“เงินซื้อความสุขไม่ได้”
ประโยคสุดฮิตที่มักหล่นจากปากคนดังที่มีเงินถุงเงินถังกองอยู่ในบัญชีธนาคาร อ่านกี่ทีก็อดไม่ได้ที่จะฉงนสงสัยว่าเขาหรือเธอคิดอย่างไรจึงตัดสินใจกล่าวประโยคนี้ออกมา
หากสวมหมวกปุถุชนคนธรรมดา เงินย่อมซื้อความสุขได้ หรืออย่างน้อยที่สุดเงินก็ช่วยปัดเป่าความเครียดความกังวลที่ค้างคาอยู่ในหัว เงินที่เพิ่มขึ้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นค่าเทอมลูก อาหารมื้ออร่อย ซ่อมแซมหลังคาบ้านที่ผุพัง หรือกระทั่งออมเก็บไว้ในยามเกษียณ หากสวมแว่นตานักเศรษฐศาสตร์ คนที่พูดประโยคดังกล่าวย่อมไม่มีเหตุมีผลเนื่องจากความต้องการของมนุษย์นั้นไร้ขีดจำกัดและเงินถือเป็นทรัพยากรที่ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี
หรือว่าเงินของคนรวยจะมีค่าไม่เท่ากับเงินของคนจน?
อ่านแล้วอาจจะยังงงๆ เพราะเงิน 1,000 บาท อยู่ในมือใครก็มีค่าเท่ากับ 1,000 บาท ไม่ใช่หรือ แล้วทำไมเงินจำนวนเดียวกันกลับสร้างความสุขให้กับคนรวยและคนจนในปริมาณที่แตกต่างกัน
เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ภายใต้กฎที่ชื่อว่าการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Law of Diminishing Marginal Utility)
การลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มคืออะไร?
แม้ชื่อจะยาวเหยียดและฟังดูเข้าใจยาก แต่กฎดังกล่าวเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่หลายคนก็ทราบอยู่แก่ใจ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ก็ตาม
ผมขอเริ่มจากคำเจ้าปัญหาคืออรรถประโยชน์หรือ utility ซึ่งแปลไทยเป็นไทยก็คือความสุขจากการกินดื่มเที่ยว นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์คือการตามหาความสุขแล้วใช้ชีวิตให้สุดเหวี่ยง หรือก็คือการแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดนั่นเอง เพื่อให้ง่ายต่อการทำแบบจำลอง นักเศรษฐศาสตร์หัวใสก็ตีค่าความสุขให้กลายเป็นตัวเลขโดยใช้หน่วยสมมติที่ชื่อว่า ยูทิล เช่น นาย ก. กินข้าวมันไก่ราคา 40 บาทจะได้รับอรรถประโยชน์ 10 ยูทิล
อย่างไรก็ดี หาก นาย ก. ทานจานแรกไม่สาแก่ใจเลยสั่งจานที่สอง ระดับความฟินของข้าวมันไก่ก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากท้องเริ่มอิ่ม ดังนั้นข้าวมันไก่จานที่สองจึงสร้างอรรถประโยชน์ลดเหลือเพียง 6 ยูทิล หลังจากทานเสร็จ เขาก็พลิกใต้จานแล้วพบว่ากลายเป็นผู้โชคดีได้รับฟรีข้าวมันไก่อีกหนึ่งจานแต่แลกได้เฉพาะวันนี้ แม้นาย ก. จะเริ่มอิ่มท้อง แต่ด้วยความเสียดายก็อดไม่ได้ที่จะเดินไปใช้สิทธิ เขาจึงต้องกินข้าวมันไก่จานที่สามในภาวะกึ่งทุรนทุราย อรรถประโยชน์ที่ได้จึงเหลือเพียง 1 ยูทิลเท่านั้น และหากนาย ก. ถูกบังคับให้กินอีกหนึ่งจาน อรรถประโยชน์ก็อาจกลายค่าเป็นติดลบซึ่งหมายถึงยิ่งกินยิ่งมีความทุกข์ทรมาน
นี่แหละครับคือการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มฉบับภาษาคน
กฎดังกล่าวนี้เองที่ทำให้คนรวยกับคนจนมองว่าการได้รับเงินจำนวนเท่ากันจะสร้างอรรถประโยชน์แตกต่างกัน เพราะคนรวยก็คล้ายกับคนท้องใกล้อิ่ม ส่วนคนจนก็เปรียบเสมือนคนที่กำลังหิวโซ
หากมีชายสามคนเดินไปเจอธนบัตร 1,000 บาทหล่นอยู่บนพื้น ชายคนแรกผู้ยากไร้อาจดีใจตัวลอยเพราะเงินก้อนดังกล่าวหมายถึงค่าเช่าบ้านที่ค้างมาหลายเดือน รวมถึงมื้ออาหารที่กินได้เต็มอิ่ม ชายคนที่สองคือชนชั้นกลางอาจดีใจพอสมควรโดยเตรียมพร้อมนำเงินดังกล่าวไปจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยให้สาแก่ใจ เพราะเขามีสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตครบถ้วนหมดแล้ว ชายคนสุดท้ายเป็นเศรษฐีที่คงไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับเงินที่หล่นอยู่ตรงหน้า เพราะแต่ละเดือนสามารถหาเงินได้หลักล้าน คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าในมุมมองของชายคนที่สาม เงินนั้นซื้อความสุขไม่ได้
หากนำอรรถประโยชน์มาพล็อตกับความมั่งคั่งก็จะได้หน้าตาเหมือนกับกราฟด้านบน จะเห็นว่าความชันของกราฟจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือยิ่งร่ำรวยเท่าไหร่เราก็จะยิ่งมีความสุขน้อยลงเมื่อได้เงินในปริมาณที่เท่ากัน
จากทฤษฎีสู่นโยบาย
หากรัฐบาลเชื่อในทฤษฎีข้างต้นย่อมออกแบบนโยบายจัดเก็บภาษีในอัตราสูงลิ่วเมื่อใครคนหนึ่งร่ำรวยเกินกว่าที่ชาตินี้ทั้งชาติจะใช้หมด เพราะสำหรับพวกเขาแล้วมีเงินเท่าไหร่ชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่ม แล้วนำเงินก้อนดังกล่าวไปแบ่งปันให้กับคนที่ยังต้องปากกัดตีนถีบ เพราะคนกลุ่มนี้ย่อมมีความสุขอย่างยิ่งเมื่อได้รับเงินจำนวนหนึ่งจากรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา เป็นการตอบโจทย์ของรัฐบาลในการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขประชาชน อีกทั้งยังช่วยบรรลุเป้าหมายการสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดในสังคม
นโยบายดังกล่าวในโลกอุดมคติคือการจัดสรรเงินก้อนนั้นมอบให้เฉพาะกลุ่มคนที่ยากจน แต่ในทางปฏิบัติ การเลือกให้สิทธิเฉพาะกลุ่มเป็นเรื่องยุ่งยากและมีต้นทุนสูงเนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล นโยบายที่ปฏิบัติได้จริงและน่าจะใกล้เคียงอุดมคติดังกล่าวมากที่สุดก็หนีไม่พ้น ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ หรือ Universal Basic Income ซึ่งเป็นการแจกจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับประชาชนทุกคนแบบเสมอหน้า
พอได้ยินนโยบายลักษณะนี้หลายคนอาจจะทำหน้ายี้พลางร้องว่าไอ้พวกนี้จะขี้เกียจอะไรกันนักหนา เอาแต่จะงอมืองอเท้าขอเงินจากรัฐบาลท่าเดียว พร้อมกับสั่งสอนด้วยประโยคคลาสสิกว่า “ถ้าท่านให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน แต่ถ้าสอนเขาจับปลา เขาจะมีกินตลอดชีวิต”
แต่เดี๋ยวนะครับ ตอนนี้ก็ปี ค.ศ.2021 เรามาอัพเดตกันหน่อยดีกว่าว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าคือการคาดเดาว่าจะทำให้คนขี้เกียจ ก็ในเมื่อนั่งเฉยๆ ก็มีเงินโอนเข้ามาในบัญชีทุกเดือนแล้วใครกันจะอยากทำงาน ฟังเผินๆ ดูเข้าทีแต่งานวิจัยกลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม
มีการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์ซึ่งจ่ายเงินโดยไม่มีเงื่อนไขมูลค่า 560 ยูโรหรือราว 21,000 บาทต่อเดือนให้ผู้ตกงานทั่วประเทศ 2,000 คนโดยใช้วิธีการสุ่ม โครงการดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาสองปี ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิสรุปว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มคนที่ได้รับเงินให้เปล่าไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มคนตกงานที่ไม่ได้รับเงินก้อนดังกล่าว
ที่สำคัญ ทีมวิจัยยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเงินจะรู้สึกพึงพอใจในชีวิตมากกว่า เผชิญภาวะเครียด ซึมเศร้า และเปลี่ยวเหงาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังพบว่าเงินก้อนดังกล่าวช่วยเพิ่มอัตราการมีงานทำของคนบางกลุ่ม เช่น ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก อีกทั้งตัวชี้วัดด้านความเป็นอยู่ที่ดีสูงกว่าในด้านความมั่นคงทางการเงินและความเชื่อมั่นในอนาคต
นอกจากการศึกษาที่ฟินแลนด์แล้ว ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งนำทีมโดยอาจารย์อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีและฮาวาร์ด วิเคราะห์ภาพรวมโครงการแจกเงินที่ออกแบบโดยใช้วิธีทดลองแบบสุ่มโดยมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) จาก 6 ประเทศกำลังพัฒนา คือ ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย โมรอคโค เม็กซิโก นิการากัว และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ผลสรุปว่าการแจกเงินให้เปล่าแก่ครอบครัวยากจนไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานแต่อย่างใด นับเป็นการทลายมายาคติว่าโครงการแจกเงินจะทำให้คนขี้เกียจด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ
ส่วนทำไมคนเหล่านั้นจึงไม่ขี้เกียจอย่างที่หลายคนคาดการณ์ คำตอบก็แสนจะกำปั้นทุบดิน คือ รายได้ที่ได้รับจากรัฐบาลเปรียบเสมือนรายได้ขั้นต่ำที่เติมเต็มความต้องการพื้นฐาน แต่ไม่ว่าใครก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งกว่า เป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เราอยากใช้ชีวิตหรูหรา กินอาหารอร่อย เดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด รวมถึงสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้คนรัก ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เราออกไปหางานทำ แม้ว่าต่อให้ไม่มีทำงานก็ยังมีเงินพอกินพอใช้
อีกหนึ่งความกังวลว่าการเก็บภาษีคนที่รวยมากๆ ในอัตราที่สูงขึ้นจะทำให้คนเหล่านั้นทำงานน้อยลงเพราะขยันแค่ไหนเงินก็เข้ากระเป๋าไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากส่วนใหญ่จะไหลไปเป็นภาษีของรัฐเสียหมด การคาดการณ์ดังกล่าวก็ฟังดูสมเหตุสมผลดี แต่อีกครั้งที่ความเข้าใจ (เอาเอง) กลับสวนทางกับหลักฐานเชิงประจักษ์
การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีที่จัดเก็บในหมู่คนรวยนั้นแทบไม่ส่งผลใดๆ ต่อการตัดสินใจทำงานของปัจเจกบุคคล แน่นอนว่าการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้คนบางกลุ่มตัดสินใจทำงานน้อยลงเพราะไม่อยากเสียภาษี แต่ในทางกลับกันก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งตัดสินใจทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้เอาไว้ ผลลัพธ์จากทั้งสองกลุ่มจึงหักกลบลบกันจนการเพิ่มภาษีไม่ส่งผลต่อการทำงานของเหล่าผู้มีรายได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ
อีกหนึ่งคำอธิบายที่เป็นไปได้ คือ เราไม่ได้ทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาเงินเท่านั้น แต่งานยังเป็นตัวตน เป็นสถานะทางสังคม คือความท้าทายที่ทำให้ชีวิตมีสีสันและเป็นหนทางในการพัฒนาตนเอง คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่างานเป็นส่วนหนึ่งของนิยามชีวิตที่มีความสุข โดยรายได้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น
ประเทศไทยในฝันของผมไม่ใช่ประเทศที่ทุกอย่างต้องจัดสรรปันส่วนอย่างเท่ากัน หากแต่เป็นประเทศที่คนที่จนที่สุดยังสามารถยืนหยัดในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และคนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ยังคงจินตนาการออกว่าคนที่จนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์มีชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร
แต่ฝันดังกล่าวก็ดูยากที่จะเป็นจริงเพราะผู้มีอำนาจชุดปัจจุบันดูจะเป็นพวกที่ “เงินซื้อความสุขไม่ได้” กันเสียแทบทุกคน
Illustration by Krittaporn Tochan