เมื่อยาเสพติดโดยเฉพาะ ‘ยาบ้า’ กลายเป็นผู้ร้ายตัวสำคัญของเกือบทุกอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทุกๆ วันในหน้าสื่อ นั่นย่อมทำให้การต่อสู้กับยาเสพติดด้วยวิธีการ ‘ปราบปรามอย่างเข้มข้น’ กลายเป็นวิธีการที่ถูกคาดหวังจากประชาชน
และด้วยความเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน การปราบปรามยาเสพติดจึงต้องเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างแน่นอน ในภาวะที่สังคมกำลังหวาดกลัวยาเสพติดอย่างรุนแรง
ปลายเดือนมกราคม 2566 อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีอีกตำแหน่งคือ รมว.สาธารณสุข ขึ้นปราศรัยบนเวทีของพรรค พร้อมประกาศจะลงนามในประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ที่ครอบครองยาบ้า แม้จะมีเพียง 2 เม็ดขึ้นไป ถือว่าเป็น ‘ผู้ค้า’ ซึ่งจะมีโทษจำคุกทันที
จากเดิมที่กฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่จะเข้าข่ายเป็นผู้ค้ายาเสพติด จะต้องมียาบ้าในครอบครอง 15 เม็ดขึ้นไป
นี่เป็นตัวอย่างของ ‘นโยบาย’ ที่คาดว่าอีกหลายพรรคการเมืองจะประกาศตามมาในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งอย่างแน่นอน นั่นคือ ‘การประกาศสงครามกับยาเสพติด’ เพราะจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่แต่ละพรรคเชื่อกันว่าจะได้ใจประชาชน
ก็ในเมื่อยาเสพติดถูกมองว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคมทั้งหลาย เป็นต้นเหตุของอาชญากรรม ปล้น ฆ่า จับตัวประกัน รวมไปถึงถูกมองว่าผู้เสพบางส่วนจะกลายเป็นคนคุ้มคลั่ง หลอนยา ออกมาก่อเหตุอย่างง่ายดาย เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และไม่ควรที่อยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้
แน่นอนว่า ผู้เขียนเองไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงด้านหนึ่ง คือยาเสพติดถือเป็นภัยคุกคามในสังคมที่ต้องการการจัดการให้หมดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องทำให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ..แต่ถ้ามองไปในอีกด้านหนึ่ง ก็จะมีคำถามตามมาว่า ‘การประกาศสงคราม’ หรือ ‘การปราบปรามอย่างเข้มข้น’ เป็นแนวทางที่ช่วยจัดการให้ภัยยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทยได้จริงหรือ
ปลายปี 2564 ประเทศไทยเพิ่งประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ “ให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย”
นั่นเพราะมีผลการศึกษา งานวิจัย และประสบการณ์ตรงจากหลายประเทศที่เคยดำเนินนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดแล้วพบว่า เป็นแนวทางที่ไม่สามารถขจัดยาเสพติดให้หมดไป แถมในทางตรงกันข้ามยังมีความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นในหลายมิติ
หากย้อนไปก่อนที่ประเทศไทย จะแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็จะเห็นถึง ‘หลักการสำคัญ’ ที่กลุ่มคนทำงานด้านยาเสพติดในไทยนำมาใช้
จนกลายเป็นแนวทาง “กำหนดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย”
หลักการคือ ต้องการคืนคนดีสู่สังคมโดยคัดแยกไม่ให้ผู้เสพหรือผู้ค้ารายเล็กรายน้อยได้มีโอกาสไปพบกับเครือข่ายผู้ค้าที่ใหญ่โตกว่าในเรือนจำ
..ซึ่งน่าสนใจว่า หากพรรคการเมืองต่างๆ จะเสนอนโยบายให้กลับมาใช้วิธีการปราบปรามจับกุมอย่างเข้มข้น จะขัดกับหลักการของกฎหมายใหม่ที่ผ่านการสังเคราะห์ปัญหามาอย่างยาวนานแล้วหรือไม่
สำหรับประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่ รมว.สาธารณสุขเตรียมลงนาม มีฐานมาจาก มาตรา 107 ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งระบุไว้ว่า “การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เกินปริมาณที่ รมว.สาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ”
จะเห็นได้ว่า ในมาตรา 107 มีข้อความที่ระบุว่า ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เกินปริมาณที่ รมว.สาธารณสุข ‘กำหนดในกฎกระทรวง’ ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
ดังนั้น หากหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ รมว.สาธารณสุขลงนามในกฎกระทรวงว่า การครอบครองยาบ้า 1 เม็ด เป็นการครอบครอง ‘เพื่อเสพ’
นั่นจะทำให้มีความหมายอักนัยหนึ่งไปด้วยว่า หากผู้ใดครอบครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด จะถือได้ว่าเป็นการครอบครอง ‘เพื่อจำหน่าย’
ทำให้เจ้าหน้าที่จะสามารถตั้งข้อหา ครอบครองเพื่อจำหน่าย กับผู้ที่ครอบครองยาเสพติดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไปได้เลย
จับทุกคนเข้าคุก: จิ้งเหลนจะกลายเป็นมังกร
“สมมติว่า ผมเป็นคนที่งัดรถเป็น ถูกจับเข้าไปอยู่ในคุก ไปเจอกับอีกคนที่งัดบ้านเป็น พอออกจากคุกมา ผมจะทำเป็นทั้ง 2 อย่างเลย เช่นเดียวกัน ถ้าหากเราจับคนที่เป็นแค่คนเสพยาธรรมดาๆ หรือขายยาไม่กี่เม็ดเข้าไปอยู่ในคุก ก่อนที่เข้าไปเขายังเป็นแค่ผู้เสพเป็นคนขายยาเพื่อหาเงินมาเสพ แต่พอเข้าไปอยู่ในคุก เขาก็จะได้เจอกับเครือข่ายใหญ่ เจอพ่อค้ายารายใหญ่ ได้รู้จักสนิทสนมกัน ถูกทาบทามให้ไปทำงานในเครือข่ายที่ใหญ่โตขึ้นทันทีเมื่อออกจากคุก
“ยิ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่า คนที่เคยผ่านการติดคุกมาด้วยคดียาเสพติด ออกมาก็หางานสุจริตทำได้ยากมากๆ ไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน เขาก็จะหันไปเลือกทำงานกับเครือข่ายเหล่านี้ในที่สุด”
สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ ผู้จัดการกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) กล่าวถึงปัญหาที่เขามองว่าจะกลับมาเกิดขึ้นทันทีหากไทยกลับไปใช้นโยบายจับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งหมด เพราะตัวเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้ใช้ยา เคยถูกจับกุม ใช้ชีวิตเข้า-ออกเรือนจำมาหลายต่อหลายครั้ง ก่อนจะผันตัวมาทำงานในองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ยา ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้
“จิ้งเหลนจะกลายเป็นมังกร นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เราแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้มาโดยตลอดครับ เพราะที่ผ่านมาเราเอารายเล็กรายน้อยไปเจอกับรายใหญ่ในเรือนจำ มันไม่ใช่แค่ทำให้เรือนจำแออัด แต่มันเป็นการไปช่วยเขาขยายเครือข่าย เพิ่มจำนวนคนที่ถลำลึกให้มากขึ้นเรือยๆ
“ผมเปรียบเทียบอีกอย่างคือ มันเหมือนเราเอาคนที่รู้เรื่องยาอยู่แค่ระดับอนุบาล ไปเจอกับพ่อค้ายาที่มีความรู้เรื่องยาระดับปริญญาเอก จากที่เคยมีลูกค้า 5-10 คน กลับมีช่องทางมากขึ้น มีลูกค้าเป็นพันเป็นหมื่น นี่เป็นวงจรที่พ่อค้ารายใหญ่เขาชอบเลยด้วยซ้ำ
“ดังนั้น หลักจริงๆที่จะแก้ปัญหาคือ เราต้องตัดวงจรนี้ รัฐต้องไม่ช่วยทำให้เขาได้ไปเจอกัน ซึ่งก็คือ การแยกให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยนั่นแหล่ะครับ คนเหล่านี้ถึงจะมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ แต่มันก็ต้องมีกระบวนการอะไรอีกเยอะ” สุพจน์กล่าวย้ำ
ถ้ามียาบ้า 2 เม็ด ทำให้คนที่ครอบครองยาจำนวนนั้น ถูกตั้งข้อหาผู้ค้ายาได้จะเกิดอะไรขึ้น?
ผู้จัดการกลุ่ม APASS ตอบคำถามนี้ทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “เราลืมเรื่องการคืนพวกเขากลับสู่สังคมไปได้เลย”
เขาย้ำว่า แม้ในขณะช่วงเวลาปกติ คนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไปเข้าแถวสมัครงานกับคนทั่วไป เขาก็ไม่ถูกเลือกอยู่แล้ว เพราะคนที่ไม่เคยมีประวัติใช้ยาก็ยังตกงานอยู่เลย โดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 ระบาดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และถ้าคนเหล่านี้มีประวัติถูกจับในฐานะผู้ค้ายาไปอีก ก็จะยิ่งหมดหนทางนำพวกเขากลับมาสู่สังคมได้เลย
ยังมีอีกประเด็นที่สุพจน์เชื่อว่า จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ นั่นคือ ‘การเรียกรับผลประโยชน์’
“ถ้าว่ากันตามตรงนะครับ ขนาดแค่บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวอย่างที่เป็นข่าวใหญ่โต และถ้ารัฐประกาศให้การครอบครองยา 2 เม็ด จะถูกจับฐานเป็นผู้ค้ายา ก็จะทำให้ไม่เหลือตัวเลือกอื่นเลย ต้องยัดเงินอย่างเดียว เหมือนขอให้เจ้าหน้าที่เอายาทิ้งถังขยะ มันเหมือนเป็นการติดอาวุธ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการต่อรองข่มขู่ ซึ่งที่ผ่านมามันมีขบวนการหาผลประโยชน์จากผู้ใช้ยาที่เคยมีประวัติอยู่แล้ว ยิ่งถ้ากฎหมายเข้มขึ้นแบบนี้ แม้แต่คนที่เสพเฉยๆ แค่ถูกขู่จะจับตรวจปัสสาวะ ก็ต้องยอมจ่ายแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ มันจะลงไปอยู่ใต้ดินลึกขึ้น เกิดคอรัปชั่นมากขึ้น”
“ที่สำคัญคือยิ่งมันลงไปใต้ดินมากขึ้น ราคาก็จะยิ่งดี เพราะจะอ้างว่าของหายากขึ้น คนที่ตกงานเพราะเคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็จะถูกกวักมือเรียกจากกลุ่มเครือข่ายได้ง่ายขึ้น เพราะเครือข่ายพวกนี้จะขายของได้ราคาดีขึ้น” สุพจน์ตอบจากประสบการณ์ตรงของเขาในการทำงานช่วยเหลือคนกลุ่มนี้
บทเรียนจากนานาชาติ สังคมต้อง ‘ปลอดภัย’ จากยาเสพติด ไม่ใช่แค่ ‘ปลอด’ ยาเสพติด
“หลังจากขุนส่า พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ วางมือในปี ค.ศ.1996 ทำให้ประชาคมโลกมีความเชื่อว่า จะเอาชนะยาเสพติดได้แน่ๆ จนในปี ค.ศ.1998 องค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งในขณะนั้นมีโคฟี อันนัน เป็นเลขาธิการ ได้ประกาศว่าจะทำให้โลก ‘ปลอด’ จากยาเสพติดภายใน 20 ปีข้างหน้า นั่นก็คือการประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งมีหลายประเทศมหาอำนาจสนับสนุนแนวทางนี้ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา”
“แต่ต่อมานายโคฟี อันนัน ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพก็ยอมรับว่า การประกาศสงครามกับยาเสพติด ทำให้มีคนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหายาเสพติดลดลงไป มียาตัวใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีราคาแพงขึ้น ทำให้มีความต้องการเข้าสู่วงการนี้เพิ่มมากขึ้น และเครือข่ายการค้ายาเสพติดก็ซับซ้อนขึ้น”
‘ประสบการณ์อันเจ็บปวดของบรรดาผู้นำโลก จากการใช้นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด’ เป็นประเด็นที่ นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอว่า ควรจะเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองของไทยนำไปศึกษา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นนโยบายในการแก้ปัญหายาเสพติด
สำหรับผู้ที่คลุกคลีกับวงการยาเสพติดในทางวิชาการอย่าง นพ.อภินันท์มีข้อสรุปที่ตรงกันกับมุมมองของคนที่เคยอยู่วงในของผู้ใช้ยาอย่างสุพจน์ นั่นคือการนำผู้เสพไปขังในเรือนจำร่วมกับผู้ค้า เป็นแนวทางที่ไม่ช่วยแก้ปัญหาเลย เพราะเท่ากับเป็นการนำผู้เสพไปเรียนรู้วิธีการค้ายาเพิ่มในเรือนจำ ไปช่วยเพิ่มเครือข่ายการค้ายาให้กับกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่
หรือแม้แต่การนำไปเข้าค่ายบำบัดรวมกัน ก็มีข้อสรุปทางวิชาการออกมาแล้วว่า ไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล
“จับเข้าเรือนจำไป เดี๋ยวก็กลับเข้ามาอีกครับ สถิติของกรมราชทัณฑ์ก็บอกอยู่แล้วว่า ทุก 3 ปี ผู้ต้องขัง 30% ที่พ้นโทษออกไป จะกลับมาที่เรือนจำอีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด และมีงานวิจัยของประเทศไทยเองได้ผลสรุปมาว่า แม้แต่การนำผู้เสพไปเข้าค่ายบำบัดรวมกันในปริมาณมากๆ ก็จะได้ผลเป็นลบมากกว่าผลเป็นบวก เพราะกลายเป็นว่า เขาได้ประสบการณ์จากกลุ่มผู้ค้ามากขึ้น”
“ส่วนที่บำบัดแล้วได้ผลว่าสามารถเลิกยาได้ งานวิจัยระบุว่า ต้องมีกระบวนการในการดูแลต่อเนื่องตามมาด้วย ไม่ใช่เพราะจับไปขัง หรือเพียงแค่ส่งไปบำบัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ”
นพ.อภินันท์เปรียบเทียบแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยแนวคิดทางการแพทย์ โดยเปรียบเทียบแนวทางปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดของประเทศเม็กซิโก กับการแก้ปัญหาการระบาดของ HIV ผ่านนโยบาย ‘แจกเข็มฉีดยาใหม่’ ของประเทศออสเตรเลีย ในอดีต
“ที่เม็กซิโก ในช่วงที่เขาใช้นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด ปรากฏว่ามีคนตายปีละนับแสนคน จนประธานาธิบดีของเม็กซิโกเองต้องมาบอกกับ UN ว่า แนวทางนี้น่าจะไม่ถูกต้องแล้ว ส่วนที่ออสเตรเลีย ซึ่งเขาเคยมีปัญหาการระบาดของเชื้อ HIV จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันของกลุ่มผู้เสพยา จนมีคนในครอบครัวของผู้นำออสเตรเลียติดเชื้อด้วย เขาจึงค้นพบว่า การที่ยิ่งไปปราบปรามยาอย่างเข้มงวด ยิ่งไปทำให้ผู้ใช้ยาต้องไปใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้การระบาดรุนแรงขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้นโยบายแจกเข็มใหม่ และค่อยๆ นำผู้ใช้ยาไปเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางการแพทย์ ซึ่งได้ผลทำให้การระบาดลดลงอย่างรวดเร็ว”
“ด้วยแนวคิดแบบเดียวกันกันนี้ ทำให้หลายประเทศในยุโรปนำไปประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหายาเสพติด และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ บางประเทศมีนักโทษคดียาเสพติดลงลงมาก บางประเทศสามารถปิดเรือนจำไปเลย เหลือแต่เรือนจำที่ใช้สำหรับขังอาชญากรร้านแรงจริงๆเท่านั้น
“กระทั่งในปี ค.ศ.2016 ทาง UN ก็มีข้อสรุปว่า การต่อสู้กับภัยยาเสพติดด้วยแนวทาง ทำให้สังคม ‘ปลอด’ จากยาเสพติด เป็นแนวทางที่ไม่ได้ผลจริง เพราะมีคนตายมากขึ้น มีคนติดยามากขึ้น มียาตัวใหม่เกิดขึ้น เครือข่ายผู้ค้ายาขยายใหญ่โตขึ้น จึงนำมาสู่การเปลี่ยนนโยบายเป็น ทำให้สังคม ‘ปลอดภัย’ จากยาเสพติดแทน”
สิ่งที่ต่างกันก็คือ คำว่า ‘ปลอด’ กับคำว่า ‘ปลอดภัย’ และในวงวิชาการของประเทศไทยเอง ก็นำแนวทางนี้มาปรับใช้ จนพัฒนามาเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ โดยยึดหลักการ ‘ผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ ซึ่งก็มาจากหลักทำให้สังคม ‘ปลอดภัย’ จากยาเสพติดนั่นเอง
นพ.อภินันท์จึงเสนอว่า หากพรรคการเมืองจะประกาศนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดออกมาในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ก็ควรนำบทเรียนจากประสบการณ์อันเลวร้ายของประชาคมโลกมาศึกษาก่อนด้วย ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทาง UN ก็ทำเอกสารถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผิดพลาดออกมาเผยแพร่ทุกปีอยู่แล้ว และหลายหน่วยงานในไทยก็นำมาใช้อยู่ตลอด
ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทิ้งท้ายว่า งานวิจัยทางวิชาการทุกชิ้นได้ข้อสรุปตรงกันว่า ปัญหายาเสพติดมีต้นตอมาจากปัญหาสังคม ตั้งแต่ความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน และอีกหลายปัญหา ดังนั้น การจะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องอาศัยเวลา ผู้ใช้อำนาจรัฐก็ต้องอดทนในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนพร้อมไปกับการอธิบายให้สังคมเข้าใจแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่า นี่เป็นวิธีการที่ยากกว่า การประกาศสงครามกับยาเสพติด เพราะการประกาศสงคราม จะทำให้พรรคการเมืองจะได้ความนิยมเพิ่มขึ้นทันที
“ผมอยากให้สื่อมวลชน พรรคการเมือง ลองลงไปคุยกับครอบครัวหรือชุมชนที่ลูกหลานเขากลายเป็นผู้ใช้ยา กลายเป็นผู้ค้ายา คนเหล่านี้เขาก็หวังว่า หลังจากส่งลูกหลานเข้าเรือนจำหรือส่งเข้าไปบำบัดแล้ว เขาจะได้ลูกหลานเขากลับมา แต่ปรากฎว่า ยิ่งส่งเข้าเรือนจำไปมาก เขากลับได้คนค้ายากลับมา จากที่เคยค้าเพื่อเสพกลายเป็นผู้ค้าเพื่อจำหน่าย คนเหล่านี้เขามีเรื่องเล่าให้เราฟังมากมาย เพียงแต่เสียงของเขาไม่เคยถูกรับฟัง เพราะถูกตีตราไปแล้วว่าเป็นอาชญากร เป็นขี้คุก ดังนั้น เสียงที่เราได้ยินกัน จึงมีแต่เสียงความฝันที่จะทำสงครามกับยาเสพติดจากฝ่ายการเมืองมากรอกหูเราให้หลงใหลว่าจะเอาชนะยาเสพติดได้จริงเท่านั้น” นพ.อภินันท์กล่าว