“เมื่อกี้เห็นหลุมระเบิดบนถนนไหมคะ”
คือคำถามที่สมาชิกคนหนึ่งในทีมถามคนอื่นๆ ที่ต่างพากันส่ายหน้า เพราะถ้าไม่สลบเหมือดก็กึ่งหลับกึ่งตื่น ระหว่างขับรถเดินทางไกลไปที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อบันทึกภาพสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน จนกลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ สำหรับคนในพื้นที่
เมื่อกดเข้าไปเช็คข้อมูลในเพจของสื่อท้องถิ่นก็พบว่า ในสัปดาห์ที่เราลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุวางระเบิด 1 ครั้ง บนถนนเส้นที่เราเพิ่งผ่านมา
แต่แทนที่เราจะรู้สึกหวาดกลัว กลับพูดถึงมันราวกับเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้น ไม่ต่างกับอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันใน กทม.
แม้ในใจเราต่างจะรู้ว่า มันไม่เหมือนกัน
“ไม่มีใครการันตีให้ได้หรอกว่า ถ้าคุณมาอยู่ใน 3 จังหวัด แล้วจะไม่เจออะไร จะปลอดภัย 100%” นักวิชาการชาว จ.ปัตตานีรายหนึ่งบอก
ก่อนลงมา.. หลายๆ คนต่างไถ่ถามว่า มาที่นี่ทำไม ปลอดภัยหรือเปล่า ระมัดระวังด้วย
เราทุกคนในทีมต่างรู้ดีว่า การมายังสถานที่แห่งนี้มี ‘ความเสี่ยง’ แต่ก็ปฏิเสธความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้จัก อยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง และนำเรื่องราวต่างๆ ไปถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้รับทราบ – ในฐานะนักสื่อสารมวลชน – ไม่ได้
ว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีแต่เหตุรุนแรง
แต่ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล รอให้คนมาพบเห็น มาค้นหา หรือมาเจอะเจอด้วยตัวเอง
โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของผู้คน
18 ปีแล้วที่พื้นที่ใต้สุดของเมืองไทย ซึ่งประกอบด้วย จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส (และอาจรวมถึง 4 อำเภอใน จ.สงขลาที่ติดกันด้วย) ถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงจากคนนอกพื้นที่
เป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานมาก จนมีคำกล่าวว่า หากมีทารกเกิดขึ้น ณ วันที่เริ่มเกิดเหตุ ถึงวันนี้เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง
เราจินตนาการไม่ออกว่า การที่เติบโตภายใต้ ‘พื้นที่พิเศษ’ ที่มีทหารถือปืนเต็มเมือง มีด่านตรวจนับร้อยนับพัน และมีกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้มายาวนาน
ความรู้สึกของคนในพื้นที่นั้นจะเป็นอย่างไร
เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ หนทางที่ดีที่สุด ก็คือไปเห็น ไปพูดคุย
และนี่ก็คือเรื่องราวที่ทีมงาน The MATTER พบเจอมา ระหว่างลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงปลายปี พ.ศ.2564 เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็ม
สังคมที่ไม่เหมือนเดิม
วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย และปืนหายไป 413 กระบอก ถึงปัจจุบันทวงคืนมาได้เพียง 92 กระบอก
เหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ ดังกล่าว เป็นวันที่หลายฝ่ายถือเป็นการนับหนึ่งเหตุการณ์ความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ‘ไฟใต้’ ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
หลังเกิดเหตุ รัฐบาลประกาศใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ ได้แก่ กฎอัยการศึก ก่อนจะออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาในปี พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาในปี พ.ศ.2551 เพื่อเอามาใช้แทนในบางพื้นที่และบางช่วงเวลา
มีการส่งกำลังตำรวจ-ทหารหลายหมื่นนาย ไปประการจำในพื้นที่
มีการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท
ทว่าปัญหาก็ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลงในเร็ววัน
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2547 – เดือนธันวาคม พ.ศ.2564 มีการก่อเหตุอย่างน้อย 21,328 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7,314 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 13,584 คน
แต่การสูญเสีย ใช่จะมีเพียงชีวิต ทรัพย์สิน และงบประมาณ ยังรวมถึงความ ‘เป็นชุมชน’ ของคนในพื้นที่ เพราะเกิดความไม่ไว้วางใจและมีการเว้นระยะห่าง ด้วยสาเหตุจาก ‘ความแตกต่าง’ ทั้งในเชิงภาษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และศาสนา ซึ่งกลายเป็นประเด็น ‘เปราะบาง’ หลังเกิดเหตุ
อ.ยาสมิน ซัตตาร์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ระบุถึงผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ก่อนหน้านี้ ได้ไปสัมภาษณ์คนในหมู่บ้านชาวพุทธแห่งหนึ่ง ที่เขาได้รับบาดแผลนั้นค่อนข้างชัด สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ พอถามว่ามีคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านไหม เขาบอกว่าไม่มี ก็ถามว่าไปไหนหมด เขาก็บอกว่าออกไปหมดแล้ว คือส่วนใหญ่ก็จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น
“แต่ถามว่าเขายังอยู่ร่วมกับคนมุสลิมได้อยู่ไหม ก็ยังอยู่ได้ แต่มีความหวาดระแวงไหม มี มันมีแน่นอนกับบาดแผลเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น อันนี้เป็นอีกสิ่งที่เราค้นพบ คือความไว้วางใจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คน อยู่ในสังคมเมืองอาจจะไม่เห็นมัน เราอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย มันก็ยังปกติ แค่ว่าตอนไหนที่มีช่วงเหตุการณ์ก็จะต้องระวัง แต่พอมันไปอยู่ตามหมู่บ้านที่เขาได้รับผลกระทบจริงๆ วิถีชีวิตของเขามันก็เปลี่ยนไปพอสมควร” อ.ยาสมินกล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลจาก อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 จากพรรคพลังประชารัฐ
“ความหวาดระแวงของคนในสังคมมีสูงขึ้นมาก ความไว้วางใจความไว้เนื้อเชื่อใจลดลง เราจะเห็นการแบ่งกลุ่มก้อนของคนต่างศาสนิกค่อนข้างชัดเจนขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อน ดูที่ตัวเราก็เห็นเลย เราจะมีเพื่อนพี่น้องคนไทยพุทธ พี่น้องคนไทยเชื้อสายจีน ที่ยังสัมพันธ์กันอยู่ตอนนี้ ก็เฉพาะเพื่อนสมัยเรียนก่อนเหตุการณ์ความรุนแรง พอหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงมาต่างคนต่างรักษาระยะห่าง เรื่องบางเรื่องก็คุยในวงใหญ่ไม่ได้ เพราะไม่เชื่อ และมีความรู้สึกว่า ไม่รู้ว่าคุยแล้วอีกฝ่าย คนฟังต่างศาสนิกจะคิดอย่างไร”
แม้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประชากรราว 2 ล้านคน กว่า 85% นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลือราว 15% นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอื่น
ก่อนหน้านี้ ส.ส.ยะลา เขต 1 เป็น ‘ส.ส.พุทธ’ คนเดียวใน ส.ส.ชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 11 คน กระทั่งอาดิลันมาชนะเลือกตั้งรอบล่าสุดในปี พ.ศ.2562 จนกลายเป็น ‘ส.ส.มุสลิม’ ทั้งหมด ทำให้ตัวเขารู้สึกว่ามีอีกภารกิจที่จะต้องทำในฐานะผู้แทนของประชาชน คือทำให้เป็นตัวอย่างว่าแม้ต่างศาสนิกกัน แต่ก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในงานสังคมต่างๆ
“เราเป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม แต่เราเป็นคนไทย จะต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่า แม้จะเป็นมุสลิมที่อยู่ในหลักการศาสนา แต่งานสังคมก็ยังไปได้ อะไรที่ทำได้ งานวัด งานศพ งานบุญ ไปได้ แต่ให้รู้เวลา ผมไปงานศพของพี่น้องจีนที่ศาลเจ้า ผมก็รู้เวลาว่าควรไปเวลาไหนที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาผม ผมทำบุญ ท่านเจ้าคุณมาขอให้ช่วยทำบุญ ผมก็ให้ตามวาระ เช่น หากเทศน์กัณฑ์ชาติผมก็ให้ไม่ได้ เพราะผิดหลักศาสนาผม แต่ในเงินเดียวกันนั้น ผมก็บริจาคให้กับเด็กกำพร้าเด็กที่ยากไร้ ที่วัดดูแลอยู่
“มันอยู่ที่เราจะปรับและสร้างความไว้วางใจให้ได้ว่า เฮ้ย ทำได้นะงานสังคม ไม่ใช่บอกว่าฉันเป็นอิสลามให้ไม่ได้เข้าวัดไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง” ส.ส.อาดิลันกล่าว
ปัจจุบัน เขายังทำทีมฟุตบอลอาชีพที่เล่นอยู่ในไทยลีก 3 ชื่อ ยาลอ ซิตี้ (Jalor City) ที่จะเอาทีมนี้เป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ให้คนต่างศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธากลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจะให้มีนักเตะทั้งคนเชื้อสายจีน คนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม เพื่อที่เวลามีแฟนคลับมาดูบอลในสนาม จะทำให้คนต่างศาสนิกได้มีปฏิสัมพันธ์กันโดยมีฟุตบอลเป็นตัวเชื่อม
“เหล่านี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการสร้างความเชื่อมั่น” ส.ส.อาดิลันกล่าว
ชีวิตที่เหมือนอยู่ในกรง
ทีมงาน The MATTER เปรียบเปรยกันเองว่า การขับรถไปไหนมาไหนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหนึ่งสัปดาห์ อาจต้องเข้าโค้งเพื่อผ่านด่านตรวจต่างๆ นับพันโค้ง มากพอๆ กับไปสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในบางจังหวัดภาคเหนือบางแห่ง
แต่ความรู้สึกในการเข้าโค้งนั้นทั้ง 2 พื้นที่แตกต่างกันแน่ ระหว่างวิวอันปลอดโปร่งข้างทาง กับด่านตรวจที่มีเจ้าหน้าที่ถือปืนยืนสอดส่อง
และหากคุณเป็นคนในพื้นที่ การถูกขอถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายรูปตัวคุณโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างผ่านด่านต่างๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดา ..ที่ไม่ควรจะธรรมดา
ซัยฟุลเลาะห์ ยะโกะ เยาวชนจาก จ.ยะลา ระบุว่า เท่าที่เคยสอบถาม เพื่อนทุกคนจะชินกับด่านตรวจและการถูกขอดูบัตรประชาชน คิดว่าถ้าอยากดูบัตรก็จะให้ดู ให้ทำยังไงก็ได้ ขอให้ผ่านด่านนั้นไปให้เร็วที่สุด แม้ส่วนตัวเขาจะรู้สึกกังวลทุกครั้งที่ต้องผ่านด่าน เพราะเคยเผชิญกับประสบการณ์ไม่ดีจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวัยเด็ก เกิดเป็น ‘บาดแผลทางจิตใจ’ จนถึงทุกวันนี้
ซัยฟุลเลาะห์เล่าว่า ตอนอายุ 8 ขวบ เช้ามืดวันหนึ่ง จู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่มาเคาะประตูบ้านปลุกคนในครอบครัวเพื่อขอตรวจค้นโดยใช้น้ำเสียงแข็งกร้าว เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาเป็นคนขี้ตกใจ และไม่กล้าที่จะไปคุยกับคนแปลกหน้า กลายเป็นเว้นระยะห่างจากสังคมมาโดยไม่รู้ตัว
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งการปิดล้อม-ตรวจค้น การใช้กฎหมายพิเศษ กลายเป็นคำถามใหญ่ในใจคนรุ่นใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ฟิตรี ดิงลูกา เยาวชนจาก จ.ยะลาอีกคน สะท้อนว่า คนที่นี่ไม่รู้จักเลยว่าการอยู่ภายใต้สถาวะที่ปกติมันเป็นยังไง ตั้งแต่จำความได้ก็อยู่ภายใต้สถานการณ์แบบนี้มาโดยตลอด เราอยู่ภายใต้สภาวะที่เหมือนมี ‘กรง’ มาขังเราไว้
“ควรยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพราะคิดว่าตลอดระยะเวลา 17-18 ปีที่ผ่านมา มันพิสูจน์หลายๆ อย่างแล้วว่ากฎหมายพิเศษมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย มันกลับยิ่งสร้างเงื่อนไขและสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ การมีกฎหมายที่จะเข้าตรวจค้นเราเมื่อไหร่ก็ได้ ภายใน 24 ชั่วโมง เราไม่รู้ว่าการนอนของเราคืนนี้จะสบายหรือเปล่า เราอาจจะโดนมาเคาะประตูขอให้เปิดบ้านเพื่อทำการตรวจค้น หรือเชิญตัวเราไปไหน”
ขณะที่ นูรดีน ฮะซา เยาวชนจาก จ.ปัตตานี มองว่า การดำเนินการของรัฐไทยที่เน้นมิติด้านความมั่นคงกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เขาและเพื่อนๆ วัยเดียวกันรู้สึก ‘ไม่มีตัวตน’ หรือเป็น ‘พลเมืองชั้นรอง’ เพราะความมั่นคงมันแทรกซึมไปอยู่ในมิติต่างๆ ของพื้นที่ ทั้งการศึกษา ความยุติธรรม ทรัพยากร ฯลฯ
นูรดีนซึ่งเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ยังยกนิยามทางรัฐศาสตร์มาอธิบายการจัดการปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐไทยจัดการปัญหาในพื้นที่ด้วยวิธีคิดแบบ ‘อาณานิคมภายใน’ โดยเขาอยากให้รัฐบาล หรือคนไทยในพื้นที่อื่นๆ หันมาสนใจปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพราะปัญหาที่ยืดเยื้อมา 2 ทศวรรษไม่ใช่แค่เรื่องของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เนื่องจากทหารที่ถูกส่งมาประจำการก็เป็นลูกหลานของคนจากทุกภูมิภาค
อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และผู้อำนวยการ Patani Forum ระบุว่า เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ผลกระทบโดยตรง คือหมู่บ้านถูกปิดล้อม คนในครอบครัวถูกจับ-ถูกยิง ไปโรงเรียนแล้วเจอระเบิด ฯลฯ กับผลกระทบโดยอ้อม จากโครงสร้างความรุนแรงที่มันกดทับ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายพิเศษ ที่มันกระทบกับชีวิตของพวกเขา
“สิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้สึกคือตั้งคำถามว่าทำไมที่นี่ ถึงไม่เหมือนที่อื่น หรือว่าทำไมที่อื่น ‘ปลอดภัย’ กว่าที่นี่ ผมว่าคนกลุ่มนี้เขารู้สึกว่าพื้นที่ในบ้านของเขา มันรู้สึกไม่ปลอดภัย”
อ.เอกรินทร์ยังระบุถึงการปรากฎการณ์ไปหางานทำ ‘นอกพื้นที่’ ของวัยรุ่นชายที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเกิดจาก dilemma สถานการณ์ในพื้นที่ เพราะมีความเสี่ยง 2 อย่าง หนึ่ง ถูกดึงเข้าไปเป็นขบวนการ ก็สอง ถูกจับจ้องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นวัยรุ่นชายหลายคนเลยส่งเสริมให้ไปทำงานนอกบ้าน เพื่อให้ปลอดภัย หลายคนเลยไปทำงานที่ภูเก็ต หาดใหญ่ กรุงเทพฯ หรือกระทั่งในมาเลเซีย
โอกาสในการยกเลิกกฎหมายพิเศษ
แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน เช่น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ในปี 2553, อ.เบตง จ.ยะลา กับ อ.สุไหงโก-ลกและสุคิริน จ.นราธิวาส ในปี 2561, อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ในปี 2562, อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ในปี 2563, อ.กาบัง จ.ยะลาและ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ในปี 2564
แต่ข้อมูลซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2564 ก็ยังปรากฎว่า ใน 33 อำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีพื้นที่ที่ยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ถึง 25 อำเภอ
โดยการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าว ควบคู่ไปกับการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกับ The MATTER ผ่านทางโทรศัพท์ว่า เหตุที่ยังต้องใช้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการก่อเหตุยังดำรงอยู่ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อย่างระมัดระวังเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้น เช่นเรื่องการปิดล้อมตรวจค้นและการควบคุมตัว เนื่องจากการก่อเหตุมักไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่หากใช้กฎหมายปกติ เช่น ป.วิอาญา อาจกระทบกับคนจำนวนมาก ต่างกับการใช้กฎหมายพิเศษที่จะกระทบกับคนจำนวนน้อยกว่า
“ความจริงกฎหมายพิเศษมันให้อำนาจค่อนข้างมาก เช่น กฎอัยการศึก จะประกาศเคอร์ฟิวก็ได้ด้วยซ้ำ แต่เราแทบไม่เคยทำเลย เพราะเกรงว่าจะกระทบกับประชาชน จึงใช้อยู่ฉบับละ 1-2 มาตราเท่านั้นเอง”
พล.ต.ปราโมทย์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐก็พยายามพิจารณาปรับลดระดับกฎหมายพิเศษ เช่น จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง ทุก 3 เดือน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สถิติการก่อเหตุ ความพร้อมของส่วนราชการ ฯลฯ ส่วนการยกเลิกกฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไปเลย อาจเป็นไปได้ในอนาคต แต่สำหรับกฎอัยการศึก เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายความมั่นคงจะใช้กฎหมายนี้ตามแนวชายแดนอยู่แล้ว
หรือที่นี่จะไม่มีอนาคต?
ทุกครั้งที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ชื่อของ 2 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานีและนราธิวาส มักจะติดอันดับ Top3 ของ ‘จังหวัดที่มีสัดส่วนคนยากจนสูงสุด’ อยู่เสมอ
โดยในช่วงสิบปีหลัง (ระหว่างปี พ.ศ.2554 – 2563) จ.ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด (หรือ ‘จังหวัดที่ยากจนที่สุด’) ถึง 4 ครั้ง น้อยกว่า จ.แม่ฮ่องสอนที่ได้ 6 ครั้ง เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น ขณะที่ในการเปิดเผยรายงานปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุด จ.นราธิวาสอยู่ในอันดับที่สาม ส่วน จ.ยะลาอยู่ในอันดับที่เก้า
เรื่องเศรษฐกิจ-ปากท้อง เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของคนในพื้นที่นี้
อ.เอกรินทร์สรุป 3 วิกฤตที่เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเจอ คือ
- วิกฤตด้านอัตลักษณ์ หรือ identity เวลาเป็นมุสลิมจะต้องเป็นมุสลิมที่เคร่งอย่างเดียวหรือ ลูกศิษย์ตนหลายคนเป็น LGBTQ ก็มาปรึกษาเยอะมาก เพราะไปคุยกับที่บ้านไม่ได้ จะมีปัญหาทันที
- วิกฤตทางเศรษฐกิจปากท้อง หลายคนต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ซึ่งความกดดันทางเศรษฐกิจจะทำให้ผลการเรียนของเขาตกลง เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรามันไม่ได้ช่วยพยุงเขาเลย
- วิกฤตด้านการพัฒนา เด็กที่นี่รักบ้านเกิด นักศึกษาหลายคนไปทำงานที่มาเลเซียหรือใกล้ๆ กับสิงคโปร์ ไปจนถึงภูเก็ต หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ สิ่งที่เขาเห็นคือเมืองที่มันเจริญแล้ว ก็ตั้งทำคำถามว่าทำไมบ้านเราไม่เป็นแบบนี้
อีกหนึ่งตัวชี้วัดความเจริญที่คนในพื้นที่ชอบใช้แซวกันเอง คือการมีห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ที่มาเปิดใน จ.ปัตตานีก่อนในปี พ.ศ.2560 และเพิ่งมาเปิดที่ จ.นราธิวาส ในปี พ.ศ.2564 โดยวันหยุดสุดสัปดาห์ก็มักมีคนเข้าไปใช้บริการจนรถยนต์ติดขัดที่หน้าห้าง
อ.ยาสมินกล่าวเสริมว่า ตลาดงานใน 3 จังหวัดมีน้อยมาก คือโอกาสในการทำงานมีน้อย อย่างเช่นคณะรัฐศาสตร์ที่เป็นคณะที่คนเลือกเข้ามากที่สุด พอเราถามว่าทำไมมาเข้าคณะนี้ เขาก็ตอบว่าเพราะมันมีโอกาสได้ทำงานในพื้นที่ คือการเป็นข้าราชการ เขาหวังไว้แบบนั้น
“เมื่อตลาดงานมีน้อยมาก ในแง่มุมหนึ่งเขาก็เลือกที่จะไปอยู่ที่อื่น เลือกที่จะไปอยู่มาเลเซีย หรือเลือกที่จะไปอยู่ในกรุงเทพฯ”
ฟิตรี ดิงลูกา เยาวชน จ.ยะลา เล่าให้ฟังว่า เท่าที่รู้มาปัจจัยหลักที่ทำให้คนออกไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้มีแค่เรื่องของความรุนแรง แต่ยังมีเหตุผลเรื่องของงาน เพราะถ้าเป็นบ้านเรา การหางานก็ยาก รายได้ก็อาจจะไม่เท่ากับไปทำงานที่มาเลเซีย ซึ่งคนที่นี่จะได้เปรียบเพราะคุ้นชินกับภาษามลายูอยู่แล้ว
“แต่ผมไม่เคยมีความคิดนะ (ว่าจะย้ายออกจากที่นี่) เพราะเราเติบโตที่นี่ ถูกเลี้ยงดูปลูกฝังจากที่นี่ เพราะที่นี่ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ ผมจะอยู่ที่นี่จนวันตาย”
คือคำตอบจริงจังของฟิตรี หลังเราถามว่ามีความคิดที่จะออกไปใช้ชีวิตนอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
กฎหมายพิเศษ กับความยุติธรรม
เมื่อถามถึงวิธีแก้ไขปัญหาความไม่สงบ หนึ่งในสิ่งที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอบให้ทีมงาน The MATTER ฟังอยู่ตลอดเวลา คืออยากให้รัฐเลิกใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ และหันไปใช้ ‘กฎหมายปกติ’
เพราะการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ หลายครั้งก็ไปสร้าง ‘เงื่อนไข’ เพิ่มเติม
โดยเฉพาะอำนาจในการเข้าตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคคล ที่มากกว่าอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) แถมกฎหมายพิเศษบางฉบับ ยังยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่
กรณีที่มีการอ้างถึงบ่อยๆ ระหว่างเราลงพื้นที่ คือชะตากรรมของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล หลังถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษพาตัวไปสอบสวนที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเคยทำรายงาน การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนระบุถึงข้อร้องเรียนกรณีซ้อมทรมาน 54 กรณี เสนอต่อสหประชาชาติ (UN) เมื่อปี พ.ศ.2559 ปรากฎว่าต่อมา ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง
ปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ การละเมิดสิทธิประชาชน ที่รวมไปถึงการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างชาติ พูดถึงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานว่าเป็นอีกปัจจัยที่ไปเติมเชื้อไฟในพื้นที่
แต่ในมุมมองของ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา จากพรรคพลังประชารัฐ-พรรคแกนนำรัฐบาล มองว่า รัฐระมัดระวังขึ้นในการใช้กฎหมายพิเศษ เพราะมีหลายฝ่ายคอยตรวจสอบ และตลอด 17-18 ปีที่ผ่านมา รัฐก็พยายามใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจสอบหาคนกระทำผิด รวมถึงอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน
“สมัยก่อน(การใช้กฎหมาย)จะเหวี่ยงแหไว้ก่อน แต่เดี๋ยวนี้กลับน้อยลง พยานหลักฐานก็แน่นหนาขึ้น ฉะนั้นใครผิดก็ต้องว่ากันตามผิด ถือว่าเป็นการอำนวยความยุติธรรมไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นต้องมานั่งเสียโอกาสกับการถูกควบคุมตัว ดำเนินคดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล 2-3 ปีกว่าจะพิสูจน์ได้”
การให้ความเป็นธรรม-ความยุติธรรม เป็นอีกสิ่งที่คนในพื้นที่อยากได้
หากยังจำกันได้ เหตุผลที่ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาของศาลชั้นต้นของศาล จ.ยะลา ยิงตัวเองจนเสียชีวิต ก็เพื่อประท้วงพฤติกรรมที่เขามองว่าเป็นการแทรกแซงคดีความมั่นคง พร้อมเขียนแถลงการณ์ยาวเหยียดลงท้ายว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา..คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
อาดิลันที่เคยเป็นทนายความในมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม องค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกรัฐละเมิดสิทธิ และในวันที่มานั่งคุยกับเราสวมเสื้อยืดมีข้อความว่า KEADILAN ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า ‘ความยุติธรรม’ ระบุว่า การให้ความเป็นธรรมมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ เพราะถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา 1 เคส อย่าลืมว่าเขายังมีพี่น้องพ่อแม่ มีคนในหมู่บ้านในตำบล ที่จะเห็นและสื่อสารไปว่ารัฐไม่ให้ความยุติธรรม
“มันเหมือนไปเติมเชื้อไฟไปโดยปริยาย”
เขามองว่า ในปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีแค่เรื่องของผู้เห็นต่างแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกซ้อน เช่น เรื่องยาเสพติด น้ำมันเถื่อน ค้ามนุษย์ สินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ ดังนั้น รัฐจะต้องพยายามทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าที่รัฐมาดำเนินคดีคน 1 คน มันมาจากเรื่องอะไร อย่าให้เกิดความหวาดระแวงว่า การกระทำจับกุมเพื่อกลั่นแกล้งคน
เมื่อไรสันติภาพจะคืนมา
หลังผ่านค่ำคืนที่ฝนตกหนัก แสงแรกของวันเผยให้หมอกที่ลอยเรี่ยทิวเขา นักวิ่งหลายสิบคนออกมาวิ่งรอบสวนขวัญเมืองหรือ ‘พรุบาโกย’ สวนสาธารณะใจกลาง จ.ยะลา พอสายๆ หน่อย เป็นเวลาที่ครอบครัวจะเริ่มออกมาทำกิจกรรมบนพื้นที่สีเขียวที่มีขนาดราว 2/3 ของสวนลุมพินีของกรุงเทพฯ นี้ ส่วนคนหนุ่มสาวก็ขี่จักรยานยนต์ไปหาเพื่อน ณ คาเฟ่เปิดใหม่หรือร้านน้ำชาแนวโมเดิร์นที่เปิดให้บริการอยู่ไม่ไกล
นี่คือบรรยากาศ ‘สุดชิล’ ที่คนนอกพื้นที่หรือไม่เคยลงมายัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะจินตนาการไม่ออก ..ก่อนเราลงมาก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะได้เห็นภาพนี้
แม้ข่าวคราวของกระบวนการพูดคุยผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างเปิดเผย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 จะซาลงไปพักใหญ่แล้ว หลังจากการเมืองในไทยในส่วนกลางเปลี่ยนขั้ว แต่การเจรจาเพื่อสร้าง ‘สันติภาพ’ ในพื้นที่ก็ยังดำเนินอยู่
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PEACE SURVEY) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 – ปัจจุบัน เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนไปยังผู้เกี่ยวข้อง
อ.สุวรา แก้วนุ้ย นักวิชาการและนักวิจัยจากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา (CSCD) ของ ม.อ.ปัตตานี หนึ่งในทีมงานผู้จัดทำ PEACE SURVEY ระบุว่า เป้าหมายของการจัดทำเซอร์เวย์นี้ ก็เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกเป็นความรู้ และให้เสียงความต้องการของประชาชนจริงๆ ถูกส่งไปถึงผู้มีอำนาจ หรือไปถึงโต๊ะเจรจาสันติภาพ หากเป็นไปได้ ซึ่งประเด็นที่ประชาชนพูดถึง นอกจากเรื่องการกระจายอำนาจ ยังมีเรื่องปากท้อง ยาเสพติด การศึกษา ความยุติธรรม
“จะเห็นได้ว่า ประชาชนไม่ได้กำลังจะบอกว่า ให้มาหยุดยิงกันนะ เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องคำนึงถึงมิติอื่นๆ ด้วย” อ.สุวรากล่าว
ถึงเหตุรุนแรงในระยะหลังจะลดลงในเชิงตัวเลข แต่สถานการณ์ในภาพรวม ก็ยังห่างไกลเกินกว่าที่จะเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘ปกติ’ ได้
18 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นระยะเวลาที่สั้นหากเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่เป็นระยะที่ยาวนานในช่วงชีวิตของใครคนหนึ่ง
แม้การลงพื้นที่เพียงหนึ่งสัปดาห์ จะไม่มากพอจะทำให้เราเข้าใจความเป็นไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างทะลุปรุโปร่ง แต่การ ‘เปิดใจ’ ลองเข้าไปพูดคุย พบเห็น และสัมผัส ก็ทำให้หูตาเรา ‘เปิดกว้าง’ มากกว่าที่เคย เรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ไม่ได้มีแค่เหตุรุนแรง ยังมีชีวิตของคนอีกนับล้าน ที่แม้บางอย่างอาจแตกต่างจากเรา แต่สิ่งที่ไม่ได้ต่างกันเลยคือเราต่างก็เป็น ‘มนุษย์’ ผู้ใฝ่ฝันถึงบ้านเกิดที่น่าอยู่ ใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าวันนี้
ความหวังยังมีอยู่เสมอ ..แม้ไม่รู้ว่า เมื่อไรจะกลายเป็นจริง
Photo by Fasai Sirichanthanun
– หมายเหตุ – ผลงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง THE MATTER กับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้โครงการ Together เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เนื้อหาของผลงานเป็นความรับผิดชอบของ THE MATTER และไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของ USAID หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด