มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จำเป็นจะต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พบปะและสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา แต่โรคระบาด COVID-19 ทำให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้จะได้พูดคุยกันผ่านโซเชียลมีเดียบ้างก็ตาม แต่การไม่ได้กอด จูบ จับมือ หรือตบบ่าให้กำลังใจกันอย่างเมื่อก่อน ก็ทำให้เริ่มคิดแล้วว่า health crisis อาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่ยังมี ‘touch crisis’ ด้วย
การสัมผัสคือการติดต่อสื่อสารทางกายภาพของมนุษย์ ที่นอกจากจะช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ยังมีผลต่อฮอร์โมนภายในที่เป็นตัวแปรสำคัญของสุขภาพจิตด้วย เมื่อเรากอด จูบ ลูบหัว จับมือ ควงแขน โอบไหล่ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ร่างกายมาสัมผัสกัน โดยเฉพาะกับคนรักและคนสนิท ‘ออกซิโทซิน’ หรือฮอร์โมนแห่งความรักความผูกพันก็จะเพิ่มระดับขึ้น เป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ รู้สึกปลอดภัย และสนิทสนมกัน
บางคนถึงขั้นเสพติดการสกินชิป (skinship) หรือมือไม้ว่างเป็นไม่ได้ ต้องจับ ต้องลูบ ต้องกอดคนรักทันที เพราะนั่นคือความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันของพวกเขา หรือเวลาเศร้า บางคนอาจไม่ได้ต้องการคำพูด คำปลอบใจ หรือคำแนะนำอะไรมากมาย เพียงแค่ได้กอดอุ่นๆ จากใครสักคนก็ทำให้ดีขึ้นจนหายเป็นปลิดทิ้ง
ด้วยเหตุนี้เอง บางครั้งการสัมผัสทางร่างกายจึงสามารถสื่อสารแทนคำพูดได้ และดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย
สัมผัสที่หายไปส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การสัมผัสทางสังคมของมนุษย์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้มนุษย์สื่อสารผ่านระบบเสมือนจริงมากกว่าพบปะด้วยตัวเอง และพอมาเจอกับโรคระบาดครั้งใหญ่ นโยบาย social distancing ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็ทำให้การสัมผัสดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ อย่างที่ไม่รู้ว่ากลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่
ผลการศึกษาระหว่างประเทศ 5 ประเทศ ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 โดย เมอร์เล่ แฟร์เฮิร์สต์ (Merle Fairhurst) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชีวภาพจาก Bundeswehr University ประเทศเยอรมนี แสดงให้เห็นว่า 61% ของผู้ทำแบบสอบถาม ไม่ได้สัมผัสกับคนแปลกหน้า และ 35% ไม่ได้สัมผัสกับคนในครอบครัว และเราเรียกว่าอาการโหยหาการสัมผัสนี้ว่า touch starvation หรือ skin hunger ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกเผชิญในช่วงเวลานี้
สุขภาพจิตของมนุษย์ได้รับผลกระทบจากอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งทั้งสองต่างเกิดจากฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อเวลาเครียดหรือกังวล ร่างกายจะผลิต ‘คอร์ติซอล’ หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดขึ้นมา ดังนั้นเพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความสมดุล หรือไม่เครียดมากเกินไปจนสภาพจิตใจแย่ ร่างกายจึงจำเป็นจะต้องผลิตออกซิโทซินที่กล่าวไว้เมื่อตอนต้นออกมาด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อร่างกายสร้างออกซิโทซินออกมาได้ไม่เพียงพอ ความเครียดจึงเพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ความตึงของกล้ามเนื้อ และจังหวะการหายใจ ทำให้ช่วงนี้หลายคนจะพบว่าการข่มตานอนเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน เพราะความผิดปกติของฮอร์โมนและการทำงานของร่างกายนั่นเอง
และเมื่อนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ผลกระทบต่อมาคือสภาพจิตใจ เพราะการไม่ได้ติดต่อทางกายภาพ ส่งผลให้มนุษย์เกิดความเหงา อ้างว้าง โดดเดี่ยว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความเศร้า และความวิตกกังวล ดังนั้น การโหยหาการสัมผัสจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะปล่อยปละละเลย
เมื่อสัมผัสไม่ได้ อาจจะต้องหาอะไรทดแทนไปก่อน
การสัมผัสเกิดขึ้นในเกือบจะทุกบริบทของชีวิตมนุษย์ก็ว่าได้ เราจับมือเพื่อนร่วมงาน ไฮไฟว์เพื่อนสนิท กอดพ่อแม่ และหอมแก้มคนรัก แต่เมื่อการสัมผัสเหล่านี้ลดลง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาและเปล่าเปลี่ยว แม้ว่าจริงๆ เราจะยังคุยและติดต่อกับพวกเขาได้เหมือนเดิมผ่านโซเชียลมีเดียก็ตาม
แต่สิ่งที่โซเชียลมีเดียทดแทนไม่ได้ นั่นก็คือความรู้สึกอบอุ่นทางกายภาพที่ทำให้เกิดออกซิโทซิน เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงวิธีอื่นๆ ก็พอมีอยู่บ้างที่มาชดเชย และช่วยให้เราลดอาการโหยหาการสัมผัสลงได้ ดังนี้
Pet Therapy บางคนอาจมองว่า การสัมผัสระหว่างมนุษย์เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจ แต่จริงๆ แล้วสัตว์เลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี เพราะผลวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การกอด สัมผัส หรือลูบขนของสัตว์เลี้ยงเบาๆ ทำให้ร่างกายมนุษย์ผลิตฮอร์โมนออกซิโทซินได้ เช่นเดียวกับการกอดมนุษย์ด้วยกันเอง pet therapy หรือการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง จึงเป็นที่นิยมมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเราสามารถกอดพวกเขาได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องโรคระบาด หากใครมีน้องหมาน้องแมวอยู่ด้วยที่บ้าน อย่าลืมลุกไปกอดพวกเขาบ่อยๆ ดูนะ
Comfort Food หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า comfort food กันมาบ้าง การกินอาหารอร่อยๆ หรืออาหารที่ชอบ ก็ช่วยเยียวยาจิตใจได้ดีทีเดียว เพราะเมื่อร่างกายอิ่ม สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการให้รางวัล (reward system) จะถูกกระตุ้น และสั่งการให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีนหรือสารแห่งความสุขออกมา
แต่การกินเพื่อปลอบประโลมตัวเองก็ไม่ใช่วิธีที่เวิร์กเสมอไป เพราะส่วนใหญ่อาหารที่เป็น comfort food มักจะเป็น guilty food หรืออาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ของทอด ของหวาน ซึ่งกินเข้าไปแล้วอาจรู้สึกผิดในภายหลัง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ก็เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรค COVID-19 มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตด้วย
Work Out วิธีที่อยากแนะนำและดูจะยั่งยืนกว่านั่นคือการออกกำลังกาย หรือการขยับร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เช่น เต้น ทำอาหาร หรือปลูกต้นไม้ เพราะความเครียดส่วนใหญ่เกิดจากการตึงของกล้ามเนื้อ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะแก้เหงา แก้เบื่อ แก้ฟุ้งซ่าน ยังช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย รู้สึกสดชื่น และกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ หากใครพบว่าการนอนคนเดียวเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ผ้านวมอุ่นๆ ที่มีน้ำหนักหน่อย ก็ให้ความรู้สึกสงบและอบอุ่นเหมือนตอนที่ได้รับการกอดเหมือนกันนะ จนกว่าจะได้กลับมากอดมาสัมผัสกันอย่างสบายใจ ตอนนี้ก็คงต้องหาอะไรทดแทนกันไปก่อนเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก