การทำงานที่บ้าน (Work From Home) กลายมาเป็นเรื่องใหม่ (ที่พูดไปหลายรอบ) ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคนทำงานไปอย่างมาก ทั้งการมานั่งทำงานในบ้านตัวเอง ปรับตัวได้บ้างไม่ได้บ้าง ห่อเหี่ยวบ้าง พลังงานล้นเหลือบ้าง แต่คำถามที่ตามมาจากการทำงานที่บ้านอย่างแพร่หลายด้วยความจำเป็นนี้ คือ เรายังจำเป็นต้องมีออฟฟิศอยู่ไหม? แม้จะไม่ใช่สำหรับทุกอาชีพที่จะทำงานจากที่บ้านได้ แต่สำหรับชาวออฟฟิศหรืออาชีพที่เอื้ออำนวย หลังจากนี้ การทำงานที่บ้านจะกลายเป็นนโยบายถาวรหรือไม่? ออฟฟิศจะกลายเป็นเพียงสถานที่ที่เข้ามาเมื่อมีธุระจำเป็นเท่านั้นไปเลยหรือเปล่า?
สำหรับ Twitter นั้น การทำงานที่บ้านไม่ได้เป็นแค่เรื่องของอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่องมาตรการป้องกันโรคระบาด แต่เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการของบริษัท โดยเริ่มต้นในช่วงต้นปี ค.ศ.2020 ที่ COVID-19 กำลังระบาดในระลอกแรก บริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้และถ้าหากตำแหน่งไหนสามารถทำงานที่บ้านได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับงาน สามารถทำงานที่บ้านตลอดไปก็ยังได้ แต่นโยบายนี้ก็ไม่ได้เริ่มต้นมาปุ๊บก็ให้ทำงานที่บ้านกันตลอดชีวิตไปเลย
เริ่มจากการทำงานที่บ้านด้วยเหตุผลของ social distancing กันก่อน พอทำไปได้สักพัก หลายเดือนเข้า ก็ทำงานกันได้ดีเหมือนเดิมนี่ การทำงานที่บ้านตลอดไปจึงขยับจากมาตรการรักษาระยะห่าง กลายเป็นนโยบายหนึ่งของบริษัท (ในตอนนั้น Google และ Facebook อนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้ถึงสิ้นปี ค.ศ.2020) ทั้งหมดเกิดขึ้นในอีเมลของ แจ็ก ดอร์ซี (Jack Dorsey) CEO ของ Twitter ที่ส่งถึงพนักงานทุกคนให้พวกเขาสบายใจที่จะทำงานที่บ้าน พร้อมลงท้ายเมลด้วยอีโมจิหัวใจและแฮชแท็ก #lovewhereyouwork
และนี่ไม่ใช่การออกนโยบายที่คำนึงถึงพนักงานเป็นหลักครั้งแรกของ Twitter
ตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 Twitter ได้เริ่มมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ เริ่มจากการย้ายสำนักงานไปสู่เมืองที่ค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยสถานที่ใหม่นี้ก็ต้องดีกว่าที่เดิม มีการทดสอบการทำงาน ประสบการณ์หลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรต่อไป
อย่างการเอาคนในตึกเดียวกัน ลองประชุมในห้องที่ต่างกัน สร้างระบบสัญลักษณ์ด้วยมือ เพื่อสื่อสารกันระหว่างประชุมออนไลน์ และเตรียมตัวสำหรับการทำงานที่บ้านตลอดไปของพนักงานประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัท โดยในตอนนั้นมีเพียง 3% เท่านั้นที่ใช้นโยบายนั้นอยู่
เจนนิเฟอร์ คริสตี้ (Jennifer Christie) หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ของ Twitter ได้กล่าวถึงนโยบายนี้ไว้ว่า พวกเขาได้เตรียมตัวในเรื่องนี้กันมานานแล้ว แต่พอมีเหตุการณ์ COVID-19 เลยทำให้มันถูกนำมาใช้จริง และสิ่งที่ทำให้นโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้ เธอเชื่อว่าการทำงานแบบยืดหยุ่นนั้น เป็นหนึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) เพราะมันจะไม่ใช่แค่นโยบายในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานขั้นพื้นฐานของคนทำงานด้วย
“อนาคตในการทำงาน
คือการมอบทางเลือกที่มากขึ้นให้กับพนักงาน”
นโยบายที่ว่านั้น ไม่ได้หมายถึงการให้ทุกคนไปทำงานที่บ้านกันหมดแบบทุกคนจริงๆ แต่หมายถึงคนที่หน้าที่การงานเอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ เพราะยังคงมีอีกหลายตำแหน่งที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เรื่องตลอดไปนั้นไม่ต้องพูดถึง จึงมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถใช้นโยบายตลอดไปนี้ได้ แล้วสำหรับส่วนที่เหลือ มีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานหลังจากทำงานที่บ้านกันมาพักใหญ่แล้ว พบว่าเกือบ 70% เมื่อสถานการณ์เป็นปกติมากพอที่จะให้กลับเข้ามาในออฟฟิศได้แล้ว พวกเขาอยากทำงานที่บ้านต่อไปอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
พวกเขาเชื่อว่าการให้อิสระกับพนักงานมากขึ้น จะช่วยพัฒนาความโปรดักทีฟให้กับพนักงาน แต่ว่าการทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป (อย่างที่พวกเราเจอนั่นแหละ) ปัญหาที่ตามมายังคงมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะปัญหาของเรื่องไทม์โซนที่ต่างกัน ความเหนื่อยล้าจากการประชุมออนไลน์ (ที่กว่าจะคุยกันรู้เรื่องสักเรื่องนึงได้) จึงต้องมีการทบทวนถึงการประเมินคุณภาพงานใหม่ แต่รับรองว่าจะไม่มีอคติต่อการทำงานที่บ้านเหมือนเดิม
นโยบายการทำงานที่บ้านตลอดไปของ Twitter ที่เชื่อในการทำงานแบบยืดหยุ่น ไม่ได้เป็นแค่เพียงการอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านด้วยมาตรรักษาระยะห่างเท่านั้น แต่ให้พนักงานได้เลือกว่าพวกเขามีความสุขที่จะทำงานจากที่ไหน เมื่อทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อาจไม่ใช่แค่ที่บ้านเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาจะได้นั่งทำงาน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตามที่พวกเขาพอใจ สร้างสรรค์งานได้ และมีความโปรดักทีฟย่อมได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องขออนุญาตในทุกฝีก้าว การทำงานรูปแบบนี้อาจกลายมาเป็นการทำงานแบบปกติในอนาคตของทุกที่เลยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก