บางครั้งภาษาไม่อาจสื่อสารทุกอย่างที่เราต้องการได้
เราไม่อาจพูดเรื่องบางอย่างที่มีในใจออกไปให้ใครฟังได้ เพราะไม่รู้ว่าคนจะรับฟังหรือเปล่า? เขาจะตัดสินเราหรือไม่? บ่อยครั้งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะใช้คำใดอธิบายสิ่งที่เรากำลังรู้สึก และต่อให้รวบรวมความกล้าที่จะพูดได้ เรียบเรียงคำพูดที่มีแล้วพูดมันออกไปให้ใครสักคนฟัง คำพูดที่ตอบกลับมาในบางครั้งก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าไรนัก ทว่าไม่ใช่ความผิดของใคร แต่ภาษาเองก็เป็นข้อจำกัดในตัวของมัน
ชัดเจนเกินไป แต่ก็ไม่ใกล้หัวใจไปพร้อมๆ กัน แม่นยำในการช่วยชี้หาทางออก แต่บางครั้งคำตอบก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีบริบทแตกต่างกัน สำหรับหลายๆ สถานการณ์ นั่นคือข้อจำกัดของภาษาและคำพูด เราในฐานะคนทั่วไปและไม่ใช่กวีผู้ผูกคำได้งดงามทนทานต่อกาลเวลา จะอธิบายความเป็นมนุษย์ด้วยตัวหนังสือได้มากขนาดไหนกัน?
น่าแปลกใจที่ในเวลานั้น คำพูดก็ทำให้เราผิดหวังได้ ทั้งในวันที่สุขหรือโศก แต่การสัมผัสกลับสื่อสารกับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงปะทะจากฝ่ามือเพื่อสื่อสารถึงความเชื่อใจและสมใจของเรากับเพื่อนร่วมทีม การแปะมือเพียงเสี้ยววินาที อ้อมกอดของคนที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและสบายใจ ในวันที่โลกภายในของเราหนาวเหน็บและพังทลาย หรือเมื่อเราปิดฝาหัวใจภายในของเราที่มีความรู้สึกเอ่อล้น แม้แต่ฝ่ามือของเพื่อนหนึ่งคนที่วางลงเบาๆ แต่มั่นคงบนบ่าก็อาจสะกิดให้ฝาฝานั้นเปิดออก ความรู้สึกพวกนั้นหลั่งไหลออกมาพร้อมกับน้ำตาของเรา
เราสื่อสารผ่านการสัมผัสยังไง? ถ้าไม่มีตัวหนังสือ เราจะอ่านการสัมผัสอย่างไร? และการสื่อสารผ่านการสัมผัสมีข้อจำกัดหรือไม่?
ในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา การสัมผัส (Touch) เป็นสิ่งแรกที่ร่างกายของเราพัฒนา ซึ่งมนุษย์หนึ่งคนเริ่มพัฒนาการสัมผัสตั้งแต่พวกเขาอยู่ในท้องแม่ ในแง่มุมของการเจริญเติบโตของเด็กคนหนึ่ง การสัมผัสเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ค้นพบภายในงานวิจัยชื่อ Is Touch Beyond Infancy Important for Children’s Mental Health? โดยเมโลดี วิดดอน (Melody Whiddon) คณะภาวะผู้นำและการวิจัยมืออาชีพ มหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดา
งานวิจัยพบว่า การสัมผัสมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างตัวตนของบุคคล โดยการได้รับการสัมผัสในวัยทารกนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการเข้าสังคม การเจริญเติบโตทางกายภาพ และพัฒนาอารมณ์ความรู้สึก ในทางกลับกัน ผู้วิจัยก็บอกอีกว่า ทารกที่ไม่ได้รับการสัมผัสในแง่บวกที่เพียงพอ มีแนวโน้มจะทำให้เติบโตไปเป็นเด็กที่เข้าหาผู้อื่นด้วยการสัมผัสที่รุนแรง
“มนุษย์ถูกโปรแกรมมาให้โหยหาการสัมผัส”
นอกเหนือจากวัยทารกแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังเล็งที่จะมองหาความสำคัญของการสัมผัสในช่วงชีวิตวัยเรียน เพราะผู้วิจัยเชื่อว่าในขณะที่การสัมผัสเป็นส่วนสำคัญตลอดชีวิตเรา ก็ยังมีสถิติออกมาว่า ยิ่งโตขึ้น เราแต่ละคนต่างได้รับการสัมผัสน้อยลงไปทุกวัน โดยผลการวิจัยพบว่า เด็กวัยเรียนที่ได้รับการสัมผัสในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ มีโอกาสจะเป็นเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพใจและพฤติกรรมน้อยกว่าจริง ตามความเชื่อของผู้วิจัย
สิ่งที่เราได้รับจากการอ่านและตีความงานวิจัยข้างต้นคือ ในนัยหนึ่งการสัมผัสคือการสื่อสารแรกที่มนุษย์ทำ ก่อนจะเอ่ยปากพูดคำคำแรก เราคุยกับพ่อและแม่ไปมากมายแล้วผ่านการสัมผัส การสื่อสารจึงเป็นป้ายชี้ทางแรกว่า เราจะเติบโตไปเป็นคนแบบใด
หากมองไปข้างหน้าอีกหน่อย เมื่อเราเริ่มสร้างสังคม เราก็จะสามารถเริ่มตั้งใจใช้การสัมผัสเพื่อสื่อสารแล้ว ซึ่งการสื่อสารผ่านการสัมผัส (Haptic Communication) นั้นพบได้ตั้งแต่ในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ ไปจนถึงเทคโนโลยีกับสิ่งมีชีวิต และถ้าอันสุดท้ายฟังดูแปลกๆ ก็ลองตั้งคำถามว่า ไม่งั้นทำไมเราเล่นเกมแล้วจอยสติ๊กถึงต้องสั่นด้วย? เพราะการสื่อสารผ่านการสัมผัสนั้นอยู่ในทุกที่ แม้แต่ที่ที่เราไม่คิดว่าจะพบมัน
งานวิจัยที่จะสามารถทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านการสัมผัสได้มีชื่อว่า Interpersonal Haptic Communication: Review and Directions for the Future เป็นการรวบรวมและตรวจสอบการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยรูเป ไรซาโม (Roope Raisamo) จากศูนย์วิจัย TAUCHI มหาวิทยาลัยตัมเปเร ประเทศฟินแลนด์
มีประเด็นที่น่าสนใจคือหลากหลายวิธีที่มนุษย์ใช้สัมผัส หากแบ่งตามสรีระวิทยา เราอาจแบ่งการสัมผัสของมนุษย์ได้เป็น 2 แบบ คือการสัมผัสแบบจำแนก (Discriminative Touch) และการสัมผัสทางอารมณ์ (Emotional Touch) โดยเราใช้การสัมผัสแบบจำแนกเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกและสิ่งรอบกาย ตั้งแต่ลักษณะพื้นผิว อุณหภูมิ และความเจ็บหรือไม่เจ็บ กล่าวง่ายๆ คือเป็นการสัมผัสเพื่อการรู้ ซึ่งทำงานอยู่คนละส่วนกับการสัมผัสทางอารมณ์
ทั้งนี้ผู้วิจัยยังเขียนไว้อีกว่า “ผิวหนังคือเครือข่ายของเส้นใยประสาทในขาเข้าบางๆ ซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูล” เช่นเดียวกันกับเสียงร้องของแมวที่ดังขึ้นผ่านหูของเรา ก่อนที่เราจะตีความมันได้ว่าแตกต่างจากเสียงของรถยนต์วิ่ง การสัมผัสแต่ละแบบจึงมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของเราแตกต่างกันไป หากบอกว่าเราใช้การสัมผัสเพื่อจำแนกพื้นผิวของสิ่งสิ่งหนึ่งว่าเป็นยังไง เราก็ใช้สัมผัสทางอารมณ์บอกว่าสิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกยังไงได้ โดยผู้วิจัยเขียนว่า ปัจจัยที่ส่งผลกับการตีความมากที่สุด คือแรงและความเร็ว สัมผัสที่นุ่ม ช้า และเคลื่อนที่สั้นๆ จะนำมาซึ่งความรู้สึกในแง่บวกมากกว่าแรงกดที่มีความแข็งตัว รวดเร็วเร็ว และขรุขระ
ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อความรู้สึกที่ผู้วิจัยพูดถึง คืออุณหภูมิและความเปียกของการสัมผัส โดยผู้วิจัยกล่าวว่า “คนมักให้คะแนนความอบอุ่นที่อุณหภูมิอยู่ไม่เกิน Pain Threshold ว่าเป็นการสัมผัสในแง่บวก ส่วนความเหนอะเหนียว เย็น และเปียก มักถูกมองว่าน่าขยะแขยง” ฉะนั้นก่อนจะสัมผัสกับใคร เราต้องรู้ว่าแม้จะไม่มีตัวหนังสือ มนุษย์อีกคนสามารถมีความประทับใจแรกได้ตั้งแต่ในการสัมผัสเลยทีเดียว
หากมองไปยังแง่มุมการสื่อสารที่มากขึ้น อีกหัวข้อหนึ่งภายในการรวบรวมงานวิจัยคือ Social Touch หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า สกินชิป (Skin-ship) เช่นเดียวกันกับการสื่อสารทุกประเภท การสื่อสารผ่านการสัมผัสไม่ได้ตายตัวเสมอไปว่าทำแบบนี้แล้วคนจะชอบ หรือทำอีกแบบแล้วคนจะไม่ชอบ เพราะการสื่อสารคือเรื่องระหว่างปัจเจกที่มีรายละเอียดมากมายเกินกว่าจะจับมาอยู่ในกล่องเล็กๆ ได้เสียทีเดียว อย่างไรก็ดี การวิจัยยังชี้ให้เห็นลักษณะบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันของคนจำนวนหนึ่งอีกด้วย
การวิจัยพบว่า การสัมผัสช่วยให้คนสร้างความเข้าใจ พัฒนาสุขภาพใจและกาย ผ่านการลดความตึงเครียด ซึ่งการลดความตึงเครียดของการสัมผัสนั้นๆ ก็นำไปสู่การลดลงของการปะทะและเสริมสร้างความสามัคคีได้ หรือหากพูดในมุมของร่างกายมากขึ้น ผู้วิจัยบอกว่า การสัมผัสระหว่างผิวหนังต่อผิวหนังนั้นเชื่อมโยงกับความรู้สึกสบาย เพราะการสัมผัสผิวหนังของผู้อื่น สามารถสร้างความสบายให้กับเราได้มากกว่าตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังสามารถเชื่อมโยงความหมายของการสัมผัสรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะจับด้วยอารมณ์บวกหรือจับเพื่อควบคุม การบีบหรือการแตะเบาๆ ก็เป็นสัญลักษณ์ของความขี้เล่น หรือการใช้สัมผัสลากไล้เพื่อแสดงนัยของความต้องการทางเพศ ทั้งหมดนี้เพราะมนุษย์สามารถอ่านการสัมผัสได้ ทว่าการอ่านการสัมผัสของคนเราก็ไม่เท่ากัน
หนึ่งในประเด็นที่ผู้วิจัยยกขึ้นมากคือ การสัมผัสและการตอบรับการสัมผัสนั้น ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวัฒนธรรม เพศ ความใกล้ชิด และลักษณะนิสัย กล่าวคือตัวตนของคนคนหนึ่ง และความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอีกฝ่าย มีผลต่อการสื่อสารด้วยการสัมผัส ตัวอย่างเช่น การสื่อสารด้วยการสัมผัสอาจสามารถกระตุ้นภาวะวิตกกังวลได้ ในกรณีผู้ป่วยโรควิตกกังวล ในขณะเดียวกัน หากใครชอบสกินชิปอยู่แล้ว การสัมผัสก็สามารถเพิ่มความมั่นใจในตัวเองของพวกเขาได้
ความแตกต่างจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง เพราะแม้ว่าการสัมผัสจะเป็นการสื่อสารที่มีอยู่จริงและได้ผล แต่บริบทของการสัมผัสเหล่านั้นมีสำคัญมากๆ เขาเป็นคนชอบให้เราจับตัวรึเปล่า? เรากับเขาเป็นอะไรกัน? เขาอนุญาตให้เราแตะตัวได้แล้วหรือยัง? เขาอนุญาตให้แตะต้องได้มากขนาดไหน? หากไม่คำนึงถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสแบบใดก็อาจเป็นการสัมผัสที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นเราต้องใช้ภาษาสื่อสารกันด้วย เพราะการสัมผัสนั้นไม่ใช่เวทมนตร์
การสัมผัสคือหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารสำคัญ หากใช้มันอย่างถูกต้อง เราจะเข้าใจกันมากขึ้น
อ้างอิงจาก