ชุมชนนี้ยังเต็มไปด้วยยาเสพติด.. แต่พวกเขาบอกว่าสำเร็จในการแก้ไขปัญหานี้ได้แล้วครึ่งหนึ่ง
ต้นซอย ‘ชุมชนกองขยะ’ เป็นสำนักงานชุมชน ถัดเข้าไปอีกหน่อยมีโรงแยกขยะเอกชน ถัดออกไปเป็นบ้านเอื้ออาทรเรียงตัวติดกับบ้านไม้ผสมปูนดูมอซอ และปิดท้ายซอยอย่างสมชื่อชุมชนด้วยกองขยะอีกแห่ง มันอาจไม่ใช่ทัศนียภาพที่งดงามนักในสายตาคนนอก แต่สำหรับคนในชุมชนกองขยะ กองขยะเหล่านั้นคืออาชีพและรายได้
จากสภาพภายนอกพอเดาได้ว่านอกจากปัญหาความยากจน อีกปัญหาใหญ่ที่ซ้อนเข้ามาในชุมแห่งนี้คือปัญหายาเสพติด ซึ่งนับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งชุมชนในปี 2532 ไม่เคยมีวันไหนที่ชุมชนแห่งนี้ปราศจากยาเสพติด แม้ในปัจจุบันคนในชุมชนบางคนยังเสพยาบ้าทุกวัน เพื่อให้มีแรงแยกขยะ อีกคนเพิ่งลงมาจากชั้นสองของตัวบ้านในช่วงอาทิตย์ตกหลังกินน้ำกระท่อมผสมยาแก้ไอตลอดคืน และบางคนเดินเท้าจากปากซอยถึงท้ายซอยทุกวันเพื่อรบเร้าให้คนที่ใช้ยาไปรับเมโทรโดนเพื่อเลิกยาเสพติด
มองจากภายนอกปัญหายาเสพติดในชุมชนขยะยังดูรุนแรง แต่ทำไมพวกเขาถึงเชื่อว่าสำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง?

ภาพโดย Asadawut Boonlitsak
ชุมชนขยะหนองแขม
ไม่มีใครรู้แน่ชัดถึงจุดเริ่มต้น แต่ข้อบันทึกจากหนังสือ ‘ประสบการณ์ชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ชุดที่ 5’ บอกว่าแต่เดิมคนในชุมชนแห่งนี้ 9 ใน 10 คนมาจากต่างจังหวัด พวกเขาบุกรุกเข้ามาในพื้นที่เอกชนเพื่อสร้างเพิงกันฝนชั่วคราว และหาเลี้ยงปากท้องด้วยการคัด แยก เก็บขยะจากโรงแยกขยะหนองแขม ก่อนแยกย้ายออกไปตามแต่โชคชะตาเมื่อมีโอกาสดีกว่าเข้ามา
จนปี 2532 บู้ – บรรจง แซ่อึ๊ง ประธานชุมชนยื่นจดทะเบียนตั้ง ‘ชุมชนกองขยะ’ บนพื้นที่ 6 ไร่ บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 ชุมชนแห่งนี้ถึงมีสำมะโนประชากร ในปัจจุบัน มีผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ 176 หลังคาเรือน หรือราว 650 คน คนส่วนใหญ่ยังมีอาชีพที่เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ทำให้มีรายได้น้อย และบางส่วนยังใช้ยาเสพติดอย่างสม่ำเสมอ
ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ชุมชนกองขยะเผชิญการระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและกระท่อม ซี่งได้รับความนิยมจากคนวัยทำงานที่ต้องการมีแรงทำงานมากขึ้น จนต่อมามันก็เข้าไปถึงเยาวชนที่ช่วยพ่อแม่แยกขยะ หรือเรียกได้ว่าความยากจนเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์รวมคนติดยาเสพติด และนำไปสู่ปัญหาต่อเนื่อง ทั้งปัญหาอาชญากรรม เช่น การลักขโมย, ปัญหาครอบครัว, ปัญหาหนี้สินจากการสู้คดีความ รวมถึงปัญหาเยาวชนทั้งเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิต

บาส (นามสมมติ) ภาพโดย Sutthipath Kanittakul
ความสำเร็จครึ่งหนึ่งเหนือปัญหายาเสพติด
บาส (นามสมมติ) วัยรุ่นวัย 19 ปีนั่งอยู่ที่โต๊ะไม้ท้ายหมู่บ้านที่ล้อมรอบกายไปด้วยกองขยะ มือหนึ่งคีบบุหรี่ sms ขณะที่อีกมือกดโทรศัพท์เล่นเกม ก่อนที่เขาจะเริ่มใช้เฮโรอีนตามคำชวนของเพื่อน บาสกับเพื่อนเคยเดินสายเตะบอลตามสนามต่างๆ แต่ภายหลังที่ลาออกจากชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนด้วยเหตุผลว่า “ไม่ชอบเรียนสายสามัญ” เขาก็เลิกเตะบอลและหันมาอยู่ในวังวนยาเสพติดโดยสมบูรณ์
บาสยอมรับว่าตัวเองเคยลองยาเสพติดมาแทบทุกประเภท ตั้งแต่ ไอซ์, ยาบ้า, ยาอี, โคเคน, กัญชา และเฮโรอีน รวมถึงเขายังเคยเกือบถูกจับคดีขายเฮโรอีนด้วยเมื่อตอนอายุได้ประมาณ 17 ปี แต่ในครั้งนั้น เพื่อนรุ่นพี่ของเขาเป็นคนรับผิดแทน ทำให้เขารอดจากตะรางและไม่ต้องเข้าสถานพินิจ
“ผมเคยเลิกมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเลิกได้เพราะย้ายไปอยู่นครปฐมกับลูกพี่ลูกน้อง แต่พอกลับมาอยู่นี่ก็ติดเหมือนเดิม” ตอนนี้บาสเข้ารับการบำบัดยาเสพติดอีกครั้งตามคำชวนของ บรรจง ประธานชุมชนขยะและอยู่ระหว่างใช้น้ำมันกัญชาเพื่อเลิกเฮโรอีน
“ผมอยากมีงานทำ อยากมีเงินซื้อรถ (มอเตอร์ไซค์) เป็นของตัวเอง” บาสพูดถึงเหตุผลที่เข้ารับการบำบัดครั้งที่ 2
เรื่องเล่าของบาสคลับคล้ายกับ มีน – วิสิทธิ์ ฮับเซาะห์ ชายหนุ่มวัย 22 ปีที่เริ่มใช้ยาเสพติดครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี ก่อนมีนเข้ามาอยู่ในชุมชนแห่งนี้ เขาเติบโตที่พัทยา ก่อนพ่อแท้ๆ ของตัวเองจะหายหน้าไปทำให้แม่พาเขาย้ายไปกาญจนบุรี ก่อนมาจบที่ชุมชนขยะในที่สุด มีนเคยใช้ยาเสพติดมาหลายชนิดตั้งแต่ ยาบ้า, กระท่อม, กัญชา, ดมน้ำมัน รวมถึงกาว และเคยมีอาการจิตเวชหลังถูกดักทำร้ายร่างกายที่พัทยา ทำให้มีช่วงนึงที่เขาถือมีดเดินไปไหนมาไหนตลอดเวลา สร้างความหวาดกลัวให้กับชุมชน
มีนก็เช่นเดียวกับบาสที่ตัดสินใจเข้ารับการบำบัดตามคำชวนของบรรจงและคำขอของแม่ ซึ่งแง่หนึ่งสะท้อนความไว้วางใจของคนในชุมชนที่บรรจงเปรียบว่าคือ ชัยชนะครึ่งทางต่อปัญหายาเสพติด
“ไปบำบัดเลิกได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ผมคิดว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง เพราะผมรู้หมดว่าใครในชุมชนติดยาเสพติดบ้าง มันเกิดการร่วมมือกับผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็นสิ่งที่วงการสาธารณสุขต้องการอย่างมาก”
วิธีการของบรรจงอยู่ภายใต้แนวคิด ‘ลดความรุนแรงจากยาเสพติด (Harm Reduction)’ ที่เชื่อว่าเราไม่สามารถกำจัดยาเสพติดให้หมดไปจากโลกใบนี้ได้ แต่เราสามารถควบคุมและจำกัดผลกระทบของมันได้ เช่น ลดอัตราโอเวอร์โดสของผู้ใช้ยา หรือลดคดีอาญาอื่นๆ ที่อาจเกิดตามมาจากการใช้ยาเสพติด
“เขาพิสูจน์มาแล้วว่าไม่สามารถชนะยาเสพติดได้ ถ้ารบก็เป็นคนละพวกกัน สร้างความเสียหายมากกว่า แต่ถ้าเราทำให้เป็นพวกกัน เราก็มีข้อมูลว่าเขา (ผู้ใช้ยาเสพติด) ทำงานอะไร ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร” บรรจงกล่าวต่อ “ถ้าเขาประสงค์ที่จะใช้ยาไปตลอดชีวิต ก็ต้องปล่อยเขาไป แต่ต้องให้เขามีความรู้ด้านสาธารณสุข เล่นพอประมาณ รู้จักยับยั้ง อย่าให้สร้างปัญหากับชุมชน อย่าลักขโมย อย่าเสพยาให้เด็กเห็น”

การประชุมกับผู้ปกครองที่มีลูกใช้ยาเสพติด ภาพโดย Asadawut Boonlitsak
ถอดแนวคิดชุมชนบ่อขยะ
ในช่วงนโยบายสงครามยาเสพติดสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีรายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ที่พบว่า
- ในช่วงนโบายสงครามยาเสพติดมีผู้เสียชีวิต 2,819 ราย
- เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,370 ราย
- ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 878 ราย
- ไม่ทราบสาเหตุการตาย 571 ราย
ท่ามกลางคำสั่งให้ใช้ “กำปั้นเหล็ก” อันนำไปสู่ความรุนแรงโดยรัฐแบบหว่านแห บรรจงคิดต่างและเลือกพาชุมชนขยะไปอีกทางหนึ่ง
“ทีแรกผมก็มีทัศนคติไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เราเห็นพ่อแม่ที่ถูกจับติดคุกคดียาเสพติดแล้วเด็กมันไม่มีเงินไปโรงเรียน ผมก็คิดว่าเด็กมันไม่เกี่ยวนี่แต่มันได้รับผลกระทบ ผมก็เริ่มจากช่วยเด็กก่อน แล้วผมก็สังเกตว่าคนที่ติดคุกตระกูลไม่เห็นเคยมีประวัติติดคุกนี่ ผมก็เลยฉุกคิดและเริ่มไปเยี่ยมคนเหล่านี้” บรรจงเล่าจุดเริ่มต้นการทำชุมชนบำบัดยาเสพติดในปี 2545 ที่พัฒนาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ที่ชุมชนขยะได้รับความร่วมมืออย่างรอบด้านจากทั้งคนในชุมชน, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ป.ป.ส., สถานศึกษา รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่
สำหรับบรรจง เขามองว่าการบำบัดยาเสพติดมี 3 ส่วนสำคัญคือ บำบัดครอบครัว, บำบัดผู้ใช้ยาเสพติด และบำบัดผู้นำชุมชน
ในระดับครอบครัว ทุกอาทิตย์จะมีการชวนคนในครอบครัวของผู้ติดยาเสพติดในชุมชนมาล้อมวงพูดคุย โดยในวงยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข, นักจิตวิทยา รวมถึงบุคลากรด้านศาสนาเข้าร่วม และจากการสังเกตการณ์ เนื้อหาในวงนี้มีตั้งแต่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดูแลลูกที่ติดยาเสพติด ประสิทธิภาพของสถานบำบัดยาเสพติด เช่น ถ้ำกระบอก แต่ประเด็นที่ถูกหยิบขี้นมาพูดบ่อยที่สุดคือ การให้กำลังใจกันและกันระหว่างแต่ละครอบครัว

การประชุมกับผู้ปกครองที่มีลูกใช้ยาเสพติด ภาพโดย Asadawut Boonlitsak
การร่วมมือกับหน่วยงานราชการก็เป็นส่วนสำคัญ ความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อนามัยและโรงพยาบาลที่มาให้ข้อมูลและทำให้การประสานเพื่อบำบัดผู้ป่วยสะดวกรวดเร็วขึ้น ความใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หนองแขมและคนในชุมชนทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและลดการดำเนินคดี และยังมีความร่วมมือจากองค์กรทางศาสนาที่ช่วยเยียวยาหัวใจของคนในชุมชนและครอบครัวที่ติดยาเสพติด
สำหรับตัวผู้นำชุมชน ต้องยอมรับว่าบรรจงมีแท็กติกที่แพรวพราวเพื่อเข้าไปนั่งในหัวใจของคนในชุมชน เช่น การใช้เทคนิค ‘ให้รางวัล’ แจกเงินหรือของให้กับครอบครัวและผู้ที่ติดยาเสพติดในชุมชน เพื่อเป็นการเชิญชวนให้มาเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดของชุมชน นอกจากนี้ บรรจงยังใช้ ‘คอนเนคชั่น’ ส่วนตัวเพื่อขอความร่วมมือจากภาครัฐ ที่สำคัญ ฝากงานให้กับคนที่เคยมีประวัติยาเสพติด เช่น โรงงาน, ห้างสรรพสินค้า รวมถึงครั้งหนึ่งที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. อัศวิน ขวัญเมือง มาเยี่ยมชุมชนแห่งนี้ บรรจงได้เจรจาขอให้ กทม.ให้สิทธิพิเศษแก่คนในชุมชนก่อนเพื่อทำงานเป็นคนเก็บขยะของ กทม.
“ยามยากจน กทม.ใช้งานพวกเราคัดแยกขยะวันนึง 200 ตัน พอ กทม.รวยก็ทิ้งพวกเรา ความใฝ่ฝันสูงสุดของชุมชนกองขยะคือ ขับรถขยะ ดังนั้น ถ้าวันนึง กทม.รับเจ้าหน้าที่เก็บขยะหรือขับรถขยะ ขอให้รับเด็กของเราเข้าไป ทุกวันนี้ เด็กของผมได้หมดเลยนะ ” บรรจงเล่า “พอเขารู้ว่าผมช่วยพวกเขา เขาก็มาร่วมกิจกรรมกับผมตลอด และครอบครัวเขาก็มาช่วยเป็นเครือข่ายเพิ่มอีก”

มีน – วิสิทธิ์ ฮับเซาะห์ (ขวามือด้านบน) ภาพโดย Sutthipath Kanittakul
มองปัญหายาเสพติดด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
ทำไมการแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชนบ่อขยะถึงน่าสนใจ? อุกฤษฏ์ ศรพรหม นักวิชาการด้านความยุติธรรมจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ มองว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาแบบชุมชนกองขยะสอดคล้องกับแนวคิด ‘ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)’ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความยุติธรรมกระแสรองที่มุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งเพื่อนำไปสู่สถานการณ์ win-win มากกว่า win-lose แบบกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักที่เน้นอำนาจตุลาการและกฎหมาย
แนวคิดความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สอดคล้องไปกับประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่มองว่า ผู้เสพ = ผู้ป่วย และนำผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นคนในชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ และครอบครัวเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้สาธารณสุขนำกฎหมายแล้ว ยังมีแนวโน้มลดปัญหาต่อเนื่องที่เกิดจากยาเสพติดได้อีก โดยเฉพาะปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งนำไปสู่ทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแล, สุขอนามัย ตลอดจนปัญหาการพัฒนาอาชีพ และการกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขัง
อุกฤษฏ์มองว่า ชุมชนกองขยะแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งคู่กรณี (ครอบครัวผู้ใช้ยาเสพติด), ผู้กระทำผิด (ผู้ใช้ยาเสพติด) และผู้เสียหาย (ชุมชน) โดยพาทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุยเพื่อออกแบบวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน รวมถึงมีกลไกป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ฝึกอาชีพ/ ฝากทำงาน) ซึ่งช่วยทำให้การแก้ไขปัญหายั่งยืน
“ในสมัยก่อนมีแนวคิด ‘ชุมชนสีขาว’ หรือ ‘โรงเรียนสีขาว’ ซึ่งมันผลักคนที่เป็นจุดด่างพร้อยของสีขาวออกไปจากชุมชน ซึ่งมันตามมาด้วยปัญหาสังคมอื่น” อุกฤษฏ์กล่าว “แต่ชุมชนนี้ยอมรับว่าเรามีจุดขาวบ้าง ดำบ้างในชุมชนได้ แล้วเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความเสียหายนี้ร่วมแก้ไขปัญหาเพราะเชื่อว่าถ้าช่วยกันอนาคตอาจจะดีขึ้น”

ภาพโดย Asadawut Boonlitsak
ยังไม่ถึงปลายทาง
“เราต้องทั้งปราบปรามและบำบัดคนที่ติดยาเสพติด คนที่ติดไม่ใช่ผู้ร้ายแต่คือผู้ป่วย ต้องพาบำบัดและพากลับมาเป็นพลเมืองของครอบครัวอีกครั้ง การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ส่วนผู้ค้าต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด” เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30 กล่าวในงานของ ป.ป.ส. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา
“ผมอยากตั้งเป้าอย่างชัดเจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหายาเสพติดต้องลดอย่างเด็ดขาดภายใน 1 ปี” เศรษฐากล่าวต่อ “รัฐบาลนี้ต้องทำให้ยาบ้าหมดไปให้ได้ ต้องนำมาทำลายทั้งหมด เหมือนที่ทุกท่านกำลังเห็นในวันนี้”
คำประกาศแนวทางนโยบายยาเสพติดของนายกฯ คนใหม่ของไทยเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อว่าจะสุดท้ายแล้วจะดำเนินไปอย่างไร และจะนองเลือดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นสมัยสงครามยาเสพติดหรือไม่
แต่ถ้าเรามาดูสภาพของชุมชนบ่อขยะแห่งนี้ ข้อมูลจากบรรจงชี้ว่า ทุกวันนี้ชุมชนมีผู้ใช้ยาเสพติด 40 คน จากทั้งหมดมากกว่า 600 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 15% และถ้าว่ากันอย่างตรงไปตรงมา หลายเคสก็ยังมีแนวโน้มเลิกยาเสพติดไม่สำเร็จ
เช่นระหว่างที่เราคุยกับบาส มอเตอร์ไซค์แต่งซิ่งหนึ่งคันก็โฉบออกมาจากซอยข้างๆ และวัยรุ่นสองคนก็แวะมาค่อนคอดบาสเรื่องความตั้งใจเลิกยาเสพติด ก่อนหนึ่งในนั้นจะก้มลงไปที่ใต้โต๊ะไม้เพื่อหยิบบ้องหรืออุปกรณ์สูบยาเสพติด แล้วเดินหายไปที่กองขยะด้านหลังซอย
หรือมีนเองก็ยอมรับในระหว่างพูดคุยกันว่า ตัวเขาเพิ่งกลับมาใช้ยาบ้าครั้งแรกในรอบ 2 เดือนเมื่อช่วงเช้าวันที่เราได้มีโอกาสคุยกับเขานั่นแหละ
แม้พวกเขายังเลิกยาเสพติดไม่สำเร็จ แต่ชุมชนแห่งนี้ยังประคับประคองกัน พยายามที่จะอยู่ด้วยกัน และแสดงออกว่ายังให้โอกาสและเชื่อในตัวกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ติดยาเสพติดและมนุษย์คนหนึ่ง
*หมายเหตุ งานชิ้นนี้ได้รับทุนจาก TIJ เพื่อนำเสนอแนวคิด ‘ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ และสนับสนุนให้มีการใช้กระบวนอื่นนอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ที่ยึดโยงกับกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ภาพโดย Asadawut Boonlitsak