลางถนนเนี่ย มันเสี่ยงทุกอย่างจะโดนรถชน สุขภาพเสีย มันเสี่ยงทุกอย่าง” มลกล่าว
ด้าน องุ่น พนักงานกวาดถนนที่ทำงานมากว่า 20 ปีเล่าให้ฟังว่า “เขาเคยเอาเรื่อง (ค่าเสี่ยงภัย – ผู้เขียน) ขึ้นไปคุยนะ แต่ก็ยังไม่ได้” ก่อนเปรียบเทียบต่อว่า เธอเองมองว่าพนักงานกวาดถนนกับพนักงานดับเพลิงมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน และอาจเป็นอาชีพเธอที่เสี่ยงกว่าด้วยซ้ำ เพราะต้องอยู่บนถนนตลอดเวลา
“กับดับเพลิงใครเสี่ยงกว่าล่ะ? อันนั้นเขาเสี่ยงแน่แต่นานๆ ที แต่พนักงานแบบป้านี่ตลอดเวลา”
องุ่นกล่าวเสริมว่า “อย่างอื่นมันโอเคแล้ว แต่มันก็น่าให้ค่าเสี่ยงเรา เพราะป้ามองว่ามันเสี่ยงกว่าอาชีพอื่น อย่างลูกเขยทำอยู่ดับเพลิงจากตอนแรกได้ค่าเสี่ยงภัย 7,000 บาท กำลังจะขึ้นให้อีกแล้ว ทำไมเขาได้แต่ป้าไม่ได้”
อุปกรณ์ดีพอหรือยัง
ภายหลังพนักงานดูแลความสะอาดถนนของเขตบางขุนเทียนถูกรถชนเสียชีวิตและกลายเป็นข่าว วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมได้ออกมายืนยันว่า กทม. ให้ความใส่ใจกับความปลอดภัยของพนักงานทุกคน โดยได้มีการฝึกอบรมการระมัดระวังตัวเองไว้แล้ว พร้อมอ้างถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลงตั้งแต่มีการปรับให้พนักงานใส่เสื้อสะท้อนแสง โดยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557-2560 มีพนักงานดูแลถนนของ กทม. เสียชีวิต 4 คน/ ปี ขณะที่เมื่อเปลี่ยนมาใส่เสื้อสะท้อนแสงในปี 2561-2563 เหลือ 1 คน/ ปี
ขณะที่ทางด้าน กลุ่มพนักงานดูแลถนนมองว่า เสื้อกั๊กที่พวกเขาสวมเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เซฟตี้ที่มีประสิทธิภาพจริง โดยทั้ง 6 คนที่ได้ทำการสัมภาษณ์ พวกเขายืนยันว่าตัวเองใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงทุกครั้งที่ทำงาน เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ยกตัวอย่างบทสนทนากับ มล ที่มองว่า กรวยและเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเป็นอุปกรณ์เซฟตี้ของพนักงานดูแลความปลอดภัยของถนนแล้ว
“เราก็ป้องกันตัวเอง และมันก็มีกรวย กับเราใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงที่คนน่าจะเห็น แต่ถ้ารถมาเร็วๆ มันก็ช่วยไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม เรื่องประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้ฟังอีกมุมจากเพื่อนซึ่งเป็นผู้ใช้รถใช้ถนน เธอเล่าว่าช่วงรุ่งสาง เธอเองก็เกือบขับรถชนพนักงานดูแลถนนของ กทม. แล้ว เนื่องจากเสื้อกั๊กสะท้อนแสงที่พวกเธอสวมอยู่นั้นไม่ได้มองเห็นได้ถนัดตานัก
รวมถึงกรณีของพนักงานกวาดถนนของเขตบางขุนเทียนเอง ซึ่งตอนที่ถูกชนก็สวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเช่นกัน ดังนั้น ถ้าวางเรื่องความผิดพลาดส่วนบุคคลที่อาจเกิดขึ้นได้บนท้องถนนลงก่อน คำถามเรื่อง ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์ป้องกันตัวเองบนถนนน่าจะถูกถามต่อไปถึงส่วนกลางว่าควรพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขอย่างไรไหม
กทม. จะมองปัญหานี้อย่างไร
ในวาระใกล้เลือกตั้งผู้ว่า กทม. คนใหม่แบบนี้ นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่เหล่าผู้ลงสมัครควรให้ความสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้เปรียบเสมือนผู้ดูแลสวนหน้าบ้านของ กทม. จะสวยงามหรือรกร้าง ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสำคัญและใส่ใจพวกเขาแค่ไหน
โดยในเพจเฟซบุ๊กสำนักงานเขตบางขุนเทียนที่ลงโพสต์ไว้อาลัยการเสียชีวิตของ นารี ไชยเสนา พนักงานกวาดถนนเขตบางขุนเทียนไว้ว่า “ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ นางฟ้าผู้เป็นที่รักของชาวสำนักงานเขตบางขุนเทียน” และระบุถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบันไว้ด้วยว่า “บุคลากรที่ผู้ว่า กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ให้ความสำคัญมาโดยตลอด”
ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ลงสมัครผู้ว่า กทม. ในนามอิสระ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า “เรามีบุคลากรที่ช่วยดูแลเมืองที่มีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ในหลายๆตำแหน่ง เราต้องดูแลให้พวกเขามีอุปกรณ์ในการป้องกันอันตรายที่เหมาะสมและต้องดูแลสภาพการทำงานให้มีความปลอดภัย และทางภาครัฐต้องกวดขันระเบียบวินัยจราจรอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเสียใจแบบนี้ขึ้นอีกครับ”
ขณะที่ทางด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้ลงสมัครผู้ว่า กทม. จากพรรคก้าวไกลตั้งคำถามถึงอุปกรณ์ที่ลูกจ้างเหล่านี้ใช้ และกดดันให้ทาง กทม. ติดตามความคืบหน้าในคดีนี้ด้วย เขาระบุผ่านเฟซบุ๊กเช่นกันว่า “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กทม. จะไม่ใช่แค่ชดเชยต่อการสูญเสีย แต่ต้องช่วยประสานงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคุณนารี (ผู้เสียชีวิต) ด้วย พร้อมกับทบทวนสวัสดิภาพและความปลอดภัยของบุคลากร กทม. ที่ทำงานเสี่ยงภัย และมีรายได้น้อยได้แล้ว”
วิโรจน์ทิ้งท้ายว่า “หลังจากนี้ผมหวังว่า กทม. จะเข้ามาดูแลว่าการทำงานของพนักงานดูแลความสะอาด นั้นมีเสื้อสะท้อนแสง และอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ ที่เพียงพอ ตลอดมีค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแล้วหรือไม่”
ถึงแม้วันที่และเวลาในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ยังไม่มีการประกาศออกมาแน่ชัด แต่เชื่อมั่นว่าสวัสดิการและความปลอดภัยของพนักงาน กทม. ทุกคนจะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่เหล่าผู้ลงสมัครต้องคิดทบทวนกัน เพราะนอกจากพวกเขาจะคอยดูแลท้องถนนของ กทม. แล้ว พวกเขายังถือว่าเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่ควรได้รับความปลอดภัยสูงสุดในชีวิตด้วย