ที่รัฐนอร์ทแคโรไลน่า (North Carolina) มีประเด็นเรื่อง ‘ห้องน้ำ’ จากการออกกฏหมาย House Bill 2 (HB2) อันเป็นกฏหมายที่บังคับว่าในรัฐดังกล่าวการใช้ห้องน้ำสาธารณะต้องใช้ตามเพศที่ตัวเองเกิดมาเท่านั้น ดังนั้นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ที่มีการ ‘ข้าม’ เพศ ก็เลยรู้สึกว่า อ้าว ออกกฏหมายมาแบบนี้มันกีดกันแถมยังละเมิดคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกนี่นา
ที่โน่นเลยมีการพูดถึง Caitlyn Jenner เซเลปที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศขึ้นมาว่า อ้าว แบบนี้ตามกฏหมายในรัฐนั้นเธอก็ต้องเดินเข้าห้องน้ำชายน่ะสิ เจนเนอร์นี่ก็เป็นสาวแบบสวย เก๋ มีความมาริลีน มอนโร ถ้าเป็นบ้านเราก็ประมาณ ‘น้องปอย’ แต่คือถ้าพูดเรื่อง ‘ความเป็นผู้หญิง’ ทั้งสองคนก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งแหละ จะให้เดินเข้าห้องน้ำชายแบบที่มีคนยืนฉี่ก็คงไม่ไหวเนอะ
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าสวยไม่สวย เป็นหญิงหรือเป็นชายพอไหม แต่ประเด็นคือมนุษย์เรามันมีความหลากหลายและละเอียดซับซ้อนมากกว่าที่จะนิยามและบังคับกะเกณฑ์ลงไปว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นชาย เป็นหญิง จากแค่ทะเบียนเกิด
ไอ้ห้องน้ำสาธารณะที่เดินเข้ากันอยู่ตามห้าง ตามร้านอาหาร ที่เราเห็นกันจนเป็นปกติ เป็นของธรรมดาว่า เออ มันต้องเป็นของผู้ชายห้องนึง ของผู้หญิงห้องนึง ใครและเมื่อไหร่นะที่ดำริขึ้นมาว่าต้องมีห้องน้ำแยกกัน แล้วที่เรารู้สึกว่ามันเวรี่ธรรมดา เห็นทุกวัน เข้าทุกวัน เอาเข้าจริงแล้วเราคุ้นเคย เข้าใจมันจริงรึเปล่า ถ้าคิดว่าคุ้นกับห้องน้ำดี
ลองนึกถึง… ห้องน้ำของเพศตรงข้ามดูสิ ว่าหน้าตามันเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นบ้าง บรรยากาศต่างๆ
รู้สึกแปลกๆ เหมือนกันเนอะ
จุดเริ่มต้นของการแยกห้องน้ำ
การแยกห้องน้ำ หรือการเกิดขึ้นของห้องน้ำสาธารณะรวมไปถึงประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัวในการฉี่’ จะบอกว่าเป็นแนวคิดที่เก่าก็ไม่ใช่ ใหม่ก็ไม่เชิง คือก็ไม่ได้มีมาแต่ยุคโบราณ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น
ห้องน้ำสมัยใหม่แบบแยกเป็นสัดส่วนเกิดขึ้นในยุควิคตอเรียน เรียกว่าเป็นยุคที่กำลังเข้าสู่สมัยใหม่ (modern) ส้วมสาธารณะแยกเพศเกิดขึ้นได้เพราะอย่างแรกคือนวัตกรรมเรื่องระบบประปาและการระบายน้ำ ในขณะเดียวกันแนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ โดยเฉพาะในเรื่องการขับถ่ายก็เป็นหนึ่งในแนวคิดของโลกสมัยใหม่ คือเมื่อก่อน เช่น ในกรุงโรมโบราณก็จะมีการจัดส้วมที่มีคนนั่งต่อๆ กันโดยไม่มีแผงกั้นใดๆ แนวคิดเรื่องการไม่อึฉี่เป็นหมู่คณะเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเทคโนโลยีเรื่องประปา (บ้านเราในสี่แผ่นดินก็มีการพูดถึงการไปอุโมงค์ที่ด้านในการทำธุระก็ไม่ใช่ว่าจะปิดมิดชิดหรือเป็นส่วนตัวมากนัก)
Sheila Cavanagh นักสังคมศาสตร์ที่ York University ใน Canada และเป็นผู้เขียนหนังสือ “Queering Bathrooms: Gender, Sexuality, and the Hygienic Imagination” บอกว่าห้องน้ำแยกชายหญิงเกิดขึ้นครั้งแรกในปารีส ในงานเต้นรำเมื่อปี 1739 โดยผู้จัดงานได้จัด chamber box คือจัดกระโถน (chamber pot) ใส่ไว้ในกล่อง แล้วก็ทำที่นั่งไว้ โดยจัดเป็นห้องสำหรับชายห้องนึง สำหรับหญิงอีกห้องนึง นักวิจัยบอกว่าผลตอบรับของการจัดห้องกล่องกระโถนชายหญิงดีมาก ผู้คนที่มางานเต้นรำพากันสรรเสริญว่า ‘มันช่างเป็นนวัตกรรมเสียนี่กระไร ถึงจะแปลกๆ หน่อย แต่ก็สนุกดี’
สุขาสตรีและสุขาบุรุษ ความก้าวหน้าของเพศหญิง
พื้นที่สาธารณะต่างๆ ก่อนนี้เป็นเรื่องของผู้ชาย จนกระทั่งหลังยุควิคตอเรียนเป็นต้นมานี่แหละที่บทบาทของผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไปและออกมาสู่สาธารณะมากขึ้น ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงาน ใช้ชีวิตนอกเหนือจากการเป็นแม่บ้าน ในสมัยก่อนผู้หญิงเวลาออกนอกบ้านจะเข้าห้องน้ำสาธารณะก็ไม่ได้ ความสามารถหนึ่งที่ต้องทำได้คือการอั้นฉี่ ถึงขนาดมีการบอกว่าหญิงสาวสมัยก่อนต้องพกอุปกรณ์ชื่อ urinette ของใช้ส่วนตัวที่ใส่ไว้ใต้กระโปรงเพื่อเก็บปัสสาวะ ถึงบ้านค่อยเททิ้ง บรึ๋ย
จากที่ว่ามา จริงๆ เรื่องเล็กๆ อย่างการไม่มีห้องน้ำสาธารณะ ในอีกด้านมันคือนัยที่บอกว่าสังคมยังไม่มีพื้นที่สำหรับผู้หญิง ดังนั้นการจัดห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้หญิง ก็เลยเป็นความก้าวหน้าสำคัญสำหรับผู้หญิงก้าวหนึ่ง ในปี 1887 ที่รัฐ Massachusetts อเมริกาเป็นที่แรกที่มีการผ่านกฏหมายแยกห้องน้ำตามเพศอย่างเป็นทางการ เป็นกฏหมายที่บังคับว่าในทุกสถานที่ทำงานจะต้องจัดสุขาสำหรับสตรีไว้ให้ด้วย และข้อบังคับนี้ก็ใช้กันอย่างแพร่หลายภายในช่วงทศวรรษ 1920
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องความก้าวหน้าทางสังคมที่เพศหญิงเริ่มมีพื้นที่มากขึ้น เราอาจจะคิดว่ามันก็ฟังดูปกติดีนะที่จะกำหนดและแยกแยะผู้ชายและผู้หญิงออกด้วยกายภาพที่แตกต่างกันกัน แต่ Terry Kogan ศาสตราจารย์ทางกฏหมายแห่ง University of Utah บอกว่านั่นมันผิดถนัดเลย
Urinary Segregation – แยกแยะด้วยการชิ้งฉ่อง
เราอาจจะรู้สึกว่าห้องน้ำสาธารณะชายหญิงมันก็เป็นแค่ห้องน้ำ แต่จริงๆ แล้วห้องน้ำที่ถูกแบ่งเป็นชายหญิง นักคิดบอกว่ามันมีอิทธิพลกับตัวตนของคนในสังคมไม่ใช่น้อย มันเป็นส่วนหนึ่งของการนิยามเพศ ทำนองว่าด้วยห้องน้ำสองเพศนี่แหละที่มันมาบังคับและนิยามคนทุกคน ร่างกายทุกแบบให้กลายเป็นเพศชาย ไม่ก็เพศหญิง
Jacques Lacan เรียกว่า Urinary Segregation ประมาณว่ามันคือการจัดจำแนกคนด้วยการฉี่ (ก็คืออวัยวะของเรากลายมาเป็นเครื่องกำหนดตัวตนทางเพศของเราไป) ลากองบอกว่าการแยกและห้ามเพศตรงข้ามเข้าพื้นที่ทำให้เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าไอ้คนอีกครึ่งนึง (อีกเพศหนึ่ง) เขาอยู่ยังไง มีหน้าตาหรือมีอะไรอยู่ในห้องน้ำอีกด้านหนึ่ง
พอพูดแบบนี้ สำหรับเรา ห้องน้ำอีกฟากมันก็มีความเป็นแดนสนธยาผุดขึ้นมา
ไอ้การแยกห้องน้ำ และการไม่รู้ว่าชีวิตในห้องน้ำต่างเพศอีกฟากเป็นยังไงมันมีนัยของความไม่เท่าเทียมอยู่ด้วย คือเราก็คิดแหละว่าห้องน้ำอีกฝั่งมันก็คงมีเครื่องอำนวยความสะดวกเท่าๆ กัน แต่จริงๆ แล้วไม่เท่าด้วย เช่น ช่วงกลางปี 1990 นักศึกษาชายใน University of Virginia Law School รู้สึกตะลึงมากพอพบว่า อ้าว ห้องน้ำหญิงมีกระจกบานใหญ่แบบเต็มตัวด้วย เหล่าชายหนุ่มเลยบอกว่า อ้าว แบบนี้อยากได้บ้างดิ เพราะเราจะได้ใช้เช็กเวลาที่จะไปสัมภาษณ์งาน
อีกอย่างที่เราคิดว่ามันจะเสมอ แต่ไม่เสมอกันคือเวลาที่ใช้ในห้องน้ำแต่ละเพศ หนุ่มๆ คงเคยสังเกตว่าเวลาเราเข้าห้องน้ำนี่แป๊บเดียวจบ ส่วนห้องน้ำหญิงมักมีแถวต่อยาวเสมอ และสาวๆ ต้องใช้เวลามากกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากสาวๆ ใช้เวลาเยอะกว่าในการแต่งองค์ทรงเครื่องและพูดคุยเม้าท์มอยกันในห้องน้ำ งานสำรวจจำนวนหนึ่งสรุปว่า ผู้ชายจะใช้เวลาในห้องน้ำเฉลี่ย 45 วินาที ในขณะที่ผู้หญิงใช้ประมาณเวลา 79 วินาที
อนึ่ง งานวิจัยข้างต้นอาจจะรู้สึกว่าผู้หญิงใช้เวลานานเพราะเหตุผลที่งี่เง่า และก็อาจจะเลยเถิดไปบอกว่าก็เพราะผู้หญิงโดยธรรมชาติเป็นยังงี้ไง ห่วงสวยงามและก็ขี้เม้าท์ ไร้สาระเนอะ แต่จริงๆ ก็ยังมีสิ่งอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น จำนวนโถฉี่และสุขภัณฑ์ รวมไปถึงมิติทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการจัดการเวลา เช่นการที่ชุดและชุดชั้นในของผู้หญิงมันถูกออกแบบมาให้เสียเวลาในการสวมใส่และถอดออก ผิดกับของผู้ชายเช่นซิปกางเกงที่ถูกออกแบบเพื่อความรวดเร็วในการใช้งานเป็นหลัก