โกรธ บ้า อาฆาต ปรากฏการณ์ทวิตเตอร์กับมวลอารมณ์
1
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ว่ากันว่า ‘โหด’ ที่สุด (หรือบางคนก็ถึงขั้นบอกว่า ‘ท็อกสิก’ ที่สุด) เห็นจะหนีไม่พ้นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กนั้นไม่โหดเท่า ยูทูบก็เต็มไปด้วยเรื่องบันเทิงเริงรมย์ ในขณะที่ติ๊กต็อกก็ไม่ค่อยมีอาการตีรันฟันแทงให้เห็นมากเท่าไหร่ แต่ทวิตเตอร์ไม่ใช่
เคยมีงานวิจัยของ โซรูช โวซอกิ (Soroush Vosoughi), เดบ รอย (Deb Roy) และ ซินาน อารัล (Sinan Aral) ซึ่งตัวเต็มอยู่ในวารสาร Science แต่นำมาตีพิมพ์แบบย่อๆ ในเว็บของ MIT นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากเกี่ยวกับทวิตเตอร์
งานวิจัยนี้ชื่อ The Spread of True and False News Online แม้อาจไม่ได้วิเคราะห์ ‘ความโกรธ’ ของผู้ใช้ทวิตเตอร์โดยตรง เพราะเป็นงานที่วิเคราะห์เรื่องของ ‘ข่าวปลอม’ ออนไลน์ แต่เป็นการวิเคราะห์บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เป็นหลัก และพบว่าข่าวปลอมนั้น ‘ปลุก’ (Evoke) ให้เกิดความโกรธและความกลัวได้มากกว่าข่าวจริง รวมทั้งอาจนำไปสู่สภาวะ ‘เผ่ากูเผ่ามึง’ (Tribalism) ในทวิตเตอร์ด้วย
ทำไมถึงเกิดอะไรอย่างนั้นขึ้นมาได้?
มีผู้วิเคราะห์เรื่องทวิตเตอร์เอาไว้เยอะมากนะครับว่ามันมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ถึงทำให้คนที่เข้ามาใช้ทวิตเตอร์มีอาการ ‘หัวร้อน’ หรือถึงขั้นโกรธ บ้า อาฆาต (ซึ่งแท้จริงแล้วมีรากฐานมาจากความกลัวผสมอยู่ด้วย) กันได้มากถึงขนาดนี้
ลักษณะแรกเป็นลักษณะทั่วไปของสภาวะ ‘ออนไลน์’ ทั่วไป โดยเฉพาะในยุคแรกเริ่มที่ผู้เข้ามาใช้งานไม่จำเป็นต้องบอกชื่อเสียงเรียงนาม เฟซบุ๊ก (เคย) พยายามทำให้สภาวะไร้นาม (Anonymity) นี้หายไปด้วยการลบหรือจำกัดบัญชีที่ชื่อแปลกๆ ไม่ได้เป็นชื่อเต็มของคนจริงๆ เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาวะไร้นามลดลงจากเฟซบุ๊ก
แต่ทวิตเตอร์ไม่ใช่ ทวิตเตอร์ไม่สนใจเรื่อง ‘แอคหลุม’ เท่าไหร่นัก แถมยังสามารถเปลี่ยนชื่อได้ด้วย นั่นทำให้เราสามารถเข้าสู่สภาวะไร้นามได้เกือบตลอดเวลา สภาวะแบบนี้มักจะไม่มี ‘ผลลัพธ์’ ตามมา (Lack of Consequences) อย่างเป็นรูปธรรมหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นโลกที่เปิดกว้างและเสรีอย่างมากก็ได้ มีผู้วิเคราะห์ว่า สภาวะแบบนี้นำไปสู่การไม่ต้องรับผิดรับชอบในการกระทำของตัวเอง อย่างมากก็ปิดบัญชีหนี และเอื้อให้ผู้ใช้งานมีพฤติกรรมแบบก้าวร้าวได้โดยไม่ต้องกังวลใจ
ความก้าวร้าวที่ว่านี้มีตัวเสริมสำคัญมาคอยรองรับอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ ‘อคติ’ เข้าข้างตัวเอง หรือ Confirmation Bias ซึ่งหากเกิดกับคนกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกันก็อาจถูกกักอยู่ใน ‘ฟองสบู่’ เดียวกันเลยได้ยินแต่ ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ (Echo Chamber) อันเป็นกลไกสำคัญของการเกิดสภาวะ ‘เผ่ามึงเผ่ากู’ ด้วย
สภาวะ ‘เผ่ามึงเผ่ากู’ มักเกิดจากการ ‘ลงทุนทางอารมณ์’ (Emotional Investment) และการลงทุนเชิงอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Investment) แบบทุ่มสุดตัว คนที่อยู่ในตัวกรองฟองสบู่เดียวกันและมีอคติเข้าข้างตัวเองแบบเดียวกัน มักจะสร้างพันธะทางอารมณ์ระหว่างกันเหนียวแน่นกว่าคนอื่นๆ โดยมักเลือกวิธีนิยามอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเองด้วยการสร้างศัตรูร่วมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นศัตรูทางการเมือง เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือแง่มุมอัตลักษณ์อื่นๆ จึงยิ่งต้องการการทุ่มเททางอารมณ์มากขึ้น เพื่อสร้างความแน่นแฟ้นจริงใจในเผ่ามากขึ้น
ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับลักษณะเฉพาะของทวิตเตอร์อันเป็นแพลตฟอร์มที่มีการตอบสนองเร็วในพื้นที่จำกัด ก็ทำให้แต่ละคนสามารถตีความไปได้ต่างๆ นานา หากเป็นข้อความของ ‘ฝ่ายเดียวกัน’ ก็จะตีความอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นข้อความของ ‘ฝ่ายศัตรู’ ก็อาจตีความไปอีกอย่างหนึ่ง ทั้งที่ข้อความทั้งสองแบบอาจมีเจตจำนงแบบเดียวกันก็ได้ แต่เมื่อตีความตามอคติเข้าข้างตัวเองแล้วก็ยิ่งวนลูป ทำให้สภาวะเผ่ามึงเผ่ากูแข็งแกร่งขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ
คนที่อยู่ในตัวกรองฟองสบู่เดียวกันและมีอคติเข้าข้างตัวเองแบบเดียวกัน
มักจะสร้างพันธะทางอารมณ์ระหว่างกันเหนียวแน่นกว่าคนอื่นๆ
โดยมักเลือกวิธีนิยามอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเองด้วยการสร้างศัตรูร่วมขึ้นมา
2
งานวิจัยเรื่อง The Spread of True and False News Online ที่ว่ามาข้างต้น มีการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ‘การลดหลั่นของข่าวลือ’ (Rumor Cascade) ว่ามันสามารถถ่ายทอดไปเป็นขั้นๆ ได้อย่างไร โดยข่าวลือที่ว่านี้ มีลักษณะอยู่สี่แบบคือ ‘ความลึก’ (Depth) ให้นึกถึงการลดหลั่นของน้ำตกว่ามันไหลลงไปได้กี่ชั้น ยิ่งมากชั้นก็ยิ่งมี ‘ความลึก’ มากเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ‘ขนาด’ (Size) นั่นคือ ข่าวนั้นๆ มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากแค่ไหนในแต่ละขั้นความลึก ตามมาด้วย ‘ความกว้างสูงสุด’ (Maximum Breadth) คือ ข่าวนั้นแผ่ออกไปได้มากแค่ไหนในทุกระดับความลึก และสุดท้ายแล้วมันมี ‘โครงสร้างการแพร่กระจาย’ (Structural Virality) อย่างไร
ผลการศึกษานี้ออกมาน่าตื่นตาตื่นใจมาก โดยเขาบอกว่าถ้าเป็น ‘ข่าวจริง’ มันจะแพร่ไป ‘ช้า’ กว่าข่าวลวงมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าจะให้ข่าวจริงแพร่ไปถึงคนราว 1,500 คน จะใช้เวลานานกว่าข่าวปลอม 6 เท่า และถ้าจะให้ไปถึง ‘ความลึก’ ที่ระดับ 10 (คือมีคนรีทวีตหรือเผยแพร่ออกไป 10 ขั้น 10 ครั้ง) ข่าวจริงจะใช้เวลาไปถึงขนาดนั้นนานกว่าข่าวปลอมถึง 20 เท่า
ที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีข่าวจริงไหนไปได้ไกลเกินความลึกระดับ 10 เลย ในขณะที่ข่าวปลอมสามารถไปได้ไกลถึงความลึกระดับ 19 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ข่าวปลอมสามารถแพร่ไปได้ไกลกว่าข่าวจริงถึงเกือบ 10 เท่า!
ข่าวปลอมนั้นแพร่กระจายไปได้ก็เพราะกลไกสำคัญคือ ‘อคติเข้าข้างตัวเอง’ อยากเห็นข่าวแบบนี้อยู่แล้ว พอได้เบาะแสเล็กๆ น้อยๆ หรือมีคนประเภท ‘วงใน’ กระซิบกระซาบมาก็รีบเผยแพร่ต่อไปในทันที ทำให้คนที่มีอคติแบบเดียวกัน หรือรู้สึกว่าอยู่ในเผ่าเดียวกันได้เสพแล้วแพร่ต่อไป ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนที่มีอคติแบบเดียวกันหรือคิดว่าอยู่ในเผ่าเดียวกันมักจะ ‘ตรวจสอบ’ ความจริงหรือปลอมของข่าวน้อย ทำให้มีความคิดความเชื่อโน้มเอียงไปในทางเดียวกันได้โดยง่าย และด้วยความที่งานวิจัยนี้ทำบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ดังนั้นจึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลไกการแพร่ของข่าว (ทั้งจริงและปลอม) กับตัวแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์
ข่าวปลอมนั้นแพร่กระจายไปได้ก็เพราะกลไกสำคัญคือ
‘อคติเข้าข้างตัวเอง’ อยากเห็นข่าวแบบนี้อยู่แล้ว
พอได้เบาะแสเล็กๆ น้อยๆ หรือมีคนประเภท ‘วงใน’
กระซิบกระซาบมาก็รีบเผยแพร่ต่อไปในทันที
คำถามถัดมาก็คือ แล้วเจ้าความโกรธ บ้า อาฆาต เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรกัน?
3
ที่จริงมีคนศึกษาความโกรธบนทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ เอาไว้เยอะนะครับ ตัวอย่างเช่นงานชื่อ Experimental Evidence of Massive-Scale Emotional Contagion Through Social Networks โดย คราเมอร์ (Kramer), กิลเลอร์รีย์ (Guillory) และ แฮนค็อก (Hancock) ซึ่งศึกษาการแพร่กระจายของความโกรธผ่านการโพสต์แสดงอารมณ์ พบว่าโพสต์ไหน ‘แรง’ คือ มีอารมณ์เยอะๆ โดยเฉพาะที่ด่าทอเกรี้ยวกราด ใช้คำหยาบ (ซึ่งเป็นการก้าวข้ามเส้นพรมแดนของวิถีปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม) จะเป็นโพสต์ที่มีอิทธิพลต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ มากกว่า
งานวิจัยอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจ และมุ่งตรงไปที่ทวิตเตอร์และการทวิตเรื่องการเมืองโดยตรง ก็คืองานชื่อ The Dynamics of Political Incivility on Twitter โดย ยานนิส เธโอคาริส (Yannis Theocharis) และคณะ
คำว่า Incivility หรือความหยาบคายนั้นน่าสนใจ เพราะมันหมายถึงการที่คนที่เป็น ‘ประชาชน’ เท่าๆ กัน ไม่ได้ปฏิบัติต่อกันอย่างที่พึงเป็น Civility ไม่ใช่ ‘มารยาท’ ในความหมายของการถูกกำกับขัดเกลาโดยสถาบันทางสังคม แต่มันคือเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ ‘พึงปฏิบัติ’ ต่อกัน โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ แต่ในระยะหลัง เริ่มพบเห็นอาการแปลกๆ ของคนจำนวนมากที่เข้าข่าย Incivility กันมากขึ้น โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
การศึกษานี้มาจากข้อสังเกตที่ว่า ในทางการเมืองมีการ ‘ฉวยใช้’ (Exploit) ความโกรธของผู้คน เพื่อโหมกระพือข่าวสาร (ที่มีทั้งจริงและลวง) ไปให้ไกลที่สุด เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปล่อยข่าว (ทั้งโดยตั้งใจและที่เป็น ‘แฟนพันธุ์แท้’ ของแนวข่าวนั้นๆ) อย่างไรบ้างหรือเปล่า โดยได้พัฒนากรอบคิดในการทำงานเพื่อทำความเข้าใจกับ ‘พลวัต’ ของ Incivility (หรือเราจะบอกว่าคืออาการโกรธ บ้า อาฆาต อะไรพวกนี้ก็ได้) โดยเฉพาะที่อยู่บนทวิตเตอร์ขึ้นมาสามระดับคือ ระดับใหญ่ (Macro) ระดับกลาง (Meso) และระดับย่อยหรือระดับปัจเจก (Micro) ซึ่งแต่ละระดับจะสัมพันธ์กัน ระดับใหญ่ที่สุดก็คือ ลักษณะเฉพาะของแพลตฟอร์มที่มีความ ‘ชั่วคราว’ (Temporality) สูง ระดับกลางก็คือ เรื่องของบริบทแวดล้อม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ระดับย่อยหรือระดับปัจเจก ที่ก่อให้เกิดสองสิ่งใหญ่ ในการศึกษานี้ใช้คำว่าอคติ (Prejudice) และความร่วมมือ (Coordination) ซึ่งนำไปจับคู่เข้ากับ Confirmation Bias และสภาวะ Tribalism ที่ว่ามาข้างต้นได้
ในทางการเมืองมีการ ‘ฉวยใช้’ (Exploit) ความโกรธของผู้คน
เพื่อโหมกระพือข่าวสาร (ที่มีทั้งจริงและลวง) ไปให้ไกลที่สุด
เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปล่อยข่าว (ทั้งโดยตั้งใจและที่เป็น
‘แฟนพันธุ์แท้’ ของแนวข่าวนั้นๆ)
การศึกษาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามร่วมกันว่า ‘มวลอารมณ์’ ที่เราเห็นบนแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์นั้น มันเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญหรือเปล่า หรือว่าสิ่งที่ว่ามาทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเกื้อหนุนที่ประจวบเหมาะลงตัวจนไปกระตุ้น (Evoke) ความรู้สึกรุนแรงดังกล่าวขึ้นมาได้
จะว่าเป็นลักษณะเฉพาะก็ไม่ผิด เพียงแต่มันคือลักษณะเฉพาะที่พึงปรารถนาหรือไม่ – ก็เท่านั้นเอง