‘คุยแบบมาๆ หายๆ ไม่ให้สถานะ’ ไหน!
‘คนเจ้าบงการ จอมโจรโน้มน้าวใจ’ ไหน!
‘คนไม่มั่นคงทางอารมณ์ เอาแน่เอานอนไม่ได้’ ไหน!
เทรนด์ดังใน TikTok ที่แต่ละคนจะหันมาพร้อมตะโกนว่า “ไหน!” เมื่อได้ยินเพื่อนพูดถึงไทป์ที่ตรงใจ เราเลยได้รู้ว่าคนนั้นชอบคนใส่แว่น คนนี้ชอบไทป์หมาเด็ก จนอดล่อกแล่กไม่ได้แม้จะได้ยินเพียงเพื่อนตะโกนว่ามีคนไทป์เราอยู่แถวนั้น แต่ยิ่งนานไปเรายิ่งได้เห็นว่า ไทป์ที่แต่ละคนชอบค่อนข้างเฉพาะตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่เผลอใจให้เหล่า Red Flags เพราะเห็นไม่ได้เป็นอันต้องวิ่งเข้าใส่ทุกครั้งไป เทรนด์นี้เลยไม่ได้หยุดอยู่แค่ความขำขันของไทป์แต่ละคน แต่สิ่งนี้สะท้อนไปถึงปัญหาในความสัมพันธ์ที่บางคนเสพติดมันไม่ต่างจากยาเสพติดเลยล่ะ
ธงแดงโบกสะบัดเป็นสัญญาณที่บอกว่า พื้นที่ตรงนี้อันตราย ตั้งแต่บริเวณชายหาดในช่วงหน้ามรสุม ไปจนถึงธงสีแดงที่มองไม่เห็นในความสัมพันธ์ ซึ่งก็คือพฤติกรรมต้องห้าม คอยสะกิดเตือนใจให้เราสงสัยว่าความสัมพันธ์นี้มีท่าทีผิดปกติหรือเปล่า ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ตอนเริ่มทำความรู้จักกัน ไปจนถึงตอนอยู่ในความสัมพันธ์แล้วก็ได้
ทีนี้เราลองมาดูพฤติกรรม Red Flags ที่เจอบ่อยๆ ในความสัมพันธ์จากนักจิตวิทยาคลินิก เรเชล โกลด์แมน (Rachel Goldman) กันว่ามีอะไรกันบ้าง เพื่อที่เราเองจะได้ระมัดระวังได้ทันท่วงที
- แสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรง
- หึงหวงมาก ไม่ให้ความไว้วางใจกันและกัน
- ชอบบงการชีวิตอีกฝ่าย
- โน้มน้าวให้รู้สึกผิดอยู่เสมอ
- ทุ่มเทความรักมากเกินพอดี (Love Bombing)
- มาๆ หายๆ ไม่ให้สถานะ แต่ก็ไม่ยอมให้เราไปไหน (Breadcrumbing)
พฤติกรรมแต่ละอย่างที่ว่ามา มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าไม่ดีต่อความสัมพันธ์แน่ๆ แต่เชื่อไหมว่าความรักดีๆ ก็ไม่ใช่เป้าหมายของทุกคนเสมอไป เพราะยังมีคนอีกมากมองว่า ความสัมพันธ์วายป่วงที่สร้างความเจ็บปวด คือเป้าหมายที่มองหา (อะไรนะ!) พฤติกรรม Red Flags ที่เดิมทีควรเป็นสัญญาณเตือนให้เราหนีไปไกลๆ กลับกลายเป็นสัญญาณว่าสิ่งนี้มันช่างเย้ายวนใจ ดึงดูดให้เราเดินเข้ามาใกล้ธงสีแดงโบกพริ้ว ไม่ต่างจากกระทิงที่วิ่งเข้าใส่ไม่ยั้ง แล้วสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง? มาดูคำอธิบายในเชิงจิตวิทยากัน
เพราะคนเราเสพติด Red Flags ได้จริงๆ
ในยามแรกรัก ความสุขมันเอ่อล้นจนมือ 2 ข้างยังตระกองกอดเอาไว้ได้ไม่หมด เหมือนได้ปีนขึ้นยอดเขาแห่งความอิ่มเอมที่สูงเสียดฟ้า แต่น่าเสียดายที่เราต่างรู้ว่า เมื่อถึงยอดสูงสุดแล้ว ทางเดียวที่จะไปต่อได้มีแต่ต้องลื่นไถลลงมาเท่านั้น ความสัมพันธ์แบบติดธงแดงก็ทำงานแบบนั้นเช่นเดียวกัน เราจะมีความสุขในตอนแรกเริ่ม สุขจนใจเราเองไม่อยากจะเชื่อว่ามันจริง แล้วอยู่ดีๆ ทุกอย่างก็หายวับไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน
สิ่งแรกที่เรารู้สึกคือความร้อนใจ คำถามมากมายในหัวเกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นทุกอย่างก็เป็นไปได้ด้วยดีไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมตอนนี้เราต้องเลิกทำแบบนั้นด้วย เรามามีความสุขกันอย่างเคยไม่ได้แล้วเหรอ? แต่นั่นเพราะก่อนหน้าเราเคยมีความสุขกับโดปามีน (Dopamine) ฮอร์โมนแห่งความสุขเกิดจำนวนมหาศาลในยามที่ความรักแบ่งบาน แต่เมื่อมันถูกพรากไปดื้อๆ เราจึงดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองได้รับความสุขแบบนั้นกลับมาอีกครั้ง
เมื่อเราเคยมีประสบการณ์แบบนี้แล้วสักครั้ง พอเจอพฤติกรรมแบบเดิมแทนที่เราจะเข็ดขยาดหวาดกลัว เรากลับรู้สึกว่า ความคาดเดาไม่ได้นี้มันช่างเย้ายวน ชวนให้กลับไปเสพติดความสุขสูงสุดที่ความสัมพันธ์ Red Flags จะมอบให้ แม้รู้ว่าจะต้องร่วงหล่นลงมาไม่เป็นท่าก็ตาม ใช่แล้ว สิ่งนี้ทำงานกับสมองของเราเหมือนยาเสพติดไม่มีผิดเลยล่ะ
ดร.ไมเคิล คันนิงแฮม (Michael Cunningham) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์จาก University of Louisville กล่าวถึงพฤติกรรม ‘fixer-uppers’ ที่หมายถึงเหล่าคนที่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถปรับเปลี่ยนคนที่มีพฤติกรรมร้ายกาจให้ดีขึ้นได้ คนเหล่านี้เลยมักจะมองหา หรือดึงดูดแต่ชาว Red Flags เข้ามา เพื่อจะได้มีความสุขกับการปรับเปลี่ยนคนคนหนึ่งให้กลายเป็นคนที่เราหวัง จนเดินเข้าไปในวังวนเสพติดรักช้ำโดยไม่รู้ตัว
ทำไมบางคนมอง Red Flags เป็นเรื่องธรรมดา
บางคนอาจเสพติดวังวนรักช้ำ เพราะโหยหาความสุขสูงสุดที่ความสัมพันธ์ Red Flags เคยมอบให้ แต่เชื่อไหมว่าบางคนกลับเดินเข้าไปหาธงแดง เพราะมองว่านี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ผิดแปลกอะไร เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องวิ่งหนีด้วยซ้ำ
เชื่อว่าหลายคนอาจเคยเห็นตัวอย่างนี้จากคนรอบข้าง หรือตัวเองที่จมอยู่กับความสัมพันธ์ธงแดงแจ๋ซ้ำๆ ไม่ยอมหนีไปไหน แล้วสงสัยกันไหมว่า ทำไมหลายคนรู้ทั้งรู้ว่าความสัมพันธ์แบบนี้สร้างแต่ความเจ็บปวด ทิ้งแผลใจไว้ให้ ทว่ากลับมองว่านี่เป็นความสัมพันธ์ปกติ และมีแนวโน้มที่จะกลับไปอยู่ในความสัมพันธ์ร้ายๆ แบบเดิม แม้จะเจอคนใหม่หรือเริ่มต้นใหม่แล้วก็ตาม
“เพราะพวกเขามองว่าความสัมพันธ์แย่ๆ พวกนั้นคือความสัมพันธ์แบบปกติ”
สิ่งนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุด อาร์ลีน บี. อิงแลนด์เนอร์ (Arlene B. Englander) นักจิตบำบัดบอกว่าสิ่งนี้คือ ‘Repetition Compulsion’ คือการที่เราอยากจำลองเหตุการณ์บอบช้ำในอดีตโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ หรืออาจเป็นความเจ็บปวดในอดีตที่เกิดขึ้นในครอบครัว หรือเป็นความสัมพันธ์ตัวอย่างที่เราเห็นจากใครสักคนในชีวิตวัยเด็กของเรา
สมมติว่าเรามีภาพจำตั้งแต่เด็กว่าพ่อเจ้าชู้มาก โตขึ้นมาเราจึงมองหาคนรักที่มีลักษณะคล้ายกับพ่อ เพื่อพยายามทำให้เขาคนนั้นรักเราเพียงคนเดียว ไม่เจ้าชู้เหมือนพ่อในแบบที่เราจำได้ หรือแม้แต่ความเจ็บปวดจากความรักครั้งเก่าก็ตาม หรือเราอาจตามหาคนแบบเดิมที่ทำให้เราเจ็บช้ำ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่ แล้วพยายามเอาชนะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นราวกับว่า เรากำลังได้กลับไปซ่อมเรื่องราวครั้งเก่าได้อีกครั้ง แม้จะเป็นการซ่อมแซมเรื่องเก่ากับคนใหม่ก็ตาม
เสริมเรื่องนี้อีกสักตัวอย่าง หากเราเติบโตมาพร้อมกับภาพความรุนแรงในครอบครัว เราอาจจะคุ้นเคยว่า ความรักกับความรุนแรงมาคู่กันเสมอ หากรักแล้วก็อาจจะมีลงไม้ลงมือบ้างไม่แปลกหรอก เมื่อถึงเวลาที่เรามองความสัมพันธ์ เราจึงไม่รู้สึกว่าการทำร้ายคนอื่น หรือถูกคนอื่นทำร้ายจะกลายเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง ใครเตือนยังไงเราก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า การทำร้ายกันเป็นเรื่องผิดได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับหลายคน จนรู้ตัวอีกทีก็ไม่อาจถอนตัวจากความสัมพันธ์เป็นพิษได้ ด้วยคุณค่าในตัวเอง หรือ Self-esteem ที่ถูกทำลาย อาจทำให้เราไม่มั่นใจมากพอว่า เราจะอยู่ได้โดยไม่มีความสัมพันธ์ร้ายๆ แบบนั้น ประสบการณ์อันเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสกล่อมเกลาให้เราเชื่อว่า ตัวเองมีข้อบกพร่อง จึงไม่คู่ควรกับความรักดีๆ อย่างที่ใครคอยบอก
ทว่า Self-esteem ไม่ได้ล้มครืนในวันเดียว แต่มันถูกกัดกร่อนจากความสัมพันธ์ติดธงแดงวันแล้ววันเล่า ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในวังวนนั้น อาจมีทั้งคนที่รู้ตัว และไม่รู้ตัวว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร การเดินออกมาทันทีจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่สามารถทำได้ในวันเดียวเช่นกัน ไม่ต่างกับการหักดิบสารเสพติดที่เราเชื่อว่า หากเราพยายามอีกสักนิด เราก็จะได้ไปแตะความสุขล้นปรี่ที่เคยได้
แม้การเดินออกมาจากเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็อยากให้ทุกคนหมั่นสำรวจความสัมพันธ์ และความรู้สึกตัวเองอยู่เสมอ ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อตัวเอง และหากมั่นใจว่าเรานี่แหละยืนอยู่ท่ามกลางธงแดงมานาน นานมากพอที่จะต้องถอยออกมาแล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง งั้นอาจลองเริ่มต้นกันตามนี้
- หาพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง หลายคนติดกับดักอยู่กับอนาคตที่ไม่มีเขา ว่าเราจะอยู่ได้ยังไงกัน ให้ลองนึกภาพตัวเองว่า ถ้าต้องเดินออกมา เราจะต้องจัดการอะไรบ้าง ต้องย้ายที่อยู่ไปอยู่ไหน มีภาระผูกพันอะไรบ้าง แล้วหาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง พื้นที่ที่จะไม่มีเขาคอยตามมาสร้างความลังเลใจให้เราได้อีกต่อไป พื้นที่ที่เราจะได้ใช้ชีวิตของเราเองอย่างที่ควรจะเป็น
- ต้องมีใครสักคนรู้เรื่องนี้ แม้เราจะคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่บางปัญหาหากมีใครรับรู้อาจช่วยเราได้มากกว่า โดยเฉพาะคนกลางที่รับรู้เรื่องความสัมพันธ์ของเรา และเข้าใจปัญหาที่เราเจอมาตลอด เพื่อให้เราได้เห็นมุมมองคนนอกที่อาจสะกิดเตือนเมื่อเราคิดอะไรไม่เข้าท่าไปบ้าง (เช่น ใจอ่อนจนจะกลับไปหาเขาอีกครั้ง)
- ไม่คิดต่อรองกับ Red Flags ตัดสินใจให้เด็ดขาด ไม่ต่อรองกับเขาคนนั้นว่าเขาจะเป็นคนที่ดีขึ้นนะ ให้โอกาสอีกหน่อย เชื่อเถอะว่าคนที่ติดธงแดงสามารถโน้มน้าวให้เราโทษตัวเอง หรือทำให้เราเชื่อว่าเขาไม่ใช่คนผิด และเรากำลังตัดสินใจผิดนะที่เดินจากเขาไป ในเมื่อเราโดนปั่นหัวมาตลอดความสัมพันธ์แล้ว ดังนั้น อย่าปล่อยให้ก้าวสุดท้ายสู่อิสรภาพต้องถอยหลังไปสู่เรื่องเดิมเลย
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งความสัมพันธ์ร้ายๆ สร้างแผลใจให้เราไว้มากกว่าที่คิด หากรู้สึกว่าสิ่งนี้กระทบต่อความรู้สึกระหว่างวันจนใช้ชีวิตประจำวันลำบาก นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ที่ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ได้อย่างถูกจุด และนี่อาจทำให้เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ทันทีเลยก็ได้
ด้วยความละเอียดอ่อนของความรู้สึกที่ต่างกัน เรื่องของ Red Flags สำหรับบางคน อาจเป็นเพียงเรื่องตลกในวงสนทนา ได้เล่าถึงประสบการณ์ในความสัมพันธ์ประหลาดที่เรียกเสียงฮือฮาแล้วก็จบไป แต่กับบางคน การวิ่งเข้าใส่ธงแดงได้สร้างแผลใจครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังวิ่งเข้าใส่แบบนั้นไม่รู้จักจบสิ้น จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เพราะความสัมพันธ์ส่งผลกับจิตใจของเราโดยตรง
ประโยคสุดคลีเช่อย่าง “รักตัวเองให้มากๆ” จึงทำงานกับความสัมพันธ์ได้ดีเสมอ ที่ผ่านมาเราอาจรักตัวเองไม่มากพอที่จะมองหาความสัมพันธ์ดีๆ และหาความรักที่ดีให้กับตัวเอง ความรักที่เรามีจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า เรารักตัวเองแค่ไหน รักตัวเองมากพอที่จะมองว่าเราคู่ควรกับความรักดีๆ หรือเปล่า?
เพราะฉะนั้นรักครั้งต่อไป รักตัวเองแค่ไหนก็หารักที่คู่ควรกับตัวเองให้ได้เท่านั้นเลยนะ 🙂
อ้างอิงจาก