ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสข่าวการเมืองยังเป็นที่จับตามองในสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจอันเผ็ดร้อนที่เพิ่งจบลงไป รวมถึงการออกมาตั้งโต๊ะอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ บวกกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนด้วย ‘แฟลชม็อบ’ ของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ
สิ่งที่สร้างความประหลาดใจไปมากกว่านั้นก็คือ ตอนนี้แฟลชม็อบไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในมหาวิทยาลัย แต่นักเรียนโรงเรียนมัธยมยังทยอยออกมาเคลื่อนไหวเรื่อยๆ ด้วย สำหรับนิสิตนักศึกษา การเคลื่อนไหวตื่นตัวทางการเมืองอาจจะเป็นสิ่งที่เราพอจะคุ้นชินกันมาบ้างแล้วจากเหตุการณ์ในอดีต แต่กับนักเรียนมัธยมปรากฏการณ์นี้นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา
ด้วยความเป็นเด็กทำให้พวกเขาถูกกีดกันไม่ให้ออกมารวมตัวชุมนุมด้วยเหตุผลคลาสสิกที่ว่า ‘รอให้โตกว่านี้ก่อนมั้ย’ ‘ไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ หรือ ‘กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง (เรียนหนังสือ) เถอะ’ กลายเป็นว่า ในขณะที่สังคมเรียกหาความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำจากเด็กไทย ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมพยายามกำหนดกรอบให้เด็กๆ ตามที่พวกเขาเห็นสมควรเช่นกัน
คำถามที่ตามมาก็คือ ฐานคิดแบบไหนที่เข้าไปจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-เด็กในโรงเรียนไทย อะไรทำให้เด็กถูกมองว่า เป็นคนตัวเล็กที่ไม่มีศักยภาพมากพอจะลุกขึ้นมาให้ความเห็น-วิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มีผลโดยตรงกับพวกเขาในอนาคต ทั้งที่การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตย
กลไกอุดมการณ์รัฐ : เบ้าหลอมฐานคิด ‘อำนาจนิยม’ ในโรงเรียน
เด็กๆ มักจะติดอยู่กับเส้นแบ่งของความกลัวจนไม่กล้าลองผิดลองถูก ไม่กล้าแสดงออกหรือตั้งคำถามในห้องเรียน หรือหากแสดงความเห็นมากเกินไปก็อาจจะถูกตีความไปได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้หลุดออกจากกรอบขนบคุณงามความดีอย่างที่ผู้ใหญ่คาดหวังว่าจะเป็น
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอย่าง หลุยส์ อาธูแซร์ (Louis Althusser) อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เราต้องลงไปทำความเข้าใจฟังก์ชั่นการทำงานของอำนาจรัฐก่อน เพราะรัฐจะเข้มแข็งไม่ได้เลยหากขาดสิ่งที่อาธูแซร์เรียกว่า ‘กลไกอุดมการณ์รัฐ’ เขาเริ่มต้นอธิบายว่า กลไกที่รัฐใช้ในการควบคุมปกครองมี 2 ประเภท ได้แก่ กลไกด้านการปราบปราม และกลไกอุดมการณ์รัฐ
กลไกด้านการปราบปรามจะเน้นความเป็นเอกภาพและสร้างมาตรฐานที่เหมือนกันในสังคม กลไกแบบนี้คือสิ่งที่เป็นรูปธรรมและบังคับใช้ทั่วถึงกันหมด เช่น กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทหารหรือตำรวจ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนแขนขาของรัฐ
แต่ที่สำคัญและหยั่งรากลึกลงไปมากกว่า และอาธูแซร์เองก็ให้ความสำคัญมากกว่ากลไกการปราบปรามก็คือ ‘กลไกด้านอุดมการณ์’ อาธูแซร์ได้เสนอไว้ว่า กลไกอุดมการณ์รัฐจะทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของรัฐ ผลิตซ้ำกำลังมนุษย์ เข้าไปกดทับเบียดขับอำนาจในตัวเราให้น้อยลงเรื่อยๆ และฟันเฟืองสำคัญที่เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ก็คือ สถาบันการศึกษา
อาธูแซร์มองว่า ฟังก์ชั่นของโรงเรียนบางแห่งทำให้เด็กๆ กลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ โต้แย้งอะไรไม่ค่อยได้ สำคัญที่สุดคือ ทำให้นักเรียนที่จะออกไปเป็นแรงงานในอนาคตมีความเชื่องต่อระบบสังคมมากที่สุด เพราะคิดหรือเชื่อด้วยอุดมการณ์แบบเดียวกัน กลไกอุดมการณ์รัฐจึงเป็นวิธีกล่อมเกลาเด็กที่ง่ายและได้ผลที่สุดด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การกล่อมเกลาผ่านกฎระเบียบ เครื่องแบบนักเรียน ทรงผม การตัดคะแนนจิตพิสัยที่มุ่งเน้นไปที่การปรับความประพฤติเด็กตามที่โรงเรียนหรือรัฐเห็นควร ตรงนี้เองที่อาธูแซร์มองว่า ความคิดแบบอำนาจนิยมได้เข้ามากดทับเสรีภาพของเด็กตั้งแต่เนื้อตัวร่างกายไปจนถึงความคิดความเชื่อ ซึ่งถ้าเด็กๆ ผิดไปจากกฎเกณฑ์พวกนี้ก็จะถูกจัดประเภทตีตราให้กลายเป็น ‘เด็กดื้อ’ ไป ในทางหนึ่งครูก็มองเด็กในสถานะที่ด้อยกว่า ส่วนเด็กก็ไร้ซึ่งความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
กฎระเบียบที่เข้ามามีอำนาจในทุกมิติกับสถานะนักเรียนในโรงเรียน บวกกับการอยู่ใต้บังคับบัญชาของครูก็ยิ่งทำให้นักเรียนกลายเป็นคนไร้ศักยภาพและไม่มีความสามารจากสายตาผู้ใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบอาวุโสในไทยที่เข้มข้นแบบนี้ยังไม่ได้ฟังก์ชั่นเฉพาะครู-นักเรียนเท่านั้น แต่กลไกอุดมการณ์ยังทำงานในพื้นที่ส่วนตัวด้วยซึ่งก็คือพื้นที่ภายในบ้าน
แล้ว ‘อำนาจนิยม’ ส่งผลกับเด็กยังไงบ้าง?
คำอธิบายตามทฤษฎีของอาธูแซร์ทำให้เราเห็นภาพในมิติเชิงโครงสร้างว่า ทำไมเด็กๆ ถึงยังถูกมองว่า เป็นช่วงวัยที่คิดเองไม่ได้ ไร้ศักยภาพ และถูกปิดกั้นการแสดงความเห็นในเรื่องใหญ่ๆ ระดับสังคม แต่สเต็ปต่อมาที่เราน่าจะต้องคิดกันต่อไปก็คือ ถ้าวิธีคิดแบบนี้ยังดำเนินไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับเด็กๆ จะเป็นแบบไหนกัน
อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นไว้ว่า ฐานคิดอำนาจนิยมที่มีระบบอาวุโสเป็นแกนกลางแบบนี้สร้างวัฒนธรรมแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘Conformism’ คือ วัฒนธรรมที่ทำตามๆ กันแล้วรู้สึกปลอดภัยจนไม่มีใครกล้าแตกแถว
สิ่งที่น่าเป็นกังวลจากวัฒนธรรมแบบนี้คือ เด็กจะไม่กล้าคิดต่าง เพราะกลัวว่าทำไปแล้วครูจะไม่ชอบหรืออาจจะถูกเพื่อนล้อเลียน เมื่อไม่มีใครอยากแตกต่าง จึงทำให้เด็กไทยไม่มีบุคลิกเป็นของตัวเอง แบบไหนทำแล้วถูก ทำแล้วครูชม ก็เลือกที่จะยึดพฤติกรรมแบบนั้นไว้ดีกว่า
“สมมติผมเป็นผู้ปกครองแบบอำนาจนิยม สังคมไทยนี่เพอร์เฟกต์เลย ปกครองง่าย คนไทยไม่กล้าคิดแตกต่างอยู่แล้ว คนไทยเชื่อฟังอำนาจ ไม่กล้าท้าทายคนที่อยู่ในอำนาจหรือคนที่อยู่สูงกว่า พอบอกว่า “ทุกคนคิดเหมือนกันนะ บ้านเมืองจะได้สงบ” โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าที่คิดเหมือนกันเนี่ย คิดไปในทางที่ดีรึเปล่า บางทีคิดเหมือนกันหมดอาจจะเข้ารกเข้าพงเลย สังคมไม่ได้เห็นทางเลือกอื่นๆ
“ทีนี้จะทำยังให้เด็กกล้าตั้งคำถาม หรือกล้าที่จะแหกคอกบ้าง บางครั้งคนที่แหกคอกแบบนี้แหละ เป็นคนที่เสนอความคิดแบบใหม่แก่สังคม เป็นแนวทางที่ดีกว่า มันก็ต้องเริ่มปลูกฝังจากโรงเรียน ต้องสร้างพื้นที่ให้เด็กจะกล้าที่จะพูดได้ โดยไม่ต้องถูกครูลงโทษ ไม่ต้องถูกเพื่อนด้วยกันเหยียด”
ถ้าอย่างนั้น ทำยังไงถึงจะเปลี่ยนแปลง-รื้อสร้างวิธีคิดแบบนี้ได้? อ.ประจักษ์มองว่า คนที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในสังคมที่ยึดถือคุณค่านี้กันเป็นปกติ แต่ต้องเป็นตัวเด็กซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เอง ง่ายที่สุดคือ การออกมาส่งเสียงผ่านทุกช่องทางเท่าที่จะทำได้ อย่างสื่อออนไลน์ หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ถ้าเสียงเหล่านั้นเยอะและดังมากพอมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
“เด็กสมัยนี้นี่มัน..”
นอกจากการกดทับผ่านอำนาจในมุมมองรัฐศาสตร์แล้ว นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย วลีที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนคนรุ่นเรา” “ทำไมเด็กรุ่นนี้เป็นแบบนี้” หรือ “ถ้าเป็นคนรุ่นเรานะ..” ไม่ได้หายไปตามเวลา กลายเป็นทุกเจเนอเรชั่นก็มักจะดูถูกรุ่นถัดๆ มา โดยการหยิบตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนรุ่นหลังอยู่บ่อยๆ ด้วย
โดยพบว่า มนุษย์มักจะหยิบชิ้นส่วนความทรงจำในอดีตมาใช้ประมวลผลข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เจอในปัจจุบัน แม้ว่าปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์แบบในอดีตจะแตกต่างจากตอนนี้ไปมากแล้ว แต่ถ้าเราเจอเหตุการณ์คล้ายๆ เดิม สมองของมนุษย์จะเรียกความทรงจำในอดีตเพื่อใช้มองและตัดสินปัจจุบัน เพราะการสร้างความทรงจำขึ้นใหม่ไม่ง่ายเท่าหยิบข้อมูลชุดเดิมมาใช้งาน
แล้ววิธีการแบบนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กยังไง? บทความจาก Vox อธิบายต่อว่า เมื่อผู้ใหญ่เลือกที่จะจดจำแต่เรื่องราวในอดีต พวกเขาจึงใช้ความทรงจำชุดเดิมมองและตัดสินการกระทำของเด็กๆ แทนการเริ่มเรียนรู้และพยายามจดจำว่า เด็กๆ สมัยนี้เป็นอย่างไร และมักจะมองความเป็นอุดมคติในวัยเด็กของเขาแล้วเอาไปเปรียบเทียบกับเด็กในปัจจุบัน และส่งผลให้ผู้ใหญ่รู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีศักยภาพพอตามที่เขาเชื่อ และยิ่งเวลาผ่านไป ผู้ใหญ่ก็มักจะจำไม่ได้ว่า ตอนเด็กๆ พวกเขาเคยทำผิดพลาดเรื่องไหนกันมาก่อน
“คุณไม่ได้มีความรู้อย่างถ่องแท้ว่า เด็กๆ อ่านเก่งแค่ไหนเมื่อตอนที่คุณยังเป็นเด็ก ถ้าเราลองให้คุณคิดถึงลิมิตความเก่งของเด็กๆ ตอนที่คุณยังเป็นเด็กและไม่ได้มีความรู้มากเท่าการเป็นผู้ใหญ่อย่างตอนนี้ ฉันเชื่อว่า คลังข้อมูลที่คุณมีอยู่ก็คงจะไม่เพียงพอในการประเมินผลเช่นกัน” หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ทีมวิจัยยังเสริมต่อด้วยว่า ความมั่นใจและความทะเยอทะยานของเด็กๆ ในวันนี้เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพราะนั่นทำให้เกิดการพัฒนาต่อไป เด็กๆ ยังต้องคิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำต่อไปอีกยาวไกลมาก พวกเขาต้องออกไปลองทำสิ่งใหม่ๆ ต้องมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น และต้องไม่กลัวอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น
ย้อนกลับมาที่ข้อความหนึ่งบนป้ายการชุมนุมแฟลชม็อบของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอาจจะพอเป็นคำตอบให้สังคมได้ว่า ทำไมเด็กๆ ถึงลุกขึ้นมารวมตัวในตอนนี้ และพวกเขามองการเมืองไทยด้วยสายตาแบบใด
อ้างอิงข้อมูลจาก