เวลาไปต่างประเทศ อยู่ๆ เราก็กลายเป็นคนขยันเดิน เดินจนทะลุลิมิต เดินแบบไม่เหนื่อย เหมือนกับว่าฝึกซ้อมการเดินมาตลอดชีวิต แต่ทำไมพอเราใช้ชีวิตที่ไทย น้อยครั้งมากที่เราจะเลือกเดินทางไปไหนมาไหนด้วยการเดินเท้า
หรือเพราะการเดินเท้าในไทยมีเรื่องให้กังวลและระวังเกินไปจนเรารู้สึกไม่ปลอดภัย?
หลังจากกรณีของ หมอกระต่าย หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่ถูกรถชนระหว่างข้ามทางม้าลาย ทำให้หลายคนกลับมาตั้งคำถามกับความปลอดภัยของคนตัวเล็กๆ ที่สัญจรด้วยการเดินว่าทำไมถึงไม่ได้รับความใส่ใจเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่การเดินเท้า เป็นการเดินทางที่ทุกคนเข้าถึงได้มากที่สุด และเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราจะได้รับความปลอดภัยในการเดินของเรา
The MATTER ชวนมาชี้จุดว่าตั้งแต่เช้าจรดค่ำ สำหรับคนเดินเท้าแล้ว พวกเขาต้องเสี่ยงอันตรายยังไงกันบ้าง เผื่อว่าอนาคตเราจะได้เมืองที่เดินได้และปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลที่ต้องระวังตัวกันเอง แต่รัฐสามารถออกแบบความปลอดภัยให้ประชาชนได้
เช้า : ข้ามทางม้าลายที่รถไม่เคยจอดให้
เคยไหม? รู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะเดินขึ้นสะพานลอย แต่พอจะข้ามถนนที่ทางม้าลาย รถก็ไม่เคยหยุดให้ ไหนจะมีเลนเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ที่รถผ่านไม่หยุดจนข้ามยาก หรือต่อให้เป็นระบบกดปุ่มเพื่อขอข้ามถนนก็แล้ว ไม่แคล้วรถบางคันก็ยังจะขับฝ่ามาอีกจนกลัวไปหมด
จากกรณีของ ‘หมอกระต่าย’ ที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนแม้จะข้ามทางม้าลายก็ยิ่งทำให้เห็นว่าทางม้าลายที่ควรเป็นทางเดินเท้าที่ปลอดภัย กลับเป็นที่ที่เสี่ยงอันตรายที่สุด โดยมีสถิติจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559-2561 คนเดินเท้านั้นเสียชีวิตเฉลี่ย 800-1,000 ราย ในแต่ละปี จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐควรจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายให้รถหยุดชะลอ เมื่อผ่านทางม้าลาย เพื่อที่ผู้คนที่เดินสัญจรไปมาจะได้ใช้ทางม้าลายได้อย่างสบายใจ
สาย : ขึ้นสะพานลอยก็เหนื่อยแล้ว ต้องระวังไฟดูดอีก
พอทางม้าลายข้ามยาก ด้วยการออกแบบถนนที่ไม่ได้คำนึงถึงคนเดินเท้าเป็นหลัก สะพานลอยจึงกลายเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงจากการถูกรถชน แต่ว่าก็มีความเสี่ยงอื่นๆ จากการเดินข้ามถนนด้วยสะพานลอยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาของสายไฟและสายเคเบิลที่ห้อยพะรุงพะรังใกล้สะพานลอย จนในปี พ.ศ. 2562 เคยมีผู้ประสบเหตุถูกไฟฟ้าดูดขณะจับราวสะพานในช่วงสงกรานต์มาแล้ว
นอกจากปัญหาของสายต่างๆ ที่ห้อยอยู่ใกล้ชิดสะพานลอย ในส่วนของการออกแบบสะพานลอนั้น ก็ยังไม่เฟรนด์ลี่กับคนเดินเท้าเลยแม้แต่น้อย ด้วยความชันของบันไดที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ผู้สูงอายุก็ใช้งานได้ลำบาก รวมไปถึงขั้นบันไดที่ออกแบบมาไม่พอดีกับจังหวะก้าวเดินก็อาจทำให้คนสะดุดล้มได้เช่นกัน
