ผู้คนเดินประท้วงตามท้องถนน การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ การผิดนัดชำระหนี้และล้มละลาย อาหารและน้ำมันกลายเป็นของหายาก พร้อมกับอนาคตที่ดูไร้ความหวัง สิ่งเหล่านี้คือบางองค์ประกอบของสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย
หากใครเกิดทันก็อาจย้อนนึกไปถึงสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยซึ่งเคยรุ่งโรจน์กลับหดตัวอย่างกระทันหันหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ส่วนเหล่ามิลเลนเนียลและเจน Z ก็มีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา พร้อมกับอีกหลายประเทศที่เศรษฐกิจง่อนแง่นเสี่ยงจะพังทลายตามกันไปเพราะสองปัญหาสำคัญคือการระบาดของ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้ราคาอาหารและน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้งก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป สถานการณ์อึมครึมในปัจจุบันก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะพาผู้อ่านไปทบทวนว่าสาเหตุใดบ้างที่ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย พร้อมกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าแต่ละประเทศฟื้นตัวกลับมาได้อย่างไร
วิกฤติจากหนี้สาธารณะ – ศรีลังกาและกรีซ
ศรีลังกาเผชิญปัญหาสงครามกลางเมืองมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษก่อนที่สงครามจะยุติลงด้วยความรุนแรงนำโดยตระกูลราชปักษาที่ต่อมาเครือญาติต่างตบเท้าก้าวขึ้นครองอำนาจทางการเมือง
เมื่อสิ้นไฟสงครามรัฐบาลก็เร่งเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ แต่หนทางก็ไม่ได้ราบรื่นเพราะศรีลังกาเผชิญทั้งภัยพิบัติธรรมชาติ การดำเนินนโยบายการเกษตรที่ผิดพลาด เช่น การออกกฎหมายห้ามเกษตรกรใช้สารเคมีแบบ 100% เพื่อหวังเป็นประเทศแรกที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบถ้วนหน้าก่อนจะยอมล่าถอยเพราะการประท้วงของประชาชนและราคาอาหารที่พุ่งสูง
เศรษฐกิจศรีลังกาซึ่งพึ่งพารายได้จากภาคบริการถึง 60% กลับต้องสั่นคลอนเมื่อเกิดเหตุวางระเบิดในโบสถ์และโรงแรมหรู ตามมาด้วยการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ รัฐบาลก็ตัดสินใจผิดพลาดอีกครั้งโดยการปรับลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุให้บริษัทจัดลำดับเครดิตปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาให้มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงจนไม่สามารถกู้ยืมผ่านตลาดต่างประเทศได้อีกต่อไป
ศรีลังกาต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารจากต่างชาติ แต่โรคระบาดทำให้แทบไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ซ้ำร้ายยังไร้หนทางกู้ยืมเงินจากต่างแดน เงินสกุลดอลลาร์ที่ใช้ชำระหนี้เก่าคงค้าง รวมทั้งนำเข้าสินค้าและบริการจึงค่อยๆ ร่อยหรอ นับถอยหลังจนถึงวันที่รัฐบาลหมดตัวจึงประกาศ ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ นำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ดังกล่าวก็คล้ายคลึงกับวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซที่มีเศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ เป็นทุนเดิม พอเจอกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจนรายได้จากการท่องเที่ยวหดหายจึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้เดิมซึ่งกู้ยืมมาได้ สุดท้ายจึงต้องยอมประกาศผิดนัดชำระหนี้ไปนั่นเอง
หากศรีลังกาและกรีซเป็นลูกหนี้แบบเราๆ ท่านๆ ก็คงถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์สินไปขายทอดตลาด แต่เมื่อลูกหนี้ในที่นี้เป็นประเทศที่มีอธิปไตย เจ้าหนี้จึงได้แต่มองตาปริบๆ พร้อมกับขอให้มานั่งโต๊ะพูดคุยเพื่อเจรจาประนอมหนี้ ในขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศนี้ก็ต้องหันไปขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟมาตั้งตัวใหม่ โดยเงินกู้ของไอเอ็มเอฟก็มาพร้อมกับสารพัดเงื่อนไข อาทิ การรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ การลดกำแพงภาษี และการปล่อยค่าเงินลอยตัว เป็นต้น
วิกฤติจากหนี้ครัวเรือน – สหรัฐอเมริกา
แม้ว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์มากนัก แต่ในสหรัฐอเมริกาเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยมีคนตกงานกว่า 9 ล้านคนหรือคิดเป็น 6% ของแรงงานในประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสาเหตุหลักคือหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมหาศาลจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จนเกิดเป็นภาวะฟองสบู่ที่รอวันระเบิดออก
แน่นอนครับว่าวิกฤติดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากตราสารทางการเงินที่มีความสลับซับซ้อนซึ่งธนาคารผู้ปล่อยกู้สามารถถ่ายโอนความเสี่ยงให้กับนักลงทุนและผู้เล่นรายอื่นในตลาดได้ สุดท้ายจึงกลายเป็นแรงจูงใจให้ปล่อยกู้แบบไม่ดูตาม้าตาเรือ กระทั่งลูกหนี้เครดิตไม่ค่อยดีนักหรือที่เรียกว่ากลุ่มซับไพรม์ก็สามารถกู้เงินมาซื้อบ้านได้ แม้ว่าธนาคารจะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกหนี้ไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายคืนก็ตาม
เมื่อลูกหนี้รายหนึ่งผิดนัดชำระหนี้ บ้านก็จะถูกยึดเพื่อขายใช้หนี้ หลังจากที่ลูกหนี้จำนวนมากหมดปัญญาที่จะผ่อนต่อบ้านมือสองจึงทะลักเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จนราคาร่วงฮวบ ลูกหนี้ที่เหลือจึงเผชิญกับทางเลือกว่าจะผ่อนหนี้ก้อนใหญ่มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับสินทรัพย์ในตลาดที่มูลค่าเหลือ 850,000 ดอลลาร์ หรือจะปล่อยให้บ้านถูกยึดไปแล้วไปช้อนซื้อบ้านหลังใหม่ในราคาที่ถูกกว่า แน่นอนว่าคนจำนวนไม่น้อยเลือกทางเลือกที่สองจนการผิดนัดชำระหนี้ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นธนาคารยักษ์ใหญ่ล้มละลาย
รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามแก้ไขวิกฤติดังกล่าวโดยอัดเงินเข้าสู่ระบบ พร้อมกับเครื่องมือใหม่ของธนาคารกลางที่ชื่อว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing) ซึ่งหมายถึงการกว้านซื้อตราสารหนี้และสินเชื่อจำนองของภาคเอกชนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแปลงสินทรัพย์ให้กลายเป็นเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่กว่าจะพลิกฟื้นกลับมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ก็ใช้เวลาร่วมทศวรรษ
วิกฤติจากอัตราแลกเปลี่ยน – ไทย
ผู้อ่านทุกท่านคงคุ้นเคยกันดีกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 โดยเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลายคือการลอยตัวค่าเงินบาทจนอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงกว่าเท่าตัวจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสูงสุดถึงราว 55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนแต่สะสมมาเนิ่นนานร่วมทศวรรษ
ก่อนลอยตัวค่าเงินบาท ประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินระหว่างประเทศโดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างคงที่เรียกว่าระบบ ‘ตะกร้าเงิน’ ซึ่งเงินบาทจะขยับในกรอบแคบๆ อิงกับเงินตราต่างประเทศสกุลหลักจำนวนหนึ่ง
ในขณะนั้น เศรษฐกิจไทยค่อนข้างร้อนแรงและอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว ในขณะที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ามาก กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจในการกู้ยืมเงินในสกุลต่างประเทศโดยตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (Bangkok International Banking Facilities: BIBF) ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งกลายเป็นช่องทางหลักที่ผู้ประกอบการไทยกู้ยืมเงินจากต่างแดนมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยความคิดที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจะมีเสถียรภาพตลอดไป
อย่างไรก็ตาม นักเก็งกำไรเล็งเห็นว่าเงินบาทนั้นแข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เงินสำรองในคลังเพื่อพยุงมูลค่าเอาไว้ พวกเขาจึงรวบรวมเงินลงทุนเพื่อโจมตีค่าเงินบาทครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายประเทศไทยก็พ่ายแพ้และยอมลอยตัวค่าเงินบาทในท้ายที่สุด
สิ่งที่ทำให้วิกฤติลุกลามคือการที่ผู้ประกอบการไทยกู้ยืมมหาศาลในสกุลเงินต่างประเทศ เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายและมูลหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น จากเดิมมีหนี้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเท่ากับ 25 ล้านบาท แต่หลังจากลอยตัวค่าเงินบาท หนี้ก้อนนี้ก็จะบวมเป่งเป็น 40-50 ล้านบาทในชั่วข้ามคืน นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ที่ลุกลามจากไทยไปทั่วทั้งภูมิภาคจนรับการขนานนามว่าเป็น ‘วิกฤติการเงินเอเชีย ปี 1997’ (1997 Asian financial crisis)
ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็อย่างที่เราเรียนกันในตำราสมัยมัธยมนั่นแหละครับ ประเทศไทยต่อคิวขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟพร้อมก้มหน้ายอมรับสารพัดเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนยวบก็กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สินค้าส่งออกของไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก เม็ดเงินที่ได้จากการส่งออกนี่เองที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาตั้งหลักได้ในเวลาไม่ถึงทศวรรษ
วิกฤติจากอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว – ฮังการีและซิมบับเว
แม้ว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับวิกฤติอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว (hyperinflation) ที่เงินกลายสภาพเป็นเศษกระดาษที่ประเทศเวเนซุเอลา แต่เนื่องจากปัจจุบันประเทศดังกล่าวก็ยังเผชิญอัตราเงินเฟ้อหลักพันเปอร์เซ็นต์ต่อปี ผมเลยขอหยิบตัวอย่างสองประเทศที่เคยเผชิญสถานการณ์เงินเฟ้อขั้นเลวร้ายแต่พลิกกลับมาได้นั่นคือฮังการีและซิมบับเว
ย้อนกลับไปเมื่อปีราว 80 ปีก่อน อัตราเงินเฟ้อของฮังการีพุ่งทะลุเพดานถึง 41,900,000,000,000,000 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ตัวเลขที่เห็นก็ชวนตาลายนี้แปลเป็นภาษามนุษย์ว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวทุกๆ 15 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าเงินที่หาได้ในตอนเช้าจะมีมูลค่าหลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเมื่อตกเย็น ส่วนซิมบับเวก็เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เลวร้ายเช่นเดียวกันเมื่อราว 14 ปีก่อน โดยมีอัตราเงินเฟ้อที่ 79,000,000,000 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อสูงลิ่วคือการที่รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายมหาศาลแต่ไม่สามารถหารายได้เข้าคลังจึงตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการ ‘พิมพ์เงิน’ โดยไม่มีทุนสำรองเพียงพอ เมื่อเงินหมุนเวียนในตลาดมากขึ้นแต่ผลผลิตที่มีในประเทศมีเท่าเดิม มูลค่าที่แท้จริงของเงินก็จะลดน้อยถอยลงหรือก็คือภาวะเงินเฟ้อนั่นเอง
ทางออกของสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเงินเฟ้อเป็นเรื่องการคาดการณ์ของประชาชน หากคนคาดว่าเงินจะเสื่อมมูลค่าลงในอนาคตก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่ตนเชื่อ เช่น การปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือการรีบใช้เงินที่ได้มาเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
หนึ่งในทางออกที่ประสบความสำเร็จคือการโบกมือลาเงินสกุลเก่าแล้วใช้เงินสกุลใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า เช่นการเปลี่ยนเป็นสกุลเงินโฟรินต์ (Forint) ของฮังการีที่รัฐบาลสัญญาว่าเงินที่พิมพ์ขึ้นใหม่นั้นจะมีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือการยกเลิกเงินสกุลเก่าแล้วรับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินสกุลหลักของซิมบับเว
แล้วสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันน่ากังวลแค่ไหน?
หากพิจารณาจากทั้ง 4 สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย สถานการณ์โดยรวมของไทยเราในปัจจุบันก็ยังไม่น่ากังวลมากนัก ทั้งในแง่หนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในระดับที่ยังพอไปไหว อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสกุลเงินบาทจึงไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่ามากนัก ประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ยังมีมูลค่ามหาศาลและการส่งออกของไทยที่ยังพอไปได้จึงไม่น่าห่วงว่าเงินตราต่างประเทศของเราจะหมดคลังในเร็ววันนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อถึงจะสูงเป็นประวัติการณ์ก็จริง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายจนจัดการไม่ได้
สิ่งเดียวที่น่ากังวลคือ ‘หนี้ครัวเรือน’ ของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด สะท้อนว่าประชาชนคนไทยต่างเผชิญความยากลำบากทุกหย่อมหญ้าและต้องวิ่งหาเงินกู้ประทังชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าผนวกกับภาวะเงินเฟ้อที่มาซ้ำเติม หนี้ครัวเรือนจึงเปรียบเสมือน ‘ระเบิดเวลา’ ของเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถปลดชนวนได้หากรัฐบาลใส่ใจดูแล แต่หากปล่อยปละละเลยก็อาจกลายโดมิโนตัวแรกที่จะลากเศรษฐกิจทั้งระบบล่มสลายไปตามกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon