พอจะถึงวันศุกร์ ความดี๊ด๊ากลับเข้าร่างของชาวออฟฟิศกันโดยไม่ได้นัดหมาย กระทั่งต้องร้องตะโกนทันทีที่เวลาทำงานในวันศุกร์หมดลงว่า “Thanks God! It’s Friday!” แต่ความดี๊ด๊านั้นอายุสั้นพอๆ กับวันหยุด เมื่อวันจันทร์มาเยือน ร่างกายอันห่อเหี่ยวกับจิตใจอันหดหู่ก็กลับมา เมื่อรู้ว่าต้องเข้าออฟฟิศอีกครั้ง อาการรักวันศุกร์ หมดสนุกวันจันทร์ของชาวออฟฟิศนี้ไม่ได้คิดไปเอง เพราะ ‘Weekend Effect’ บอกว่าในช่วงวันหยุดเรามีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้นกว่าวันทำงานจริงๆ
อาจจะรู้สึกว่าก็ปกตินี่ ใครๆ ก็เฝ้ารอวันหยุดเพื่อได้พักผ่อนกันทั้งนั้น เพราะวันหยุด เป็นวันที่เราได้ใช้เวลาตามใจตัวเองตั้งแต่เวลานอนจนถึงเวลาตื่น ไม่ต้องเผื่อเวลาสภาพจราจร คนแน่นขนัดบนรถไฟฟ้า เครียดกับงานล้นมือ มีแต่เราเองกับตัวเลือกว่าจะพักผ่อนแบบไหนดีเท่านั้น เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นในทุกวันทุกสัปดาห์ จนกลายเป็นจุดร่วมของชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ไปแล้ว เราเลยได้เห็น meme หรือ gag บนอินเทอร์เน็ตที่คอยล้อเลียนเวลาและการใช้ชีวิตในแบบฉบับเข้าถึงหัวอกชาวออฟฟิศอยู่เสมอ ว่าพวกเขานั้นมีพลังงานล้นเหลือในวันสุดสัปดาห์และเหี่ยวเฉาเป็นผักรองจานเมื่อถึงวันทำงาน
แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่อุปทานหมูหรือมุกล้อเลียนวันทำงานอันน่าเบื่อเท่านั้น เพราะอาการรักวันศุกร์หมดสนุกวันจันทร์นั้น สามารถอธิบายได้ด้วย ‘Weekend Effect’ ว่าด้วยเรื่องของการมีวันหยุดที่ดีจะทำให้เราอารมณ์ดีและมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ทำงานอะไร มีชีวิตแบบไหนก็ตาม และนั่นแหละ จะมาเป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงรักวันหยุดของเรานักหนา
รักวันศุกร์ หมดสนุกวันจันทร์
ผลการวิจัย ‘The weekend effect’ โดย เจซซี่ เบิร์นชไตน์ (Jessey Bernstein) ศาสตราจารย์ จาก McGill University ร่วมกับ เคิร์ก วาร์เรน บราวน์ (Kirk Warren Brown) ศาสตราจารย์ จาก Virginia Commonwealth University พบว่าเราทุกคน ไม่ว่าจะทำงานอาชีพไหน มักจะมีความสุขเมื่อวันหยุดมาถึง และเหนื่อยหน่ายกับวันทำงานเสมอ ในวันหยุดเราจะมีอารมณ์และสุขภาพที่ดีมากกว่าวันทำงาน ที่มักจะมีแนวโน้มอารมณ์ทางด้านลบ อย่างความเครียดและความกังวล จนส่งผลถึงสุขภาพด้วยนั่นเอง
งานวิจัยนี้ คอยติดตามอารมณ์ของกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 18 ถึง 62 ปี จำนวน 74 คน ที่ทำงานอย่างน้อย 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พวกเขาจะถูกเรียกมาตอบคำถามในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น ตามลำดับ เพื่อถามถึงกิจกรรมที่ได้ทำ ผู้คนและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง และสำคัญที่สุดคือให้คะแนนของช่วงนั้น พร้อมทั้งระบุอารมณ์ลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวก มีความสุข พึงพอใจ สนุก หรือด้านลบอย่าง ความเครียด แก้ปัญหาวุ่นวาย อาการที่แสดงออกด้านร่างกายอย่าง ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย ก็จะถูกบันทึกลงไปด้วย