อ่านปัญหาของสะพานลอยไทยที่ Young MATTER เคยสำรวจไว้ได้ที่ : https://thematter.co/social/problems-about-flyover/118623
บ่าย : เดินทางเท้าอยู่ดีๆ มีมอเตอร์ไซค์สวนมา แถมบีบแตรใส่
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเดินบนทางเท้าอยู่ดีๆ ก็มีรถมอเตอร์ไซค์วิ่งมาบนทางเท้าและบีบแตรไล่หรือบีบแตรให้ระวัง ซึ่งบนทางเท้านั้นควรเป็นพื้นที่ของคนเดินเท้า ไม่ควรมีรถชนิดใดขึ้นมาวิ่งเพื่อความปลอดภัยของคนที่กำลังเดินสัญจรไปมา
ซึ่งเคยมีกรณีเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับรถที่ขับบนทางเท้าจนชนกับคนที่กำลังเดินอยู่ และแม้ว่าจะมีการพยามทำเสากั้นรถมาป้องกัน แต่ดูเหมือนว่าการออกแบบเสากั้นดังกล่าวกลับกีดกันคนพิการที่ต้องการพื้นที่ทางเท้าไปเสียมากกว่า จนกลายเป็นการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเสียอย่างนั้น การออกแบบทางเท้าและถนนที่จะไม่ให้การสัญจรแต่ละประเภทมาก้าวก่ายกันและกันจึงจำเป็นมากๆ นะ
เย็น : เดินไปก้มไป ระวังว่าจะมีฝาท่ออันไหนเผลอปิดไม่ดี
เวลาเราเดินทาง บางครั้งเราก็ต้องเดินก้มหน้าดูว่าทางที่เราเดินมีหลุม มีบ่อ หรือมีฝาท่อที่ปิดไม่ดีหรือเปล่า ทำให้การเดินทางเท้านั้นแสนลำบาก ทั้งต้องเงยหน้ามองว่าจะมีสิ่งกีดขวางไหม แล้วก็ต้องก้มดูว่าเราจะหล่นลงไปในท่อเมื่อไหร่
ซึ่งจากข้อมูลของ กทม. ในปี พ.ศ.2560 นั้นมีการร้องเรียนอุบัติเหตุคนตกท่อระบายน้ำกว่า 750 ครั้ง ทำให้การเดินบนฟุตปาธนั้นกลายเป็นความลำบากที่ต้องคอยระวังทุกอย่างด้วยตัวเอง ยิ่งหากช่วงกลางงคืนที่ไม่ค่อยมีแสงสว่างจากไฟฟ้าก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงไปอีก นี่ก็เป็นอีกจุดอันตรายของการเดินบนฟุตปาธในประเทศไทยเหมือนกัน
ค่ำ : เสี่ยงภัยกับทางเดินมืดมิดไม่มีไฟ และกล้องวงจรปิดไม่เคยทำงาน
เราอาจเคยได้ยินข่าวอาชญกรรมหรือเหตุข่มขืนบ่อยครั้ง ซึ่งปัจจัยหนึ่งคือการที่ในพื้นที่ต่างๆ นั้นมีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้กลายเป็นที่ลับตาคน สร้างความไม่ปลอดภัยให้คนเดินเท้า หรือบางแห่ง เสาไฟฟ้าก็ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ติดๆ ดับๆ จนกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนที่ต้องเดินผ่านไปผ่านมา แต่ว่าจะให้เลี่ยงเดินก็ไม่ได้ เพราะนี่มันทางกลับบ้านที่ต้องเดินผ่านทุกวัน
ไหนจะกล้องวงจรปิดที่หลายครั้ง มีคนไปขอภาพบันทึกเหตุการณ์ แต่ก็ได้รับการแจ้งว่ากล้องเสียเสมอ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของคนเดินถนนว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราจะได้รับความคุ้มครองอย่างไร
การเพิ่มแสงสว่างและการมีกล้องวงจรปิดคอยสอดส่องและทำหน้าที่ได้จริงๆ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การผู้คนที่เดินเท้านั้นสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอุ่นใจ ไม่มีเวลาใดก็ตาม เพราะต่อให้ฟ้ามืดแล้ว แต่เราก็ควรมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตสัญจรอยู่ดีนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก