ความรู้สึกอับอาย ละอายใจ เป็นความรู้สึกเชิงลบที่เจ็บปวด เพราะใครก็ตามที่รู้สึกเช่นนั้น อาจมีความคิดที่ว่าตัวเอง ‘ต้อยต่ำ’ และ ‘ยังดีไม่พอ’ พ่วงมาด้วย
ซึ่งการกระทำที่เรียกว่า ‘Shaming’ หรือการประนาม ดูถูก ก็คือสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความคิดและความรู้สึกดังกล่าว เพราะเป้าหมายของมันคือการโจมตีคุณค่าโดยธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ความคิด หรือจิตใจ ทำให้ผู้นั้นรู้สีกตัวว่าตนเองไม่เหมาะกับการอยู่ในสังคม หรือแม้กระทั่งบนโลกใบนี้
ถึงแม้การประณามอาจจะเกิดจากความไม่ตั้งใจ หรือความไม่รู้มาก่อน เนื่องจากเราถูกปลูกฝังมายาวนานว่าบ้างก็เป็นเรื่องหยอกล้อกันขำๆ บ้างก็คิดว่าเป็นคำพูดทั่วๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม การประณามให้ผู้อื่นละอายใจ ก็เป็นปัญหาที่สังคมควรจะตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะผลกระทบของมันลึกซึ้งกว่าแค่คำพูดที่หลุดออกมาจากปาก หรือตัวอักษรที่พิมพ์ลงไป แต่สามารถกัดกินความรู้สึก และสร้างปมในใจของคนที่โดนไปด้วย โดยเฉพาะหากการประณามนั้นถูกทำท่ามกลางที่สาธารณะ ซึ่งหลายๆ ครั้งความผิดไม่ได้มาจากคนที่โดนหรอก แต่เป็นคนในสังคมต่างหากที่ไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น
เรามาดูกันว่ามีการประณามอะไรบ้างที่เราเผลอทำโดยไม่รู้ตัว และควรจะหยุดได้แล้ว เพื่อรักษาใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
Body Shaming
“ไปทำอะไรมา อ้วนขึ้นปะเนี่ย”
“ว่าไงน้องดำ”
“ขาใหญ่เป็นเสาไฟฟ้าเลย”
Body Shaming คือ การประณาม วิจารณ์ ดูถูก หรือล้อเลียนรูปร่างหน้าตาคนอื่น ซึ่งปัจจุบันมีการรณรงค์ให้หยุดบอดี้เชมมิ่งกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นผลพวงมาจากมาตรฐานความสวย ที่กำหนดให้อัตลักษณ์เพียงไม่กี่อย่างของมนุษย์ถูกมองว่ามีคุณค่าแล้ว ยังเป็นการเสียมารยาทในการเข้าสังคม แถมยังทำให้คนฟังรู้สึกอับอาย สูญเสียความมั่นใจ ไปจนถึงเป็น low-self esteem เลยก็มี
แต่ก็นับว่าผู้คนเริ่มตระหนักถึงบอดี้เชมมิ่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทักทายด้วยการตำหนิรูปร่าง หรือการใช้อัตลักษณ์บางอย่างเป็นคำเรียก เช่น อ้วน ดำ แห้ง ไม้กระดาน ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังหลงเหลือคนบางกลุ่มที่เพิกเฉย ด้วยเหตุผลที่ว่า “แค่ล้อเล่นเอง จะซีเรียสทำไม” อาจจะเพราะความเคยชินหรือความไม่รู้ตัวว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันตักเตือนและให้ความรู้กันอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ปัญหานี้ค่อยๆ หายไปในสังคม
Job Shaming
“โหยย ทำอาชีพนี้แล้วเมื่อไหร่จะเจริญ”
“เนี่ย ลูกป้านะ เป็นหมอ เป็นทหาร เป็นตำรวจ”
“ทำอาชีพนี้ไม่มั่นคงหรอก”
หลายคนน่าจะคุ้นหูกับประโยคเหล่านี้ดี เวลามีวันรวมญาติที่ต้องเจอผู้หลักผู้ใหญ่ หรืองานรวมรุ่นที่ต้องเจอเพื่อนที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมานาน ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการวกกลับมาถามว่า “ช่วงนี้ทำอะไรอยู่” แล้วพอแต่ละคนบอกอาชีพที่ทำอยู่ออกไป ก็จะเจอเป็นรีแอคชั่นที่แตกต่างกัน
Job Shaming เกิดจากการที่สังคมเรามองว่าแต่ละอาชีพมีคุณค่าไม่เท่ากัน ทั้งในเรื่องของรายได้ ความมั่นคง และชื่อเสียง ทำให้เกิดเป็นความภาคภูมิใจต่อแต่ละอาชีพที่แตกต่างกันอีกที ซึ่งความจริงแล้ว แต่ละอาชีพล้วนมีคุณค่าและความสำคัญ เพียงแต่คนพูดอาจจะยังไม่เข้าใจรายละเอียดของอาชีพนั้นจริงๆ ซึ่งคนที่กำลังโดนเชมมิ่งเรื่องนี้ อาจจะต้องอธิบายให้เขาคร่าวๆ ว่าอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง มีความสนุกอย่างไร หรือท้าทายอย่างไร เพื่อให้เขารู้ว่าอาชีพนี้ก็ยากและเหนื่อยไม่แพ้กัน
แต่ถ้ายังไม่เข้าใจล่ะก็… ป้า หนูขอตัวนะ!
Slut Shaming
“เที่ยวกลางคืนบ่อยๆ เป็นผู้หญิงสำส่อนหรอ”
“แต่งตัวโป๊เพราะอยากยั่วผู้ชายล่ะสิ”
“ทาปากแดงเป็นอีตัวเลย”
เมื่อสังคมไทยถูกปลูกฝังมาว่าผู้หญิงจะต้องเรียบร้อย ทั้งกิริยา วาจา บวกกับต้องรักนวลสงวนตัว ไม่ให้ใครมามาเห็นเนื้อเห็นตัวหรือแตะต้องได้ง่ายๆ ทำให้ผู้หญิงหลายคนที่สนุกกับการแต่งหน้า ทาปาก ใส่สายเดี่ยว บิกีนี่ หรือใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงในยามค่ำคืนถูก Slut Shaming หรือถูกตีตราว่าเป็นคน ‘สำส่อน’ หรือ ‘ร่าน’
แถมความคิดนี้ยังนำไปสู่การประณามเหยื่อในคดีข่มขืน หรือ Victim Blaming ว่าเกิดจากความผิดของเหยื่อเองที่แต่งตัวยั่วยวน ไม่ระมัดระวัง ทั้งๆ ที่การแต่งหน้าแต่งตัวก็เป็นเพียงแค่ไลฟ์สไตล์หนึ่งที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน และความดีความเลวของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสั้นยาวของกระโปรงเพียงแต่อย่างใด เราจึงจะเห็นว่าการเคลื่อนไหว my body my choice หรืออยากแต่งอะไรก็เรื่องของฉันกันมากขึ้น เพื่อให้มองรูปลักษณ์ภายนอกเป็นเพียงแค่สไตล์เท่านั้น ไม่ได้บ่งบอกลักษณะนิสัยที่แท้จริงของมนุษย์
Music Shaming
“เพลงอะไรเนี่ย ไม่เห็นเพราะเลย”
“แกฟังอะไรอะ เชยมาก”
“เทสต์เพลงแกห่วยแตกที่สุด”
เมื่อรสนิยมการฟังเพลงกลายเป็นวิธีการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง ใครฟังเพลงแนวเดียวกันก็จะมีอะไรให้แลกเปลี่ยนกันเยอะ เหมือนแนวการแต่งตัว แนวการดูหนัง และเหมือนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกอัตลักษณ์หรือตนตัวของเราได้ ทำให้ตอนนี้มันมาถึงขั้นที่เรา Music Shaming หรือเหยียดรสนิยมการฟังเพลงกันแล้วนะทุกค๊นนนนน
การประณามรสนิยมการฟังเพลง เกิดจากการที่บางคนมีแนวเพลงที่ชอบเป็นของตัวเอง และมองว่าแนวเพลงนั้นดีเลิศประเสริฐศรีกว่าแนวเพลงของคนอื่นๆ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีใครต้องมารู้สึกละอายใจกับการฟังเพลงที่ตัวเองชอบหรอก เพราะเราทุกคนมีความชอบในดนตรีที่แตกต่างกัน เหมือนที่เราชอบทานอาหารรสชาติต่างกันนั่นแหละ
บางคนอาจจะชอบฟังเพลงยุคเก่า เพราะคิดถึงกลิ่นอายและเรื่องราวในสมัยนั้น ส่วนบางคนอาจจะชอบฟังเพลงฮิตติดกระแส แด๊นซ์ๆ EDM เพราะรู้สึกสนุก แปลกใหม่ บางคนอาจจะชอบเพลงบรรเลง เพราะทำให้รู้สึกจิตใจสงบ เพราะฉะนั้น ใครใคร่ฟังเพลงแนวไหนก็เรื่องของเขา และเราก็ควรที่จะเคารพความชอบของกันและกัน เพราะแนวเพลงที่เราคิดว่าดีนักดีหนา คนอื่นก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วยเสมอไป
Rich Shaming
“มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องโง่ด้วย”
“เสียดายเงิน เอาไปบริจาคดีกว่ามั้ย”
“รวยแต่รสนิยมแย่”
การจิกกัดคนรวยหรือ Rich Shaming/Wealth Shaming คือการที่เราให้ความใส่ใจกับการใช้จ่ายเงินของคนอื่นมากเป็นพิเศษ เขาซื้อแบบนั้นคุ้มค่าเหรอ ทำไมเขาไม่เอาไปทำอย่างอื่นนะ ถ้าเอาไปบริจาคจะดีกว่ามั้ย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ธุระอะไรของเรา ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากการที่เรามองการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขแตกต่างกันออกไป ทำให้แม้แต่คนที่แค่อยากซื้อกาแฟดีๆ แพงๆ ดื่ม ยังโดน Coffee Shaming ได้เลย และภาพคนรวยที่ถูกนำเสนอในสังคม ก็ดูเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายเงินไม่ฉลาด
แต่ความเป็นจริง ไม่มีใครจะต้องรู้สึกผิดกับการใช้เงินที่หามาด้วยตัวเอง แล้วใช้มันเพื่อเป็นรางวัลให้รางวัลแก่ชีวิต เพราะในขณะที่คนอื่นพอใจจะนำไปซื้อรถหรู หรือกระเป๋าราคาแพง เราอาจจะนำไปลงทุนกับแกดเจ็ตตัวท็อปราคาแพงๆ มากกว่า
ดังนั้น ใช้ไปเถอะ ตราบใดที่เงินนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร
Toxic Masculinity
“ผู้ชายเขาไม่ร้องไห้หรอก”
“ผู้ชายต้องเข้มแข็งสิ”
“ผู้ชายแมนๆ ที่ไหนเขาทำกัน”
แนวคิดความเป็นชายหรือ Masculinity สร้างความบอบช้ำในจิตใจของผู้ชายเป็นอย่างมาก เพราะมันทำให้พวกเขาต้องพยายามเข้มแข็งต่อหน้าสังคม แต่ในขณะเดียวกันไม่มีใครรู้เลยว่าพวกเขากำลังเก็บความเศร้า ความอ่อนแอเอาไว้ข้างในมากมาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น โรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าได้ หรือแม้แต่การที่พวกเขามีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างออกไปจากความเป็นชายที่สังคมกำหนด เช่น แต่งหน้า แต่งตัว มีท่าทางอ่อนช้อย ก็จะถูกทักว่าไม่แมนทันที
ดังนั้น การบอกให้ใครสักคนแมนๆ หน่อย เข้มแข็งหน่อย จึงถือเป็นการมองข้ามความเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถร้องไห้ได้ เศร้าได้ อ่อนแอได้ มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต้องดูเข้มแข็งตลอดเวลาก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม
หากการประณามเกิดจากความหวังดี หรืออยากให้คนฟังคิดตามแล้วนำไปเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็พึงตระหนักไว้ว่ายังมีอีกหลายวิธี อีกหลายคำพูด ที่เราสามารถใช้ได้ และอีกฝ่ายก็สบายใจและพร้อมที่จะรับฟังเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก