ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะใน กทม.นอกจากเราต้องเหนื่อยจากการเจอรถติด คนเบียดเสียดบนรถเมล์ บีทีเอส เจอน้ำเน่าพุ่งจากฟุตบาท หลบวินมอเตอร์ไซค์แล้ว การข้ามถนนที่ดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดและเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนเดินเท้า กลับกลายเป็นเรื่องยากและน่าปวดหัว ด้วยการมีสะพานลอยเกลื่อนกลาดในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะกินแรงแล้ว ยังพ่วงมาด้วยความเสี่ยงด้านอาชญากรรม สุขภาพ จากการสร้างไม่ได้มาตรฐานของสะพานลอยแต่ละแห่ง
ใน กทม. มีสะพานลอยทั้งหมด 915 แห่ง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. 723 แห่ง และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงอีก 192 แห่ง และจากข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ไว้ว่าสะพานลอยของรัฐมีงบประมาณในการสร้างอย่างต่ำ 2 ล้านบาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษาที่ได้รับทุกเดือน อย่างไรก็ตาม สภาพสะพานลอยที่เราเห็นในประจำวันและในข่าว ที่ไม่มีราวจับ ไม่มีแสงไฟบ้าง ขั้นบันไดชันเกิน มีสายไฟรุงรัง และสิ่งต่างๆ ทำให้เราตั้งคำถามว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และ ‘อำนวยความสะดวก’ ให้กับประชาชนนั้น นำไปสู่การมีสะพานลอยที่มีคุณภาพ และเข้าถึงกับทุกคนจริงๆ หรือเปล่า
Young MATTER ไปสุ่มสำรวจสะพานลอยของรัฐมาทั้งหมด 10 แห่งที่บริเวณย่านชุมชน ที่ทำงาน และมีคนอยู่อาศัยเยอะ ได้แก่ พระราม 9 รัชดาภิเษก สาทร mrt วงศ์สว่าง มหาวิทยาลัยลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เพื่อดูว่าสะพานลอยไทยที่สร้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนเดินเท้านั้นมีสภาพเป็นอย่างไร และสะพานลอย ออกแบบมาเพื่อเป็นมิตรกับคนเดินเท้าแค่ไหนกันแน่?
ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึง
การขึ้นสะพานลอยนอกจากจะเหนื่อยแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพ ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้ขึ้นบันไดเพื่อสุขภาพจากหลายๆ สื่อรวมไปถึงมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บอกว่าการจะขึ้นบันไดให้ได้สุขภาพที่ดีก็ต้องจัดท่าให้ถูกต้องโดยไม่ให้เข่าเกินปลายเท้า แต่ก็ยังไม่แนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาเข่า ผู้สูงอายุ และคนที่มีน้ำหนักมากอีกด้วยเพราะการขึ้นลงบันไดทำให้มีการถ่ายน้ำหนักไปที่หัวเข่าและส่งผลให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อม หรือข้อเข่าอักเสบได้
นอกจากนั้นเว็บไซต์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง นอกจากนี้การขึ้นลงสะพานลอยยังส่งผลต่อการปวดหลังบริเวณตอนล่างและช่วงเอว เนื่องจากมีแรงกดบริเวณข้อต่อตรงหลังเยอะ
จากการสอบถามสถาปนิก ความสูงขั้นบันไดที่สะดวกต่อการเดินจะอยู่ที่ 15 เซนติเมตร แต่จากที่ทีมงาน Young MATTER ได้สำรวจมา พบว่า ความสูงเฉลี่ยของขั้นสะพานลอยที่ไปวัดมา 10 แห่ง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 เซนติเมตร และมีขั้นที่สูงสุดถึง 32 เซนติเมตร ซึ่งทำให้การเดินขึ้นสะพานลอยในไทยไม่สะดวกสบายเท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ ราวจับสะพานลอยยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่อันตราย ทั้ง E.coli, แบคทีเรียลงกระเพาะอาหาร หรือ H1N1 รวมไปถึง COVID-19 ที่ทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ตได้กล่าวถึงการแพร่เชื้อของโคโรนาไวรัสว่าสามารถติดต่อจากผู้ที่มีเชื้อที่ไอจามใส่มือและไปสัมผัสสิ่งของได้ โดยเชื้อจะอยู่สูงถึง 5 วัน
สะพานลอยในไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีทางลาดสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็นในการเดินทาง ซึ่งหากเทียบกับสะพานลอยของญี่ป่นจะเห็นว่าจะมีทางลาดตรงกลางที่ไม่สูงเกินไปสำหรับคนพิการในการใช้งานสะพานลอย หรือในสะพานลอยบางจุดของไต้หวันก็มีลิฟท์สำหรับผู้พิการในพื้นที่ที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะพานลอยในไทยยังไม่มีการสร้างสองอย่างนี้ขึ้นมาสำหรับการใช้งานที่ทั่วถึงมากขึ้น การสร้างทางลาดที่ไม่สูงจนเกินไปหรือลิฟท์สำหรับคนพิการในพื้นที่ที่คนใช้งานเยอะจึงเป็นสิ่งที่ควรมีการพิจารณาในนโยบายการสร้างสะพานลอยเพิ่มขึ้น
ถึงแม้สะพานลอยจะถูกสร้างมาเพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์บนท้องถนน แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายในเรื่องของปัญหาสุขภาพ และเชื้อโรค นอกจากนี้การที่สะพานลอยไทยยังไม่สามารถทำให้เข้าถึงบางกลุ่มได้ก็ทำให้ไม่รองรับต่อการใช้งานของทุกคน ดังนั้น หากมีการปรับปรุงขั้นบันไดให้มีความสูงที่เหมาะสมสำหรับการเดินให้ได้มากขึ้น และการเพิ่มทางลาดหรือลิฟท์สำหรับผู้พิการคงจะทำให้สะพานลอยทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อะไรรอต้อนรับเราบนสะพานลอย
เมื่อเราขึ้นไปบนสะพานลอยแล้ว เราก็ต้องเผชิญหน้ากับน้ำขังจากระบบท่อบนสะพานลอยที่เป็นเส้นแนวนอนทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกจากตัวสะพานได้ ซึ่งน้ำขังก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี รวมไปถึงเป็นแหล่งเพาะยุงได้อีกด้วย นอกจากนี้หากเราเดินบนสะพานลอยในตอนกลางคืนสะพานลอยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงให้มีอาชญากรรมอีกด้วย จากโครงการสายตรวจตู้เขียวที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานเทศกิจเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอันตรายก็ได้ระบุสะพานลอยเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงอาชญากรรมเช่นกัน
บนสะพานลอยในหลาย ๆ พื้นที่ยังไม่มีการติดตั้งไฟและกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจตราเหตุอันตรายอีกเช่นกัน โดยจากสะพานลอย 10 แห่งที่ Young MATTER ไปสำรวจมีเพียงแค่ 2 ที่ที่มีไฟในตอนกลางคืน และไม่มีสักที่เลยที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่กลับมีสายไฟพะรุงพะรังที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายอย่างในปี ค.ศ.2562 ที่มีผู้ประสบอุบัติเหตุในวันสงกรานต์จับราวสะพานลอยที่มีสายไฟห้องอยู่จนทำให้ถูกดูดจนได้รับบาดเจ็บ
ความบกพร่องของการสร้างสะพานลอยตามกฎหมาย
จากการสำรวจสะพานลอยไทย 10 ที่ เทียบอ้างอิงตามแบบมาตรฐานงานสะพานปี พ.ศ.2556 ของสำนักออกแบบและสำรวจ กรมทางหลวงชนบท พบว่าสะพานลอยที่ไปสำรวจไม่ได้มาตรฐานทั้งหมดของสะพานลอย ดังนี้
ตามแบบมาตรฐานกำหนดว่าจะต้องมีความสูงขั้นบันไดอยู่ที่ระหว่าง 17 – 20 เซนติเมตร และแต่ละขั้นควรเท่ากัน ซึ่งใน 10 สะพานลอยที่ได้ไปสำรวจนั้น ไม่มีที่ไหนเลยที่มีความสูงเท่ากันทุกขั้น พบว่ามีขั้นบันไดที่เตี้ยที่สุดเพียง 10 เซนติเมตรและมีขั้นที่สูงที่สุดคือ 32 เซนติเมตร ซึ่งไม่ได้มาตรฐานและส่งผลเสียต่อเข่าของผู้ใช้งานดังที่กล่าวไปข้างต้น
ในแปลนของสะพานลอยมีไฟและกล้องวงจรปิดอยู่ด้วย แต่จากการสำรวจสะพานลอยตัวอย่าง 10 ที่กลับมีแค่ 2 ที่ที่มีไฟซึ่งติดอยู่ใต้หลังคาสะพานลอยคือสะพานลอยที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนเชียงรากและไม่มีที่ไหนเลยที่มีกล้องวงจรปิดซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
ความกว้างของพื้นที่คนเดินถนนตรงฟุธบาทกับระยะข้างๆ สะพานลอยต้องมีมากกว่า 35 เซนติเมตร ซึ่งพบว่ามีสะพานลอย 3 ที่ ที่มีระยะการเว้นไม่ถึงโดยที่ที่เว้นแคบที่สุดคคือสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังที่เว้นมีพื้นที่เว้นไว้เพียง 24 เซนติเมตร และตรงหน้าตลาดหัวจะเข้มีเพียง 30 เซนติเมตร บริเวณ MRT ศูนย์วัฒนธรรมก็มีระยะการเว้นแค่ 28 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้ส่งผลต่อการเดินบนฟุธบาทที่ลำบาก นอกจากนี้จากเพจเฟซบุ๊ค เฮ้ย นี่มันฟุธบาทไทยแลนด์ ก็ได้ถ่ายภาพสะพานลอยตรงแบริ่งก็ไม่มีที่เว้นสำหรับฟุธบาทและคนเดินเท้าจำเป็นต้องลอดใต้สะพานลอยอีกด้วย
แปลนของสะพานลอยยังระบุให้มีราวป้องกันตรงสะพานลอยสำหรับคนตาบอด และแผนคอนกรีตหรือแผงกันชนเพื่อป้องกันการพลัดตกถนน แต่ในสะพานลอยตัวอย่าง 10 ไม่มีที่ไหนเลยที่มีราวป้องกันสำหรับคนตาบอด และมีเพียง 2 ที่ที่มีแผงคอนกรีตป้องกันการพลัดตกถนนคือสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งเชียงราก
จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานแล้วสะพานลอยในพื้นที่สำรวจยังสร้างไม่ได้มาตรฐานมากพอ ซึ่งการปรับปรุงและสร้างสะพานลอยให้ถูกต้องตามมาตรฐานมากกว่านี้ควรจะเป็นเรื่องที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้การมีเกณฑ์พิจารณาที่ชัดเจนในการสร้างสะพานลอยอาจจะไม่ทำให้สะพานลอยในไทยเกลื่อนกลาดผ่านการใช้เหตุผลแค่ว่าเพราะเป็นพื้นที่ที่มีคนเยอะ หรือเกิดอุบัติเหตุ แต่การคำนึงถึงระยะห่างต่อสะพานลอย ดูผังเมืองให้สอดคล้องกับการสร้างสะพานลอยน่าจะช่วยให้เราสามารถมีสะพานลอยที่ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิง