เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 กลุ่มผู้ชุมนุม Truck Power ร่วมกับกลุ่มอื่นได้มาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันให้ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ พร้อมทั้งแจงว่าถ้าทำไม่สำเร็จ อาจมีการปรับค่าโดยสาร และทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นเป็นขบวน
อันที่จริง ปัญหาราคาน้ำมันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันกระทบพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่หลายครั้งปรับตัวขึ้นทีละนิดตามราคาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น
The MATTER ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขอนิยามว่า “ม็อบน้ำมัน” พวกเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานด้านขนส่งได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างทั้งทางตรงจากราคาพลังงานและทางอ้อมเช่นราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงข้อเรียกร้องของพวกเขาที่หวังไว้คืออะไร
น้ำมัน-แก๊สแพง
“ผมเติมวันนึงสองรอบ ครั้งละ 200 บาท นี่ยังไม่เต็มถังเลยเลยนะ แย่มากเลยครับ น้ำมันขึ้นเอาๆ แต่หาเงินได้เท่าเดิม”
ณรงฤทธิ์ วีระศักดิ์ ผู้ขับรถเดลิเวอรี่ ซึ่งขับรถโฉบมาร่วมชุมนุมบริเวณกระทรวงพลังงานเล่าให้เราฟัง ตัวเขาเองขับมอเตอร์ไซค์ Yamaha รุ่น X-Max ซึ่งข้อมูลทางเทคนิคชี้ว่ากินน้ำมันอยู่ที่ราว 31 กม./ ลิตร นับว่าเป็นหนึ่งในรุ่นที่ประหยัดมากแล้ว ณรงฤทธิ์เล่าว่าเขามีลูกสาวคนนึงวัยกำลังซนอายุ 4 ขวบ และมีภรรยาที่ประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสวนทางค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่กำลังสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาสินค้าบางชนิดขาดตลาด เช่น เนื้อหมู ทำให้เขาต้องประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวมากขึ้น
“ผมกินข้าวมื้อเดียวเพราะอยากประหยัด ที่เหลือจะได้เอาไปเติมน้ำมัน แต่มันเติมแปปๆ ก็หมดแล้ว เพราะทุกวันนี้โซฮอลล์ 95 ตกลิตรละ 35 บาทกว่าแล้ว”
หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนกุมภาพันธ์) ราคาแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 24.05 – 26.05 บาท/ ลิตร ขณะที่ในปี 2565 ผ่านมาเพียงหนึ่งเดือนกับอีกเก้าวัน ราคาน้ำมันขยับมาแล้วทั้งหมด 9 ครั้ง และล่าสุดราคาแก๊ซโซฮอลล์วันที่ 8 ก.พ. 65 อยู่ที่ 35.05 บาท/ ลิตร ขณะที่เบนซินทะลุไปถึง 42.46 บาทแล้ว
สำหรับโชเฟอร์แท็กซี่ซึ่งใช้ทั้งแก๊ส NGV และน้ำมันควบคู่กันไป พวกเขาก็ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามปัญหาของพวกเขาทับซ้อนทั้งเรื่องของโรคระบาดและการเข้ามาของแพลตฟอร์มขนส่งใหม่ๆ โดย มโนชัย โมบัณฑิต หนึ่งในโชเฟอร์แท็กซี่ที่มาร่วมชุมนุม บ่นอุบว่า
“เดี๋ยวนี้วันนึงเราวิ่งได้ประมาณ 800 บาท ค่าน้ำมันกับแก๊ส 500 บาทแล้ว แล้วค่ากินเราอีก แล้วลูกเมียกินอะไรล่ะ ไหนจะค่ายบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ อีกละ” โชเฟอร์มโนชัยเล่าต่อว่า ก่อนช่วงโรคระบาดเขาเคยได้รายได้ตกวันละ 1,500 – 1,600 บาท แต่ตอนนี้ลดลงครึ่งต่อครึ่ง
เช่นเดียวกับเพื่อนโชเฟอร์แท็กซี่ ทศพล เจริญธรรม ที่ระบายให้ฟังถึงความยากลำบากของการนั่งอยู่หลังพวงมาลัยในทุกวันนี้ “ทุกวันนี้ได้ 700-800 บาทก็หรูแล้ว ซึ่งมันเป็นค่าแก๊ซ 300 บาท ค่ารถอีก 400 บาทแล้ว นี่ยังมีค่ากินเราอีกนะ ”
“ถ้าได้ตังค์ไม่ถึง 300 บาท เราไม่กล้าเข้าบ้าน ต้องนอนอยู่ปั๊มบ้าง เซเว่นบ้าง เพราะ ถ้าลูกขอตังเราไม่มีให้ทำไงล่ะ และมันต้องมีตังติดกระเป๋าเป็นค่าแก๊สพรุ่งนี้อย่างน้อยสัก 100 นึงก็ยังดี” โชเฟอร์ทศพล เล่าให้ฟัง
เช่นเดียวกับ ไสว บุญช่วย คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ช่วยขนของมาให้กลุ่มผู้ชุมนุมก่อนตักสินใจปักหลักนั่งฟังการปราศรัยด้วย โดยไสวเล่าว่าทุกวันนี้รายได้ของเขาลดลงจากหลายปัญหาที่รุมเร้า แต่ราคาน้ำมันกลับแพงขึ้นทำให้เงิน 150 บาทบางครั้งเติมไม่ได้เต็มถังด้วยซ้ำ
“เดี๋ยวนี้เติมแก๊สบางทีก็เกิน 150 บาทแล้ว แล้วทุกวันนี้รายได้ผมก็ลดลงมาก จากปกติออกรถตี 3 เลิก 5-6 โมงเย็น ได้กำไร 500-600 บาท เดี๋ยวนี้เหลือ 200-300 บาทเท่านั้นเอง”
แพงทั้งแผ่นดิน
ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลกับค่าครองชีพต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เพราะพลังงานเป็นปัจจัยหลักในการขนส่งสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่ง และเมื่อค่าครองชีพทะยานสูงขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง สถานการณ์ตอนนี้ยิ่งสาหัสสำหรับหลายคน
“ทุกวันนี้เราไม่กล้ากินข้าวแกง 40-50 บาทแล้ว ยิ่งก๋วยเตี๋ยวก็มี 50-60 บาทแล้ว ต้องกินข้าวเหนียวหมูพวง หมู 2 ไม้ ข้าวเหนียว 1 ห่อ อยู่ได้แล้ว 25 บาท ถ้าไปกินอย่างอื่นจะเหลืออะไร” ทศพลระบายด้วยความอัดอั้น
เช่นเดียวกับ ประมวล ขจรเพชร พนักงานขับรถโดยสารระหว่างจังหวัด ซึ่งอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้รายได้ลดน้อยลง เพราะรอบเที่ยวรถที่ลดน้อยลง โดยเขาเล่าว่าปกติจะได้ค่ารถรอบละ 1,200 บาท แต่สถานการณ์ในตอนนี้ที่กองสุมด้วยหลายปัญหา ทำให้จากที่เคยวิ่ง 10 – 12 รอบ/ เดือน เหลือเพียงไม่เกิน 5 รอบ หรือเรียกว่ารายได้ลดลงครึ่งต่อครึ่ง
“อย่างกับข้าววันนึงถ้าพิเศษมีไข่ดาวด้วย 50 บาท กินสามมื้อก็ 150 บาทแล้ว แต่มันไม่ใช่เฉพาะข้าวไง คนขับรถมันต้องกินทั้งกาแฟทั้งเอ็มร้อย วันนึง 200 กว่าบาทก็เอาไม่อยู่ และที่บ้านมีพ่อ แม่ พี่สาว น้องสาวอีก ทั้งหมดบ้านมีผมทำงานคนเดียว แต่ดีหน่อยเพราะผมไม่มีหนี้ ก็พอเบาใจได้บ้าง”
เช่นเดียวกับ สราวุฒิ ปทุมสูตร พนักงานขับรถบรรทุก ซึ่งระบบทำงานใกล้เคียงกับพนักงานขับรถโดยสารต่างจังหวัด คือวิ่งเท่าไหนก็ได้ค่ารอบเท่านั้น เขาเล่าว่า
“ภาระโดยตรงของเราเลยคือค่าครองชีพ ซึ่งมันก็เกี่ยวกับน้ำมันแน่นอน แล้ววันขับรถมันกินไม่ใช่น้อย ไหนจะกาแฟตก 2 กระป๋อง/ วัน เอ็มร้อยห้าสิบ แล้วข้าวกล่องละ 50 บาทอีก และถ้าวันไหนแฟนกับลูกมาด้วยก็เพิ่มไปอีก” เขาพูดแล้วหันไปมองลูกชายวัย 8 ขวบ และแฟนสาวที่นั่งอยู่บนรถ
โปรดควบคุมราคาพลังงาน
สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม Truck Power 3 ประการที่เรียกร้องต่อรัฐบาลคือ
- ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 25 บาท/ ลิตร
- ลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาท/ ลิตร
- ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน เป็นระยะเวลา 1 ปี
ณรงค์ฤทธิ์ พนักงานขับรถเดเลเวอรี่ เรียกร้องว่า อยากให้ตรึงราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ด้วย อย่างน้อยๆ ขออยู่ที่ต่ำกว่า 30 บาทก็ยังดี
“มันไม่ไหวแล้วกับราคาน้ำมัน ตอนนี้หักค่าน้ำมันก็ไม่พอกินแล้ว”
ขณะที่ สราวุฒิ พนักงานขับรถสิบล้อแสดงความกังวลถึงราคาพลังงานตอนนี้ว่า ถ้าควบคุมได้จะช่วยเรื่องค่าครองชีพด้านอื่นๆ และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดถ้าราคาน้ำมันยังไม่ลด อาจทำให้ตัวเองตกงานก็ได้ถ้าเถ้าแก่รับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว
“ถ้าเขาแบกรับไม่ไหวแล้ว อาจหยุดวิ่งก็ได้ใครจะรู้ แล้วผมก็จะตกงาน อย่างบางเจ้าเขาก็หยุดวิ่งไปแล้ว ปลดคนขับไปแล้ว เพราะรับภาระไม่ไหว”
ด้านกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ซึ่งเข้ามาร่วมชุมนุมก็มีข้อเรียกร้อง 3 ประการเช่นกัน ได้แก่
- ขอให้ลดราคาแก๊สไปที่ 9 บาท ในช่วงที่ยังไม่สามารถขึ้นค่าโดยสารได้
- ขอให้ช่วยหาสินค้าราคาถูกจำหน่ายให้ประชาชนที่มีผลกระทบ ให้ครอบครัวแท็กซี่ได้ซื้อสินค้าราคาถูก
- ขอให้รัฐบาลจัดหาถุงยังชีพช่วยกลุ่มคนขับแท็กซี่ เพราะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากปัญหาโรคระบาด
โดยโชเฟอร์มโนชัยอธิบายถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มตนว่า “ตอนนี้ค่าแก๊ซมันอยู่ประมาณ 16 บาท จากที่เคยๆ 8.50 บาท (ราคาแก๊ส NGV เริ่มขยับขึ้นครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มาเท่านี้พอวิ่งไปไม่กี่เมตรเติม 100 อีกล่ะ”
“เราอยากให้ค่าแก๊ซมันลงมาหน่อย แล้วเยียวยาคนขับแท็กซี่ด้วยถุงยังชีพบ้าง ทุกวันนี้แท็กซี่กินข้าวมื้อเดียวแล้วเพราะไม่มีตัง ดูกางเกงลุงสิไม่ไหวแล้ว (หมายถึงหลวม – ผู้เขียน) มันไม่มีตังค์กิน”
ด้านโชเฟอร์มโนชัยเล่าว่า จริงๆ อาจไม่ต้องลดค่าแก๊สลงมาให้เหลือเท่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ได้ แต่อย่างไรอยากให้ช่วยคนที่ต้องใช้พลังงานทุกวันแบบพวกเขาบ้าง
“อยากให้ลงมาพูดคุยกัน (รัฐมนตรีพลังงาน – ผู้เขียน) ช่วยแท็กซี่บ้าง เอาถุงยังชีพมาให้ที่สหกรณ์ก็ได้ มาม่า ปลากระป๋อง เราก็ลดต้นทุนยังชีพลงไปได้แล้ว หรือแค่ขนมปังสักก้อนพวกผมก็อิ่มไปมื้อนึงแล้ว”
“ส่วนแก๊สตรึงราคาไว้แล้วค่อยๆ ลดลงมามันก็โอเค ถ้าได้สัก 10 บาทก็ยังพอสู้ไหว แต่ถ้า 16 บาทกว่าเนี่ยหนัก เพราะสมมุติตรึงได้เท่าที่บอกเนี่ย มันลดลงมาเกือบครึ่งต่อครึ่งเลยนะ”
ตรึงราคาน้ำมันทำได้จริงไหม
ล่าสุด รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เพิ่งเขียนบทความ แกะโครงสร้าง ‘ราคาน้ำมัน’ ไทย เราแพงกว่าใครจริงหรือ? ลงใน The MATTER เขาชี้ว่าอันที่จริงแล้วราคาน้ำมันไทยอยู่ในระดับ “ไม่ถูกไม่แพง” กล่าวคือ เป็นอันดับ 6 ในประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นอันดับ 52 จาก 96 ประเทศทั่วโลก
บทความดังกล่าวยังได้พาเราแกะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยออกมาว่า แบ่งเป็นราคาน้ำมันกับภาษีแบบเทียบกับครึ่งต่อครึ่ง กล่าวคือราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ราว 53.5% ขณะที่ภาษีอีกสองตัวที่สำคัญคือ ภาษีสรรพสามิต 15.49% และ เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 17.11% ซึ่งเงินทั้งสองส่วนนี้สำคัญต่อรายได้และเสถียรภาพของน้ำมันในภาพรวม
ซึ่งประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า “รัฐบาลได้ใช้ทุกวิธีการที่จะดูแลให้ราคาไม่สูงเกิน ทำให้เกิดความเดือดร้อนมาก รัฐบาลก็ต้องทำอย่างนี้”
ขณะที่ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าข้อเสนอของกลุ่ม Truck Power ที่ให้ลดดีเซลเหลือ 25 บาท/ ลิตร อาจเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรึงราคาน้ำมันไว้แล้ว และถ้าไม่ตรึงไว้ราคาอาจพุ่งไปมากกว่า 34 บาท/ ลิตร
ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 กระทรวงพลังงานก็เพิ่งออกนโยบายบางประการออกมาแล้ว ดังนี้
- ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ ลิตร ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565
- ขยายส่วนลด LPG จำนวน 100 บาท/ เดือน และตรึงราคา LPG อยู่ที่ 318 บาท/ ถัง 15 กิโลกรัม จนถึง 31 ม.ค. 2565
- ตรึงราคา NGV อยู่ที่ 15.59 บาท/ กก. จนถึง 15 ก.พ. 2565
จึงอาจสรุปได้ว่าข้อเสนอของผู้ชุมนุมครั้งนี้อาจไม่ได้รับการตอบรับ..
แม้ล่าสุดจะมีข่าวดีอยู่บ้างว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มทยอยปรับลดกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าล่าสุดรัฐบาลเพิ่งโปะหนี้กองทุนน้ำมันไปกว่า 20,000 ล้านบาทหลังตรึงราคาน้ำมันในช่ววก่อนหน้านี้ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าที่จะแนวโน้มของน้ำมันโลกจะลดลง แต่คนไทยยังต้องใช้น้ำมันราคานี้ไปอีกสักพักใหญ่ๆ