ผลของการทดลองติดตามอารมณ์กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ในช่วงวันหยุดเนี่ย พวกเขาจะรู้สึกดีขึ้นทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาทำงานอะไร ได้เงินเท่าไหร่ ทำงานมากแค่ไหน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน ก็ไม่ได้ส่งผลถึงอารมณ์และร่างกายเมื่อวันหยุดมาถึง ต่างจากวันทำงาน แต่การมีวันหยุดที่ดีหรือไม่ นั่นก็ขึ้นอยู่กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่เราเลือกด้วยเช่นกัน และนั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีความสุขในวันหยุดมากกว่าวันทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้
เพราะวันหยุด มันเชื่อมโยงถึงความมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิต
เมื่อถึงวันหยุด เราสามารถเลือกกิจกรรมที่เราอยากทำ เลือกสถานที่ที่เราอยากไป เลือกผู้คนที่เราให้อยากอยู่รอบข้างได้อย่างอิสระ ยิ่งเราเลือกได้ตามใจเราเท่าไหร่ well-being ของเราก็จะดีตามไปเท่านั้นอีกด้วย นั่นเท่ากับว่าวันหยุดคือช่วงเวลาแห่งอิสระ ที่เราจะได้เลือกใช้ชีวิตแบบที่เราอยากมีจริงๆ อาจจะไม่มากมายขนาดเนรมิตชีวิตตัวเองได้ทุกอย่าง แต่เรามีอิสระในการเลือก ต่างจากวันทำงานที่เราไม่อาจมีอิสระเลือกอะไรๆ ได้ในหลายอย่างด้วยความจำเป็น ดังนั้น อย่างลืมใช้เวลาอันมีค่าอย่างช่วงวันหยุดให้มีคุณภาพ ด้วยการดูแลตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำ พาตัวเองไปในที่ที่อยากไป อยู่รายล้อมกับผู้คนที่เราอยากอยู่ และนั่นทำให้ National Bureau of Economic Research ได้ตัวเลขที่น่าสนใจออกมาว่า เมื่ออยู่ในช่วงเวลาวันหยุด ความเครียดของเหล่าคนทำงานลดลงจากปกติถึง 32% ความโกรธและความกังวลลดลงถึง 24% ในขณะที่ความสุขเพิ่มขึ้น 7% ถ้าเทียบกับวันทำงาน
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะแฮปปี้กับวันหยุดจนวินาทีสุดท้ายเสมอไป งานวิจัยฉบับเดิมยังพบภาวะ ‘Sunday blues’ ความเหงาหงอยในช่วงโค้งสุดท้ายของวันหยุดอย่างบ่ายวันอาทิตย์ เพราะเรารับรู้แล้วว่ากำลังจะถึงวันทำงานแล้วนั่นเอง จนทำให้วันหยุดยังคงโดนวันทำงานที่จะมาถึงรังควานตั้งแต่ยังไม่มา (แต่กำลังจะมาแน่ๆ แล้วล่ะ) สบายใจล่ะ อย่างน้อยก็ไม่ใช่แค่ความขี้เกียจที่ทำให้เราโหยหาวันหยุดเพียงอย่างเดียว
จะว่าไปก็เป็นความท้าทายของบริษัทเหมือนกัน จะทำยังไงให้พลิกเหรียญไปเป็นอีกด้าน หากพนักงานชื่นชอบในงานที่ทำอยู่จนลืมความดี๊ด๊าในวันศุกร์ และตื่นเต้นที่จะได้มาทำงานในวันจันทร์แทน
อ้างอิงข้อมูลจาก