ลองนึกภาพตามไปกับเรา วันนี้คุณนัดเจอกับเพื่อน เมื่อเขามาถึง เขาสวมเสื้อคอเต่าแขนยาวอีกแล้ว อากาศไม่ได้หนาว แต่มันเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นเดียวที่ปกป้องเขาจากสายตาคนรอบข้าง
เขาเล่าให้คุณฟัง ว่าคนรักของเขาทำอะไรบ้าง คำขู่ที่เขาขู่บีบจิตใจของเพื่อนยังไง คำพูดของเขากรีดแทงเป็นรอยที่มองไม่เห็น แต่จริงๆ รอยช้ำบนแขนและรอยนิ้วที่คอก็เป็นหลักฐานพอที่จะตัดความสัมพันธ์ต่อคนรักแย่ๆ อย่างนั้นแล้ว คุณปลอบเขาก่อนถามว่าเมื่อไหร่จะเดินออกมาจริงๆ สักที? เขาตอบไม่ได้ คุณคุยเรื่องนี้กันรอบที่เท่าไรก็ไม่รู้แล้ว วงจรมักจบที่เขาและคนรักคืนดีกัน และจบที่คุณไม่เข้าใจว่าทำไมการแค่เดินออกมาจากสถานการณ์แย่ๆ นี้จะเป็นเรื่องยากขนาดนั้น
เราเชื่อว่าเราทุกคนเคยเป็นใครสักคนในบทสนทนานี้ บางคนเคยเป็นทั้งคู่ และหากคุณเคยถามคำถามนั้นแล้วหงุดหงิดต่อคำตอบและความไม่เปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เราเข้าใจ และเราอยากเชื้อเชิญคุณเข้ามาเข้าใจความสัมพันธ์ Abusive Relationship และผลของมันต่อผู้ได้ถูกกระทำ แล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมมันไม่ใช่ “แค่” เดินออกมา
สิ่งที่ตาเห็นเป็นเพียงครึ่งเดียวของการกดขี่
มองตามเนื้อผ้า ความสัมพันธ์ที่คู่รักทำร้ายกันผ่านร่างกายและคำพูดนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่กดขี่อย่างแน่นอน เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็มองออกแม้จะเป็นคนที่อยู่นอกความสัมพันธ์ จะเป็นไปได้ยังไงที่คนที่ตกอยู่ภายในความสัมพันธ์จะมองไม่ออก? เราอาจไม่ได้พูดแทนทุกคน แต่แม้ผู้ถูกกระทำจะรู้ว่าสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญเป็นเรื่องแย่ ความสัมพันธ์ที่กดขี่นั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถมองตามเนื้อผ้าได้อย่างเดียว เพราะการกดขี่นั้นหยั่งรากลงไปกว่าที่ร่างกายและคำพูด แต่มันบงการคนคนหนึ่งถึงข้างในจิตใจ
วิธีการที่ผู้กดขี่ใช้ควบคุมความรู้สึกของผู้ถูกกระทำคือ gaslighting หรือการทำให้ผู้ถูกกระทำตั้งคำถามกับการตัดสินใจ ความรู้สึก ไปจนถึงความทรงจำ และสภาพจิตใจของตัวเองผ่านคำพูดที่บิดเบือนความเป็นจริง อาจมาในรูปแบบของการพูดว่าสิ่งที่ทำไปไม่ได้แย่ขนาดนั้น และเป็นที่ผู้ถูกกระทำเองนั่นแหละที่คิดไปเอง บางครั้งยอกย้อน “เธอก็เคยทำแบบนั้นเหมือนกัน ฉันยังไม่เห็นเคยไปว่าเลย” บ้างเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นที่คุยอยู่ หรือหลายๆ ครั้งคำพูด gaslight นั้นแทบจะแยกไม่ออกจากคำหวานที่คนรักพูดกันทั่วไปเลย เคยได้ยินไหม “ฉันรักเธอขนาดนี้จะไปทำร้ายเธอได้ยังไง?” “ฉันไม่เคยตั้งใจทำให้เธอเสียใจเลยนะ” บางครั้งมันมาในรูปแบบของการแสดงความรู้สึกผิดด้วยซ้ำ เช่น “ฉันไม่ดีเองแหละ ฉันจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น” และสัปดาห์ต่อมาทุกอย่างก็เหมือนเดิมเพราะคำพูดนั้นไม่เคยมาความต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แต่เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อรั้งอีกคนเอาไว้ในความสัมพันธ์มากกว่า
ลองนึกภาพตามไปกับเรา คุณและคนรักทะเลาะกันเพราะคุณถามว่าทำไมเขากลับห้องดึกแล้วไม่บอกกัน ไปไหนมา เขาตอบว่าจะยุ่งวุ่นวายอะไรกับเขามากมาย ไม่เชื่อใจกันเหรอ?
เขาเบี่ยงความสนใจจากคำถามของคุณ กล่าวโทษว่าเป็นเรื่องคุณไม่ไว้ใจเขาแทนเสียอีก
คุณโดน Gaslight ครั้งที่ 1
แค่ถามเฉยๆ ทำไมต้องว่ากันด้วย คุณถามเขาอีกที เขาทำหน้าหงุดหงิด ตอบอย่างฟึดฟัดว่า เนี่ย เอาอีกแล้วนะ ยังไม่ได้ว่าอะไรเลย เป็นอะไร เมนมาเหรอ?
โทษว่าคุณคิดไปเอง โยนความรู้สึกของคุณว่าเป็นเพราะร่างกายของคุณเองนั่นแหละเลยรู้สึกอย่างนั้น
คุณโดน Gaslight ครั้งที่ 2
คุณเงียบ เขาก็เงียบ ช่วงนี้เขากลับห้องไม่เป็นเวลาแต่เขาไม่ได้บอกคุณว่าเพราะอะไร ไม่อยากเอาความเครียดเรื่องงานมาลงกับคุณ เขาบอกอย่างนั้นเมื่อครั้งอื่นๆ ประจำเดือนเรากำลังจะมาหรือเปล่านะถึงไปหงุดหงิดใส่เขาแบบนั้น? คุณคิด ช่วงนี้งานเครียดมากเลย ขอโทษนะ คำพูดเขาตัดผ่านความเงียบ ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้จะไม่เป็นแบบนี้แล้ว เขาพูด คุณกอดกัน แล้วใช้ชีวิตยามค่ำคืนของวันนั้นอย่างปกติ
คุณไม่ได้คำตอบว่าเขาไปไหนมาอย่างชัดเจน คุณสงสัยว่าคุณหงุดหงิดเขาไปทำซากอะไร คุณสรุปได้ว่าความโกรธของคุณต้องมาจาก PMS แน่ๆ
และคุณโดน Gaslight ครั้งที่ 3
ถ้าลองสังเกตดู ถ้าไม่มีการคั่นว่า คุณโดน Gaslight ครั้งที่เท่าไหร่ บทสนทนานี้ดูธรรมชาติอย่างบอกไม่ถูกเลยว่าไหม?
ทำไมบางครั้งเราไม่มองว่าการ Gaslight และ Abusive Relationship เป็นเรื่องผิดปกติ?
การจะตอบคำถามนี้เราเชื่อว่าต้องคิดก่อนว่ามนุษย์เราเรียนรู้ภาษาของความรักจากที่ไหน โรงเรียนไม่ได้สอนเรา อาจจะผ่านพ่อและแม่ แต่พวกเขาเรียนมันมาจากไหนล่ะ เราขอเสนอว่ามนุษย์เรียนรู้ภาษาของความรักมากที่สุดจากสื่อรอบตัวเรา ไม่ว่าจะจากหนัง ละคร ดนตรี หรือหนังสือ การมีส่วนร่วมกับสื่อและงานศิลปะในระดับจิตใจส่งผลให้สารของมัน(media message) ปลูกรากในตัวเรา ในเคสของเรื่องความรักในสื่อ สื่อเกี่ยวกับความรักที่เรารับทำให้เราจดจำว่านี่สิคือความรักแบบที่เราต้องการ
การจะทำให้ผู้ชมอินไปกับเรื่องราว วิธีที่ถูกใช้มากที่สุดคือการสร้างคอนฟลิกต์ของเรื่อง เราจะเรียกหนังโรแมนซ์ที่ไม่มีขึ้นมีลง มีทะเลาะ มีการเปลี่ยนแปลง ว่าสนุกได้ขนาดไหน? ลองนึกถึงหนังรักที่เราดูผ่านๆ มา รักชั่วนิรันดร์ของบางคู่เริ่มจากแวมไพร์จอมบงการพยายามครอบครองคนรักวัยมัธยมของเขาจนถึงขั้นทำให้เธอพยายามปลิดชีวิตตัวเองหลายครั้งเมื่อเขาไม่อยู่เพื่อจะได้ความสนใจจากเขา หรือบางเรื่องก็คือเรื่องราวที่ตัวละครเอกรุนแรงและใช้กำลังต่อคนรอบตัว รวมถึงนางเอก สุดท้ายก็ไปสู่การให้อภัยและความรักได้ นี่ยังไม่นับละครไทยจำนวนมากที่รับรองว่าการล่วงละเมิดทางเพศจะจบลงที่ความรักได้เสมอนะ คอนฟลิกต์ของหนังและหนังสือรักโรแมนติกเหล่านี้มักมาจากความไม่เข้ากันของตัวละครนำทั้งคู่ และไม่ว่าอย่างไรก็จะจบที่ทั้งคู่ลงเอยกัน ไม่ว่าระหว่างทางจะชอกช้ำหรือกดดันขนาดไหน ซึ่งอาจไม่ใช่แมสเสจที่ดีนักที่จะปลูกฝังแก่ผู้ชมนับล้านหรือไม่? (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความการใส่ความสัมพันธ์แย่ๆ ในสื่อเป็นเรื่องผิด แต่นักเขียนและผู้กำกับต้องสื่อสารมันออกมาให้ผู้ชมมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภาพของความสัมพันธ์ที่ดีให้ได้)
ผลของการปลูกฝังโดยไม่รู้ตัวเหล่านี้มาในรูปแบบของความเชื่อที่เป็นภัยในความสัมพันธ์ นอกจากผู้ถูกกระทำจะเชื่อว่าวันหนึ่งคนรักแย่ๆ ของเขาจะสามารถหยุดนิสัยแย่ๆ เหล่านี้ได้ และจะเป็นตัวเขาเองนี่แหละที่แก้ไขมัน หรือไม่ก็เชื่อว่าคนรักจะต้องเห็นค่าในความรักที่เขาให้จนหยุดนิสัยเหล่านั้นได้ ส่วนผู้กระทำก็คิดด้วยเลนส์ของตัวละครเอกว่าคนรักคนนี้แหละคือสิ่งที่จะมาเติมเต็มและแก้ไขคนนิสัยเสียอย่างเขาได้ หรือบางคนก็ถึงขนาดเชื่อในทางกลับกันไปเลยว่าตัวเองนี่แหละคือคนที่ถูกและเพอร์เฟกต์ที่สุดและไม่ต้องปรับอะไรเลย เพราะทุกอย่างจะดีและเปลี่ยนไปตามที่เขาต้องการเอง
Red Flags สำคัญที่หากพบคือสัญญาณแห่งการเริ่มออกห่าง
แต่การต้องการจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้คนเดินออกมาจากความสัมพันธ์ไม่ได้ เพราะนอกจากนั้นเมื่อความสัมพันธ์ดำเนินไปนานสิ่งที่คู่รักผู้ชอบกดขี่จะทำคือทำลายความมั่นใจในตัวเองของผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าทั้งจากการดูถูกรูปลักษณ์หรือความสำเร็จที่เขาได้รับไม่ว่าจะเรื่องอะไร นอกจากนั้นก็มีการพยายามแยกตัวของผู้ถูกกระทำให้ห่างจากเพื่อนและครอบครัวเพื่อให้ตัวเขาเองเป็นที่พึ่งทางใจเพียงหนึ่งเดียว และในที่สุดผู้ถูกกระทำจะคิดว่าตัวเองอยู่คนเดียวไม่ได้ และการเดินออกมาจากคนรักนั้นแทบจะดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะความมั่นใจในตัวเองที่หายไปมักทำให้ลึกๆ เขาถามอยู่ในใจว่าถ้าไม่ใช่คนนี้แล้วใครจะให้โอกาสเราอีก?
การออกจากความสัมพันธ์ที่กดขี่เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถ “แค่เดินออกมา” ได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีความเป็นไปได้เลย จุดเริ่มต้นที่ดีคือการทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไม่ต้องคิดว่าเขาตั้งใจรึเปล่า ไม่ต้องคิดว่าเขาขอโทษหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดของขั้นตอนนี้คือการลบความรู้สึกดีๆ ออกจากเรื่องราวที่ทำร้ายคุณ เพราะถึงที่สุดการทำร้ายแม้มองผ่านแว่นตาสีกุหลาบก็คือการทำร้ายอยู่ดี
อีกสิ่งที่สำคัญคือการหาคนที่คุณเชื่อใจให้คอยเป็นที่ยึดเหนี่ยวในระยะเวลาที่คุณตัดสินใจจะเดินออกมาจากความสัมพันธ์ ในช่วงเวลาแบบนี้ที่มีน้ำหนักของความรู้สึกตั้งอยู่บนไหล่ของคุณอย่างหนักหนา ประสิทธิภาพในการตัดสินใจของคุณนั้นจะไม่เต็มร้อยอย่างแน่นอน ฉะนั้นการมีตาอีกสักคู่คอยดูว่าแผนการบอกเลิกจะหน้าตาเป็นยังไงได้บ้าง ตรวจเช็คว่าสภาพจิตใจของคุณเป็นยังไง สภาพการเรียน สุขภาพร่างกาย การกินเป็นยังไง หรือเขาอาจเป็นคนคอยตีมือไม่ให้คุณตอบแมสเสจที่คนรักเก่าคุณส่งกลับมา และยิ่งไปกว่านั้นเขาอาจเป็นเสียงที่มีอำนาจพอจะหยุดไม่ให้เรื่องราวบานปลายหากการเดินออกไม่ราบรื่นก็ได้
สุดท้ายคือการสร้างความมั่นใจในตัวเองใหม่อีกครั้ง ผู้กดขี่มักคิดว่าเขาสามารถควบคุมเราได้หากเขาทุบทำลายตัวตนและความมั่นใจของเรา แต่เราขอยืนยันว่าสุดท้ายแม้ว่าเขาจะทุบขนาดไหนเราสามารถหยิบชิ้นส่วนเหล่านั้นประกอบขึ้นใหม่ได้และมันจะงอกงามได้มากกว่าที่เขาคิดเป็นร้อยเท่า เช่นเดียวกันกับที่เขาคิดว่าเขายิ่งใหญ่พอจะกันเราออกจากเพื่อนและสังคมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาเป็นเพียงคนอ่อนแอที่หาความสุขจากการพยายามควบคุมผู้อื่นซึ่งเขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราพลั้งเผลออนุญาตให้เขาเข้ามามีอำนาจต่อเรา เขาไม่เหมาะสมแก่การจะได้รับความทุ่มเทและความรักจากเรา และการจัดการที่เราทำได้ดีที่สุดคือการรักษาจิตใจของเราให้มองผ่านการควบคุมของเขา แล้วเตรียมใจเราให้พร้อมก่อนจะกำจัดคนคนนี้ออกไปจากใจและความคิดของเรา
No more ‘I can fix them,’
It’s ‘I can fix Me.’
อ้างอิงข้อมูลจาก